ศิวะพร ทรรทรานนท์ ลึกซึ้งและหนักหน่วง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมธุรกิจ มักเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ "สิ่งใหม่" ซึ่งเติบโตในสิ่งแวดล้อมเก่าค่อย ๆ ขยายออกไปกว้างขวางขึ้น สำหรับวงการไฟเน้นซ์แล้ว ศิวะพรกับทิสโก้ อาจอรรถาธิบายได้ทำนองนั้น

ศิวะพร ทรรทรานนท์ ปีนี้อายุ 40 ปี ยังเขียนและอ่านภาษาไทยไม่ได้เหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน เขาเดินทางกลับมาเมืองไทยภายหลังจากไปนานตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ การกลับบ้านเกิดครั้งนั้นเป็นเจตนารมณ์แน่วแน่ของเขา

หลายคนมักจะมองเขามีความเป็นคนไทยน้อย แต่คนใกล้ชิดกลับบอกว่าศิวะพร ทรรทรานนท์ มีความเป็นคนไทยมากกว่าอีกหลาย ๆ คน

ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งนี้เติบโตอย่างคงเส้นคงวา แม้สินทรัพย์จะคงระดับ 5 พันล้านมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว แต่กำไรได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทำกำไรมากที่สุด ครองแชมป์ติดกันเป็นเวลานาน

ทิสโก้ดำเนินธุรกิจไม่เหมือนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น ๆ ตรงที่ทิสโก้เป็นอินเวสต์เม้นท์แบงกิ้งรายแรกของเมืองไทยธุรกิจแตกต่างแทบจะสิ้นเชิงกับกิจการได้ชื่อว่าประเภทเดียวกัน ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นั้นแล้วอินเวสต์เมนท์แบงกิงหลายเป็นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ในประเทศกำลังรุกคืบหน้าไปถึง

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นมืออาชีพลงหลักลงรากที่ทิสโก้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่วันแรกมาถึงเมืองไทยจนถึงบัดนี้ และคาดว่าคงอยู่ต่อไปอีกนาน

เชื้อสายศิวะพร ทรรทรานนท์ หากย้อนหลังไปประมาณ 400 ปี สมมติฐานว่าเกี่ยวข้องกับโปรตุเกส ปู่ของเขามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เดิมชื่อกลอง คำว่า "ทรรทรานนท์" แปลความหมายได้ว่าเสียงกลอง พ่อของเขาชื่อประสิทธิ์ซึ่งเป็นคาธอลิคกันทั้งครอบครัว เริ่มแรกประสิทธิ์ทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นไม่นานองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ขององค์การสหประชาชาติได้ตั้งขึ้น พ่อของเขาได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับหน่วยงานนี้ อันเป็นเหตุให้ครอบครัวของเขาชีพจรลงเท้าจรไปทั่วโลกศิวะพรอายุเพียง 2 ขวบ ก็ไปปักหลักทำงานอยู่ในอิตาลี อิตาลีมีอารยธรรมยาวนานแห่งโบราณคดี ศิลปและวัฒนธรรม การศึกษาระดับเบื้องต้นถึงระดับไฮสคูลเขาเริ่มที่นั่นอันเป็นเวลาเพียงพอสะสมความคิดชมชอบศิลปะขึ้น ผู้เข้าใจภูมิหลังนี้ของศิวะพร ทรรทรานนท์ จะไม่รู้สึกแปลกใจเลยเมื่อขึ้นสำนักงานชั้น 9 อาคารบุญมิตร สำนักงานของทิสโก้ ซึ่งดูเหมือนเป็นแกลลอรี่กลาย ๆ อันประดับด้วยศิลปะทั้งภาพเขียนและงานปฏิมากรรมจำนวนมากพอ ๆ กับหอศิลปบางแห่ง

สืบเนื่องมาทุกปีเป็นเวลากว่า 10 ปีสำนักงานทิสโก้จะกลายเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการภาพเขียนและปฏิมากรรม ผลงานศิลปินทั้งไม่ค่อยปรากฏชื่อและมีชื่อพอประมาณ "ถือเป็นการส่งเสริมงานประเภทศิลปะ" ศิวะพรกล่าวว่าศิลปินบางคนเริ่มมีชื่อเสียงขจรขจายจากทิสโก้แกลลอรี่นี่เอง "มีข้อแม้เพียงประการเดียว เราขอสงวนสิทธิเป็นผู้เลือกซื้องานศิลปะเหล่านี้ก่อนคนอื่น" เขาพูดถึงสิ่งตอบแทนได้จากเปิดสนามศิลปะแก่ศิลปินเป็นประจำ

บ้านของเขาริมถนนสมเด็จเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ภาพเขียนหรืองานศิลปะเหล่านี้ยังปรากฎอยู่ในมุมต่าง ๆ อย่างสงว่าผ่าเผยและเป็นศิลปะ "ยังมีอีกหลายภาพไม่รู้จะติดตรงไหน" เขาปรารภกับ "ผู้จัดการ"

จากอิตาลีในวัยเด็กสู่วัยหนุ่มในสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งพยายามสร้างอารยธรรมใหม่ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยี ศิวะพรเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องจักรกล RENSSELAER POLYTECHNIC INSTITUTE, TROY, NEW YORK (RPI.) สถาบันแห่งนี้ถือเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตและการงานในปัจจุบันของเขาเลยทีเดียว พูดถึงความภูมิใจในอดีต ศิวะพร ทรรทรานนท์ มักแสดงความไม่ค่อยพึงพอใจและภาคภูมิใจกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและผลของการงานง่ายนัก แต่การเรียนที่ อาร์พีไอ. คงความภูมิใจเห็นเด่นชัดทุกครั้งที่กล่าวถึง

ในช่วงเยาว์วัย ศิวะพรเติบโตที่อิตาลี ดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นไได้ที่เขาเริ่มซึมซับงานศิลปะตั้งแต่นั้น นอกจากภาพเขียนและปฏิมากรรม ตอนนี้ก็กำลังสะสมผ้าขาวม้าอยู่อย่างเพลิดเพลิน

"KNOWLEDGE AND THROUGH เป็น MOTTO ของโรงเรียน ผมภูมิใจมากเพราะมี DISCIPLINE จึงเป็นพื้นฐานการทำงานของผม" ศิวะกล่าวหนักแน่น

และหากถามว่า RPI. กับ WHARTON ดูเหมือนเขาจะให้ความสำคัญจากผลการศึกษาแห่งแรกมากกว่า รถวอลโว 244 จีแอลสมบัติส่วนตัวชิ้นสำคัญ ซึ่งเขาซื้อครั้งแรก ๆ เมื่อมาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ และยังทะนุถนอมอย่างมากแม้ว่าไม่ค่อยมีเวลาใช้มัน นอกจากวันหยุด (วันทำงานใช้เบนซ์ของบริษัท) กระจกด้านหน้าของรถคันนี้ปรากฏป้ายวงกลมอักษร อาร์พีไอ. ชัดเจน เช่นเดียวกับแหวนวงโต เขาพร้อมโชว์ตลอดเวลาก็คือแหวนรุ่นจากสถาบันนี้เช่นกัน

"ที่ WHARTON เปิดหูเปิดตาให้กว้างขึ้นในการรับรู้โลกของธุรกิจ เพราะวาผู้เรียนส่วนหนึ่งผ่านการทำงานมาแล้ว เรียนรู้ BUSINESS LAW, FINANCE, MARKETING และกรณีศึกษาด้าน MONEY & BANKING ผมคิดว่าเป็นการต่อเนื่องจาก ENGINEERING" ศิวะพรกล่าวถึงการเรียน MBA ที่ WHARTON GRADUATE SCHOOL, UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ มีพื้นฐานทางวิศวฯ บวก เอ็มบีเอ. ต่อมาได้กลายเป็นสูตรแห่งความสำเร็จในทางธุรกิจ อาทิ ชุมพล ณ ลำเลียง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย บันเทิง ตันติวิท เป็นต้น

สำหรับศิวะพร มีเหตุผลพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นในการเดินตามสูตรนั้น

"วิศวกรรมเครื่องจักรกลที่ผมเรียนไม่ค่อยจะมีประโยชน์สำหรับประเทศไทย" เขากล่าวโดยโยงถึงแรงบันดาลใจอันตามมาด้วยเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ จะเดินทางมาประกอบอาชีพห้วงเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่เหลืออยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอน

"ผมเรียนการดีไซน์และสร้างจรวดรถยนต์อะไรทำนองนี้ ขณะนั้นอุตสาหกรรมบ้านเราเพิ่งเริ่ม และมีคนแนะนำว่าหากเรียนทางบริหารธุรกิจมาเมืองไทย่จะมีงานให้ทำมากกว่า" ศิวะพร เล่าว่าผลงานการศึกษาออกแบบปืนยิงทั้งใต้น้ำและอวกาศของเขาในสมัยเรียนที่ อาร์พีไอ. นั้น ปัจจุบันกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนประเทศหนึ่งกำลังน้ำไปสร้างตามพิมพ์เขียวนั้นแล้ว

จะว่าไปแล้วการเรียนที่ WHARTON ทำให้เขารู้จักคนไทยหลายคน อาทิ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล สงบ พรรณรักษา ซึ่งเรียนสถาบันเดียวกัน และพักอพาร์ทเม้นท์แถว ๆ ฟิลาเดลเฟียเดียวกันด้วย รวมทั้ง รถจนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็พักใกล้กันแต่เรียนที่ TEMPLE UNIVERSITY รัตนา ในที่สุดได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นทรรทรานนท์

และการได้งานทำก่อนจบ 1 ปีด้วยชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้ส่งจดหมายมาติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ ขณะนั้นชุมพลทำงานที่ธนาคารโลกซึ่งกำลังจะย้ายมาทำงานก่อร่างสร้างกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ที่กรุงเทพฯ "ผมพบคุณชุมพลครั้งแรกที่วอชิงตัน เพื่อสัมภาษณ์และก็ตกใจรับงานทันที" ศิวะพรเล่า ตามเงื่อนไขการทำงานเมื่อจบแล้วเขาต้องฝึกงานที่แบงเกอร์สทรัสต์ผู้ก่อตั้งทิสโก้ ก่อนเดินทางมาประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน

ความจริงการศึกษาก่อตั้งทิสโก้ที่กรุงเทพฯ นี้มีมาตั้งแต่ปี 2511 สมัยศิวะพร ทรรทรานนท์ ยังศึกษาอยู่ที่ อาร์พีไอ. ถือเป็นความต่อเนื่องของแผนการสร้างเครือข่ายธนาคารแบงเกอร์สหทรัสต์ในขอบเขตทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิค เมื่อปี 2507 ตามแนวคิดอินเวสต์เม้นท์แบงก์มีการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย พอปี 2512 ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาทหน่วยงานลงทุนของแบงเกอร์สทรัสต์, (BANKERS INTERNATIONAL CORPORATION) แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ คอร์เปอเรชั่น แห่งมนิลา (ก่อตั้งโดยแบงเกอร์สทรัสต์) กับธนาคารกสิกรไทย

ศิวะพรเข้ามาทำงานในปีถัดมาพร้อม ๆ กับ บันเทิง ตันติวิท (2 คนนี้กลับมาเมืองไทยพร้อมกัน แรก ๆ พักอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังธนาคารกรุงเทพด้วยกันอีกด้วย) โดยมีหัวหน้างานคนเดียวกัน-ชุมพล ณ ลำเลียง

ขณะนั้นทิสโก้เป็นแหล่งรวมนักเรียนนอกไฟแรงผู้ผ่านการศึกษาด้านไฟแน้นซ์อย่างเพียบพร้อม พวกเขาเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นมืออาชีพกระจายไปเป็นผู้มีบทบาทสูงในแวดวงธุรกิจการเงิน-ธนาคารรวมไปถึงวงการอุตสาหกรรม

เนื่องจากอยู่เมืองนอกนานกว่า 20 ปีและสังคมของเขาเป็นคนต่างชาติ แม้ครอบครัวพ่อ-แม่จะเป็นคนไทย มีเพียงการสนทนาเท่านั้นใช้ภาษาไทย ศิวะพรเคยต่อสู้กับความคิดพอสมควรครั้งเมื่อทำงานเมืองไทยใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเรียนอ่าน-เขียนภาษาไทย แต่ทิสโก้ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ไม่มีข้อบังคับต้องใช้ภาษาไทย ทั้งการงานรัดตัวแทบจะหาช่องว่างไม่ได้ ร่ำ ๆ จะลงแรงเรียนอย่างจริงจังหลายครั้ง จนแล้วจนรอดบัดนี้เรียนแบบธรรมชาติช้ามาก เขียนได้เฉพาะลายเซ็น และอ่านได้บ้างสำหรับคำง่าย ๆ ที่เป็นคำไทยแท้ ไม่ใช่คำสมาสสนธิอะไรเทือกนั้น

งานของทิสโก้คือการบุกเบิก INVESTMENT BANKING หรือการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน "ตอนแรกเริ่มพัฒนาตลาดเงินขณะนั้นธนาคารมีแต่ให้วงเงินโอ/ดี ไม่ให้เงินกู้ระยะสั้น เงินฝากระยะสั้นก็ระหว่าง 3-6 เดือน เรามาบุกเบิกออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นประเภทต่าง ๆ สนองธุรกิจมีเงินเหลือระยะสั้น" ศิวะพรกล่าวถึงงานของทิสโก้ในช่วงแรก ๆ

ปี 2515 แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์แห่งมะนิถูกเทคโอเวอร์โดยพรรคพวกของมาร์กอส เพื่อจำกัดวงการเป็นเจ้าของกิจการให้อยู่แค่นั้น เมื่อแบงเกอร์สทรัสต์ถอนตัวจกาแบนคอมฯ ในฟิลิปปินส์พร้อม ๆ กับการซื้อหุ้นแบนคอมฯ ในทิสโก้คืนด้วย เวลาเดียวกันธนาคารไดอิชิ กังโย สนใจขยายกิจการด้านนี้เข้าเมืองไทย จึงซื้อหุ้นส่วนเดิมของแบนคอมฯไป

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ โนมูระซิเคียวริตี้ เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระ (ต่อมาถอนตัวไป และเปลี่ยนชื่อเป็นพัฒนสินในที่สุด)

เพราะว่ามีผู้ถือหุ้นใหญ่มั่นคง ทำให้ทิสโก้เติบโตในอัตราน่าพอใจและต่อเนื่องเป็นคำถามซึ่งศิวะพร ทรรทรานนท์ ตอบได้ดีที่สุด ในฐานะผู้รู้เห็นการเจริญเติบโตของทิสโก้ตลอด 18 ปี

"เหมือนกับก่อไฟให้ติดแล้วไฟก็ลุกต่อเนื่องเอง" เขาตอบ "ผู้จัดการ" โดยเน้นว่า การสนับสนุนของธนาคาร 3 แห่งใหญ่อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นเพียงเงื่อนไขภายนอก ส่วนการบริหารองค์กรจริง ๆ แล้วด้วยฝีมืออาชีพคนไทยอย่างแท้จริง

แบงเกอร์สทรัสต์ มีบทบาทเพียงส่งผู้ตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบภายใน อันเป็นหัวใจของกิจการบริหารตามระบบทันสมัยสร้างรากฐานการเจริญเติบโต บทเรียนของธนาคารกรุงเทพ และ ซีพี. บอกเช่นนั้นด้วย "การควบคุมและตรวจสอบภายในที่ดี เป็นแรงขับเคลื่อนกิจการที่มีพลัง" นักบริหารธุรกิจคนหนึ่งเคยแสดงทรรศนะเอาไว้

ส่วนไออิชิ กังโย (ดีเคบี) สร้างเงื่อนไข "สะพาน" เชื่อมสู่ธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากกรรมการซึ่งมีบทบาทในการประชุมครั้งใหญ่ทิสโก้มีเพียงพนักงานญี่ปุ่นระดับธรรมดาคนหนึ่ง "คนญี่ปุ่นในประเทศไทย เขามีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเอง การเอาคนไทยไปคุยกับเขา มักจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้คนญี่ปุ่นด้วยกัน" เป็นสัจธรรมที่นักธุรกิจซาบซึ้งกันดีอยู่แล้ว

สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของทิสโก้ ในยุคแรก ๆ ฝรั่งเป็น PRESIDENT ตำแหน่งพนักงานมีมากเหลือเกินมี VICEPRESIDENT หลายคน มี MANAGING DIRECTOR 4 คน ขณะนั้นนับเป็นการแบ่งงานที่ดีสำหรับมืออาชีพเก่ง ๆ มารวมกันในทางตรงข้ามการมีตำแหน่ง (TITLE) มากมาย ก็ทำเอาปวดเศียรเวียนเกล้าแก่คณะกรรมการในการจัดสรรต่อเนื่องเป็นสายลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งในระดับเดียวกันหลายคนเช่นกรรมการผู้จัดการ ได้ก่อปัญหาบุคคลครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทิสโก้มาแล้ว

ถามศิวะพรถึงเรื่องนี้ เขาไม่ยอมพูดถึงเลย

ปี 2522-2523 ทิสโก้เกิดปัญหาองค์กรพอสมควร ช่วงก่อนหน้ามีกรรมการผู้จัดการถึง 4 คน ในเวลาเดียวกัน ศิวะพร, บันเทิงตันติวิท, สิริฉัตร อรรถเวทวรวุฒ าและจันทรา อาชวานันทกุล อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (PRESI-DENT) กำลังจะถึงยุคมืออาชีพไทย ในช่วงนั้นเองบันเทิง ตันติวิท ลาออก เหตุผลจริง ๆ เป็นอย่างไรไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงนัก ศิวะพร ทรรทรานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง PRESIDENT ไม่นาน สิริฉัตร ก็ลาออกไป บางกระแสข่าวกล่าวว่าเนื่องจากลูกน้องคนหนึ่งทำงานผิดพลาด ในฐานะหัวหน้าเธอต้องรับผิดชอบคงมีเพียงจันทรา ลูกหม้อทิสโก้คงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อ ศิวะพร ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ไม่นานเขาก็ขออนุมัติกรรมการบริษัทยกเลิกตำแหน่งทั้งหลายทั้งปวง เพียงแต่คงตำแหน่งของเขาไว้ เผอิญติดขัดในแง่กฎหมาย จันทรา อาชวานันทกุล จึงต้องอยู่ตำแหน่งเดิมตามกฎหมายบริษัทจำกัดของไทย

"ผมคิดว่า ORGANIZATION ต้องมีการ REVOLUTION บ้าง" เขาให้เหตุผลสั้น ๆ ในหลักการเบื้องแรกก่อนเสริมว่าเขาเป็นคนสนใจศิลปะในการบริหารงานุบคคลมากยิ่งเมื่อถามว่าตัวเขาเองคิดว่าตนเองเป็น SYSTEM MAN หรือ DEAL MAKER ศิวะพร ทรรทรานนท์ ตอบว่า "ผมคิดว่าผมเป็น SYSTEM MAN"

ทุกวันนี้พนักงานทิสโก้แบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ โดยมีเพียงชื่อหัวหน้าแผนกรับผิดชอบ ศิวะพรกล่าวว่าแท้จริงเขากำลังแสวงหาโครงสร้างการบริหารอันเหมาะสม ในเฉพาะหน้าเขาเน้น JOB TITLE มากเป็นพิเศษ

มีบางคนตั้งข้อสังเกตุว่าปัจจัยความเจริญเติบโตของทิสโก้อยู่ที่การพัฒนาบริการในฐานะผู้บุกเบิก INVESTMENT BANKING สอดคล้องกับสถานการณ์โดยอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาจับในอาณาเขตธุรกิจซึ่งต้องการบริการก้าวหน้าหรือเรียกกันว่า HI-FINANCE นั้น

โครงสร้างทิสโก้จึงดูเป็นองค์กรแบบตะวันตก ทั้งการบริหารคณะกรรมการรวบรวมผู้มีประสบการณ์จากธุรกิจ มิใช่ "พระอันดับ" เหมือนกิจการอื่นในประเทศเราศิวะพรเคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่าเขาต้องต่อสู้กับความคิดต้องการผู้มีอำนาจเช่นอดีตนายทหาร อดีตข้าราชการผู้ใหญ่มาเป็นกรรมการอย่างหนัก นอกจากนี้ธุรกิจทิสโก้อาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งบางคนกล่าวว่าทิสโก้แทบจะไม่ได้ลงลึก กระทบต่อรากฐานธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยอันจำเป็นต้องอิงอำนาจนิยม

หากใครจะใช้ตำรา เอ็มบีเอ. ที่นี่คงใช้ได้มากกว่าที่อื่น ๆ ของประเทศไทย

เคยมีคนเล่าทีเล่นทีจริงว่า ทิสโก้เคยทำลิสซิ่งที่เชียงใหม่ ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบตะวันตก บริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ได้กลายเป็นนิติบุคคลเสียภาษีสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งในเชียงใหม่ อันเป็นเหตุให้ข้าราชการเขม่นเอา ทำนองเดียวกับสรรพากรบางคนในกรุงเทพฯ เคยวิจารณ์ผู้บริหารทิสโก้ว่า "ทำไมพวกคุณไม่ทำผิดกฎหมายบ้าง ผมไม่เคยปรับทิสโก้ เจ้านายผมคิดว่าผมซูเอี๋ยกับพวกคุณเกินไป"

ธุรกิจของทิสโก้พัฒนาอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรกจากออกตั๋วใช้เงินระยะสั้น มาสู่ SYNDICATION เคยทำให้ปูนซิเมนต์ไทย 200 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นรายแรก ครั้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์จะถูกสถาปนาขึ้น เขาเป็นคนหนึ่งในอนุกรรมการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทิสโก้ปรับตัวทำกิจกรรมค้ำประกันขายหุ้น และตามมาด้วยเช่าซื้อ ศิวะพร กล่าวว่ามันเป็นวงจรที่เวียนไปจากสินเชื่อหลักทรัพย์-เช่าซื้อ อะไรทำนองนี้ตลอดมา

ปัจจุบันทิสโก้กำลังเอนจอยอย่างมากกับกิจการด้านหลักทรัพย์ บางคนบอกว่า ณ สิ้นปี 2529 ทิสโก้กำไรถึง 108 ล้านบาทส่วนใหญ่มาจากค่าคอมมิชชั่นในตลาดหุ้น

วงการธุรกิจการเงินต่างลงความเห็นว่าศิวะพรเป็นคนลึกซึ่ง เงียบ ๆ พูดน้อยเรื่องอะไรที่เขาไม่อยากพูดเขาก็บอกว่าไม่รู้ ขณะเดียวกันลีลาการซื้อขายหุ้นเป็นคนมีจังหวะจะโคนมาก พอจังหวะมาถึงจะทุ่มอย่างหนักหน่วง "เขาเป็นคนเก่งลึก ๆ อ่านยากคนหนึ่ง" เสียงพูดกันอย่างนั้นในช่วงนี้ศิวะพรแฮปปี้ที่สุด เพิ่งจะซื้อห้องพักหรูหราที่ศุภคารคอนโดมิเนียม ในราคาหลายล้านบาท ว่ากันว่าเป็นการสะสมเงินจากกิจกรรมในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนฝูงของเขาซุบซิบว่าซื้อเอาไว้เป็นที่จอดเรือเร็ว

โลกส่วนตัวของเขาอบอุ่นกับครอบครัวโลกศิลปะ และเทคโนโลยีอันตื่นเต้น

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นนักแสวงหางานอดิเรกใหม่ ๆ ตื่นเต้นตามแนวความคิดด้านวิทยาศาสตร์ เคนเล่นเรือใบอย่างเอาจริงเอาจังถึงขั้นลงแข่งขันระดับนานาชาติ และได้กลายเป็นประสบการณ์ลืมไม่ลงเป็นเหตุให้หันหลังจากงานอดิเรกนี้แล้วขณะนี้ เขาประสบอุบัติเหตุจากการแข่งขันจนดั้งจมูกหักเมื่อได้รับการช่วยเหลือ เขาพยายามนำเรือใบเข้าถึงเส้นชัยทั้ง ๆ ที่รู้ว่าในอันดับสุดท้ายแต่ถูกกรรมการตัดสินให้ถือว่าไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้เข้าแข่งขัน เขาชอบท่องป่าแบบโลดโผนตื่นเต้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เขาชอบยิงปืนและนับเป็นนักแม่นปืนคนหนึ่ง ระหว่างป่วยเคยกระหน่ำยิงขโมยขึ้นบ้านถึง 14 นัด โดยตั้งใจเพียงขู่เท่านั้น

ล่าสุดศิวะพรเพิ่งต่อเรือมาลำหนึ่งขนาดกลาง ๆ แทนที่เขาจะนำล่องทะเล ตกปลาเที่ยวเกาะเหมือนนักธุรกิจคนอื่น ๆ กลับใช้เทรลเลอร์พ่วงท้ายรถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปล่องตามแม่น้ำ ทะเลสาบ ตามเขื่อนต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน

กับครอบครัววันหยุด ห้องรับแขกกลายเป็น LIVING ROOM และห้องฟังเพลงพร้อมกัน ศิวะพรชอบดู MUSIC VIDEO และอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับช่วงเวลานั้น

เขาสวมสูท BURLINGTON และรองเท้ายี่ห้อ MORESCHI ในขณะเดียวกันใช้นาฬิกาควอทซ์ CASIO และปากกาลูกลื่น PENTAL ยิ่งกว่านั้นชอบรับประทานก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นริมถนนซอยข้างธนาคารไทยทนุสำนักงานใหญ่

ศิวะพร ทรรทรานนท์ ดูเหมือนเขาเป็นนักธุรกิจการเงินที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง แต่ในส่วนลึกแล้วหลายคนบอกว่า ศิวะพรมี "ปม" หนึ่งซึ่งพยายามแสดงให้คนทั่วไปเข้าใจ คือความเป็นคนไทยอาจจะด้วยไม่สามารถเขียนและอ่านภาษาไทยได้นั่นเอง

ศิวะพรกำลังสะสมผ้าขาวม้า เขาบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์มีกลิ่นไอความเป็นไทยทั้งอเนกประสงค์วันนี้เขาสะสมผ้าขาวม้าหลากสีกว่า 100 ผืน กลายเป็นภาพศิลปะดุจภาพเขียนที่เขามีอยู่

ศิวะพรกับทิสโก้เป็นสิ่งกลมกลืนกันมาก ในอาณาเขตใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งสังคมธุรกิจไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.