ผู้จัดการรุ่นใหม่ในสายตา "ผู้จัดการ"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

แล้วเราก็มาถึงยุคปัจจุบันที่น่าจะต้องกล่าวถึงผู้ที่กำลังก้าวขึ้นทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนกงล้อธุรกิจขยับเขยื้อนสู่อนาคต

เขาเหล่านี้จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าต่อไปว่าอย่างไร?

จริง ๆ แล้วก็คงจะยังไม่รู้!!

แต่ถ้าศึกษาที่มาของพวกเขา เจาะลึกลงไปที่บทบาทในปัจจุบัน ภาพของอนาคตอาจจะพอวาดกันได้

ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ "ผู้จัดการ" ต้องการจะบอก

การเลือกสรรบุคคลจำนวนหนึ่งเพื่ออธิบายพฤติกรรมและศักยภาพของผู้ที่ "ผู้จัดการ" อยากจะเรียกว่า "ผู้จัดการรุ่นใหม่" ทั้งมวลนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญจริง ๆ

จะต้องหา "มาตรฐาน" ที่แน่นอนและเที่ยงธรรมอันหนึ่ง

ต้องเก็บข้อมูล ต้องศึกษา ต้องอาศัยการติดต่อพูดคุย ต้องฝ่าวงล้อมขีดจำกัดของระดับวัฒนธรรมที่ต่าง ๆ กัน บางคนเก็บตัว บางคนอยากเป็น "ผู้กล้า" เกินควร และบางคนไม่เข้าใจว่าวิชาชีพหนังสือพิมพ์นั้นเขามีหน้าที่อย่างไร

และข้อเท็จจริงอาจจะปรากฏว่ามีคนที่คู่ควรแก่การกล่าวถึงเป็นจำนวนร้อย ๆ ซึ่ผลต่อเนื่องคงเป็นได้ที่ "ผู้จัดการ" จะต้องตีพิมพ์ฉบับพิเศษครบรอบปีที่ 4 ขึ้นสู่ปีที่ 5 นี้ด้วยจำนวนความหนาสูสีกับสมุดหน้าเหลือง

ข้อจำกัดเหล่านี้ กำหนดให้ "ผู้จัดการ" ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า คนที่ได้เขียนถึงทั้งหายคือคนที่เด่นที่สุและเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด

"ผู้จัดการ" ขอพูดเพียงว่า พวกเขาคือคนเด่นที่สามารถจะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เกิดภาพได้บ้างเท่านั้น

คนเหล่านี้อยู่ในมาตรฐานใหญ่ ๆ 3 ประการที่ "ผู้จัดการ" ตั้งไว้

1. เป็นมืออาชีพ เป็นเถ้าแก่ หรือเป็นทายาทที่กำลังก้าวขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง
2.
3. อยู่ในตำแหน่งที่ก้าวหน้า ก่อบทบาทและผลงานแล้วระดับหนึ่ง
4.
5. อยู่ในวัยไม่เกิน 45 ปี
6.
นอกจากนี้ "ผู้จัดการ" ยึดหลักในแง่ที่พยายามกระจายอาณาเขตธุรกิจให้ครอบคลุม

กว้างขวางที่สุด

มีทั้งสายการเงิน การตลาด อุตสาหกรรมและอื่น ๆ

สำหรับ "ผู้จัดการ" นั้น เมื่อต้นฉบับชิ้นสุดท้ายของคนสุดท้ายถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นหนังสือก็ทำให้ได้ข้อสรุปหลายประการเกี่ยวกับคนที่เป็น "ผู้จัดการรุ่นใหม่"

ประการแรก พวกเขาส่วนใหญ่เป็นผลิตผลเมด อิน ยูเอสเอ. โดยเฉพาะจำนวนไม่น้อยผ่านเอ็มบีเอระดับไอวี่ลีคของสหรัฐฯ ต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักจะเป็นผลิตผลจากยุโรป ข้อนี้บ่งบอกหรือไม่ว่าทิศทางของธุรกิจในอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อเมริกันสไตล์มากขึ้น

อเมริกันสไตล์ที่เน้นการบุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตื่นตัวต่อการแข่งขันตลอดเวลาและชอบสุ่มเสี่ยง ฯลฯ

ประการที่สองสังคมของ "ผู้จัดการรุ่นใหม่" เริ่มหันเหออกจากสังคมผู้ประกอบการกลายเป็นสังคมมืออาชีพไปแล้ว ซึ่งพอจะเห็นได้ชัดว่าคนระดับผู้นำขององค์กรที่น่าเลือกสรรส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพ จำนวนมืออาชีพที่ "ผู้จัดการ" กล่าวถึงจึงเป็นจำนวนที่มากกว่าเถ้าแก่และทายาทอย่างเทียบไม่ได้ แนวโน้มอันนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่ ขณะนี้ธุรกิจเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ ที่จะเติบโตขึ้นมาได้และธุรกิจเก่านั้นได้เติบโตขึ้นมา กระทั่งมีความจำเป็นที่จะต้องมอบให้เป็นภาระของมืออาชีพเป็นผู้บริหารแล้ว

ประการที่สาม คนที่เป็นเถ้าแก่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ ทั้งที่ยังอยู่ในวัยที่จะยังมีอนาคตข้างหน้าพอสมควรล้วนแล้วแต่อยู่ในธุรกิจที่เป็นช่องว่างของยุคเก่า อัญมณี บูติค บันเทิง แต่จะไม่มีสถาบันการเงิน คอมมูดิตี้ส์ ที่คนรุ่นเก่า ๆ ฝังรากไว้หมดแล้ว

ประการที่สี่ ทายาทรุ่นใหม่จะไม่ก้าวขึ้นครอบครองอาณาจักรตรง ๆ พวกเขาถูกตระเตรียมพื้นฐานการศึกษาและความคิดความอ่านทัดเทียมมืออาชีพและเริ่มต้นอย่างมืออาชีพคนหนึ่ง พยายามพิสูจน์ตัวเองแล้วค่อยก้าวขึ้นไป

และก็อาจจะได้พบกับข้อปลีกย่อยอีกมากจากคนที่เราเลือกเขียนถึงเหล่านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.