อนันตชัย คุณานันทกุล คนอย่างเขายังมีอีกไหม ?


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเติบโตจากครอบครัวชาวสวนเชื้อสายจีนแคะฐานะยากจนชีวิตวัยเด็กต้องดิ้นรนหนักหน่วงเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วเขากับพี่ชาย 2 คนร่วมกันสร้างธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ขาย ถึงวันนี้เขายืดอกได้อย่างสง่างามในฐานะ "ซาเสี่ย" ของอาณาจักรเหล็กกล้ามูลค่าพันล้านบาท

ถ้าไม่ตัดสินใจปลูกบ้านแล้ว บานปลายกลายเป็นต้องลงทุนร่วมกับเพื่อน ๆ ทำหมู่บ้านจัดสรรระดับหรูเลิศควบคู่ไปด้วย ป่านนี้ก็คงไม่มีใครในวงกว้างรู้จักนายแบบกิตติมศักดิ์โฆษณาหมู่บ้าน "ศรีเจริญวิลล่า" ที่ชื่อ อนันตชัย คุณานันทกุลเป็นแน่แท้

เขาโผล่ออกมาตอนท้ายของสปอตโฆษณา พูดกับผู้ชมเพียงสั้น ๆ ว่า "ครับ ผมอยู่กับคุณที่นี้" บ่งบอกความเป็นเจ้าของโครงการ ในฐานะผู้ถือหุ้นและมีตำแหน่งบริหารเป็นกรรมการผู้จัดการหมู่บ้านศรีเจริญวิลล่าที่ก็มีบ้านปลูกอยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วยหลังหนึ่ง

แต่คงจะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า อนันตชัย เป็นใครมาจากไหนนอกเหนือจากรรมการผู้จัดการหมู่บ้านจัดสรร

เขาเป็นคนท่วงทำนองเยือกเย็น พูดช้า ๆ แววตาบอกถึงความเป็นคนผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย แต่น้ำเสียงดูเหมือนจะแฝงความภูมิอกภูมิใจอยู่ในระดับดีกรีที่สูงพอสมควรเมื่อบอกว่ากลุ่มธุรกิจของเขาคือ "สยามสตีลกรุ๊ป"

กลุ่มธุรกิจที่ประกอบด้วย 8 บริษัท กับอีก 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด

- บริษัทศรีเจริญอุตสาหกรรม (1979) เป็นบริษัทที่รับผิดชองงานด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เหล็กยี่ห้อ LUCKY และ KINGDOM ควบคุมตลาด ทั้งในประเทศต่างประเทศ ปัจจุบันมีโชว์รูม 5 แห่ง ที่พระโขนง สุขุมวิท คลองเตย มาบุญครองเซ็นเตอร์และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า

- ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.สยามโลหะภัณฑ์ ทำหน้าที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็ก LUCKY และ KINGDOM ส่งให้กับบริษัทแรกจัดจำหน่าย มีโรงงานตั้งอยู่ปู่เจ้าสมิงพรายสมุทรปราการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM STEEL ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อของกลุ่ม

- บริษัทไทยดีคอรา ผลิต MELAMINE DECORATIVE LAMINATED SHEET ที่นิยมเรียกกันว่าแผ่น FORMICA หรือ DECORA SHEET ภายใต้เครื่องหมายการค้า TD-BOARD ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการตกแต่งตู้โทรทัศน์ ตู้เครื่องเสียง ตู้เย็นและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมทั้งใช้ในงานตกแต่งภายในอาคารสำนักงานและบ้านเรือนทั่วไป ไทยดีคอราได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานมีทั้งที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ

- บริษัท ไทยอัมพ์สตีล ผลิตเหล็กรูปรีดร้อน เป็นเหล็กรูปพรรณจำพวก เหล็กแหนบ เหล็กเพลา เหล็กแข็งต่าง ๆ เหล็กรูปตัว L, U, I และ H เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมฯ

- บริษัทสหไทย สตีลไพพ์ ผลิตเหล็กรูปรีดเย็น เช่น ท่อเหล็กดำ ท่อเหล็กชุบสังกะสีและเหล็กรูปต่าง ๆ จำหน่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ

- บริษัทยูเนี่ยน ออโตพาร์ทส แมนแฟคเจอริ่ง กิจการที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นผลิตชิ้นส่วน
ยานยนต์ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

- บริษัทสหจักรยานไทย อุตสาหกรรม ผลิตจักรยานและชิ้นส่วนจักรยานภายใต้เครื่อง
หมายการค้า U.C.I จำหน่ายทั้งในประเทศต่างประเทศ

- บริษัทศูนย์บริการเหล็กสยาม เป็นศูนย์บริการเหล็ก เช่นบริการผลิตชิ้นส่วนขั้นต้น
ให้เป็นไปตามความต้องการและตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ จักยานยนต์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโครงสร้างพร้อมอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป

- บริษัทศรีเจริญบ้านและที่ดิน ดำเนินงานหมู่บ้านจัดสรรศรีเจริญวิลล่าบนเนื้อที่ 200
ไร่ ย่ายถนนเทพารักษ์ กม.ที่ 5.5 ที่กลายเป็นกิจการเปิดตัวอนันตชัยออกสู่สาธารณชน

ว่าไปแล้วก็ล้วนเกี่ยวข้องกับ "เหล็ก" แทบทุกบริษัท

"แม้แต่หมู่บ้านจัดสรร ก็ไม่อยากจะพูดว่า อยูนอกสายธุรกิจที่กลุ่มของเราจับเพราะจริงๆ แล้วเหล้กก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในแง่โครงสร้างของการก่อสร้างรวมทั้งการตกแต่งภายใน" อนันตชัย คุณานันทกุล พูดถึงศรีเจริญบ้านและที่ดินที่ดูจะเป็นเลือดต่างสี ในกลุ่มธุรกิจของเขามากที่สุดแต่ก็ยอมรับว่าการเข้ามาจับธุรกิจนี้สืบเนื่องจากต้องการสร้างบ้านตัวเองแล้วเผอิญเพื่อน ๆ ชวนให้ร่วมลงทุน ท้ายสุดก็เลยต้องเข้ารับผิดชอบด้านการบริหารด้าน

สิบปีแรกของสยามสตีลกรุ๊ปเป็นการถอยกลับไปหาแหล่งวัตถุดิาบแตกแขนงไปผลิตจักรยานเริ่มมีกิจการที่ร่วมทุนกับคนจีนด้วยกัน ส่วน 20 ปีหลังเป็นการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมหนักเต็มตัวเริ่มดึงญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุน

"กลุ่มเราถือหุ้นอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ในศรีเจริญบ้านและที่ดิน" เขาบอก

สยามสตีลกรุ๊ปแท้ที่จริงมีวันนี้ได้เบื้องหลังคือการดิ้นรนต่อสู่อย่างทรหดตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของผู้ก่อตั้ง

เป็นตำนานของพี่น้อง 3 คน

พี่ใหญ่ชื่อสมชัย พี่รองชื่อวันชัย และอนันตชัย คุณานันทกุล เป็นน้องสาม

ทุกวันนี้พนักงานในกลุ่มตลอดจนผู้คนที่มีโอกาสสัมผัสกับอาณาจักรทุกส่วนหรือเพียงบางส่วนรู้จักพวกเขา 3 พี่น้องในนาม ตั้วเสี่ย (เสี่ยใหญ่) ยี่เสี่ย (เสี่ยรอง) และซาเสี่ย (เสี่ยคนที่สาม)

แต่ถ้ากว่า 30 ปีที่แล้ว อาจจะไม่มีใครรู้พวกเขาทั้ง 3 คือลูกชาย 3 คนของครอบครัวคนจีนเชื้อสายแคะที่อพยพเข้ามาทำสวนอยู่แถว ๆ ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

อนันตชัย ขณะนี้อายุ 45 และช่วงนั้นเขายังเล็กมาก แต่ยังพอจดจำได้ว่าครอบครัวประสบมรสุมอย่างหนักหน่วงเมื่อหัวหน้าครอบครัว-ตั้งจิ้น แซ่คู เสียชีวิต ภาระทุกอย่างตกอยู่กับแม่-คูเจ็ง สี่ แซ่คู และพี่ชาย 2 คนที่อยู่ในวัยเพิ่งแตกเนื้อหนุ่ม

พวกเขาดิ้นรนประกอบธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ขาย เริ่มต้นแถว ๆ ย่านคลองเตยแล้วย้ายมาย่านซอยอารีย์ พระราม 4

จากเฟอร์นิเจอร์ไม้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นเฟอร์นิเจอร์เหล็ก เพราะวัตถุดิบค่อนข้างจะหาง่ายกว่า บวกกับความสนใจเรื่องเครื่องเหล็กของพี่ชายคนที่สองและความปรารถยาสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพ

และจากิจการระดับครัวเรือนที่ใช้แรงงานคนในครอบครัวมีจำนวนลูกจ้างเพียง 2-3 คน ในปี 2500 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเจริญอุตสาหกรรมก็ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลอันดับแรกเพื่อผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เหล็ก

สำหรับอนันตชัยเขาผ่านการศึกษาเพียงระดับมัะยมก็ต้องออกมาช่วยงานของครอบครัวเต็มตัว อนันตชัยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนอักษรวิทยา เรียนมัธยมช่วงกลางคืนที่โรงเรียนอมาตยศึกษาเขาออกจากโรงเรียนเมื่อปี 2505 ก่อนหน้านั้นเขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

พวกเขาทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยทุ่มเท เฟอร์นิเจอร์เหล็กจำพวกโต๊ะและตู้เอกสารถูกสร้างอย่างพิถีพิถันรักษามาตรฐานคุณภาพคงเส้นคงวา จากผลิตเพียงขายปลีกที่ร้านขยับขยายกลายเป็นโรงงานขนาดย่อมผลิตเพื่อส่งร้านค้าอีกทอดหนึ่ง

เพียงช่วง 10 กว่าปีก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมากันได้ไกลมาก ๆ แล้ว

ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เหล็กภายใต้เครื่องหมายการค้า LUCKY และ KINGDOM แม้จะไม่มีการจัดทำโปรโมชั่นครึกโครม แต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันแพร่หลายเพราะคุณภาพที่บอกกันจากปากสู่ปาก

ที่คิดว่าเป็นของต่างประเทศก็มีจำนวนไม่น้อย

ปี 2510 และปี 2511 ขยายกิจการออกไปด้วยการตั้งบริษัทสหไทยสตีลไพพ์ผลิตท่อเหล็ก สำหรับประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์บริษัทนี้ต่อมาขยายเป็นผลิตท่อเหล็กอื่น ๆ อีกหลายชนิด มีทั้งท่อเหล็กกล้า ท่อประปา ท่อร้อยสายไฟ ฯลฯ และ ตั้งบริษัทสหจักรยานไทย อุตสาหกรรมผลิตจักรยานออกขายเพิ่มตัวสินค้าให้แตกแขนงออกไปบนพื้นฐานการใช้วัตถุดิบเหมือน ๆ กัน - เหล็ก

ในปี 2512 ภายหลังขยายกำลังการผลิตมาตามลำดับก็ตัดสินใจแตกตัวครั้งแรกแยกการผลิตการจำหน่ายออกจากกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.สยามโลหะภัณฑ์ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ผลิต ส่วนห้างหุ้นส่วนฯ ศรีเจริญอุตสาหกรรมเปลี่ยนฐานะเป็นบริษัทศรีเจริญอุตสาหกรรม (1979) ทำหน้าที่เป็นบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือ

ปี 2515 ก่อตั้งบริษัทไทยดีคอรา

ซึ่งเบื้องหลังก็คือการสร้างแหล่งผลิตชิ้นส่วน ที่ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ในเครือแล้วก็จำหน่ายนอกเครือเป็นผลพลอยได้ด้วย

"ทิศทางเห็นได้ชัดเจนว่าสยามสีลกรุ๊ปเริ่มเป็นรูปเป็นร่างภายใต้กลยุทธ์ที่เดินย้อนกลับคือ จากสั่งซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์เหล็กพวกเขาเริ่มมองลู่ทางการเข้าไปลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ๆ เสียเอง"" แหล่งข่าวที่รู้จักกลุ่มธุรกิจนี้มานานนับสิบ ๆ ปีเล่าให้ฟัง

"แล้วจากฐานที่กลับลงไปนั่นเอง ที่ค่อยแตกแขนงไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อย่างเช่นผลิตเหล้กเองก็ขยายไปทำชิ้นส่วนรถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นต้น"

บริษัทไทยดีคอราเป็นบริษัทแรกที่เริ่มมีลักษณะร่วมทุนกับกลุ่มอื่น "โดยเราถือหุ้น 90% ขณะที่ ช.สยามโลหะภัณฑ์กับศรีเจริญอุตสาหกรรมเป็นของเรา 100% หุ้นส่วนในไทยดีคอราก็เป็นกลุ่มคนไทยที่รู้จักกับพวกเราเป็นอย่างดี" อนันตชัยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2520 ก่อตั้งบริษัทไทรอัมพ์สตีลเพื่อดำเนินการผลิตเหล็กรูปพรรณต่างๆ ส่วนหนึ่งใช้สำหรับกิจการในเครือ และส่วนที่เหลือจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศไทยอัมพ์สตีลเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับสิงคโปร์ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งคนที่เป็นผู้ประสานงานกระทั่งดึงกลุ่มทุนจากต่างประเทศชุดแรกเข้ามาร่วมด้วยได้นี้ก็คือ วันชัย ยี่เสี่ยหรือพี่ชายคนที่สองของอนันตชัย

และวิชัยก็สามารถดึงเข้ามาได้อีกหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น

ปัจจุบันเขามีบทบาทในกลุ่มสยามสตีลในฐานะคนที่ดูแลงานด้านต่างประเทศทั้งหมดส่วนพี่คนโตดูเรื่องการเงินและบัญชี อนันตชัย ดูด้านการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์

ทั้ง 3 พี่น้องจะร่วมกันตัดสินใจในเกือบทุกเรื่องราวของอาณาจักรขนาดพัน ๆ ล้านของพวกเขา บางครั้งบนโต๊ะอาหาร บนโต๊ะประชุม หรือในห้องทำงานของแต่ละคน แต่ถ้าถามว่าใครมีพลังในการตัดสินใจสูงสุดโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของกลุ่มหรือการขยายกิจการแล้ว ดูเหมือนคำตอบคือ "วันชัย คุณานันทกุล"

ในปี 2528 ร่วมมือกับบริษัทโอกายาของญี่ปุ่นก่อตั้งบริษัทยูเนียน ออกโตพาร์ทสแมนูแฟคเจอริ่ง ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทนี้กลุ่มลูกค้าสำคัญคือโรงงานประกอบจักรยานยนต์ซูซูกิ ยามาฮ่า ฮอนด้า และคาวาซากิ เป็นต้น

และปีเดียวกันนี้เองที่สยามสตีลกรุ๊ปก่อตั้งบริษัทศูนย์บริการเหล็กสยาม ที่เปรียบเสมือนหัวใจของอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น

ศูนย์บริการเหล็กสยามไปแล้วก็คือประตูแรกที่จะส่งผ่านผลิตภัณฑ์ของโรงงานไปสู่โรงานอื่น ๆ ของกลุ่ม มีหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนขั้นต้นตามความต้องการและมาตรฐานของอุตสาหกรรมประเภท

ทุกวันนี้อนันตชัย คุณานันทกุล มักจะนั่งอยู่ที่ ช.สยามโลหะภัณฑ์ ภาระหน้าที่ของเขาเน้นหนักอยู่ที่ธุรกิจดั้งเดิมของกลุ่มเฟอร์นิเจอร์เหล็ก

พี่ชายคนโตของเขานั้นปัจจุบันอายุ 55 พี่คนรองอายุ 48 ยังอยู่ในวัยกระฉับเฉงด้วยกันทุกคน แต่กระนั้นอาณาจักรใหญ่โตของพวกเขาเริ่มมีคนรุ่นต่อไปเข้ามามีบทบาทบ้างแล้ว

"อย่างลูกชายพี่คนโตอายุ 27 ก็เพิ่งกลับจากต่างประเทศ เราก็ให้นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการศูนย์บริการเหล็กสยาม แล้วก็มีอีกที่กำลังจะจบการศึกษา" อนันตชัยเล่าให้ฟัง

พวกเขามีพื้นฐานการศึกษาไม่ได้สูงส่งแม้แต่คนเดียว แต่อาศัยความมานะอดทนเรียนรู้จากประสบการณ์และชีวิตจริง สร้างเนื้อสร้างตัวกันขึ้นมาอย่างเงียบเชียบกระทั่งเรียกได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าอิจฉา

อนันตชัยและพี่ ๆ ของเขายังมีเวลาอีกพอสมควรสำหรับการขยายอาณาจักรออกไปอีก และพร้อมกันนั้นเขาเตรียมการสำหรับทายาทรุ่นต่อไปกันอย่างรัดกุม

"คิดว่าก็คงจะให้ไปเรียนต่างประเทศทุกคน อย่างลูกพี่ชายคนโตที่กลับมาช่วยงานแล้วคนนั้นจบจากญี่ปุ่น" อนันตชัยบอก

อนันตชัยมีครอบครัวเมื่อปี 2511 ภรรยาของเขาปัจจุบันคุมการด้านการเงินอยู่ในบริษัท 2-3 บริษัทในกลุ่ม เขามีลูก 4 คน คนโตอายุ 17 เรียนอัสสัมชัญ คนที่สองอายุ 14 เรียนเซ็นโยเซฟคอนแวนต์ คนที่สามอายุ 13 เรียนอัสสัมชัญและคนที่สี่อายุ 5 ขวบเรียนโรงเรียนอนุบาลดิษยะศริน

เห็นได้ชัดว่าเขาวางพื้นฐานให้ทายาทได้ไม่มีที่ติ

ปัจจุบันนอกจากจะทำหน้าที่เป็นคีย์คนหนึ่งของสยามสตีลกรุ๊ปที่แอบใหญ่โตมโหฬารมาตลอด 30 กว่าปีแล้ว เขาเริ่มก้าวออกสู่วงสังคมมากขึ้น

อนันตชัยเพิ่งจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ

เขาชอบอ่านหนังสือโดยเฉฑาะหนังสือแนวธุรกิจและนิตยสารเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ยามว่างชอบเดินชมห้างสรรพสินค้า ถ้าอยู่บ้านก็ดูทีวี

เสื้อผ้าค่อนข้างประณีตสั่งตัดเป็นพิเศษจากร้านดีโอนี่ที่กระเป๋าเสื้อเหน็บปากกาดูปองท์และข้อมือสวมโรเล็กซ์ ส่วนรถยนต์ที่ใช้ประจำคือเบนซ์ 280 เอสอีแอล

บ่งบอกมาดเสี่ยทุกกระเบียดนิ้ว

ซึ่งมองย้อนหลังกลับไป 30-40 ปีที่แล้ว อนันตชัยมาจากที่ไกลจนเกือบจะสุดขอบโลกทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.