|
ซี.พี.รุกตลาดอาหารนอกประเทศ'เกี๊ยวกุ้ง-มังคุด'ยอดฮิตญี่ปุ่น-มะกัน
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มซี.พี.รุกหนักตลาดนอกประเทศดัน 'มังคุด' เจาะตลาดญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย ชี้ยอดขายพุ่งเกือบเท่าตัวทุกปี ส่วนตลาดใหม่อย่าง 'ยุโรป-นิวซีแลนด์' ก็ยังมีความต้องการที่สูง ขณะที่การส่งออกอาหาร 'เกี๊ยวกุ้ง' ขึ้นอับดับหนึ่งขยายตัวกว่า 100% คาด 2-3 ปีเชื่อยอดขายทะลัก 2,000 ล้านโดยเฉพาะ 'มะกัน' นำเข้ามากสุด ด้านลงทุนปักธง 'รัสเซีย' เปิดโรงงานใหม่ อาหารสัตว์-หมูครบวงจร เชื่อยังมีช่องว่างกว่า 7.5 แสนตัน/ปีไว้รองรับ
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนหลายประเทศคงอิจฉาคนในประเทศไทยเพราะรู้ดีว่าในช่วงนี้ผลไม้หลากหลายในบ้านเราตามฤดูกาลต่างทยอยออกมาให้เราได้ลิ้มชิมรสกันไม่ขาดสายพร้อมกับราคาที่ซื้อหากันได้ ไล้ตั้งแต่ มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ ทุเรียน และมังคุด ฯลฯ ซึ่งพื้นในการปลูกและจำนวนผลผลิตในแต่ละปีถือว่าเกินกว่าความต้องการของตลาด หรือล้นตลาดนั่นเอง ซึ่งการหาช่องทางระบายสินค้าเหล่านี้ไปต่างประเทศคือหนทางที่ดีที่สุด เพราะได้ราคาสูง และคนต่างชาติยังนิยมผลไม้จากเมืองไทยอีกด้วย
ขณะที่ธุรกิจอาหารก็ยังโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกเช่นกันเพราะยอดส่งส่งออกอาหารของไทยยังไปได้ดี จนต้องมีการตั้งโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารในประเทศนั้น
'มังคุด'แชมเปี้ยนผลไม้ส่งออก
'มนตรี คงตระกูลเทียน' ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวถึงการส่งออกผลไม้ไทยในนามของกลุ่มซี.พี.ว่า ผลไม้ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกได้อีกมาก เพราะที่ผ่านมาชาวต่างชาติจะรู้จักผลไม้ไทยแค่ไม่กี่ชนิดที่เสิร์ฟตามร้านอาหารไทย อาทิ แตงโม สับปะรด มะละกอ ทั้งที่ยังมีผลไม้ไทยที่มีรสชาติดีและมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้อีก หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ได้จัดการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ไทยได้มีอัตราการขยายตัวมากขึ้น
โดยในส่วนของกลุ่มซี.พี.ถือว่ามังคุดยังมีความต้องการของตลาดต่างประเทศอีกมากโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่มีกำลังซื้อสูงโดยที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกมังคุดไปยังญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพียงแค่ปี 100 ตันและ 200 ตัน(ตามลำดับ) จากยอดการส่งออกมังคุดทั้งหมดถึงปีละ 40,000 ตัน
ดังนั้นเพื่อขยายการส่งออกและเพิ่มปริมาณการจำหน่วยมังคุดในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงบริษัท C.P. starlanes จึงได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งมังคุดทางเรือเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้ควบคุมคุณภาพการขนส่งมังคุดที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนจากค่าขนส่งได้ถึง 60% จากที่เคยขนส่งทางอากาศเพียงอย่างเดียว
'ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น'ต้องการอีกมา
'ปีนี้เชื่อว่าการส่งออกมังคุดไปยังออสเตรเลีย และญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเท่าเป็น 150 ล้านตันหรือมีมูลค่าการส่งออกกว่า 250 ล้านบาท'
นอกจากตลาดหลักอย่างออสเตรเลีย และญี่ปุ่นแล้วซี.พี.ยังเร่งทำตลาดใหม่อย่าง สหภาพยุโรป รัสเซีย นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นเพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อสูงและผลจากการแสดงสินค้าหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ชื่นชอบในรสชาติของมังคุดไทย ซึ่งหากปีหน้า (2553) ยังมีมังคุดที่มีคุณภาพมากพอซี.พี.ก็เตรียมขยายตลาดการส่งออกในกลุ่มประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดีสำหรับมังคุดที่ส่งออกนั้น ซี.พี.จะรับซื้อจากเกษตรในเครือข่ายกว่า 21 กลุ่มในลักษณะคอนแทรกฟาร์มมิ่งที่ผลิตมังคุดได้ทั้งในและนอกฤดูกาล โดยการผลิตทั้งหมดต้องถูกต้องตามสุขลักษณะของบริษัทที่กำหนดไว้ และต้องผ่านมามาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งเรื่อง ขนาด ผิวของมังคุด ตรวจสอบเนื้อแก้วและยางไหลในเนื้อมังคุดด้วยวิธีแสกนเพื่อตรวจสอบภายในอย่างละเอียด ก่อนเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือ อบไอน้ำก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ
แนะเกษตรกรผลิตให้มีคุณภาพ
ประธานกลุ่มพืชครบวงจร ย้ำอีกว่า หากเกษตรกรปลูกมังคุดได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่กำหนด ซี.พี. ก็จะรับซื้อในกิโลกรัมละ 70-80 บาท ซึ่งแตกต่างจากท้องตลาดที่รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15-20 บาท
'เกษตรกรควรเร่งปรับปรุงเรื่องมาตรฐานของการผลิตมังคุดไห้ได้คุณภาพซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายราคามังคุดได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดและคุ้มค่าต่อการลงทุนแน่นอน'
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของเครือซี.พี.ก็เติบโตสวนกระแสเช่นกัน 'อดิเรก ศรีประทักษ์'กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เผยว่า อนาคตธุรกิจอาหารยังมีโอกาสอีกมากท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกโดยได้มีการปรับประมาณการณ์จากยอดขายในปี 2552 ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 5-10% ซึ่งในไตรมาส1 ที่ผ่านมามีผลประกอบการ 30,000 ล้านมีกำไรที่ 770 ล้านบาท และในไตรมาส 2-4 ผลประกอบการน่าจะดีกว่านี้อีก
ลงทุน 3.5 พันล้านลงทุนในรัสเซีย
อย่างไรก็ดี CPF ยังเดินหน้ารุกธุรกิจในต่างประเทศต่อเนื่องล่าสุดได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ในประเทศรัสเซียด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญหรือ 3,500 ล้านบาทโดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานอาหารสัตว์ และ ธุรกิจสุกรครบวงจร ตั้งอยู่ที่เมืองลุคโควิสซี่ กรุงมอสโก ภายใต้ชื่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ฟู้ด (โอเวอร์ซี) จำกัด โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 240,000 ตัน/ปีเน้นการผลิตอาหารสุกร ไก่ และวัว
นอกจากนี้ในเรื่องฟาร์มสุกร CPFได้วางแผน 5 ปีสามารถผลิตสุกรขุน 1 ล้านตัว/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างฟาร์ม 2 ฟาร์มโดยฟาร์มแรกจะเป็นฟาร์ม GGP (ทวดพันธ์) และ GP (ปู่ย่าพันธ์) ขนาดความจุ 2,400 แม่พันธ์ ส่วนฟาร์มที่สองเป็นฟาร์มสุกรรุ่นขนาดความจุประมาณ 18, 000 ตัว
ผลิตหมูป้อนตลาดรัสเซีย
'ชาวรัสเซียนิยมบริโภคเนื้อสัตว์อย่างมากมีความต้องการถึง 2.75 ล้านตัน/ปีแต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 2 ล้านตัน/ปีทำให้ต้องนำเข้าเนื้อสุกรถึงปี750,000ตัน/ปีซึ่งการที่ CPF ตั้งโรงงานอาหารสัตว์และธุรกิจสุกรครบวงจรจะทดแทนการนำเข้าในรัสเซียได้' กรรมการผู้จัดการใหญ่ CPF ระบุ และว่าหากตลาดรัสเซียประสบผลสำเร็จตามคาด เป้าหมายต่อไปคือการเข้าไปลงทุนในยูเครน และยุโรปตะวันออก
ที่ผ่านมา CPF ได้ขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศโดยเข้าไปลงทุนสร้างโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปใน 8 ประเทศอาทิ ตุรกี มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีน อินเดีย และล่าสุดในประเทศรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียและรัสเซียที่ CPF หวังเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจอีกมาในอนาคต
ไม่เพียงแต่ขยายกิจการในต่างประเทศแล้ว CPF ยังได้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกภายใต้แบรนด์ซี.พี.กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งตลาดปัจจุบันและตลาดใหม่โดยเฉพาะสินค้าผลิตจาก ไก่ กุ้ง และอาหารแปรรูป
'เกี๊ยวกุ้ง'แชมเปี้ยนโปรดักส์
ส่วนสินค้าที่ได้ความนิยมมากกว่าที่สุดคือ 'เกี๊ยวกุ้ง' ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตกว่า 100% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกามีความนิยมบริโภคกันมากทำให้คาดว่าภายใน 3 ปีทั่วโลกจะมียอดขาย'เกี๊ยวกุ้ง'เพียงอย่างเดียวสูงถึง 1,000-2,000 ล้านเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันมีความพยายามผลักดันให้ 'บะหมี่เกี๊ยว'เป็นอีกสินค้าที่จะก้าวเข้ามาช่วยเสริม 'เกี๊ยวกุ้ง'คาดว่าจะประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกันโดยภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะเดินหน้าผลิตออกมาได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|