ชวน ตั้งมติธรรม พี่ใหญ่ ค่ายมั่นคงเคหะการ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ชวนได้รับโอกาสเข้าเรียนทั้งที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์และท้ายที่สุดที่รามคำแหง แต่โอกาสที่เปิดให้เขาอย่างกว้างขวาง กลับเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้บนลำแข้งตัวเอง ปัจจุบันเขามีปริญญาบัตรจากรามคำแหงสมใจแล้วส่วนมหาวิทยาลัยชีวิตจริง ๆ แล้วน่าจะต้องให้ปริญญาเอก

ชวน ตั้งมติธรรม หัวเรือใหญ่แห่งเครือมั่นคงเคหะการ อาณาจักรธุรกิจพัฒนาที่ดินและหมู่บ้านจัดสรรชั้นแนวหน้า "ชวน" มีอีกชื่อหนึ่งเรียกกันในหมู่ญาติคนจีนใกล้ชิดว่า "อิ่มช้วน แซ่ตั้ง" เขาเกิดย่านป้อมปราบใจกลางกรุงเทพมหานครนี่เอง

สามถึงสี่ปีให้หลังที่ "สู้เจียว แซ่ตั้ง" ได้เข้ามาทำมาหากินบนแผ่นดินไทย ด้วยการเป็นเสมียนรับจ้างในโรงไม้แถวเชิงสะพานนพวงษ์ พร้อม "กี แซ่คู" ภรรยาคู่ชีวิตที่หอบหิ้วกันมาผ่าน "มาเลเซีย" ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งก่อนจะตัดสินใจเดินทางมาปักหลักในเมืองไทย

คนทั้งสองนี้คือที่มาของ "ชวน" หรือ "อิ่มช้วน" ลูกชายคนแรกที่เป็นทั้งหัวเรี่ยวหัวแรงและเสาหลักของตระกูล "ตั้งมติธรรม" ในปัจจุบัน

"ชวน" เริ่มเรียนประถม 1 ขณะที่ "สู้เจียว" เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของโรงค้าไม้และเพียงปีเดียวให้หลังนั้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็เกิดขึ้นพร้อมกับเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธ์มิตรนำมาบอมบ์ลงใจกลางกรุงเทพมหานคร "ชวน" ต้องหลบภัยระเบิดพร้อมแม่ ออกไปอยู่ชานเมืองแถบท้องทุ่งบางกระปิที่สุดต้องหนีให้ห่างจากภัยสงครามครั้งนั้นออกไปตั้งหลักที่จังหวัดชลบุรี

จากภัยสงครามนับเป็นการดิ้นรนครั้งแรกในชีวิตของคนที่ชื่อ "ชวน" ระหว่างนั้น "สู้เจียว" ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย หันมาระดมทุนจากญาติ ๆ ตั้งโรงค้าไม้แห่งใหม่ของตัวเองอยู่ที่กรุงเกษมเขาจะมีเวลาไปเยี่ยมลูกและภรรยาเฉพาะช่วงเย็นของวันเสาร์ถึงตัวเองชลบุรี

"ชวน" มีโอกาสได้เรียนใหม่อีกครั้งในโรงเรียนจีนเล็ก ๆ ใกล้โรงค้าไม้ของ "สู้เจียว" ซึ่งไม่ได้มาตรฐานนักขาดทั้งหลักสูตรคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เขาเสียเวลาอยู่ 3 ปี กับสถานที่เรียนแห่งนี้ถึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ในขอบรั้วโรงเรียนสหคุณ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนจีนที่ได้มาตรฐานในขณะนั้น

"ผมต้องหยุดเรียนอีก หลังเข้าเรียนในสหคุณยังไม่ทันถึงปีดี" เขาบอกความหลังที่การเรียนต้องสะดุดลงเป็นหนที่สองเหตุเพราะรัฐบาลสมัยนั้นเน้นนโยบายชาตินิยม โดยออกประกาศยกเลิกการเรียนการสอนภาษาจีนหลักสูตรเกินกว่าชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งมีอยู่ในประเทศขณะนั้นทั้งหมด

การหยุดเรียนทำให้ "ชวน" รู้จักกับงานรับจ้างหารายได้จิปาถะนับแต่งานเบ็ดเตล็ดในร้านค้ากระทั่งขนส่งของและทำความสะอาดนอกสถานที่ "ตอนผมรับจ้างอายุ 15 ปีมีรายได้เริ่มต้นเดือนละ 200 บาทต้องหาเวลาเรียนกลางคืนตามหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ของทางการ" "ชวน" เล่าพร้อมบอกถึงความมุ่งมั่นการรักความก้าวหน้าด้วยการเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลสำคัญมาอ่านเป็นการประดับความรู้ การชอบอ่านของ "ชวน" นี่แหละที่เป็นแรงผลักให้เขาอยากประสบความสำเร็จในงานธุรกิจ

"ผมเรียนกลางคืนอยู่ 2 ปีหันไปกวดวิชาอีก 3 ปี จึงสอบได้ถึงมัธยม 8 และสอบผ่านเข้าเรียนสถาปัตย์ที่จุฬาฯ พร้อม ๆ กับคุณปรี บูรณศิริ" เขาบอกถึงเพื่อนที่เข้าเรียนสถาปัตย์ และมีชื่อเสียงมีตำแหน่งรองผู้ว่าการเคหะในปัจจุบัน

แต่ "ชวน" ต้องชวดจากการเป็นบัณฑิตรั้นสีชมพู เขาออกจะโชคร้าย และค่อนข้างจะอาภัพกับการเอาดิบเอาดีด้านการศึกษาเล่าเรียน เพียงเพราะฐานะที่เป็น "ตั้วเฮีย" ของตระกูล "ตั้งมติธรรม" ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวธุรกิจของครอบครัวในยุคเริ่มต้น เขาต้องทิ้งการเรียนสถาปัตย์จากจุฬากลับไปช่วยพ่อทำธุรกิจโรงไม้อีกครั้ง ด้วยเวลาที่เพิ่งเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยยังไม่ครอบขวบปี

"ผมเองก็เสียใจที่ต้องเลิกเรียนสถาปัตย์ คุณพ่อขอร้องให้ออกมาช่วย เนื่องด้วยธุรกิจเราเงินทุนน้อย ภาระดอกเบี้ยก็สูงและมีหนี้สูญ หุ้นส่วนอื่นก็บีบให้หาเงินมาซื้อหุ้น หรือต้องเลิกกิจการที่คุณพ่อเป็นหัวแรงก่อตั้ง เราต้องกู้เงินเขามาซื้อหุ้นคืน" เขาบอกถึงสภาพร้านค้าไม้ที่ "สู้เจียว" ผู้พ่อได้ลงมือบุกเบิกมาระยะหนึ่งแต่ไม่มีผลกำไร นับเป็นอุปสรรคของธุรกิจครอบครัวที่ต้องการลูกชายยอมเข้าร่วมทุ่มเททุกอย่างเพื่อช่วยกันทำจึงจะไปรอด ซึ่งการแบกภาระช่วยพ่อฟื้นฟูธุรกิจครั้งนี้ยังหมายถึงการศึกษาของน้อง ๆ อีก 3 คน และอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการประหยัดเงินเดือนพนักงานที่เขาต้องเข้าไปรับหน้าที่แทน

นับเป็นก้าวแรกของการเริ่มศึกษางานธุรกิจก่อสร้างอย่างจริงจัง ภาวะที่ธุรกิจครอบครัวต้องทำให้ทั้งสองพ่อลูกเร่งฟื้นฟูจากจุดนี้ถ้าจะบอกว่า "ชวน" ได้เริ่มงานเพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องขึ้นเป็นเสาหลักให้กับ "มั่นคงเคหะการ" ก็คงไม่ผิดมากนัก แม้นว่าจะเป็นการถูกวางหมากจาก "สู้เจียว" ผู้เป็นพ่อ

แรกของงานฟื้นฟูธุรกิจให้กับครอบครัวพร้อมเป็นแนวรากฐานและงานบุกเบิกสำหรับตัวเขาเอง "ชวน" ต้องวิ่งเข้า ๆ ออก ๆ กับหน่วยราชการ โดยเฉพาะกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่เขาติดต่อเพื่อขายวัสดุและประมูลงานก่อสร้าง

มั่นคงเคหะการตอนนี้มี 3 แรงแข็งขัน ชวนพี่ใหญ่มีประสบการณ์ยาวแน่นที่เขาซึมซับเอาไว้ไม่น้อยส่วนน้องอีก 2 คนผ่านการศึกษาสูงจากต่างประเทศ

"ผมต้องหันจับงานราชการซึ่งเมื่อก่อนคุณพ่อไม่ค่อยจะทำ ตอนนั้นยังห่วงเรียนผมเข้าธรรมศาสตร์อีก คณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่ผมได้รู้จักกับคุณประชา จารุตระกูลชัย" เขาบอกถึงการงานและการเรียน อันเป็นที่มาของความรู้จักมักคุ้นกับคนระดับรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ยังมีเวลาพอกันบ้างในงานสัมมนาวิชาการ รวมถึง "ปรี บูรณศิริ" รองผู้ว่าเคหะในยามว่าง

การเป็นเพื่อนมิตรต่อคนทั้งสองนี้คงจะไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจและคาดหวังว่าสักวันหนึ่ง "ชวน" ต้องมีอาณาจักรธุรกิจบ้านจัดสรรชั้นระดับแนวหน้า พร้อมอุตสาหกรรมส่งออกวัสดุปูพื้นพรม พี.วี.ซี. ภายใต้ยี่ห้อ "ดูราฟลอร์" ขณะที่ "ปรี บูรณศิริ" เป็นรองผู้ว่าการเคหะและมี "ประชา จารุตระกูลชัย" เป็น รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

"มันคงไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรมากเท่าไหร่นัก หากจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีนี้ส่งเสริมธุรกิจของเขาโดยอาศัยเพียงช่องว่างทางสังคมที่นักธุรกิจอีกหลายคนมีไม่เหมือนเขา" คนในวงการให้ทัศนะ

แต่ "ชวน" กลับย้ำอย่างหนักแน่นว่า "เราทำธุรกิจที่ไม่เคยอาศัยช่องว่างทางสังคมมาเอาเปรียบใคร และไม่มีวิธีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่การสร้างสรรค์สังคม" ดูเหมือนสิ่งที่เขาย้ำเช่นนี้คงสมเหตุสมผลกับตำแหน่ง "นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร" ที่บรรดานักธุรกิจที่เป็นสมาชิกอยู่ได้ยอมรับให้เป็นตราประกันถึงศักดิ์ศรีของเขาอยู่พอสมควร

หวนกลับถึงคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์อันเป็นสถาบันที่ทำให้เขาได้รู้จักกับคนระดับรองอธิบดีกรมฯต่อ "ชวน" เรียนธรรมศาสตร์ได้เพียง 2 ปีต้องหยุดอีกเพราะงานรับเหมาที่ต้องออกบุกเบิกไปถึงต่างจังหวัดขณะที่งานฟื้นฟูธุรกิจครอบครัวในกรุงฯเริ่มอยู่ตัวทั้งเขาและ "สู้เจียว" นอกจากต้องกอบกู้ยังต่างมุ่งหวังให้ธุรกิจกระเตื้องยิ่งขึ้นไปอีก ความตั้งใจที่สอดคล้องกันเช่นนี้เป็นจุดที่ "ชวน" เริ่มงานในต่างจังหวัดเป็นของตัวเองอย่างเอกเทศโดยมี "สู้เจียว" คอยให้การสนับสนุน

ด้วยเงินเพียง 5,000 บาท "ชวนตัดสินใจปักหลักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตัวจังหวัดอุบล มี "ห้างหุ้นส่วนจำกัดมั่นคงสถาปัตย์" เป็นฐานที่ตั้ง ด้วยวัย 25 ปีค่อนข้างเอาการเอางานรับประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากร้านค้าไม้ของพ่อ ทำให้เขารู้ถึงวิธีแก้ปัญหาและหมุนการเงินอย่างระมัดระวังประกอบด้วยช่างที่มีฝีมือที่เขานำไปจากกรุงเทพทำให้เป็นต่อพ่อค้าท้องถิ่น

"ชวน" ตัดสินใจเลือกยุทธภูมิทางธุรกิจได้ไม่ผิดนัก ปี 2504 ตลาดรวมถึงตึกรามบ้านช่องกลางเมืองอุบลถูกไฟเผาเรียบเกือบทั้งเมือง เขาเริ่มเข้าบุกเบิกขณะความต้องการด้านตลาดก่อสร้างกำลังมีสูง บวกกับเขาเองมีโอกาสดีสามารถจัดหาวัสดุในการก่อสร้างได้ด้วยวิธีการเครดิตจากกรุงเทพทั้งหมด

การถอยร่นหลีกหนีคู่แข่งขันผู้รับเหมาในกรุงเทพที่มีจำนวนมาก ออกไปเผชิญกับพ่อค้าท้องถิ่นไม่กี่ราย แม้จะมีกลุ่มผู้รับเหมาที่เป็นคน "ญวน" เข้ามาทำกินอยู่ในเมืองอุบลก่อน แต่เขาก็ใช้ระยะเวลาปรับตัวเข้าหาและพบจุดอ่อนของคนกลุ่มนั้นจนได้

"พ่อค้ารับเหมาญวนมีความขยันขันแข็งมากทีเดียว แต่เขามีจุดอ่อนตรงที่ทำมักจะไม่ตรงคำพูดและเข้ากับคนในท้องถิ่นยากกว่าเรา เราสร้างความสนิทสนมได้ดีกว่า" เขาเล่าถึงจุดอ่อนของพ่อค้ารับเหมาคนญวนที่ภายหลังเขาได้เปรียบอยู่หลายขุม การเริ่มต้นทางธุรกิจที่ "ชวน" ยึดเอาภาคอีสานใจกลางเมืองอุบลทำให้สามารถขยายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีก

อาณาจักร "มั่นคงสถาปัตย์" เริ่มขยายตัว เขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักชั่วคราวของหน่วยงานก่อสร้างติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี งานกลางวันติดต่อกับผู้ว่าจ้าง กลางคืนนั่งแยกวัสดุ ประเมินราคาและคิดบัญชีด้วยตัวเอง เขาควบคุมงานอย่างใกล้ชิดขั้นตอน

"บางทีผมต้องจำนำของใช้ส่วนตัวนาฬิกาบ้างสร้อยคอบ้างหรือไม่ก็ต้องหายืมเงินมาจ่ายค่าแรงให้ทันตามกำหนดเวลา หรือยามลูกน้องมีความเดือดร้อน" เขาเล่าถึงวิธีการหมุนเงินเป็นครั้งคราวและประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายไม่ยอมใช้เงินไปในทางที่ไม่เกิดผลส่งเสริมต่อธุรกิจหลัก

ลักษณะธุรกิจรับเหมาเล็ก ๆ ที่มีทั้งงานเอกชนและราชการที่นับวันแตกหน่อขยับขยายมากขึ้นจาก งานสร้างสะพานกำแพงวัดก็เป็นงานสร้างตลาด โรงภาพยนต์เลยถึงการสร้างโรงแรมหรูหราจากประสบการณ์ในการค้นหาช่องจังหวะอย่างดีมีขั้นตอนและสม่ำเสมอ ภายในปี 2511 "ชวน" รีบจัดตั้ง "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มั่นคงเทรดดิ้ง" ขึ้นอีกทำการนำเข้าและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ขายส่งทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

"หจก. ช.มั่นคงเทรดดิ้ง " คือธุรกิจที่สัมพันธ์อยู่ในวงจรเส้นเลือดเดียวกับธุรกิจหลักอยู่แล้ว นับเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ "มั่นคงสถาปัตย์" เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ งานเริ่มขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง "ผมไปสร้างศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ และตลาดที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วก็สร้างโรงแรมที่เมืองอุบล เราให้เซ้งทั้งหมดการขยายงาน เรามองว่าเมื่อดำเนินกิจการในธุรกิจหนึ่งถึงระดับหนึ่งแล้ว อาจจะไม่เกิดความก้าวหน้า ดังนั้นจึงต้องหาทางปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินการเพื่อให้ขยายตัวต่อไปได้" เขาบอกถึงงานรับเหมาระดับใหญ่ที่ตามมารุกไปยังจังหวัดข้างเคียงนับแต่บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, นครพนม, ขอนแก่น งานซึ่งเกิดผลจากการต้องมีช.มั่นคงเทรดดิ้งขึ้นมาอีก

"มั่นคงสถาปัตย์" ที่มีงานตกแต่งนำเข้าจำหน่ายวัสดุทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดภายใต้ร่ม หจก.มั่นคงเทรดดิ้งที่พ่วงท้ายอยู่งานบุกเบิกธุรกิจที่กำลังดตวันโตคืนภายใต้การนำของ "ชวน" เริ่มเบนเข็มมุ่งสู่ภาคเหนืออย่างไม่หยุดยั้งกับความเหน็ดเหนื่อยทั้ง 5 ปีให้หลังที่มี "มั่นคงเทรดดิ้ง" แล้วในปี 2516 "ชวน" ก็ก่อตั้งจดทะเบียนบริษัท "ไดมอนด์เซรามิค" ขึ้นด้วย

"ไดมอนด์เซรามิค" เกิดจากการอิ่มตัวของผู้ประกอบการที่ชื่อ "ชวน" ซึ่งสามารถยกระดับธุรกิจของตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จากการรับเหมาที่เป็นงานเล็กสู่การนำเข้าวัสดุและตกแต่งจนถึงงานสร้างอาคารที่ให้เซ้ง กระทั่งที่ต้องคิดมีโรงงานผลิตและรับจ้างผลิตกระเบื้องโมเสค ภายใต้ชื่อ "ไดมอนด์เซรามิค" ออกจะเป็นก้าวย่างที่เติบโตในสายธุรกิจที่จงใจร้อยรัดให้สัมพันธ์กันขึ้นมาด้วยสายตาที่ยาวไกล แต่ "ชวน" ต้องหยุดโครงการไว้ก่อนเพราะช่วงนั้นโรงงานกระเบื้องมีคู่แข่งขันมาก

"เกี่ยวกับงานก่อสร้างแล้วตอนนั้นแทบพูดได้ว่า เขามีเกือบจะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือตกแต่ง วัสดุ แล้วก้มาทำโรงงานกระเบื้องขึ้นอีก" คนในวงการก่อสร้างที่ร่วมสมัยกับ "ชวน" เล่าให้ฟัง

วงจรธุรกิจหมุนไปชนิดที่เรียกว่าเกือบจะครบเครื่อง ก่อนหน้าที่จะเกิด "ไดมอนด์ซีรามิค" เพียง 1 ปี "ชวน ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองพร้อมกับการพัฒนาองค์กรธุรกิจ ที่นับวันเดินหน้าเขายังต้องการไขว่คว้าหาปริญญษบัตรด้วยการสมัครเข้า

ปทุมวันเพลสคอนโดมิเนียมแห่งแรกของมั่นคงเคหะเป็นโครงการที่ได้รับคำชมเชยมาก พื้นที่ถูกขายไปได้หมดก่อนอาคารจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทั้ง ๆ ที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยรวมกำลังตกต่ำ

เป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มาหวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2515 ขณะที่ "ประทีปตั้งมติธรรม" ผู้เป็นน้องชายหอบหิ้วเอาปริญญาโทสถาปัตยกรรม (เกียรตินิยม) สาขาเคหะการจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สหรัฐฯกลับมา ในปี 2516 อันเป็นปีเดียวกับการก่อตั้งโรงงานกระเบื้อง "ไดมอนด์ซีรามิค"

สองแรงแข็งขันที่ผสมผสานเอาความบึกบึนสั่งสมประสบการณ์อันเป็นลักษณะของเถ้าแก่เจ้าของกิจการมาเนิ่นนานอย่าง "ชวน" กับแรงผลักของคนหนุ่มไฟแรง ที่เพิ่งจบการศึกษาด้านวิชาการด้านสถาปัตย์สาขาเคหะการโดยเฉพาะ ทำให้การไขลานของธุรกิจครอบครัว "ตั้งมติธรรม" ยิ่งเขม็งเกลียวเพิ่มขึ้นอีกหลายรอบตัว

คนอย่าง "ชวน" เขาไม่ยอมปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์เอาเสียเลย เขามักพูดเสมอว่า "เมื่อได้รับความสำเร็จมีรากฐานที่มั่นคงแล้ว ธุรกิจสามารถที่จะขยายตัวในลักษณะแบบเรขาคณิต การลงทุนขยายธุรกิจให้เกิดการสร้างงานเป็นลูกโซ่จะต้อมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ผู้ทำธุรกิจควรมีความรู้ทางวิชาการใช้ผสมกับประสบการณ์ที่สะสม จึงจะบริการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง"

มันช่างสมใจเถ้าแก่ "ชวน" เสียนี่กระไร หลังจากที่ "ประทีป" กลับจากต่างประเทศเพียงปีเดียว ปี 2517 "ประศาสน์ตั้งมติธรรม" น้องชายสุดท้องก็สำเร็จ วิศวกรรมสำรวจ จากรั้วจุฬาเป็นพลังเสริมธุรกิจครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก ออกจะสมใจเขาไปเสียทุกอย่าง ธุรกิจที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก็ออกจะมั่นคง น้อง ๆ ที่หมายมั่นปั้นมือมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็จบการศึกษาออกมาอย่างเหมาะเจาะ

จากประสบการณ์ทางก่อสร้างมากกว่า 10 ปี สามารถจะทราบถึงความต้องการของลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง พร้อมลักษณะการควบคุมให้การก่อสร้างมีคุณภาพ ในขณะที่ปี 2519 กรุงเทพฯ กำลังขยายตัวความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนมีสูง เขาเริ่มออกสำรวจที่ดินที่จะซื้อเพื่อลงโครงการหมู่บ้านจัดสรร

"เราสิ่งหาที่ดินพร้อมสำรวจความเหมาะสมอยู่ระยะหนึ่ง ที่สุดก็ลงที่คอลงประปาถนนประชาชื่น เริ่มลงอย่างจริงจังในปี 20 เรียกว่าโครงการหมู่บ้านชวนชื่นประชาชื่น" เขาบอกถึงโครงการแรกซึ่งใช้เวลาดำเนินการจนถึงปี 2522 จึงสามารถเปิดโครงการได้

ในที่สุด "ชวน" ก็เป็นบัณฑิตจนได้เขาได้รับปริญญาสมใจอยากในปี 22 อันเป็นปีเดียวที่โครงการหมู่บ้านจัดสรรชวนชื่นประชาชื่นปิดโครงการพอดี เขาใช้เวลาเรียนในรามคำแหงถึง 7 ปีเต็ม "ผมเรียนนานเพราะแต่ละภาคลงไม่กี่วิชา" เขาบอกถึงลักษณะการที่ต้องเรียนด้วยทำงานด้วย "ชวน" กลายเป็นศิษย์เก่าถึง 3 สถาบันเมื่อนับรวมถึงสถานที่เคยเรียนแต่ไม่จบตั้งแต่รั้วจุฬาฯ มาธรรมศาสตร์จนถึงรามคำแหง

หลังจากปิดโครงการแรกได้ "ชวน" ร่วมกับน้อง ๆ ในครอบครัวซึ่งร่วมแรงกันอย่างแข็งขัน เขาพากันควบกิจการที่มีทั้ง "มั่นคงสถาปัตย์" มั่นคงเทรดดิ้งและไดมอนด์ซีรามิค" เข้าสู่ธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรอย่างเต็มตัวภายใน 4 ปีจาก 2523-ปี 2526 สามารถมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มอีกถึง 4 โครงการ

โครงการสอง "ชุมชนชวนชื่นหัวหมาก" เปิดโครงการในปี 2522 สามารถปิดโครงการได้ในปี 2526 ตามมาด้วยโครงการที่ 3 "ชวนชื่นเคหะอุทยานทุ่งมหาเมฆ" หลังศูนย์การค้าวรรัตน์ ถนนจันทร์ เปิดโครงการในปี 2523

และในปี 2524 นี่แหละที่บริษัท "ไดมอนด์ซีรามิค" มีการเพิ่มทุนจาก 8 ล้านเป็น 15 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมหลังจากนั้นได้เดือนเดียวคือ วันที่ 29 เมษายน 2524 ในบรรดาผู้ถือหุ้นที่ล้วนเป็นพี่ ๆน้อง ๆก็มีมติให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก "ไดมอนด์ซีรามิค" มาเป็นบริษัท "มั่นคงเคหะธนาการ"

ปี 2525 โครงการที่ 4 เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ "ชวนชื่นลาดพร้าว" ย่านซอยภาวนาในปี 2526 "ชวน" หันไปจับคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังบูม มันก็น่าแปลกอยู่หน่อยสำหรับคนที่ทำอะไรแล้วต้องล้มลุกคลุกคลานแต่ "ชวน" นับว่าสายตาของเขาแหลมคมที่หาตัวจับยาก

ภายในปีเดียวปทุมวันเพลสคอนโดมิเนียม ก็สามารถขายหมดได้ในปี 2527 ในปีนี้นี่เองได้มีการเพิ่มทุนของบริษัทอีกครั้งจาก 15 ล้านเป็น 45 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นได้ประชุมพิจารณาขยายกิจการของบริษัทที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทำบ้านจัดสรรอย่างแน่นอน จึงได้ร่วมกันทำการเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจจากบริษัท "มั่นคงเคหะธนาการ" เป็นบริษัท "มั่นคงเคหะการ"

จาก "ไดมอนด์ซีรามิค" ถึง "มั่นคงเคหะธนาการ" มาจนกระทั่งเป็น "มั่นคงเคหะการ" ในวันนี้ ดูเหมือนการหยั่งรากแก้วลงจนลึกการเปลี่ยนชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า นับเป็นสิ่งจูงใจให้มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ "มั่นคง"

"มั่นคง" ที่มาจากความหมายเดียวกับภาษาจีนที่เรียกเป็นชื่อของเขา "อิ่มฉ้วน" "มั่นคงอยู่เหนือความเสี่ยงภัย โดยบริษัทจะก้าวไปด้วยช่างก้าวเต็มฝีก้าวที่มั่นคงอย่างไม่หยุดยั้ง" เจ้าของชื่อและความหมายนี้พูดอย่างมั่นใจเสียจริง ๆ

ปี 2527 เป็นปีที่ "ประศาสน์ ตั้งมติธรรม" กลับจากอเมริกาพร้อมด้วยปริญญาเอกทางด้านการเงิน "ประศาสน์" จากครอบครัวไปแต่ปี 2522 ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นทำการวิจัยเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่มหาวิทยาลัยโกเบ หลังจากนั้นจึงเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยฮาวายสหรัฐอเมริกา

"ประศาสน์" กลับมาขณะที่เวทีธุรกิจครอบครัวพร้อมที่จะให้เขาได้แสดงฝีมือธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเครือ "มั่นคงเคหะการ" กำลังโต เกมธุรกิจที่ "ชวน" ผู้เป็นพี่ชายเล่นอยู่ขณะนั้นแทบเรียกได้ว่าเขาพับสนามเล่นกันทีเดียว การจัดสรรขุมกำลังสติปัญญาเป็นไปโดยอัตโนมัติทั้ง "ประทีป" และ "ประศาสน์" เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกวางในตำแหน่งให้เหมาะสม ขณะที่ "ชวน" ยืนอยู่จุดเซ็นเตอร์พร้อมในการที่จะตัดสินใจยิงลูกเข้าประตูได้ตลอดเวลา

หลังกลับจากอเมริกา "ประศาสน์" เข้าเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ได้ปีเดียว ในปี 2528 เขาต้องลาออกมารับตำแหน่งรองประธานเครือ "มั่นคงเคหะการ" พร้อมกับเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท "มั่นคงการโยธา" ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งมีบทบาทในด้านการรับเหมาก่อสร้างหนุนช่วยบริษัทในเครือ

ขณะที่ "ประทีป" รับผิดชอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ "มั่นคงเคหะการ" อันเปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ในการเป็นบริษัทแม่ที่มี "ชวน" เป็นประธานกรรมการบริหาร "ชวน" ยังพ่วงด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท "ดูราฟลอร์ จำกัด" ที่เปรียบดั่งเส้นเลือดใหม่ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาหมาด ๆ ในปลายปี 2526

"ขอบอกถึงคนรุ่นใหม่ว่าให้พยายามพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งมืออาชีพ และเจ้าของกิจการทั้งสองด้านแล้วเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่เสมออย่าหยุดตื่นตัวเสมอประมาณตนเองเสมอ"

"การทำธุรกิจก่อสร้างทำให้ผมคิดว่าหากสามารถผนึกกำลังทั้งขายวัสดุก่อสร้างตกแต่งและก่อตั้งโรงงานผลิตวัสดุปูพื้นชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า พรมวิทยาศาสตร์หรือพรมพีวีซีออกจำหน่ายได้ก็จะมีอนาคต" "ชวน" บอกถึงแรงจูงใจตั้งบริษัทผลิตวัสดุปูพื้นพีวีซี ภายใต้ยี่ห้อ "ดูราฟลอร์" ซึ่งมีโรงงานเป็นของตัวเองที่ทันสมัยตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร คลองหลวง ปทุมธานี

กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ "เครือมั่นคงเคหะการ" มีสินทรัพย์ประมาณ 400 ล้านบาทด้วยการเริ่มต้นเงินเพียง 5,000 บาทของ "ชวน" เขาบอกว่าเขาฝ่ามรสุมจากวิกฤตนับแต่ปี 2526 ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งมีปัญหา ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบโดยตรงถึงกับล้มไปหลายแห่ง แต่เครือ "มั่นคงเคหะการ" ยังยืนโต้คลื่นลมผ่านมาได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีธุรกิจในเครือเป็นสถาบันการเงินของตนเองรองรับ

ตรงข้ามปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2527-2528 คอนโดมิเนียม 18 ชั้นของเขาที่เรียกว่า "ปทุมวันคอมเพลส" กลับได้รับรางวัลจากผู้จัดทำโครงการประกวดผลงานตลาดดีเด่น ทั้งนี้เพราะโครงการดังกล่าวได้ดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมสามารถขายห้องชุดได้หมดก่อนตัวอาคารจะสร้างเสร็จทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเป็นเวลาที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยทั่วไปกำลังซบเซา

ในปี 2529 ถัดมา ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมอีกหลายแห่ง ต้องล้มระเนระนาด ซึ่งเป็นผลเนื่องจากนโยบายการจำกัดสินเชื่อแต่เขากลับพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ผมได้รับการทาบทามจากผู้บริหารไฟแนนซ์หลายแห่งให้เข้าร่วมถือหุ้น มีการพูดคุยกันเราก็คิดว่าน่าจะมีธุรกิจเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่เป็นของตัวเองบ้างซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ" เขาบอกถึงสักวันหนึ่งจะต้องก้าวเข้าสู่ธุรกิจสถาบันการเงิน

"มีบริษัทเงินทุนเขาปรึกษาอยู่ 2-3 บริษัทที่มาทาบทามเรา บางบริษัทเราก็เห็นว่ามีหนี้สินมากเกินไปบางบริษัทเราก็เห็นว่าอยู่ที่การเจรจาเงื่อนไขในการที่จะขาย"

"การไปสู่ความสำเร็จที่อยู่ที่เราพยายามพัฒนาตัวเอง ติดตามโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ตลอดเวลา ทีนี้ก็อยู่ที่สายตาว่าสิ่งไหนเหมาะวิเคราะห์ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่เรามากน้อยแค่ไหน บางสิ่งอาจมีมากน้อยถ้าไปจับสิ่งที่มีประโยชน์น้อยจะทำให้เราเสียกำลังไป เมื่อเราวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ต่อเราก็ต้องรีบจับมันเลยไม่เช่นนั้นมันเลยไปจับไม่ได้"

"ผมคิดเสมอว่าถ้าผมเกิดในยุคของคุณชินหรือคุณอุเทน ผมก็คิดว่าผมสามารถที่จะเป็นแบงก์เกอร์ใหญ่เพราะสมัยนั้นแบงก์มันขอได้ง่ายเหลือเกิน แล้วโอกาสที่เราจะไปถือหุ้นแล้วขึ้นไปบริหารมันง่าย แบงก์ชาติไม่ค่อยควบคุมเลย"

ปี 2530 นี้เป็นการเติบโตเต็มที่จากการเริ่มต้นจาก "ชวนชื่น" ประชาชื่นเป็นแห่งแรก มาจนบ้านอุทยานในฝัน "ชวนชื่นพาร์ควิลล์" มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทตั้งอยู่ติดกับถนนวงแหวนสายนอกเชื่อมต่อทางด่วนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี และอีก 2 โครงการล่าสุดคือชวนชื่น รามอินทรา เนื้อที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งเพิ่งเปิดโครงการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอีกโครงการที่ต้องเปิดในเร็ว ๆ นี้คือ กรีนวิล์ล โครงการคู่แฝดของ ชวนชื่น พาร์ควิลล์

และในเร็ว ๆ นี้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของเครือ "มั่นคงเคหะการ" ก็จะเป็นที่รวมของบริษัทในเครือทั้งหมด เป็นอาคาร 10 ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่ย่านตลาดกลางไข่เดิมถนนบรรทัดทอง "เราจะสร้างให้เสร็จก่อนสิ้นปี 31 นี้ ทำสัญญาเช่าที่จากทรัพย์สินจุฬา 30 ปี หากครบสัญญาเราก็ยกตึกให้กับทางราชการไปแล้วจะเป็นผู้เช่าตึกนี้ต่ออีกที" ชวนบอกถึงสำนักงานแห่งใหม่อันเป็นที่รวมศูนย์ของเครือ "มั่นคงเคหะการ"

"ผมจะต้องเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้ให้ได้ ก็อยากจะบอกถึงคนรุ่นใหม่ว่าให้พยายามพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งมืออาชีพ และเจ้าของกิจการทั้งสองด้านแล้วพยายามเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่เสมออย่าหยุดมีการตื่นตัวอยู่เสมอและประมาณตนเองเสมอ" เถ้าแก่ชวนบอกพร้อมฝากข้อคิดไว้ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.