สุเทพ เป็นคนเก่าจากเชสแมนฮัตตันที่ตัดสินใจอยู่กับซีมิคต่อ ภายหลังธนาคารสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ขายซีมิคออกไปจากเครือซีมิคในยุคเชสฯ
เป็นไฟแนนซ์คัมปะนีที่จับธุรกิจเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งถ้าต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองก็คงจะเป็นการยืนอยู่บนขาเพียงขาเดียว
สุเทพตัดสินใจทำเช่นไรกับวีมิคถึงทำให้ซีมิคผ่านมรสุมหลายระลอกมาได้อย่างแข็งแกร่งจนทุกวันนี้
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตรหรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ CMIC นับเป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งในจำนวนไฟแนนซ์คัมปะนีที่มีอยู่ในประเทศไทย
ซีมิคมีจุดแข็งที่หลายคนวิเคราะห์ไว้หลายด้าน เริ่มตั้งแต่ "คน"
ที่มีคุณภาพเกณฑ์อายุถัวเฉลี่ยของพนักงานกว่า 180 ชีวิตยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว,
ระบบที่ถูกวางไว้โดยผู้เชี่ยวชาญ, ฐายธุรกิจที่มั่นคงมีอนาคตและผู้ถือหุ้นที่พร้อมให้การค้ำจุนสนับสนุนอย่างรับผิดชอบ
และเผอิญที่นี่มีผู้นำที่เก่งกาจสามารถอย่าง สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ รวมอยู่ด้วย
ซีมิคนั้นถูกก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารต่างประเทศ-เชสแมนฮันตันธนาคารสัญชาติอเมริกันแห่งแรก
ๆ ที่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทย
เป้าหมายการก่อตั้งค่อนข้างชัดเจนคือมุ่งทำธุรกิจเฉพาะที่สาขาของเชสฯ ในประเทศไทยทำไม่ได้เพราะขัดต่อกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย
ซีมิคในยุคที่เชสฯเป็นเจ้าของและบริหารก็เลยทำธุรกิจอยู่แขนงเดียว กิจการเช่าซื้อรถยนต์หรือ
HIRE PURCHASE โดยไม่เหลียวแลธุรกิจด้านอื่นเลยแม้สักน้อยนิด
ซีมิคในยุคนั้นประสบความสำเร็จไม่น้อย
แต่เชสฯก็ตัดสินใจขายซีมิคออกไปจากเครือในปี 2523 ช่วงปลายปี
"สาเหตุมาจากพระราชบัญญัติที่ออกมาเมื่อปี 2523 ที่ให้บริษัทแม่บอกไว้ชัดเจนว่า
จะไม่ยอมเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยในกิจการการเงินทางออกจึงมีอยู่ทางเดียวคือ
ขายกิจการออกไปทำนองเดียวกับคอนติเนนตัล อิลลินอยส์และชาร์เตอร์ดแบงก์ทุกประการ"
นักการธนาคารอาวุโสท่านหนึ่งบอกถึงเบื้องหลังการตัดสินใจของเชสฯให้ฟัง
และผู้ที่ซื้อซีมิคไปจากเชสฯก็คือกลุ่มกสิกรไทย ซึ่งมีผลให้ซีมิคกลายเป็นสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งภายใต้ร่มธงของธนาคารไทยยักษ์ใหญ่เบอร์สองแห่งนี้โดยปริยาย
ซีมิคเมื่อครั้ง ต้องเปลี่ยนเจ้าของใหม่ ๆ นั้น ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว
ข้อดีก็คือ "คน" ส่วนใหญ่ที่ขณะนั้นมีราว ๆ 160 กว่าคนซึ่งผ่านการอัดฉีดมาแล้วอย่างดีเยี่ยมจากเชสฯยังคงอยู่ทำงานกันต่อไป
"ระบบ" ซึ่งในปี 2522 เชสฯยอมลงทุนอย่างมหาศาลนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีจากนิวยอร์คเข้ามาเป็นผู้วางให้
ทางด้านโอเปอเรชั่นก็มีคนจากสิงคโปร์เข้ามาช่วยวางรวมทั้งคอมพิวเตอร์ไรซ์ระบบงานไว้เกือบครบ
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำงานให้กับซีมิคเต็มเวลาแต่รับเงินเดือนจากเชสฯ "ระบบ"
ของซีมิคในขณะนั้นถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในบรรดาบริษัทการเงินด้วยกัน
โดยเฉพาะบริษัทการเงินที่ทำกิจการทางด้านเช่าซื้อ และ "ระบบ" ที่ดีนี้เป็นพื้นฐานที่แกร่งให้กับซีมิคในยุคหลัง
ส่วนข้อเสียก็ในแง่ที่ซีมิคมีฐานธุรกิจอยู่ที่เช่าซื้อเพียงอย่างเดียว
"ถ้ามองกันในแง่ที่เป็นกิจการหนึ่งในเครือของเชสฯแล้วก็อาจจะไม่มีปัญหา
กลับจะดีในแง่ที่ช่วยถมช่องว่างให้กับสาขาของเชสฯในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ไม่มีงานที่ไปซ้ำซ้อนกับสาขา
แต่ถ้าซีมิคออกจากเชสฯแล้วมายืนบนลำแข้งของตัวเองตามลำพัง โดยมีเสาหลักอยู่เสาเดียวคือการเช่าซื้อรถยนต์แล้ว
ก็ออกจะเสียว ๆ อยู่ไม่น้อย ถ้าตลาดเช่าซื้อเกิดวิกฤติขึ้นมาวันใด ซีมิคก็อาจจะล้มทั้งยืนได้ง่าย
ๆ " แหล่งข่าวในวงการเงินอธิบายกับ "ผู้จัดการ"
ดูเหมือนปัญหาสำหรับคนที่เป็นผู้นำของซีมิคนั้นก็น่าจะอยู่ที่การแก้ไข
"จุดอับ" โดยอาศัย "จุดเด่น" ที่มีอยู่เป็นฐาน เป็นภาระหน้าที่
ที่มีทั้งการรักษาของเก่าแล้วพัฒนาต่อไปและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม
เป้าหมายย่อมชัดเจนแน่นอน การสร้างซีมิคให้เป็นบริษัทที่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง
และยืนยงเป็นสถาบันการเงินที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่ง
ซึ่งผู้นำผู้มีหน้าที่แบกรับภาระที่ว่านี้ก็คือ สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการของซีมิค
สุเทพนั้นเดิมทำงานอยู่กับเชสฯมาก่อน
เขาเป็นคนวัย 39 ที่คล่องแคล่วแบบที่แฝงความสุขุมเยือกเย็นและค่อนข้างจะเก็บตัวไม่ชอบเป็นข่าวเอามาก
ๆ
อดีตนักเรียนเก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และมหาวิทยาลัยวิสคอนซินทางด้านบริหารธุรกิจ
ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (เอ็มบีเอ) คนนี้เริ่มงานกับธนาคารเชสแมนฮัตตันสาขาประเทศไทยเมื่อปี
2515
"จริง ๆ แล้วเมื่อจบเอ็มบีเอ ผมได้รับทุนให้เรียนต่อในระดับปริญญาเอก
แต่เผอิญน้องชายคนเล็กเสีย คุณพ่อไม่สบาย ก็เลยกลับ พอกลับคุณพ่อขอร้องให้อยู่ต่อไม่ให้ไปผมก็สมัครเข้าทำงานกับเชสฯ"
สุเทพเล่ากับ "ผู้จัดการ"
สุเทพเริ่มต้นที่ตำแหน่ง STATEMENT ANALYSIS อีกหนึ่งปีต่อมาถูกส่งไปเทรนที่ฮ่องกงซึ่งเป็น
REGIONAL OFFICE ปี 2518 กลับเข้าทำงานที่สาขาประเทศไทยอีกครั้งในตำแหน่ง
SECOND VICE PRESIDENT และรักษาการผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเชสฯ สาขาประเทศไทย
"ช่วงปี 2518-2520 เชสฯประเทศไทยไม่มีผู้ช่วยผู้จัดการ คือปกติสำนักงานใหญ่เขาจะส่งผู้จัดการ,
ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อเข้ามาครบทั้ง 3 ตำแหน่งแต่ช่วงนั้นไม่ส่งผู้ช่วยผู้จัดการเข้ามา
ผมก็เลยต้องทำหน้าที่แทนไปพลาง ๆ ก็ได้เรียนรู้มากทีเดียว" สุเทพพูดให้ฟัง
ในช่วงปี 2520 ถึงปี 2522 ถูกส่งไปประจำที่สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์คและที่มนิลาประเทศฟิลิปปินส์
และกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 2520 ได้รับตำแหน่งเป็น VICE PRESIDENT ของเชสฯ
พร้อมกับถูกส่งให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการซีมิคไฟแนนซ์ และเมื่อเชสฯขายซีมิคออกไปให้กับกลุ่มกสิกรไทย
เขาตัดสินใจเลือกทางเดินด้วยการลาออกจากเชสฯเพื่อทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการให้กับซีมิคต่อไป
ระยะเวลาที่ทำงานกับเชสฯ 8 ปีนั้นสำหรับสุเทพแล้วก็ค่อนข้างจะเป็นระยะเวลาที่มีคุณค่ามากและเขายอมรับว่าเขามีโชคอย่างมาก
ๆ ด้วย
โดยสายงานจริง ๆ แล้วสุเทพควรจะโตอยู่ในสายสินเชื่อของเชสฯ เป็นกองหน้าที่บุกตะลุยหาธุรกิจดี
ๆ เข้ามาเป็นลูกค้าให้มาก ๆ ซึ่งเขาก็ได้ผ่านมาแล้วอย่างโชกโชนสั่งสมประสบการณ์ด้านนี้ไว้ไม่น้อยสมัยที่ยังอยู่กับเชสฯ
แต่เขาก็โชคดีจริง ๆ ที่ช่วงหนึ่งต้องไปทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะต้องดูแลงานทางด้านบริหารการเงิน และเงินตราต่างประเทศหรือถ้าจะกล่าวโดยรวมก็คืองานทรีทชูรี่ทั้งหมด
"เพราะฉะนั้นนอกจากเรื่องสินเชื่อแล้ว งานทรีทชูรี่ผมก็เลยได้ทำด้วย
ต้องทำ FUNDING POSITION, FOREIGN EXCHANGE POSITION เป็นประสบการร์ที่ดีที่ได้เรียนรู้โดยบังเอิญ
โดยสายงานจริง ๆ แล้วมีโอกาสเรียนรู้ยาก แต่เผอิญจังหวะมันให้" สุเทพเล่า
ซีมิคนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ระส่ำระสายพอสมควรในระยะ 2 ปีแรกที่หลุดออกมาจากเชสฯ
สุเทพพยายามประคับประคองกระทั่งปี 2527 ทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้าร่าง
ซีมิคพร้อมที่จะเนออกไปข้างหน้าแต่เผอิญเกิดวิกฤติการณ์สถาบันการเงินพอดี
การได้มีโอกาสผ่านงานทั้งด้านสินเชื่อและทรีทชูรี่ของสุเทพ ถ้าจะสรุปว่าเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจการเงินทั้งระบบ
ตั้งแต่เงินที่เข้ามาจนถึงเม็ดเงินที่ปล่อยออกไปอย่างทะลุปรุโปร่ง นั่นก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแต่ประการใด
และถ้ามองว่าเป็นความโชคดีของสุเทพแล้ว ดูเหมือนซีมิคเองก็จะมีโชคดีไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันที่มีคนอย่างสุเทพเป็นกรรมการผู้จัดการ
นับแต่ปี 2515 ที่เชสฯก่อตั้งซีมิคและอีก 8 ปีต่อมาค่อยตัดสินใจขายกิจการออกไปนั้น
ชื่อเสียงของซีมิคเป็นชื่อเสียงของบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งของไทย
เชสฯนั้นไม่มีนโยบายให้ซีมิคสนใจธุรกิจด้านอื่น นอกเหนือจากธุรกิจเช่าซื้อเพราะฉะนั้นคนที่เชสฯส่งเข้าคุมก็เลยเป็นคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
การฝึกอบรมคนก็เน้นเฉพาะการเช่าซื้อเป็นหลัก
ในระยะ 2-3 ปีแรกภายหลังซีมิคเปลี่ยนเจ้าของแล้วจึงเป็นระยะที่หนักหน่วงพอสมควร
"มันเป็นช่วงที่เราต้องปรับตัวเอง ล้างหนี้เสียที่มีติดค้างอยู่ออกไปให้หมด
ปรับภาพพจน์ของบริษัท เพราะการเปลี่ยนเจ้าของจากเชสฯทำให้ลูกค้ารายใหญ่ ๆ
ไม่แน่ใจสถานการณ์ พอเราได้กสิกรไทยเข้ามาถือหุ้นภาพพจน์ก็เริ่มดีขึ้นภายหลัง"
สุเทพพูดอย่างเปิดอก
จากนั้นก็ลงมือฝึกอบรมพนักงานพร้อม ๆ กับพัฒนาธุรกิจอื่น ๆเข้ามา
"เพื่อที่ฝนตกเราก็อยู่ได้ แดดออกเราก็อยู่ได้" เขาบอกถึงเป้าหมายที่ไม่ต้องการยืนอยู่บนขา
ๆ เดียว-เช่าซื้อ
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับ "คน" นั้น "สมัยก่อนเราเป็นกิจการระหว่างประเทศ
คนก็เลยถูกเทรนขึ้นมาให้ทำงานเป็นระบบ มีความเป็นคนหัวใหม่ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลายปีมานี้เราพัฒนาระบบออกไปมาก
และคนสามารถพัฒนาตามระบบได้เป็นอย่างดี"
ซีมิคนั้นเริ่มตั้งหลักจริง ๆ ในช่วงปี 2527 ช่วงที่สถานการณ์ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจการเงิน
เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติการณ์ภายหลังพัฒนาเงินทุนของกลุ่มตึกดำล้มพอดี
แทนที่จะขยายตัวอย่างพรวดพราดซีมิคภายใต้การนำของสุเทพดำเนินนโยบายไม่ขยายตัวมาก
แต่ปรับฐานให้แข็ง เขาบอกว่าเขาต้องการให้ซีมิคโตไปอย่างเข้มแข็งก็เลยค่อนข้างจะพิถีพิถันในการปล่อยสินเชื่อระมัดระวังปัญหาหนี้สูญ
และจากธุรกิจเช่าซื้อก็เริ่มขยายฐานออกไปสู่การให้สินเชื่อพาณิชย์อุตสาหกรรม
รวมทั้งการหารายได้จากค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะเป็นการทำซินดิเคชั่นหรือการอันเดอร์ไรท์หุ้นและพันธบัตร
และสวนทางกับการพังทลายไปของบริษัทเงินทุนหลายแห่ง ซีมิคในช่วงปี 2527
จวบจนปัจจุบันเติบโตอย่างไม่หวือหวา แต่ก็ต่อเนื่องในอัตราประมาณ 15-20%
ทุกปี
"ที่จริงเราจะโตกว่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ดูบรรยากาศแล้วยังไม่เหมาะสม
ตลาดการเงินกำลังปั่นป่วน เราก็เลยพยายามควบคุมให้โตเพียงเท่านั้น"
สุเทพให้เหตุผล
นอกเหนือสิ่งอื่นใดซีมิคเป็นกิจการที่มีกำไรมาโดยตลอด แม้ในช่วง 3-4 ปีมานี้กำไรจะหดตัวไปบ้าง
เพราะเพิ่งจะซื้ออาคารสำนักงานที่ถนนอโศก แต่ก็เชื่อ ๆ กันว่าปี 2530 นี้ซีมิคจะแสดงตัวเลขกำไรงดงามเป็นพิเศษสอดคล้องกับบรรยากาศเศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว
ซีมิคในปัจจุบัน ยังคงดำเนินธุรกิจเช่าซื้ออยู่อย่างคงเส้นคงวา เพียงแต่ถ้าพิจารณาในแง่ของ
"พอร์ท" โดยรวมแล้วธุรกิจเช่าซื้อจาก 100% ในยุคเชสฯกลับลดอัตราส่วนลงเหลือเพียงราว
ๆ 40% เท่านั้นแล้ว
ไม่กี่เดือนมานี้ซีมิคเพิ่งเสนอตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์และในเวลาอันใกล้ตั้งเป้าที่จะเป็นโบรกเกอร์อีกรายหนึ่งของตลาดฯ
และในส่วนของการทำธุรกิจจะพยายามหันเหเข้าหา INVESTMENT BANKING มากขึ้นเรื่อย
ๆ
สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ นั้นแมhจะเป็นคนที่เก็บตัวไม่ชอบการเป็นข่าว แต่ห้องทำงานของเขาประตูจะต้องถูกเปิดไว้
ลูกน้องทุกคนสามารถเดินเข้าไปหาเขาได้ทุกเวลาเมื่อมีปัญหา
เขามีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับที่ทำงาน ระบบวันเวย์ในย่านอโศก-สุขุมวิท ทำให้เขาเดินจากบ้านมาทำงานทุกเช้าถือเป็นการออกกำลังไปด้วยในตัว
สุเทพมักจะมาถึงที่ทำงานราว ๆ 8 โมงเช้าทุกวัน
ชั่วโมงแรกของการทำงานเป็นช่วงการจิบกาแฟพร้อม ๆ กับทำงานที่ต้องใช้ความคิดหนักๆ
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ห้ามรบกวนและไม่รับโทรศัพท์ จากนั้นก็จะเป็นการตะลุยอ่านหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับที่ถูกจัดวางอยู่บนโต๊ะแล้วจึงเริ่มงานประจำวันตามตารางที่วางไว้
เขาเป็นคนที่ติดการอ่านหนังสืออย่างมาก ๆ ทุกคืนก่อนนอนหนังสือจะเป็นยานอนหลับของเขา
และผลพวงจากความเป็นหนอนหนังสือก็คือความคิดอ่านที่ฉับไวและนำสมัยอยู่เสมอ
เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วจากการติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เขาเคยแสดงทัศนะว่า
ทิศทางในอนาคตของสถาบันการเงินนั้นจะเพิ่มการให้ความสนใจกับรายได้จากค่าธรรมเนียมหรือ
"ฟีอินคัม" มากขึ้นเพราะค่าธรรมเนียมนั้นเป็น NON ASSET RELATED
"คือแต่เดิมนั้นสถาบันการเงินสร้างรายได้จากส่วนต่าง ๆ ของเงินฝากกับเงินกู้ที่ปล่อยออกไป
ถ้าต้องการรายได้มาก็ต้องปล่อยมาก สร้างสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงจุดหนึ่งทุกแห่งก็จะพบว่า
เมื่อสินทรัพย์ยิ่งโตความสามารถที่จะหาส่วนต่างมาก ๆ ก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ
แล้วยังมีปัญหาเรื่องเงินกองทุนจะต้องเพิ่มทุนตลอดเวลา ฯลฯ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะต้องหันมามองรายได้ที่มันเป็น
NON ASSET RELATED ซึ่งก็ได้แก่พวก FEE INCOME" สุเทพอธิบายคร่าว ๆ
การเริ่มทำซินดิเคชั่นและการอันเดอร์ไรท์นั้น ก็มาจากความคิดเช่นนี้ของสุเทพและไม่กี่ปีมานี้สถาบันการเงินทุกแห่งก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญกันอย่างจริงจังบ้างแล้ว
สุเทพนั้นเล่นกีฬาหลายอย่าง ในอดีตเขามีฝีไม้ลายมือทางด้านฟุตบอลและปิงปองแต่ระยะหลัง
ๆ เริ่มให้ความสนใจกับกอล์ฟและเทนนิส
ในสัปดาห์หนึ่งๆ เขาจะจัดเวลาไว้ 4 วันสำหรับการกลับบ้านดึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสังคมที่จะต้องไป
ส่วนอีก 3 วันโดยเฉพาะวันอาทิตย์กับวันอังคารจะเป็นวันที่เขาจะไม่ยอมไปไหน
วันอาทิตย์เป็นวันที่อยู่กับครอบครัว วันอังคารเป็นวันที่เข้าคอร์ทเทนนิส
นอกจากนี้ภารกิจที่ดูเหมือนได้ทำมาอย่างยาวนาน และก็คงจะต้องทำกันต่อไปไม่มีกำหนดก็คือการเป็นอาจารย์พิเศษโครงการเอ็มบีเอ
ของหลาย ๆ สถาบัน ซึ่งวิชาที่เขาสอนคือระบบการจัดการแผนใหม่
สำหรับยุทธจักรค้าเงินแล้ว สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ เป็นคนที่น่าจับตามองมาก
ๆ