ชุมพล ณ ลำเลียง อัจฉริยะนักบริหารรุ่นใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

หากนับคนเก่งในแวดวงธุรกิจไทย ชุมพล ณ ลำเลียงสมควรจะอยู่ 1 ใน 10 ปัจจุบันชีวิตและงานของเขาอาจจะยังไม่กลมกลืนกับวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจใหญ่บางองค์กร แต่สำหรับอนาคตแล้วย่อมเป็นการกลมกลืนอย่างยิ่ง

เวลาที่ชุมพล ณ ลำเลียง เอาจริงเอาจังมากที่สุด กล่าวกันว่า คือเวลาในสนามกอล์ฟ หรือขณะหวดสควอชอย่างรุนแรง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาต้องใช้ทั้งกำลังสมองและกำลังกายอย่างมาก

หลายคนบอกว่าเวลาที่เหลือของเขาเหมือนช่วงของงานอดิเรก แม้กระทั่งในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจใหญ่มาก ๆ ของประเทศ

แต่ชุมพลคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ "ผู้จัดการ" ไม่ทราบ

สิ่งที่ได้รับรู้มาชีวิตของเขา ค่อนข้างลึกลับ โดยเฉพาะความเป็นมาหรือภูมิหลังทางครอบครัว ทราบกันเพียงว่าพ่อของเขาชื่อไทยว่า "กระจ่าง" อาศัยอยู่ซอยสวนพลูซอยเดียวกับบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและมีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่าพ่อ - แม่ของชุมพล ณ ลำเลียงเชื้อสายจีน นามสกุล "ณ ลำเลียง" ก็เป็นปรึกษาของคนทั่วไปบางคนคาดว่า น่าจะหมายถึงพื้นฐานดั้งเดิมของครอบครัว เกี่ยวกับกิจการเรือลำเลียงซึ่งโยงไปถึงกิจการค้าข้าวด้วย

ชุมพล ณ ลำเลียงปฏิเสธให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ด้วยเหตุผลว่าขอยึดถือสิ่งที่ปฏิบัติมาอย่างคงเส้นคงวาหลายปีแล้ว ต่อไปว่ากันแม้แต่ฟาร์อีสเทิร์นอิโคโนมิครีวิวก็เคยถูกปฏิเสธแบบเดียวกับ "ผู้จัดการ" มาแล้ว

ชุมพล ณ ลำเลียงเกิดปี 2488 เพื่อนของเขาหลายคนยืนยันว่าเขาเดินทางจากเมืองไทยไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก รู้กันอย่างชัดเจนก็คือผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมเครื่องกล ที่ University of Washington ในปี 2508 จากนั้นเข้าศึกษาต่อเอ็มบีเอ. ที่ฮาร์วาร์ด บิวสิเนสสคูล สถาบันสอนวิชาบริหารธุรกิจดีที่สุดในสหรัฐฯ ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่เรียนเอ็มบีเอ โรงเรียนนี้ บางคนกล่าวว่าคนไทยรุ่นราวคราวเดียวกันในฮาร์วาร์ดได้แก่ สมเกียรติ ลิมรง กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซีเมนต์นครหลวง

จบแล้วเข้าทำงานในไอเอ็มเอฟ หน่วยงานของธนาคารโลก (WORLD BANK) ประมาณปี 2512 อันเป็นช่วงเดียวกับปูนซิเมนต์ไทยกู้เงินจากธนาคารโลกก้อนใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ธนาคารโลกเสนอให้ปรับโครงสร้างกิจการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ชุมพล จับงานแรกคือการศึกษาโครงสร้างบริษัทปูนซิเมนต์ไทยนี่เอง ทำให้เขาเกิดแรงศรัทธากิจการอุตสาหกรรมเก่าแก่ของประเทศไทยแห่งนี้ขึ้นมา

ก่อนจะกลับเมืองไทยแบงเกอร์สทรัสต์ธนาคารใหญ่ระดับท็อปไฟว์ของสหรัฐฯ ก็รับเขาทำงานในฐานะทีมงานก่อตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ในประเทศไทยหน้าที่แรกก็คือระดมคนไทย ผู้ผ่านการศึกษาด้านการเงิน-ธนาคารในสหรัฐฯเข้าร่วมทีมเขารับผิดชอบสายงาน CORPERATED FINANCE ของทิสโก้ ผู้รู้จักชุมพลดีเล่าวิธีเสาะมือดีเข้าร่วมงานนั้น เริ่มต้นด้วยการศึกษาประวัติการศึกษานักเรียนไทยระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจในสถาบันที่มีชื่อเสียงอย่างละเอียดในที่สุดเขาพบคน 2 คนซึ่งมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างเหมือน ๆ เขาคือหนึ่ง-พื้นฐานปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สอง-กำลังศึกษาเอ็มบีเอด้านการเงินในสถาบันชั้นนำของสหรัฐฯ

ชุมพล ใช้จดหมายแนะนำตัว ชักชวน เข้าทำงานขั้นแรกมีการพบปะสนทนาเชิงสัมภาษณ์กัน

คนแรกคือ บันเทิง ตันติวิท นักเรียนยอดเยี่ยมของโรงเรียนวชิราวุธ ผู้ไม่ยอมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีความตั้งใจแน่วแน่จะเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่เอ็มไอที. สถาบันเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากแห่งนึ่งของสหรัฐฯซึ่งก็ไม่ผิดหวังและต่อด้วยปริญญาโทด้านการเงินจาก Slogan School of Management, M.I.T.

สอง - ศิวะพร ทรรทรานนท์ (โปรดอ่านเรื่องศิวะพร ทรรทรานนท์ ประกอบด้วย)

นั่นถือเป็นงานชิ้นแรกของชุมพล ณ ลำเลียง ซึ่งดำเนินตามแนวความคิดบริการธุรกิจสมัยใหม่อันบรรลุผลสำเร็จอย่างดียังความภูมิใจจนทุกวันนี้ เขาเลือกคนไม่ผิดทั้งสองล้วนเป็นมืออาชีพเยี่ยมยุทธในแวดวงธุรกิจการเงินของไทยในเวลาต่อมา

ชุมพล ในขณะนั้นมีชีวิตแบบอเมริกันสไตล์ ชอบนั่งรถสปอร์ตคันเล็ก ๆ แต่งตัวธรรมดาแบบวัยรุ่น และร้องเพลงเดอะบีทเทิ่ลซึ่งกำลังฮิตในช่วงนั้น

เขาเหมือนศิวะพร ทรรทรานนท์ ก็ตรงที่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ แต่เขาแตกต่างจากศิวะพร คือได้พยายามศึกษาตั้งแต่อยู่สหรัฐฯ มาจนถึงทิสโก้ แม้กระทั่งตอนเข้าทำงานที่ปูนซิเมนต์ไทยใหม่ ชุมพล ณ ลำเลียงยังต้องจ้างครูสอนภาษาไทยอยู่จนแตกฉากในเวลาต่อมา

ชุมพล ในช่วงกลับเมืองไทยใหม่ ๆ ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย เขาดำเนินชีวิตแบบอเมริกันสไตล์ชอบนั่งรถสปอร์ตคันเล็ก ๆ แต่งตัวธรรมดาแบบวัยรุ่น และฮัมเพลง เดอะบีทเทิ่ลซึ่งกำลังฮิตในช่างนั้น

ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนไทยผ่านการสึกษาวิชาบริหารธุรกิจจากสหรัฐฯรุ่นแรก ๆ อันเป็นช่วงต้น ๆ ยุคเอ็มบีเอ. กำลังถึงจุดเฟื่องฟูในประเทศนั้น ก่อนหน้านี้นักเรียนไทยมักเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจจากอังกฤษและสหรัฐฯและมักหันเหชีวิตเข้าสู่การทำงานกับหน่วยงานราชการ

แต่พวกเขาคือกลุ่มคนมุ่งทำงานกับองค์กรธุรกิจเอกชน

แท้ที่จริงแล้วภารกิจของเขาที่ทิสโก้นั้นเป็นเพียง "ทางผ่าน" เพียงวางรากฐานที่ดีให้กับหน่วยงานนี้ โดยเฉพาะเรื่องคน จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทิศโก้ในระยะแรกเป็นแหล่งรวมของมือาชีพผู้เก่งกาจจำนวนมาก แน่นอน ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการสร้างสิ่งนั้น

สุนทร อรุณานนท์ชัย บันเทิง ตันติวิท (กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ) สุรศักดิ์ นานากูล (ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ) ผู้เรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกับบันเทิงที่เอ็มไอที. ชัยนรินทร์ ศรีเฟื่องฟู (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารมหานคร) พิษณุ จงสถิตย์วัฒนาที่เพิ่งลาออกจากเครือซิเมนต์ไทยไป ล้วนเป็นศิษย์เก่าทิสโก้ทั้งสิ้น

ว่าไปแล้วการคัดเลือกคนเข้าทำงานในธุรกิจสร้างขึ้นใหม่ของแบงก์เกอร์สทรัสต์ก็ย่อมยึดถืออเมริกันสไตล์ หาคนเก่งจากท้องถิ่นจำนวนซึ่งในบ้านเราขณะนั้นหาไม่ง่ายเลย แต่ค่อนข้างโชคดีนักเรียนนอกช่วงประวัติศาสตร์สำคัญธุรกิจไทย (คนรุ่นใหม่สนใจเรียนบริหารธุรกิจ) เพิ่งจะกลับมากลุ่มหนึ่ง

ชุมพล ณ ลำเลียงอยู่ที่ทิสโก้เพียง 3 ปีก็ผันตัวเองไปเครือซิเมนต์ไทย ตามความตั้งใจของเขา บางกระแสข่าวอ้างว่าเมื่อครั้งกลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ ชุมพลเคยเดินท่อม ๆ ไปสมัครทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเหมือนกัน แต่เขาไม่รับ ข้อมูลอีกบางกระแสข่าวไม่ยืนยัน สาเหตุไม่รับแหล่งข่าวฝ่ายแรกให้เหตุผลสั้น ๆ ว่าบุคลิกของเขาขัดแย้งกับวัฒนธรรมของปูนฯ ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนง่าย ๆ เรียบ ๆ แต่คนปูนมักเรียบ ๆ แต่บางครั้งไม่ง่าย

ผู้ใกล้ชิดชุมพลเล่าว่าสมัยเขาเรียนที่ฮาร์วาร์ด ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับอัตตชีวประวัติประธานกรรมการบริหารคนแรกของบริษัทเยนเนอรัลมอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก เขาประทับใจอย่างมาก ๆ ต่อมาได้กลายเป็นจุดตั้งแห่งความใฝ่ฝันต้องการทำงานในกิจการอุตสาหกรรมรถยนต์ ในเวลาเดียวกันเมื่อเขาศึกษาโครงสร้างของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก้ได่ข้อสรุปว่าสำหรับประเทศไทยแล้วมีเพียงปูนซิเมนต์ไทยเท่านั้นมีศักยภาพจะไปสู่จุดนั้นได้

ในปี 2515 เขาได้เข้าทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยตามที่ตั้งความหวังไว้ ชุมพล ณ ลำเลียงจึงบรรลุจุดมุ่งหมายขั้นต้น

เพื่อน ๆ นักบริการธุรกิจมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเขามีความเป็นนักบุกเบิกที่เก่งมากที่สุดคนหนึ่ง เขาอยู่ตรงไหนตรงนั้นต้องเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างสิ่งใหม่ เมื่อเขามาทิสโก้ ทิสโก้กำลังวางรากฐานด้านกำลังคนเพื่อสร้างกิจการให้มั่นคงต่อไปในอนาคต เมื่อมาปูนซิเมนต์ไทยก็เป็นช่วงเวลาที่ปูนฯกำลังปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ เป็นปีที่ก่อกำเนิด "เครือซิเมนต์ไทย" และที่สำคัญเขามาอยู่ในจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

ปี 2512 ปูนซิเมนต์ไทยกู้เงินธนาคารโลก ธนาคารโลกเห็นว่าจุดอ่อนของปูนฯ คือ โครงสร้างการบริหารมีบริษัทเกี่ยวข้องหลายกิจการ และแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งจัดกระบบการบริหารไม่รัดกุม โดยเฉพาะความรู้ด้านการตรวจสอบและการเงินในอดีตไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร อันเนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นกิจการเน้นการผลิตตลอดมา

ชุมพล ณ ลำเลียงถือเป็นคนที่เข้ามาวางรากฐานที่ว่าโดยแท้

ตำแหน่งสำคัญในปูนแรก ๆ คือ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน

เมื่อตอนที่ยังทำงานกับทิสโก้ชุมพลมีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือการสร้างทีมงานขึ้นมาด้วยการเสาะหามือดีที่จบเอ็มบีเอจากต่างประเทศ มี 2 คนที่ชุมพลให้ความสนใจคนหนึ่งชื่อบันเทิง ตันติวิท อีกคนชื่อศิวะพร ทรรทรานนท์

เรียกได้ว่าเป็นความ "พอดี" ที่เขามีพื้นความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างดี เขาจึงสามารถเข้าใจลักษณะกิจการอุตสาหกรรมอย่างดีจากงานสร้างพื้นฐานด้านระบบการเงินในปูนซิเมนตืไทย

ในปี 2518 ชุมพลได้เข้าไปดูอาการของบริษัทสยามคราฟท์ ขณะนั้นกำลังเพียบหนักเพื่อศึกษาฐานะทางการเงิน อันถือเป็นยุทธวิธีพื้นฐานในการเข้าเทคโอเวอร์กิจการ ผลการประเมินสถานการณ์ของเขาเป็นข้อมูลพื้นฐานทำให้ปูนซิเมนต์ไทยได้เข้าบริหารบริษัทดังกล่าวในที่สุด

ในปี 2522 เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปบริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้น เพื่อรับซื้อกิจการของโรยัลเซรามิคมาดำเนินการ ชุมพลเป็นคนแรกเข้า "ผ่าตัด" ด้วยการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจากหลายประเทศ ต่อมาบริษัทนี้คือแกนของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่บริษัทเซรามิคอุตสหกรรมไทยนี้เขาใช้เวลาอยู่ถึง 2 ปี ในระหว่างนั้นยังต้องมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยด้วย บริษัทดำเนินการค้าระหว่างประเทศ (Trading company)

ปี 2524-2525 ชุมพลเข้ามาสู่อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเหล็กสยาม พอดีกับเหล็กสยามกำลังขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่ด้วยการรับเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น พัฒนาเครื่องจักรทันสมัยกว่าเดิมมาก

เป็นการเข้าใกล้อุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งแรก

ปี 2526 ชุมพล ได้รับการโปรโมทเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบด้านการตลาด ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นการเดินตามแผนการสับเปลี่ยนสายงานของผู้บริหารเพื่อจะได้เรียนรู้งานอย่างกว้างขวาง สำหรับชุมพลแล้ว ถือได้ว่าได้รับผิดชอบงานเกือบทุกด้านแล้ว ตั้งแต่ฝ่ายการเงิน ผู้บริหารการผลิตและล่าสุดขณะนั้นคือด้านการตลาด

เขาอยู่ในสายการตลาด 2 ปี อันเป็นช่วงธุรกิจเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527 (ซึ่งผลกระทบคงข้ามมาในปี 2528) อย่างไรก็ตามในปีนั้นปูนซิเมนต์ไทยสามารถทำยอดขายสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกมาถึงประมาณ 14,000 ล้านบาท (ปี 2529 ยอดขาย 11,437 ล้านบาท) และยังสามารถรักษากำไรไว้ในระดับสูง

ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการตลาดผลงานนั้นต้องยกเครดิตให้ชุมพล ณ ลำเลียง

ภายหลังบทเรียนการลดค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศยกระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์ ธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศ

นักบริหารธุรกิจกล่าวว่าในต้นปี 2528 เป็นต้นมา ธุรกิจไทยได้ก้าวเข้าสู่แวดล้อมทางธุรกิจใหม่ ความสามารถในการประกอบการมิได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต (ล้วน ๆ) กับราคาขายเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวแล้วข้างต้นด้วย

ดูจะเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง คณะกรรมการบริหารปูนซิเมนต์ไทย ให้ชุมพล ณ ลำเลียงกลับมาอยู่ในงานเดิม ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ อาวุโส รับผิดชอบสายการเงินและการบริหาร เพิ่ม "การบริหาร" เข้ามาด้วย ซึ่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารงานทั้งเครือ "ผู้จัดการ" เคยถามพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทในเครือต่าง ๆ พารณกล่าวว่าเรื่องรายละเอียดเช่นนี้ต้องถามชุมพล

ในปี 2528 นั้นเองชุมพล ยังรั้งตำแหน่งผู้ประสานงานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลด้วย

ซึ่งมีความนัยถึงบทบาทของชุมพลที่เพิ่มมากขึ้นอีกประการหนึ่ง ในฐานะผู้วางรากฐานอุตสาหกรรมเครื่องจักร ซึ่งเป็นรากฐานอีกทอดหนึ่งต่ออุตสหกรรมรถยนต์เครือซิเมนต์ไทยกำลังจะมุ่งไปสู่ พร้อม ๆ แรงบันดาลใจของชุมพล ณ ลำเลียงเองด้วย

ปี 2529-2530 เครือซิเมนต์ไทยกระโจนสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเป็นรูปเป็นร่าง โดยโครงการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กเริ่มเดินเครื่อง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวใหญ่ พิจารณาได้ 2 ประเด็น หนึ่ง ปูนเป็น "หัวหอก" ในการลงสู่รากฐานของชิ้นส่วนรถยนต์คือเครื่องยนต์โดยเข้าร่วม 2 โครงการใหญ่ ร่วมทุนกับโตโยต้าและนิสสัน-มิตซูบิชิ สอง-กล่าวกันวาเป็นขั้นสะสมเทคโนโลยีจากหลายบริษัท เกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ อันเป็นรากฐานพัฒนาอาร์แอนด์ดีของตนเองในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาในภาพรวมปูนได้เข้าอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ (ปี 2528) อุตสาหกรรมยางรถยนต์ (ปี 2525) ก่อนหน้านั้นแล้ว

ชุมพล ณ ลำเลียง ได้รับการยอมรับจากวงการธุรกิจว่าเป็นคนเก่งชนิดหาตัวจับยาก เขามีคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการหนึ่ง-มองการณ์ไกล สอง-เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ดำเนินอยู่อย่างดี สาม-กล้าตัดสินใจ

"สมองของเขาเหมือนคอมพิวเตอร์คิดเร็ว เขา CONCEPTUALIZE ได้เร็วมาก" คนใกล้ชิดคนหนึ่งยกย่อง กับลูกน้องเขาไว้วางใจ อดีตลูกน้องกล่าวว่าชุมพล ดำเนินนโยบาย DECENTRALIZATION ไม่เหมือนกับเถ้าแก่หรือมืออาชีพไทยส่วนใหญ่ "เพราะเขาเก่งมาก จนไม่ต้องกลัวว่าใครจะเก่งกว่าเขาหรือไม่อย่างไร ไม่ต้องกลัวใครจะมาเลื่อยเก้าอี้" แหล่งข่าวคนเดิมอธิบายเชิงจิตวิทยา

กับวัฒนธรรมของเครือซิเมนต์ไทย ชุมพล ณ ลำเลียง มีทั้งความขัดแย้งและกลมกลืนในเวลาเดียวกัน เขาเป็นคนกล้าแสดงความเห็นโดยเฉพาะในการประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูงด้วยกัน "เขาคิดอย่างไรก็พูดออกมา ไม่เกรงว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่" นักธุรกิจผู้รู้จักชุมพลดีกล่าว ซึ่งเป็นบุคลิกขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั่งเดิมของปูนฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เคยวิจารณ์คนปูนใหญ่เรื่องนี้มาแล้วเมื่อครั้งเขานั่งตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ (โปรดอ่านในหนังสือปูนซิเมนต์ไทย 70 ปี หรือ "ผู้จัดการ" เรื่องจากปก ฉบับที่แล้ว)

สิ่งที่กลมกลืนกับวัฒนธรรมของปูนคือชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคน LOW PROFILE ไม่ชอบออกมาแสดงตัวภายนอก

ส่วนตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย ทุกคนล้วนคาดหวังว่าชุมพล ณ ลำเลียงจะก้าวถึงสักวัน ถึงแม้จะช้า แต่ก็เป็นการก้าวทีเหมาะสมที่สุด เพราะเขาจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสยาวนานที่สุด เชื่อกันว่าประมาณ 10 ปีทีเดียว

ถึงตอนนั้นเครือซิเมนต์ไทยได้ขยายอาณาจักรอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปกว่านี้เป็น ดัชนีการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย หากยุคสมหมาย ฮุนตระกูล คือยุคของการเริ่มต้นสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ยุคจรัส ชูโตเป็นยุคพัฒนาบุคคล ยุคพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ปลูกฝังจริยธรรมทางธุรกิจ ต่อจากนั้นอาจเป็นยุคเน้นหนักด้านการตลาด หรืออื่น ๆ อีก ผู้ศึกษาวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมไทยเชื้อว่า ยุคของชุมพล ณ ลำเลียงอาจเป็นยุคการพัฒนากรวิจัยและพัฒนาการ (R&D) ก้าวถึงจุดที่ปูนซิเมนต์ไทยมีสิทธิบัตร (PATENT) ของตนจดไว้ในต่างประเทศแล้วถึงตอนนั้นงบที่ต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนาบุคคลจะต้องเทมาสู่ R&D คิดเป็นต้นทุนการผลิตนับ 10% เหมือนกับอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย

ชุมพล ณ ลำเลียง ยังมีเวลาอีก 18 ปี ในการทำงาน สะสมประสบการณ์ เมื่อถึงตอนนั้นนักเรียนด้านบริหารธุรกิจของไทยในยุคนั้นก็คงโชคดีมีโอกาสสัมผัสอัตตชีวประวัติของนักธุรกิจ ผู้สร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย เป็นตำราประกอบการเรียนที่ทรงคุณค่ายิ่ง

อาจจะชื่อทำนองว่า MADE IN THAILAND ซึ่งเขียนโดย ชุมพล ณ ลำเลียง

ถึงแม้จะช้ากว่าประเทศอื่น ๆ หลายสิบปีโดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งงานเขียนทรงคุณค่าเช่นนี้กำลังขายดีไปทั่วโลก เช่น MORITA ประธานโซนี่ เขียน MADE IN JAPAN อะไรเทือกนี้

กว่าจะถึงวันนั้น "ผู้จัดการ" คงมีโอกาสได้สนทนากับเขาหลาย ๆ ครั้ง เพื่อพูดถึงชีวิตและงานของเขาเป็นแน่แท้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.