สามทศวรรษธุรกิจไทย TRADING SOCIETYยังครอบงำหนาแน่น


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

สังคมธุรกิจไทยเป็นสังคมแคบ ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมธุรกิจอีกหลายประเทศ

การเติบโตของธุรกิจการค้าเพิ่งจะมีอายุประมาณ 1 ศตวรรษเท่านั้นเอง จึงไม่น่าแปลกใจแนวคิด วัฒนธรรมยังอบอวลอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วง 3 ทศวรรษมานี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นช่วยประวัติศาสตร์ธุรกิจหน้าใหม่แล้ว แต่ก็เป็นเพียงเวลาสั้น ๆ ของชั่วคนเดียวเท่านั้น

จากการค้า การธนาคาร มุ่งสู่อุตสาหกรรม แม้เป็นการพัฒนาแบบเชิงซ้อนก็ตาม แต่ในเชิงร้อน การค้ายังเป็นพื้นฐานอยู่ จริงหรือไม่จริง

พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลแก้ปัญหาอนาคตกันได้หรือยัง

เป็นคำถามที่เร้าใจอย่างยิ่ง!!!

ธนาคารเกษตรในปี 2500 เป็นของตระกูลไรวา นำโดยสุริยน ไรวา (พ่อตา อมเรศศิลาอ่อน) เกิดปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากสินเชื่อธนาคารจำนวนมากถูกนำไปใช้ในกิจการของตระกูลไรวา และธุรกิจของพวกเขาก็ประสบปัญหาการดำเนินงาน อ้างกันในขณะนั้นว่า เศรษฐกิจไม่ดีติดต่อกัน ไม่เพียงไม่ได้รับการผ่อนชำระหนี้สิน ดอกเบี้ยสะสมเป็นพะเนินก็ไม่ได้จ่ายด้วย ข่าวนี้รั่วถึงหูประชาชนแตกฮือ ถอนเงินกันจ้าละหวั่น ดีที่มีสาขาในต่างจังหวัดห่างไกลข่าวลือ จึงนำเงินสาขาเหล่านั้นมา "ตู๊" ได้ดับไฟวิตกกังวลของชาวบ้านได้พักหนึ่ง

ราวเดือนพฤษภาคม 2502 ธนาคารเกษตรเป็นหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ทดรองจ่ายตามเช็คที่ธนาคารอื่นนำเช็คของธนาคารเกษตรมาหักลบกลบหนี้มากถึง 70 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี โชติ คณะเกษม เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จอมพลฯได้รับอิทธิพลความคิดจากตะวันตกพอสมควร ประกอบกับนโยบายพยายามส่งเสริมธุรกิจเอกชน จึงไม่ผลีผลามตัดสินใจกรณีนี้ มีผู้เสนอให้ใช้มาตรการเดียวที่รัฐบาลกลางสหรัฐเคยใช้แก้วิกฤติการณ์สถาบันการเงิน 300 แห่งในราวปี 2473 โดยการตั้งสถาบันประกันเงินฝาก (ความหมายทำนองนี้) หรือเรียกว่า "FDIC" เข้าถือหุ้นในธนาคารเหล่านั้น ว่ากันว่าโชติ คุณะเกษมเห็นด้วยกับวิธีนี้

ช่างเผอิญเหลือเกิน โชติ ถูกจอมพลสฤษดิ์ สั่งปลดออกจากตำแหน่งเสียก่อนในข้อหาเกี่ยวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตรดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้าดำรงตำแหน่งแทนสานงานต่อ พอดีเป็นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของธนาคารเกษตร

จอมพลสฤษดิ์ เรียกสุริยน ไรวาเข้าพบขอให้โอนหุ้นธนาคารเกษตรให้รัฐบาลพร้อมทั้งเคลียร์หนี้สินอันเกี่ยวพันถึงธุรกิจส่วนตัว โดยให้นำทรัพย์สินของตนเองมาใช้หนี้ด้วย เกษม ล่ำซำ ตอนนั้นเป็นนายกสมาคมธนาคารไทย ผู้ซึ่งเคยประสบปัญหาธุรกิจมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นผู้เสนอให้รัฐบาลผ่อนปรนสุริยน ควรหักกลบลบหนี้เพียงบางส่วน ขณะนั้นสุนทร หงส์ดารมภ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และบุญมาวงศ์สวรรค์ เป็นปลัดกระทรวงการคลังก็ตกลงผ่อนปรนบางส่วน

จอมพลผ้าขาวม้าแดงก็ไม่ขัดข้อง

ต่อมาไม่นานธนาคารแห่งนี้ก็ได้รวมกับธนาคารมณฑลกลายเป็นธนาคารกรุงไทยในปัจจุบัน

นักประวัติศาสตรศ์หลายคนเคยประเมินว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิบัติอิงหรือควบคุมธุรกิจแสวงอำนาจเหมือนยุคก่อน ๆ แต่จากกรณีเหล่านั้น นักธุรกิจซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงนั้นกลับมองว่าเขาเป็นผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง แต่เข้าใจสภาพธุรกิจพอสมควร แม้จะอธิบายได้ว่ามีอิทธิพลโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ก่อสัมพันธ์แนบแน่นในยุคนี้อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 10 ปี

ยิ่งกว่านั้นแนวความคิดที่ว่าในยุคจอมพลคนนี้ ธุรกิจเอกชนไทยได้เติบโตไปอีกก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ได้รับการทบทวนในแง่หนึ่งด้วย

จมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเถลิงอำนาจนายกรัฐมนตรีในปี 2500 อำนาจการเมืองรวมศูนย์และดูมั่งคงมาก ๆ ยุคหนึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มวางนโยบายทางเศรษฐกิจอันส่งผลสะเทือนค่อนข้างรุนแรงและยาวไกลต่อธุรกิจไทย ดำเนินนโยบายเชิงรุกจากเงื่อนไขภายใน ซึ่งเป็นข้อต่อจากธุรกิจยุคก่อนหน้า ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงสงครามเกาหลี ธุรกิจผันผวน ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอกที่ซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างตั้งตัวไม่ติด

หรือเรียกว่า GOVERNMENT IN TERVENTION ครั้งสำคัญ

รูปธรรรมคือการต่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2503 และปี 2504 ตามลำดับ บีโอไอ ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยใช้มาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นตัวกระตุ้น สภาพัฒนาวางกรอบกว้าง สอดคล้องกันคือส่งเสริมจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสหากรรมและสนับสนุนเอกชนประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่

จากการวิจัยอันน่าเชื่อถือระบุว่าในช่วงสฤษดิ์มีชีวิตอยู่ นักลงทุนซีกโลกตะวันตกทะลักเข้ามาจำนวนมาก (ปี 2503-2506) หลังจากนั้นมาญี่ปุ่นบุกเข้ามาเป็นระลอกมากกว่าจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา (AKIRO SUEHIRO : 1985)

ธุรกิจแรก ๆ ก่อตัวขึ้นคือธุรกิจก่อสร้าง นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตรเคยยกย่อง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็นบิดาของธุรกิจก่อสร้างไทย แม้สถานการณ์ทั่วไปบริษัทต่างชาติ (โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกจะครอบครองงานก่อสร้างส่วนใหญ่) แต่ช่องก็เปิดให้ธุรกิจไทยพอสมควรบริษัทอิตาเลียน ดีเวลล็อปเม้นท์ ของหมอชัยยุทธ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนั้นเอง

การสร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภคหรือ INFRASTRUCTURE ได้ถูกดำเนินก่อสร้างอย่างเร่งรีบ เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

พร้อมกับทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและในรูปของเงินช่วยเหลือนั้น เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร การคมนาคม รวมทั้งการบริหารกิจการสมัยใหม่ก็ถูกส่งเข้ามาด้วยนี่เป็นทัศนะอีกมุมหนึ่ง ถือเป็น "ส่วนเกิน" ที่ประเทศไทยได้รับจากโลกตะวันตก ในขณะเดียวกันกับทรัพยากรธรรมชาติถูกต่างชาติขนออกไปเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านั้น

แต่ที่ผ่านมาแนวคิดประการหลังค่อนข้างครอบงำในการเขียนประวัติศาสตร์

ห้วงเวลาเดียวกันนั้น ประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากได้กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของักลงทุนโลก

ช่วงนั้นเอง คนไทยกลุ่มค่อนข้างใหญ่เดินทางกลับจากการศึกษาจากต่างประเทศโดยเฉพาะด้านบริหารธุรกิจ เข้าสู่หน่วยราชการ ธุรกิจเอกชนในฐานะมืออาชีพ และอีกส่วนหนึ่งเข้าสืบต่อรับช่วงเบื้องแรกในธุรกิจครอบครัว

อำนวย วีรวรรณ คนหนุ่มไฟแรงจบปริญญาเอกทางบริหารธุรกิจ เข้าทำงานในกรมบัญชีกลางระยะใกล้เคียงกับอมเรศศิลาอ่อน ซึ่งจบเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ ดรงอำนวยเข้ากับจอมพลสฤษดิ์ได้ดีคนหนึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นคนเสนอให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อสนองนโยบายพัฒนาประเทศ เปิดคณะบริหารธูรกิจขึ้นด้วย

สภาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกิดขึ้นด้วยความริเริ่มของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ในปี 2505 เพื่อเปิดสอนระดับปริญญาโทในด้านรัฐประศาสนศาสตรื พัมนาการเศรษฐกิจ สถิติประยุกต์ และบริหารธุรกิจกว่าจะเปิดสอนจริงก็ป่าเข้าไปปี 2509 แม้แต่สุริยน ไรวา ก็ยังเคยเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้ว

กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมเริ่มมี "คนรุ่นใหม่" ชาตรี โสภณพนิช กลับจากการศึกษาที่อังฤษมาเริ่มงานครั้งแรกในเมืองไทย ในบริษัทเอเชียทรัสต์ (ขณะนั้นเป็นของชินโสภณพนิชด้วย) ในปี 2501 สุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่ 5 จบวิชาบริหารธุรกิจจาก WHARTON เข้ารับช่วงเพื่อฟื้นผูธุรกิจครอบครัวซึ่งปล่อยให้ซบเซานานปีขณะเดียวกันทางด้านตระกูลล่ำซำ ทานาทรุ่นใหม่ก็กลับจากการศึกษาต่างประเทศในเวลาใกล้เคียง ไม่ว่าบรรยงค์หรือโพธิพงษ์ ส่วนบัญชา ล่ำซำนั้นพุ่งพรวดขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ต่อจากบิดา ซึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุในปี 2505 ถือกันว่าเป็นการเริ่มต้นของการเติบโตอย่างรวดเร็วของธนาคารแห่งนี้ และธนาคารไทยทนุ ปกรณ์ ทวีสินก็จบการศึกษาด้านกิจกรรมธนาคารจากอังกฤษ เริ่มเข้าทำงานในธนาคารปี 2508

รวมไปถึงธุรกิจครอบครัวแขนงอื่น ๆ ด้วย พงส์ สารสิน เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยน้ำทิพย์ในปี 2502 สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ สืบต่อกิจการจากบิดาในบริษัทโอสถสภาในปี 2500 อันเป็นเวลาใกล้เคียงกับไพโรจน์ ไชยพร ซึ่งเรียนบริหารธุรกิจสถาบันเดียวกันกับสุรัตน์ ก็รับช่วงกิจการแพปลาและอุตสาหกรรมห้องเย็นกลุ่มไทยเสรีห้องเย็นในปี 2501

ภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะเดียวกันประปราย เมธวดี กาญจนจารี จบกฎหมายจากอังกฤษเข้ารับช่วงกิจการบริษัทซิว ในปี 2507 อันเป็นช่วงต่อที่เข้า "ร่วมทุน" กับบริษัทมัสสุชิตะผู้ผลิตเครื่องไฟฟ้า "เนชั่นแนล" จากญี่ปุ่น พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล เข้าคุมกิจการอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2502

"หน่อ" มืออาชีพได้ก่อตัวในช่วงนั้นวิโรจน์ ภู่ตระกูล เริ่มเข้าทำงานกับบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) ในปี 2502 ใกล้เคียงกับ ม.ร.ว.สฤษดิ์คุณ กิตติยากรเข้าทำงานในบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย หรือตามใจ ขำภโต กลับจากการศึกษาจากญี่ปุ่นเข้าทำงานในบริษัท "ร่วมทุน" ระหว่างตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งกับอาซาฮีแห่งญี่ปุ่น ผลิตกระจกรายแรกของประเทศไทย เป็นผู้จัดการทั่วไปในปี 2508

ห้วงเวลานั้น (ปี 2500-2516) เป็นการสร้างพื้นฐานแก่การเติบโตธุรกิจ พร้อมกับสังคสไทยก็ค่อย ๆ เป็นสังคมเปิดขึ้น

ครั้นเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกสิ่งแวดล้อมสังคมธุรกิจไทยก็ก้าวกระโดดไปสู่ขั้นใหม่

เดือนธันวาคม 2514 รัฐบาลถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศลดค่าเงินบาท 7.89% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นประมาณ 1 ปี (พ.ย. 2515) ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นอีก 3 เดือนต่อมา ซึ่งข้ามมาถึงปี 2516 รัฐบาลถนอมประกาศลดค่าเงินบาทอีก 10% ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างมาก รัฐบาลเริ่มหวั่นไหว ประกาศเพิ่มค่าเงินบาทกลับคืนไปอีก 4% หลังจากประกาศลดครั้งแรกประมาณ 5 เดือน (กรกฎาคม 2517)

ช่วงเวลานี้เองวิกฤติการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว

โลกธุรกิจได้เข้าวังวนของการแปรผันอย่างมาก

หนึ่ง - รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น ในรูปของมาตรการ "แทรกแซง" ต่าง ๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำ สอง-ธุรกิจไทยผันผวนอยางหนักปัจจัยความอยู่รอดธุรกิจต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา, อัตราดอกเบี้ย และต้นทุนการผลิต

นักธุรกิจกล่าวว่าเป็นช่วงดำเนินธุรกิจที่หวือหวามาก ๆ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ซึ่งจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา อีกระลอกหนึ่งกลับมาเมืองไทย 2-3 ปีก่อนหน้า เริ่มมีบทบาทมากขึ้นอาทิ พร สิทธิอำนวย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ชุมพล ณ ลเลียง ศิวะพร ทรรทรานนท์ บันเทิง ตันติวิท ฯลฯ ส่วนใหญ่พวกเขามีความชำนาญในด้านธุรกิจการเงิน อันเป็นจังหวะที่ธุรกิจด้านนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก กล่าวคือการกำเนิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นพรวนในเวลาต่อมา

จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมธุรกิจสองช่วงนี้ ธุรกิจการค้าส่งออกได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างมาก และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยธุรกิจการเงินธนาคาร การค้าและอุตสาหกรรมตามลำดับ

ธุรกิจการค้า

ปี 2496 บริษัทข้าวไทย ขาดทุนครั้งแรก ท่ามกลางการค้าออกข้าวได้กระจายสู่พ่อค้าชาวจีนอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทข้าวไทยกำเนิดขึ้นอันเป็นข้อต่อการเปลี่ยนการส่งออกข้าวแต่เดิมอยู่ในมือของเอกชน มาอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของรัฐ เนื่องด้วยความจำเป็นของสถานการณ์ที่ไทยจะต้องขายข้าวให้ญี่ปุ่นตลาดใหญ่มาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตำต่ำอย่างร้ายแรง แต่ชาวจีนในไทยซึ่งคุมการค้าข้าวแอนตี้ญี่ปุ่น

บริษัทข้าวไทยดำเนินการผูกขาดค้าข้าวตั้งแต่เดิมเป้นของคนจีน และส่วนหนึ่งเป็นของชาวยุโรปถอนตัวออกไปเมื่อสงครามระเบิดขึ้น ครั้งสงครามยุติลงฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม อังกฤษซึ่งมีผลประโยชน์โดยตรงเกี่ยวข้องกับบอร์เนียว หรือแองโกลไทย ซึ่งบริษัทข้าวไทยยึดกิจการมา เสนอให้ยุบบริษัทข้าวไทยเสีย ฝ่ายไทยต่อสู้ด้วยการโอนกิจการบริษัทข้าวไทยจากกระทรวงเศรษฐการมาเป็นชุมนุมสหกรณ์ และให้เหตุผลกับองค์การสหประชาชาติ ว่าหากยุบบริษัทข้าวไทยชาวนาจะเดือดร้อน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กิจการโรงสีและการส่งออกข้าวไทยได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้งหนึ่ง

โรงสีที่เคยตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯต่อมาบริษัทข้าวไทยยึดมาในที่สุดได้ขายตัวออกไปตั้งในต่างจังหวัด เนื่องจากค่าแรงถูกกว่า ผู้คลุกคลีกับการส่งออกข้าวกล่าวว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สองข้าวเปลือกประมาณ 95% จะผ่านโรงสีในกรุงเทพ ก่อนเป็นข้าวสารส่งออก ครั้นหลังสงครามสถานการณ์พลิกโฉม เป็นข้าวสารเกือบ 100% มาจากโรงสีจากต่างจังหวัด

ใกล้ปี 2500 พ่อค้าข้าวในกรุงเทพทำหน้าที่เพียงผู้ค้าและผู้ส่งออกข้าวเท่านั้น แต่เดิมสมาคมโรงสีไฟเคยมีบทบาทอย่างสูง ก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลง สมาคมพ่อค้าข้าว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เข้ามีบทบาท และทรงอิทธิพลอย่างสูงแทน

บริษัทข้าวไทย เป็นของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้ง ทำให้ขาดความต่อเนื่องเชิงธุรกิจ

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ ๆ การส่งออกข้าวขณะนั้นแข่งขันตัดราคากันอย่างรุนแรงมาก

ปี 2502 บรรเจิด ชลวิจารณ์ ถูกส่งมาเป็นประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการส่งออกข้าวค่อนข้างเสรีเข้ายุคระบบโควต้าครั้งแรก ประจวบกับการสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มกระเตื้องขึ้น สินค้าหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา ดีบุกมีความเป็นไปได้ส่งออกได้มากขึ้น ในช่วงเวลานั้นไทยเริ่มมีปัญหาตลาดในแง่ "แนวรับ" มากกว่า "แนวรุก" สินค้า คือข้าวจึงส่งออกได้เพียง 6-7 แสนตัน/ปี จำนวนพอ ๆ กับเขมรและเวียดนามในขณะที่พม่าส่งออกได้มากถึง 2 ล้านตันสภาพหอการค้าฯจึงมีบทบาทนำเอกชนออกหาตลาดใหญ่ในย่านนี้มากขึ้น เช่นที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

บรรเจิด มองเห็นว่าการค้าข้าวระบบเสรีของไทยไม่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกรวม เนื่องจากมีการขายแข่งตัดราคากันมาก รวมทั้งปัญหาปลอมปนสินค้า จากแนวคิดนี้เขาจึงออกมาตรการจัดระบบค้าเสียใหม่ให้รวมกลุ่มการค้าแต่ละอย่าง เช่น กลุ่มข้าว กลุ่มข้าวโพด กลุ่มปอ และกลุ่มมันสำปะหลัง โดยพ่อค้าแต่ละชนิดรวมกลุ่มกัน จดทะเบียนเป็นสมาชิกกลุ่ม ผู้ส่งออกก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องให้คำมั่นสัญญาจะปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนซึ่งสภาการค้ากำหนดขึ้น และนำรายชื่อผู้ส่งออกเหล่านี้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ หากมีการฝ่าฝืน จนทให้เกิดเสียหาย ก็จะถูกลงโทษงดการอนุญาตให้เป็นผู้ส่งออก ระบบนี้เมื่อได้ออกเดอร์มาจะแบ่งตามสัดส่วน หากผู้ส่งออกรายใดไม่ต้องการก็ยังได้ค่าโควต้าอีกจำนวนหนึ่ง แม้ทั้งปีไม่ได้ส่งออกก็ยังได้ค่าโควต้านั้นอยู่ดี

จากระบบโควต้านี้เอง นำมาซึ่งการรวมกลุ่มในรูปสมาคมการค้า ผู้ใดกุมสมาคมการค้าก็สามารถดำรงการค้าอยู่ได้ ผู้ส่งออกรายใหญ่และเก่าแก่จึงมีเป้าหมายเข้าสู่การกุมอำนาจสมาคมเหล่านั้น ในเวลาเดียวกลุ่มพ่อค้าบางกลุ่มได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ในลักษณะ "มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่" อะไรเทือกนั้น

ขณะนั้นตลาดการส่งออกข้าวไทยแม้ว่าภาครัฐบาล หรือสมาคมการค้าจะออกลุยเองบ้างแต่ก็เป็นครั้งเป็นคราววูบวาบไม่สม่ำเสมอ ส่วนพ่อค้าเองนั่นเล่า ยังจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดย่านเอเชีย อาศัยสายสัมพันธ์ "พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล" เป็นหลัก

นักประวัติศาสตร์ธุรกิจบางคนตั้งข้อสังเกตระบบโควต้าก็มีจุดอ่อนตรงผู้ส่งออกไทยไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร

ธนาคารกรุงเทพ มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการค้าส่งออกไทยไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร

ธนาคารกรุงเทพ มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่สำคัญถือกันว่าเป็นสินค้าหลักสำหรับการส่งออกในช่วงนั้นแม้แต่ช่วงต่อมา นอกจากนี้การที่ธนาคารหนุนกลุ่มผู้ส่งออกบางกลุ่มก็ทำให้กลุ่มนั้นเกาะตัว ทรงอิทธิพลเกินความจำเป็น เช่น "กลุ่ม 5 เสือ" สร้างอิทธิพลยาวนานอย่างมาก ๆ จนถึงปี 2515 เป็นต้น

ธุรกิจส่งออกสินค้าพืชไร่ยังถือว่ายังไม่อยู่ใน GENERATION เดียวเป็นส่วนใหญ่ การบริหารจึงอยู่เจ้าของกิจการเพียงคนเดียวหากจะศึกษาการบริหารระบบครอบครัวอย่างเต็มรูป บริษัทส่งออกข้าวเป็นตัวอย่างแจ่มชัดมาก ในช่วงปี 2500-2515 ผู้ส่งออกอาศัยธนาคารเป็นพี่เลี้ยงอย่างมาก ๆ ในการดำเนินการส่งออกสินค้าออกต่างประเทศดีที่ธนาคารที่สนับสนุนการค้าเป็นธนาคารของไทย (โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ดังที่กล่าวมาแล้ว) อีกแง่มุมหนึ่งมองกันว่าธนาคารมี "บุญคุณน้ำมิตร" กับผู้ส่งออกข้าวมากทีเดียว ถึงขั้นระบุกันว่า หากคิดจะเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ประสบความสำเร็จต้องเข้ากับชิน โสภณพนิชได้

และได้มาซึ่งออเดอร์ก็จะอยู่ที่โต๊ะเจรจาแบ่งสันปันส่วนกันเองระหว่างพ่อค้ามากกว่าจะลงสู่ตลาด

ข้อต่อสำคัญการเปลี่ยนแปลงการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่ คือการที่พ่อค้าข้าวบางรายกระโจนออกสู่ตลาดนอกสิงคโปร์ ฮ่องกงหรืออาศัยสายสัมพันธ์พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลแต่เดิม มุ่งสู่ประเทศด้อยพัฒนา ในประเทศอาฟริกา หรือตะวันออกกลาง พร้อม ๆ กับบรรดาผู้ส่งออกข้าวไทย ได้เพิ่มจำนวนมากรายขึ้น "ผู้มาใหม่" เริ่มทยอยมาจากโรงสีต่างจังหวัดนั่นเอง

สาเหตุประการสำคัญคือ ตลาดเดิมคับแคบเกินไป อาหารจานเดียวที่ต้องแบ่งปันน้อยเกินไป มิหนำซ้ำบรรดาผู้ส่งออกเก่าแก่ซึ่งพยายามยึดครองตลาดส่วนนั้นอย่างมั่นคงก็พยายามสร้างกำแพงอันแข็งแรง ขวางกั้นเอาไว้

อีกประการหนึ่ง - ตลาดข้าวโลกเปิดกว้างขึ้น พร้อมกับการมามีบทบาทอย่าง ๆ ของโบรกเกอร์ซึ่งสำนักงานส่วนใหญ่ของพวกเขาอยู่ที่ยุโรป กับบรรษัทการค้าระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นที่โตวันโตคืนในขอบเขตทั่วโลก

นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ทั้งการสื่อสาร การคมนาคม กว้างใหญ่ขึ้นในประเทศไทย

ภายหลังวิกฤติการณ์น้ำมันเป็นต้นมา สินค้าพืชไร่ทั่วโลกอยู่ในกระแสที่ควบคุมโดยโบรกเกอร์เหล่านี้โดยเฉพาะโบรกเกอร์ยุโรป

ในปี 2509 บริษัท โครห์น กรุงเทพ จดทะเบียนในประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกพืชไร่ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ประหนึ่งเป็นสำนักงานตัวแทนผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดยุโรป ในระยะไล่เลี่ยกับบริษัทคาร์กิลล์ ซึ่งจดทะเบียนในลักษณะเดียวในปี 2511 เป็นผู้ส่งออกข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลังด้วย สองรายแรกนี้เน้นหนักด้านมันสำปะหลัง อันเป็นระยะที่ระบบการค้ามันสำปะหลัง อันเป็นระยะที่ระบบการค้ามันสำปะหลังไทยค่อย ๆ เปลี่ยน

รายสำคัญคือบริษัทคอนติเนลตัล โอเวอร์ซีส์ (ซีโอซี.) เริ่มจดทะเบียนในประเทศไทยปี 2512 เป็น "ตัวแทนค้าต่างและนายหน้า" ซึ่งต่อมาขัดกับประกาศคณะปฏิวัติจึงต้องเปลี่ยนเป็นผู้ส่งออก บริษัทนี้เป็นตัวแทนของบริษัทคอนติเนลตัลเกรนส์ ยักษ์ใหญ่ค้าพืชไร่โลก

การเข้ามาของโบรกเกอร์เหล่านี้ เป็นดัชนีชี้ว่า ดีมานด์ของสินค้าพืชไร่ไทยเพิ่มขึ้นมีตลาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ในเวลาเดียวก็อธิบายได้ว่าสถานการณ์การค้าของประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่วงจรการค้าโลกแล้ว

อย่างไรก็ตามยังมีโบรกเกอร์อีกจำนวนหนึ่งมิได้มีสำนักงานโดยตรงที่กรุงเทพแต่ก็ยังครองบทบาทเหล่านั้นไว้

ผู้ส่งออกข้าวไทยได้กลายเป็น "ซัพพลายเออร์" คอยป้อนสินค้าตามข้อผูกพันกับโบรกเกอร์ ไปยังตลาดซึ่งบางครั้งไม่ทราบด้วยว่าที่ไหน แล้วแต่โบรกเกอร์จะบัญชาทั้งนี้รวมถึงอำนาจต่อรองที่ฝ่ายผู้ส่งออกในระยะเริ่มแรกสัมพันธ์กับโบรกเกอร์ไม่มากด้วย

เพราะโบรกเกอร์เหล่านั้นมี หนึ่ง-ตัวแทนหรือสำนักงานตัวแทนในประเทศผู้ซื้อซึ่งห่างไกลจากประเทศไทยมาก คอยส่งข้าวสารความต้องการ ทั้งเจรจาซื้อขาย สองมีธนาคารสนับสนุนด้านการเงิน เอกสารการค้า ซึ่งผู้ส่งออกไทย "ไม่มีเครดิต" เพียงพอจะสร้างอำนาจต่อรองกับธนาคาเหล่านั้นแน่นอนจะต้องเป็นธนาคารใหญ่และมีสาขาอยู่ในย่านนั้น

สิ่งเหล่านี้ ผู้ส่งออกไทยไม่มี

เป็นน่าสังเกตว่าในด้านค้าข้าวโบรกเกอร์ที่มีบทบาทอย่างสูงหรือกลุ่มที่อยู่ในยุโรปโดยเฉพาะไร้ซแอนด์คอมมอดิตี้ หรือปาราชี่ซึ่งเข้ามีบทบาทในเมืองไทยเป็นพิเศษ

ในเวลานั้นปริมาณการส่งข้าวในตลาดประจำลดลงเป็นลำดับ

ส่วนการค้าข้าวโพดก็เป็นลักษณะเดียวกับข้าว

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ในขณะนั้นคือตลาดร่วมยุโรป ตลาดแห่งนี้ได้มาพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของตัวแทนของเขา อันได้แก่ บริษัทปิเตอร์เครมเมอร์ คาร์กิลล์ ทอฟเฟอร์และโครห์น ซึ่งเป็นตัวกลางรับซื้อมันสำปะหลังจากไทย ส่งไปยังยุโรป บริษัทฝรั่งเหล่านี้กุมความลับกระบวนการส่งออกสินค้าเหล่านี้จากท่าเรือ ล่องทะเล จนถึงผู้ซื้อในยุโรปโดยได้รับผลตอบแทนจำนวนไม่น้อย

การบริหารธุรกิจส่งออกในขณะนั้นของ "เถ้าแก่" ไทย คือต้องพยายามพูดจากับโบรกเกอร์ในหลายรูปแบบเหล่านี้ให้รู้เรื่องเพื่อขอส่วนแบ่งกำไรให้มากที่สุด ซึ่งก็พบข้อเท็จจริงว่ายากลำบากมาก ในส่วนผู้ส่งออกข้าว-ข้าวโพดไทยจึงได้แบ่งกลุ่มของผู้ค้าออกเป็นหลายประเภท หนึ่ง-ประเภทเกาะติดตลาดเก่าย่านเอเชีย ไม่ต้องอนาทรร้อนใจ อาศัยความสัมพันธ์พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลต่อไป สอง-อาศัยโบรกเกอร์ ยอมรับสิ่งที่โบรกเกอร์หยิบยื่นให้ สาม-คืนพวกไม่อยู่ระหว่างการดิ้นรนเพื่อหาทางส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อ

ในวงการค้ามันสำปะหลังมีลักษณะพิเศษมาก ถึงการต่อสู้ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับกลุ่มนายหน้าเหล่านั้น ซึ่งเริ่มต้นในราวปี 2523

บริษัทยูเรเชี่ยน กำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกว่า 20 ราย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับโบรกเกอร์ซึ่งเรียกกันว่า "แคริเออร์" ซึ่งความเป็นจริงเป็นผู้ซื้อที่ทำหน้าที่โบรกเกอร์โดยพยายามส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดโดยตรงความสำเร็จครั้งนั้นก็คือการได้ตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในตลาดเป็นก้าวแรกอันก่อให้เกิดแนวคิด การมีสำนักงานตัวแทนขึ้นในประเทศผู้ซื้อในกิจการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่ชนิดอื่น ๆ

แม้ว่าในเวลาต่อมาผู้ส่งออกกว่า 20 รายไม่สามารถรวมตัวกันติด มีอันต้องแตกกระสานซ่านเซ็นไปทีละรายสองราย เนื่องจากความผันผวนของนโยบายรัฐบาล และข้อจำกัดการบริหารในธุรกิจเหล่านี้

ความหมายยิ่งใหญ่มากก็คือการที่ธูรกิจไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารและการค้าส่งออกสมัยใหม่ พัฒนาธุรกิจส่งออกตนเองให้ก้าวหน้าแน่นอน เจ้าของธุรกิจรายที่สามารปรับตัวและรับการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนเท่านั้น จึงพาตัวอยู่รอดในธุรกิจ จากจุดนั้นถือได้ว่าได้ก้าวไปสู่ขั้นใหม่

อย่างไรก็ตามลักษณะธุรกิจการค้าสินค้าพืชไร่ในขอบเขตทั่วโลกก็มีข้อจำกัดในตัวเองหลายประการ เจ้าของธุรกิจค้าพืชไร่ของโลก หรือโบรกเกอร์ส่วนใหญ ่มีเชื้อสายยิว ไม่ว่าจะเป็นประธานบริษัทคอนติเนลตัลเกรนส์ หรือคาร์กิลล์ ซึ่งมีวิญญาณนักเสี่ยงโชคมองผลประโยชน์เฉพาะหน้ามาก ๆ กลุ่มคนเหล่านี้มีความสามารถเฉาพะด้านสูง ประกอบกับธรรมชาติของธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับสต็อกสินค้าและปริมาณการผลิตสินค้าในขอบเขตทั่วโลก ซึ่งมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก ผู้บริหารธุรกิจเหล่านี้จึงไม่อาจคาดการณ์ในระยะไกลได้

ภายหลังธุรกิจส่งออกพืชไร่เข้าสู่กระแสพืชไร่ของโลก ผู้ดำเนินธุรกิจจะอยู่รอดต้องสายตากว้างขวาง ติดตามข่าวสารในขอบเขตทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของโบรกเกอร์ ความต้องการและผลผลิตสินค้าในขอบเขตทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ดอกเบี้ย ค่าระวางเรือตลอดจนสถานการณ์การเมืองในขอบเขตทั่วโลกซึ่งจะส่งผลสะเทือนโดยตรงต่อคู่ค้า

กรณีบริษัทเกษตรรุ่งเรือง (สุ่นหัวเซ้ง) เป็นตัวอย่างที่ดี กลุ่มนี้เติบโตอย่างรวดเร็วปัจจุบันถือเป็นผู้บุกเบิกการค้าก้าวหน้ามาก มีตัวแทนหรือสำนักงานสาขาในแหล่งผู้ซื้อหลายแห่ง เป็นหน่วยงานติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งทำหน้าที่ด้านการตลาดด้วย ปรับกลยุทธ์ส่งสินค้า "ลอยน้ำ" ในลักษณะขายตรงขายกับประเทศด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ขายในราคาสูงเป็นเงินตราท้องถิ่น ตลอดจนมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศเหล่านั้น

และได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกไทยที่กล้าหาญต่อกรกับโบรกเกอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้โบรกเกอร์ตกที่นั่งลำบากใน 1-2 ปีมานี้โดยอาศัยจุดแข็งที่เป็นผู้มีสต็อกข้าวอยู่ในมือขณะที่โบรกเกอร์ไม่มี

เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งดำเนินการค้าที่กล่าวมานี้ในขอบเขตเอเชียได้ข้อสรุปว่าการขยายตัวเติบใหญ่ธุรกิจของพวกเขามากจาก หนึ่ง-ผลกำไรแต่เพีนงเล็กน้อยต่อหน่วยโดยพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้นพยายามขายจำนวนมาก ๆ สอง-มีการแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของชาวนากับข้อผูกพันการขยายสินค้าในราคาถูกหรือกำหนดแน่นอนแล้ว (VICTORS. LIMLINGGAN; HARVARD BUSINESS SCHOOL)

แต่ข้อเท็จจริงสำหรับประเทศไทย ("ผู้จัดการ" ไม่จำเป็นต้องศึกษาประเทศอื่น) กำไรของการค้าในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน การใช้ดอกเบี้ยต่ำ ค่าระวางที่ถูกซึ่งแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาด้วย

ธุรกิจการค้าพืชไร่ของไทยซึ่งเป็นพื้นฐานธุรกิจการค้ามาหลายทศวรรษ กำลังมาถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์แล้วการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั่วคน (GENERATION) เดียว แต่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ GENERATION ที่สอง จากระยะนี้เป็นแรงผลักดันให้ "เถ้าแก่" กลุ่มนี้พยายามปรับตัวหรือหาหนทางเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ด้วยปัจจัยหลายประการ หนึ่ง-ธุรกิจนี้เพิ่มความแข่งขันอย่างรุนแรงในขอบเขตทั่วโลก เป็นธุรกิจครอบครัวเช่นนี้หายากยิ่ง ทั้งเป็นผลมาจากลักษณะธุรกิจยากลำบากในการสืบต่อเป็นไปในขอบเขตทั่วโลก

ปรากฏการณ์การล้มหายตายจากของธุรกิจค้าพืชไร่ในขอบเขตทั่วโลกจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในระยะปัจจุบัน ผู้อยู่รอดต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีความเป็นเถ้าแก่อย่างสูง ทั้งต้องมีความสามารถส่วนตัวอย่างสูง โดยเฉพาะการรวบรวมข่าวสารข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อตัดสินใจภายในเวลาไม่กี่นาทีและลำพังคนเดียวด้วย

พร้อม ๆ กับการดิ้นรนหาธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ฮ่วยชวนค้าข้าวตัวแทนผู้ค้าข้าวกลุ่มเก่าพยายามเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น กลุ่มแสงทองค้าข้าวตัวแทนกลุ่มที่เติบโตอาศัยโบรกเกอร์พยายามเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตและธนาคาร กลุ่มเกษตรรุ่งเรืองเองก็พยายามเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตร เช่นปลูกยูคาลิปตัสและต่อเนื่องไปจนถึงโรงงานผลิตกระดาษในอนาคต

ในเวลาเดียวกันในรอบ 10 ปีมานี้ผู้ส่งออกข้าว ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังถือเป็นช่วงเวลาของการล้มพับของธุรกิจจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ปริมาณการผลิตสินค้าเหล่านี้แทบไม่ได้ลดลง เพียงแต่รายได้ได้ลงลงพอสมควร และเมื่อเทียบกับการเติบโตในภาคธุรกิจอื่น ธุรกิจนี้แม้จะคงเป็นรากฐานและสำคัญอยู่ แต่ความสำคัญได้ลดลง

ธนาคาร-สถาบันการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ไทยเกิดขึ้นในเมืองไทยด้วยเหตุผลคลาสสิคสนับสนุนธุรกิจของเจ้าของกิจการโดยเฉพาะการค้าระหว่างญาติพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลระหว่างไทยฮ่องกง-สิงคโปร์ ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารพาณิชย์ของคนไทยเกิดขึ้นรวดเดียวหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งได้แสดงพลังเข้าแทนที่ธนาคารอาณานิคม โดยใช้กำลังทางทหารของญี่ปุ่นเป็นหัวหอกเพื่อเปิดช่องว่างธุรกิจนั้น

ที่สำคัญการค้าข้าวในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองกำลังขยายตัวเติบใหญ่สวนทางกับการบริการอย่างจำแนกของธนาคารซึ่งมีอยู่น้อยแห่ง สำหรับผู้มีความรู้ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งมีจำนวนน้อยขณะนั้นก็สามารถสร้างดอกผลอย่างมหาศาลโดยผ่านกลไกของธนาคาร

ชาวจีนโพ้นทะเลดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ดำเนินการค้าระหว่างประเทศในย่านเอเชีย ได้รับการถ่ายทอด "ความรู้" เหล่านี้มาพอสมควร

ส่วนใหญ่ธนาคารเกิดใหม่จะประกอบไปด้วยขุนนางจำนวนหนึ่งกับพ่อค้าชาวจีน ซึ่งมีทุนและความรู้บ้างกับ "ผู้รู้" ที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ ม.ล.ปืนไทยมาลากุล หลวงประเจิด อักษรลักษณ์ เป็นต้นคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเฉลิม ประจวบเหมาะ มาอยู่ธนาคารไทยทนุ ธนิต พิศาลบุตร ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจำกัดเป็นต้น

ระหว่างปี 2493-2503 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีบัญชีเงินฝากประมาณ 21% ของตลาด ในขณะที่ธนาคารต่างชาติครองอยู่ประมาณ 30%

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรา พรบ.ธนาคารพาณิชย์ปี 2505 อันมีผลต่อการบริหารกิจการธนาคาร โดยกำหนดเงินกองทุนให้มากขึ้น ขณะเดียวกับประกาศหยุดยั้งการให้อนุญาตตั้งธนาคารใหม่ และห้ามธนาคารต่างชาติเปิดสาขา

นักประวัติศาสตร์บางคนตั้งข้อสมมติฐานว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจในยุคสฤษดิ์เดินตามสหรัฐในทุกปริมณฑล ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานดังกล่าวข้างต้น อันได้วางรากฐานกิจการธนาคารให้ดจำกัดวงอยู่เป็นกิจการของคนไทยตราบเท่าทุกวันนี้ แม้จะมีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะทลายกำแพงนั้น

ในภาพรวมช่วง 10 ปี (2500-2510) ของยุคสฤษดิ์ต่อเนื่องถึงถนอม-ประภาสธุรกิจธนาคารขยายตัวอย่างมากถึงเกือบ 8 เท่า ขณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทยภายใต้การเป็นเจ้าของโดยชาวจีนโพ้นทะเลได้เพิ่มมาร็เก็ตแชร์เงินฝากเป็น 68%

ภาพธุรกิจธนาคารแต่ละแห่ง ก็เริ่มทางแยกและการพัฒนา "ที่ไม่สม่ำเสมอ" เด่นชัดคือ บางธนาคารพัฒนากรบริหารจากระบบครอบครัว มาใช้มืออาชีพมากขึ้น ทำให้กลุ่มธนาคารเหล่านี้พัฒนาตนเองใหญ่โตมากขึ้น ๆ กลายเป็นว่าทั้งระบบธนาคารมีเพียงไม่กี่ธนาคารครอบครองตลาดไว้เกือบทั้งหมด ในขณะที่กว่า 10 ธนาคารดำเนินธุรกิจในวงแคบอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

ประวัติศาสตร์ชี้ว่าธนาคารที่เข้าเกาะเกี่ยวกับการค้าหรือธุรกิจหลักของประเทสก็จะเติบโตไปไม่หยุดยั้ง เช่นธนาคารกรุงเทพครอบครองงานบริการธุรกิจค้าส่ง ออกพืชไร่อันเป็นธุรกิจหลักและเติบโตมาก ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

พิจารณาในแง่แรงจูงใจทางการบริหารธุรกิจแล้ว ธนาคารที่พัฒนาเทคโนโลยีการธนาคารอยู่ตลอดเวลาย่อมเติบโตไป เช่นแนวคิดของบุญชู โรจนเสถียร ในการ "ควบคุมและตรวจสอบ" ธนาคารอันรัดกุมได้ก่อร่างเป็นรากฐานธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักการบริหารธนาคารได้รับการยอมรับตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างเช่นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ก็ยอมรับว่าการพัฒนาธุรกิจของตนอาศัยโนฮาวการตรวจสอบภายในของธนาคารแบงก์เกอร์ทรัสต์ แห่งสหรัฐอเมริกา

และยังพิสูจน์ในประวัติศาตร์ความล้มเหลวของธุรกิจมาหลายครั้งหลายคราในประเทสไทยจนถึงปัจจุบัน ความล้มเหลวของการบริการธุรกิจธนาคาร หัวใจอยู่ตรงนี้

อย่างไรก็ตามแนวคิดเช่นเดียวกับธนาคารเกษตรกับสุริยน ไรวาก็ยังครอบงำการบริหารธุรกิจธนาคารอีกหลายแห่ง แรงกดดันเข้ามาปะทะแนวคิดครอบงำหนาแน่นแนวนี้คือความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการณ์ธนาคาร

ปี 2515 ธนาคาร 3 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย) มีสินทรัพย์ประมาณ 57% ของทั้งระบบ (ธนาคาร 16 แห่ง) พอมาปี 2516 เพิ่มขึ้นเป็น 88.4% ถือเป็นระยะความแตกต่างระหว่างธนาคารเล็กและธนาคารใหญ่มากมายเหลือเกิน (ปัจจุบันอยู่ในระดับ 60% เท่านั้น)

ธนาคารกรุงเทพพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะสามารถกระโจนเข้าสู่การสนับสนุนการค้าสินค้าพืชไร่ระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับจากตลดาเงินโลกเป็นธนาคารแรก บนฐานะระบบการบริหารรัดกุมด้วยมืออาชีพ นอกจากนี้ธนาคารแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเปิดสาขา ระดมเงินจากประชาชนอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ในระยะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยทั่วไป ดำเนินธุรกิจอาศัยกิจการเครือญาติ การค้าของกลุ่มการการค้าต่าง ๆ

เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งล้มลุกคลุกคลานต่อมาในช่วงประมาณ 15 ปี แรก เพิ่มทุนครั้งแรกจาก 5 ล้านบา (ปี 2488) เป็น 14 ล้านบาทในปี 2504 ในช่วงบัญชา ล่ำซำ ได้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการการเติบโตของธนาคารแห่งนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว น่าแปลกที่ไม่ใคร่มีนักธุรกิจหรือนักประวัติศาสตร์ธุรกิจศึกษาถึงปัจจัยการเติบโตของธนาคารแห่งนี้อย่างแจ่มชัดเพียงแต่แสดงตัวเลขการเติบโตอยางชดเจน และยกเครดิตนี้ให้กับบัญชา ล่ำซำ อีก หลักฐานหนึ่งเด่นชัดก็คือการเพิ่มของสาขาจนถึงปี 2516 กว่า 100 สาขา

"ผู้จัดการ" ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัย "บุคลากร" ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา นับได้ว่าธนาคารแห่งนี้มีบุคลากรผู้มีความรู้ในจำนวนที่แน่นอน นโยบายการบริหาร ตลอดจนการวางรากฐานะระบบงานภายในรัดกุมเป็นปัจจัยการเติบโตต่อเนื่องมาตราบเท่าทุกวันนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มาก โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นจำนวนมาก ก้าวกระโดดครั้งสำคัญในปี 2516 เพิ่มทุนจาก 3.5 ล้านบาท (ตั้งแต่เป็นธนาคารสยาม กัมมาจล) เป็น 40 ล้านบาท ในยุคประจิตร ยศสุนทร เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ว่ากันว่าในยุคก่อนหน้าที่อาภรณ์ กฤษณามระ เป็นผู้จัดการระยะยาวนานมาก ธนาคารแห่งนี้ดำเนินนโยบายคอนเซอเวทีฟอย่างมาก การเพิ่มทุนครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างภาวะเศรษฐกิจกำลังปันป่วน ทั้งระบบการเงินระหว่างประเทศ ไทยเริ่มยอมรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว หลังจาก "ผูกติด" กับดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเวลานาน ประจวบกับเริ่มวิกฤติการณืน้ำมันธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่มีความจำเป็นจะต้องอธิบายเงื่อนไขการเติบโตได้นอกจากจะมองว่าเทคโนโลยีธนาคารได้ผ่านยุครุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาธนาคาร ตั้งแต่ประจิตร ยศสุนทร ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ผู้ผ่านธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำงานในธนาคารนี้ในปี 2523) อันเป็นระยะใกล้เคียงที่ธนาคารแห่งนี้ได้ออกตั๋วเงินลอยตัวในตลาดการเงินที่ลอนดอนและฮ่องกง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในประเทศ

การอรรถาธิบายการเติบโตของธนาคาร 3 แห่งนี้ ชี้ให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการธนาคารและการบริหารสมัยใหม่

อย่างไรก็ตามการเติบโตตามแนวนี้ของธนาคารดังตัวอย่างข้างต้น ก็เกิดขึ้นและสวนทางกับอีกบางธนาคารที่ประสบปัญหาจำต้องเปลี่ยนแปลงการบริหาร เริ่มด้วยธนาคารเกี่ยวกับรัฐมาก ๆ และธนาคารชาวจีนโพ้นทะเลที่ยังไม่ละแนวการบริหารเช่นเดียวกับสุริยน ไรวา บริหารธนาคารเกษตรในช่วงปี 2500

นักประวัติศาสตร์ธุรกิจบางคนมองว่าเป็นความต่อเนื่องจากแนวความคิดบริหารแบบครอบครัว ยังฝังรากหนาแน่น โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งบางครั้งบทสุดท้ายก็คือการฉ้อฉล เช่นเดียวกับเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายกรณีหลายประเทศ เช่น คเตคปวด ในบรูไนหรือจอร์จตัน ในฮ่องกงเป็นต้น

สำหรับประเทศไทยคือกรณี จอห์นนี่มา ในเอเชียทรัสต์ และโคโรโบ ธนาคารมหานคร

ปรากฏการณ์ผู้ถือหุ้นใหญ่และกุมอำนาจบริหารธนาคารพาณิชย์ขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางจึงเป็นภาพที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป จึงกลายเป็นความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่หรือเถ้าแก่ที่มีโอกาสมุ่งหวังจะเข้าสู่แวดวงธุรกิจธนาคารพาณิชย์กันมากขึ้น

ประมาณ 10 กว่าปีย้อนหลังธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ใครก็อยากเข้าไป

แรงบันดาลใจเหล่านี้ ผนวกกับธุรกิจที่มีความต้องการใช้บริการด้านการเงินจำนวนมากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก ๆ ราวปี 2510 บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ค่อย ๆ กำเนิดขึ้น

โดยเฉพาะความต้องการด้านสินเชื่อในรูปต่าง ๆ

ช่องว่างตรงนั้นเองธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ก้กำเนิดขึ้นเพื่อสนองรับดีมานด์สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับการเกิดใหม่ของนักธุรกิจผู้อยู่นอกวงการธุรกิจการเงินมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามภายหลังธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำรงอยู่ได้เนื่องจากเป็นกิจการกลุ่มธนาคารพาณิชย์แตกสาขาออกไปเป็นส่วนใหญ่

จากแนวความคิดการปล่อยสินเชื่อระยะยาวเพื่อเติมช่องว่างของธนาคารพาณิชย์ดำเนินอยู่ ต่อมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารพาริชย์เปลี่ยนกลยุทธ์การปล่อนสินเชื่อระยะยาวมากขึ้น บริษัทการเงินเกิดใหม่เหล่านี้จำต้องมาเน้นการให้สินเชื่อระยะสั้นมาก ๆ แทน

ปี 2516 มีบริษัทเงินทุน, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกิดขึ้น 54 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 113 แห่งในปี 2520 เพื่อเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปี 2522 ปิดกิจการไปแห่งแรกคือราชาเงินทุน ล่าสุดเหลือเพียง 100 แห่ง ส่วนใหญ่บริษัทที่ยังดำรงอยู่ได้ เพราะเกิดจากการลงทุนของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเป็นพี่เลี้ยง มีการศึกษาพบว่าในปี 2523 บริษัทการเงินทั้งหมด 112 แห่ง มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 40% มาจากการลงธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตามจากปี 2522 เป็นต้นมา ได้ปรากฏ "ผู้มาใหม่" ในวงการธูรกิจจำนวนไม่น้อย อาทิ พร สิทธิอำนวย หรือชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นหลังที่เก็บหอมรอมริบระดับหนึ่ง เช่น สุพจน์ เดชสกุลธร เป็นต้น

คนอย่างพร สิทธิอำนวย ก็เหมือนกับคนหนุ่มรุ่นใหม่ผู้จบเอ็มบีเอนั่นเอง พวกเขามุ่งมั่นจับธุรกิจอุตสาหกรรม ตามสูตรความสำเร็จ ความใหญ่โตและมั่นคง ซึ่งเป็นอนาคตแท้จริงของคนรุ่นเขา แนวคิดนี้ขัดแย้งกับสภาพความเป็นคนจริงของคนไทย ซึ่งอยู่ในยุค "หมุนกระดาษ" คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าเติบโตไต่เต้ามาด้วยกรรมวิธีไม่แตกต่างกัน มันเป็นหนทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว แน่นอนมันย่อมดีกว่ารอเวลาเนิ่นนาน นักจิตวิทยาบางคนมองเลยไปว่าจิตสำนึก "ดาวจรัสฟ้า" ยังครอบงำคนไทย หรือชาวจีนโพ้นทะเลอยู่อย่างหนาแน่น

การหมุนกระดาษก็คือการอาศัยเงินจากมวลชนสร้างธุรกิจของตนเอง ดั่งเช่นพรสิทธิอำนวยกระโดดเข้าสู่วงการเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2516 อันเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตามตำราก็ว่าเป็นช่วงแห่งการก่อร่างสร้างธุรกิจที่ดี เช่นเดียวกับวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สองในปี 2522 ที่กลุ่มพีเอสเอ.สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ขยายอาณาจักรออกไป ในที่สุดพร สิทธิอำนวยก็ต้องมาติดกันกับแนวความคิดที่ฝังลึกแต่ต้นคือการลงทุนในการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจที่คิดว่าแน่นอนกลับไม่แน่นอน การคาดการณ์ผิดพลาดหลายจุดจากจุดนี้จนถึงการลงทุนก่อสร้างคอนโดมิเนี่ยม กลุ่มพีเอสเอ.จึงต้องอวสานไปในที่สุด

ในทางตรงกันข้ามกับคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งไม่ผ่านการศึกษาอะไรมากมาย ทนทำงานทุกอย่างเพื่อสร้างฐานะดันตัวองเข้าเนสมาชิกสังคมธุรกิจชั้นสูง โดยเฉพาะแวดวงสถาบันการเงิน สุพจน์ เดชสกุลธรเป็นคนหนึ่งมีแนวความคิดรากฐานไม่ต่างจากพร เพียงแต่ที่มาของเขาต่างกัน และจุดจบก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก

ธุรกิจการเงินพลิกตัวอีกครั้งหนึ่งเมื่อทางการเข้าไปควบคุมมากขึ้น บางคนบอกว่าเป็น REGULATE INDUSTRY

นักบริหารธุรกิจจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่าธุรกิจการเงิน-ธนาคารก็คือ SERVICE INDUSTRY ที่ไม่มีการผลิต (PRODUCTION) และสินค้าคงคลัง (INVENTORY) ไม่มาก ถือว่าเป็นธุรกิจที่ง่าย ๆ (SIMPLE)

จากจุดนี้ "สินค้า" ของธนาคารที่ให้บริการลูกค้าในระยะหลายสิบปีมานี้จึงไม่เปลี่ยนแปลงมาก กล่าวในแง่พื้นฐาน การเปลี่ยนหรือเพิ่มผลิตภัณฑ์จะเกิดจาการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการสื่อสารโทรคมนาคมเช่นงานด้าน MONEY EXCHANGE ซึ่งในระยะหนึ่งบางธนาคารสร้างผลตอบทนได้มากทีเดียว แต่บางธนาคารยังไม่ได้รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ

ข้อจำกัดด้านนี้เกิดจากธุรกิจนี้อยู่ในการควบคุมของรัฐมากเกินไป การปรับตัวกิจการสถาบันการเงิน อาทิ DEVELOPMENT BANK หรือการธนาคารจะเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจอื่นให้มากกว่าเดิม แนวความคิดประการหลังอยู่ระหว่างการผลักของกลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งคาดกันว่าแรงต้านมีจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมองกันว่าแม้แต่ "ลูกค้า" ธนาคารเองก็ไม่ได้พัฒนาไปมากนัก แนวความคิดหรือวัฒนธรรมการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวยังครอบงำหนาแน่น มันเป็นการยากที่การบริหารสมัยใหม่ จะแทรกตัวเข้าไปได้ง่าย ๆ

การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในธุรกิจธนาคารอยู่ที่ภายในองค์กรธุรกิจเองจุดศูนย์กลางอยู่ที่การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจท่ามกลางวิกฤิการณ์และการแข่งขันกันอย่งมากทั้งในและต่างประเทศ ความเปลี่ยนจากความต้องการสินเชื่อจำนวนมากได้เปลี่ยนเป็นบริการของธนาคารและสถาบันการเงินโอเวอร์ซัพพลาย ทั้งธนาคารต่างประเทศเองก็เข้ามามีบทบาทแข่งขันทั้งทางตรงทางอ้อม

ธุรกิจธนาคารเริ่มเปลี่ยนเป็น CONSUMER ORIENTED

การปรับผัง การเปลี่ยน เสริมบุคลากรกระทำกันอย่างน่าสังเกต ทั้งนี้ไม่เพียงความต้องการของธนาคารอันเกิดจากปัจจัยข้างต้นแล้ว แรงบีบจากทางการเป็นอีกกระแสหนึ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงนั้น

และจากวิกฤติการณ์ด้านสินเชื่อมุ่งจับรายใหญ่หรือโครงการมีปัญหาต่อเนื่องมา แนวการบริหารของธนาคารเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นแนวโน้มทั่วไป เน้นสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ขณะเดียวกัน "ผลต่าง" ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้นับวันจะแคบลง แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นก็คือธนาคารมุ่งแสวงหาผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียม (FEE INCOME) มากขึ้น

นั่นหมายความว่าธนาคารขนาดใหญ่จะโตขึ้นไปอย่างช้า ๆ มั่นคง ธนาคารขนาดกลางพยายามดันตัวเองขึ้นมา แต่ธนาคารเล็ก ๆ นับวันถดถอย

เพราะความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีการธนาคารไม่เท่ากัน แม้ว่าเกือบทุกธนาคารจะเข้าเป็นสมาชิกของ SWIFT แต่ผลได้ไม่เท่ากัน บางธนาคารยังวิตกกังวลว่าบริหารใมห่เช่นเอทีเอ็ม หรือการพัฒนาสื่อสารระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ไม่ก่อประโยชน์ต่อพวกเขา การหมุนเวียนเงินออกจากธนาคารเล็ก ๆ ของพวกเขาเร็วเกินไป เป็นการสูญเสียรายได้ในทางหนึ่งด้วย

สินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยในระยะแรก ๆ เป็นสินค้าสำเร็จรูปผลิตจากต่างประเทศ เข้ามาพร้อมกับการขยายอาณานิคม บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้บริโภคขณะนั้นอยู่เพียงในพระราชวัง ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ก่อเป็นรูปธุรกิจแจ่มชัดดำเนินการค้าโดยเน้นหนักากรนำทรัพยากรธรรมชาติของไทย อาทิ ไม้สัก ดีบุก กลับไปป้อมโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศตนไปด้วย (ส่งออก-นำเข้า) ธุรกิจการค้าเหล่านั่นค่อย ๆ พัฒนาตนเองสู่การค้าข้าวเจ้าของกิจการโรงสี โรงเลื่อย ตัวแทนการเดินเรือขนส่งสินค้าจากประเทศไทย

ปริมาณสินค้าสำเร็จรูปเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยค่อยเพิ่มทีละน้อยอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ เปิดวงกว้างมากขึ้น

บริษัทบอร์เนียวตั้งขึ้นเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มด้วยการค้าอาวุธ เป็นตัวแทนประกันภัยของลอยด์ออฟลอนดอน และขยายกิจการไปสู่โรงสีข้าว และสัมปทานป่าไม้ ตัวแทนสายการบิน และก้าวเข้าสู่บทบาทด้านการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเอประมาณปี 2510 เช่นเดียวกับบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) เข้ามาเมืองไทย 100 ปีเศษนำผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาขาย พร้อม ๆ กับดำเนินกิจการการเดินเรือโรงเลื่อย โรงสีข้าว เข้าสู่การนำเครื่องจักรผลิตภัณฑ์เคมีเข้ามาจำหน่าย สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้

ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือเป็นยุคก้าวกระโดดอีกขั้นหนึ่ง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคได้ขยายตัวในประเทศไทยอย่างชัดเจน

บริษัทลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) เปิดกิจการในประเทศไทยโดยใช้ชื่ออื่นตั้งแต่ปี 2497 จำหน่ายสบู่และผงซักฟอก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จำเป็นต้องถอนตัวออกไปชั่วคราวและกลับมาอีกครั้งในราวปี 2497 เริ่มสั่งผงซักฟอกจากอังกฤษมาจำหน่าย ระหว่างนั้นประเทศไทยต้องจ่ายเงินเพื่อสินค้าประเภทนี้ปีละประมาณ 70 ล้านบาทในปี 2502 ลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) สั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผลิตผงซักฟอกขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเวลาใกล้เคียงกันนั้นบริษัทคอลเกตปาล์มโอลีฟเข้ามาประเทศไทย (2501) เปิดกิจการบรรจุผลซักฟอกยี่ห้อ "แฟ้บ" โดยให้บริษัทหลุยส์ ตีเลียวโนเวนส์ เป็นผู้จัดจำหน่ายในระยะแรก ๆ นั้น

ถึงแม้ในอดีตการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจะอยู่ในอุ้งมือของธุรกิจต่างชาติซีกโลกตะวันตกอย่างเหนียวแน่นตลอดมา ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สองของกลุ่มธุรกิจนี้ถูกลดทอนอิทธิพลลงมาเกือบจะสิ้นเชิงเมื่อสฤษดิ์ ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุน กลุ่มธุรกิจต่างชาติกลุ่มนั้นก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนไทยหรือชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเริ่มเติบโตขึ้น จับธุรกิจแนวนี้กันมากขึ้น อาศัยช่องว่างของชาวตะวันตกและการที่พวกเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางอ้อมมาก่อนหน้านี้ ยุทธวิธีของพ่อค้าชาวโจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ส่วนหนึ่งคือการร่วมทุนหรือร่วมมือกับญี่ปุ่น

ดังเช่นกลุ่มสหพัฒน์ฯของเทียมโชควัฒนา หรือจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล

อันที่จริงธุรกิจค้าปลีกหรือสินค้าคอนซูเมอร์นั้นก็คือการปูทางของการดำเนินอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศไทย การศึกษาประวัติศาสตร์ช่วยบอกให้รู้ว่า แนวความคิดของธุรกิจซีกโลกตะวันตกกับญี่ปุ่นแตกต่างกันพอสมควร ซีกโลกตะวันตก ยังยึดถือแนวเดิม มองว่าตลาดเมืองไทยไม่กว้างใหญ่นัก การลงทุนของกลุ่มนี้เพียงตั้งบริษัทลูกมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มิได้รกรากสู่การผลิตสินค้าจากรากฐานในส่วนใหญ่เน้นการบรรจุหีบห่อ การผสมผลิตภัณฑ์และการบริหารเน้นเอกเทศจากคนไทย ความร่วมมือกับนักธุรกิจไม่มาก ทางตรงกันข้ามญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างแนบแน่น รูปแบบการลงทุนคือการ "ร่วมทุน" (JOINT VENTURE) แต่เน้นในอุตสาหกรรมค่อนข้างหนัก โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะธุรกิจซีกโลกตะวันตกถูกมองว่าแสวงหากำไรด้วยการผูกขาดเทคโนโลยี

ญี่ปุ่นค่อยซึมลึกเข้ามาในช่วงนั้น

ปี 2507 ห้างไทยไดมารูเกิดขึ้น ด้วยการร่วมทุนระหว่างไดมารูยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น กับตระกูลสารสิน เปิดฉากส่งสินค้าญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยระลอกใหญ่ หรือบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ในปี 2503 ตั้งโรงงานผลิตผงชูรสสินค้าที่ก่อผลสะเทือนกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมากๆ ซึมลึกไปสู่ชนบทอย่างรวดเร็ว เป็นการร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ

ดูเผิน ๆ การเข้ามาของญี่ปุ่นเป็นการร่วมทุน หากพิจารณาอย่างลงลึกจะพบว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะเป็นไทย/ญี่ปุ่น ในอัตราส่วนใกล้เคียง ฝ่ายไทยรวมเอาบริษัทญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งเข้าไปด้วย แท้ที่จริง "เนื้อใน" แล้วญี่ปุ่นจะครองหุ้นจำนวนมาก อันไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้บริหารจะเป็นคนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง คนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่แวดวงราชการ, ทหารหรือนักธุรกิจมีชื่อคงเป็น "พระอันดับ" ในคณะกรรมการไม่มีส่วนในงานบริหารประจำ

อย่างไรก็ตามการร่วมทุน (แบบจำแลง) ก็ยังดูดีกว่ากิจการซีกโลกตะวันตก ซึ่งแทบไม่ยอมให้คนไทยเข้าไปร่วมวงไพบูลย์เลย

สินค้าคอนซูมเมอร์เริ่มเปลี่ยนแปลงภายหลังมองเห็นตลาดกว้างขึ้น ผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศจึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยแทน เช่นบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ปี 2508 จากเดิมบอร์เนียวเป็นผู้จำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจจากซีกโลกตะวันตก

ต่อมาก็คือดำเนินกลยุทธ์เน้นการตลาด (MARKETING ORIENTED) แยกผู้ผลิตออกจากผู้ขาย สร้างเครือข่ายการตลาด อาชีพพนักงานขาย (SALESMAN) ได้กลายเป็นอาชีพใหม่ในประเทศไทยย้อนหลังไปประมาณ 20 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น พนักงานเหล่านี้เกิดขึ้นในงานการขายสินค้าคอนซูมเมอร์ก่อน มีการอบรม พัฒนาเทคนิคการขายอยู่ตลอดเวลาและเป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนมากพอสมควร

เช่นเดียวกันคือกิจการบริษัทโฆษณาซึ่งเติบโตในราวปี 2505 ทั้งบริษัทคนไทยกลุ่มหนึ่ง และบริษัทญี่ปุ่น เช่นเดนท์สุ (2507) ซูโอเซ็นโก (2506) และของตะวันตก เช่น แมคแคน-อิริคสัน (2508) ในช่วง 10 ปีแรกเติบโตอย่างไม่หวือหวามากนัก ครั้นสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เข้าสู่ภาวะวิกฤติอันสืบเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมัน และการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ธุรกิจโฆษณาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของสินค้าคอนซูมเมอร์ บริษัทต่างชาติทยอยเข้ามาอย่างบ้าคลั่งในช่วงเวลานั้น

ปัจจุบันบริษัทโฆษณา เป็นธุรกิจมีลักษณะสากลมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง การพัฒนากลยุทธ์การโฆษณาเพื่อการแข่งขันทางธูรกิจขยายวงออกไปในขอบเขตทั่วโลก พร้อม ๆ กับการส่งเทคโนโลยีการโฆษณาเข้ามาในประเทศไทย งานพาณิชย์ศิลป์ในประเทศไทยเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเริ่มจากงานโฆษณาค่อย ๆ ลงสู่สินค้าง่าย ก่อรูปเป็นกึ่ง ๆ งานอินดัสเทรียลดีไซน์ เช่น ลวดลายของเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

เมื่อเทียบกับงานศิลปะในแกลลอรี่ต่าง ๆ มีหลายคนแสดงความเห็นว่าช่วงพัฒนากรช้ากว่าพาณิชย์ศิลป์ในงานโฆษณาอย่างมาก

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในธุรกิจนี้ดำรงอยู่อย่างมากด้วยปัจจัย หนึ่ง-การเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยระยะเวลาสั้น สองการแข่งขันอย่างรุนแรงในด้านการตลาดทำให้รอสร้างคนใหม่ ๆ ไม่ได้ จากภาวะดังกล่าวการเปลี่ยนงาน "มืออาชีพ" ในธุรกิจนี้จึงเด่นชัดกว่าธุรกิจอื่นๆ ไหลเวียนจากบริษัทนั้นสู่บริษัทนี้ ซึ่งกลายเป็นวงจรอันน่าเบื่อหน่ายอีกวงจรหนึ่ง ซึ่งจำกัดอยู่ในจำนวนคนที่แน่นอน

นี่เป็นภาพสะท้อนปัญหาธุรกิจไทยระดับหนึ่งซึ่งมีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องซื้อด้วยเวลา ไม่เพียงธุรกิจโฆษณาเท่านั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมก็ประสบปัญหาพื้นฐานนี้ด้วย

อุตสาหกรรม

ประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีอุตสาหกรรม 2 ประเภท หนึ่ง-อุตสาหกรรมแบบไทย ๆ อาทิอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอนาคตอย่างมากๆ และอุตสาหกรรมสิ่งทอหรืออุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ เช่นเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ก็เริ่มพยายามหาทางออกแม้ว่าทางตีบตันยังไกลกว่าอุตสาหกรรม 2 ประเภทแรก

สอง - อุตสาหกรรมใหม่ ๆ

ในส่วนแรกนั้น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก และมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นอย่างสิ้นเชิง ประการแรก เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกระบวนการผลิตไม่สลับซับซ้อน และพัฒนาเทคนิคอย่างช้า ๆ ประการที่สอง ส่งออกเกือบทั้งหมดและอีกประการหนึ่งการดำรงของอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับแหล่งวัตถุดิบเป็นสำคัญ

ผู้ประกอบการธุรกิจนี้มีปัญหาสัมปทานอันเกี่ยวข้องกับรัฐบาล รวมทั้งการจัดสรรโควต้าส่งออกมากกว่าปัญหาใด ๆ อย่างไรก็ตามในระยะแรกผูกขาดในมือของบริษัทต่างชาติ ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองเปิดช่องว่างนักธุรกิจท้องถิ่นค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และดอกผลจากอุตสาหกรรมนี้อย่างมหาศาล เช่น ตระกูลบุญสูง ตันติวิท ยงสกุล เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งเมื่อวิกฤติการณ์น้ำมันในปี 2515 เป็นต้นมา บวกกับการต่อต้านบริษัทต่างชาติของนักศึกษาและนายทุนท้องถิ่นเป็นการเปิดช่องว่างให้นายทุนท้องถิ่นขนาดย่อมเกิดขึ้นมากราย

แต่สุดท้ายของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเพราะการควบคุมขององค์กรระหว่างประเทศ และปริมารแหล่งแร่ในประเทศของทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอไปพร้อม ๆ กับธุรกิจนี้ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปอย่างช้า ๆ

อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นการพัฒนาต่อเนื่องอย่างพิเศษของการเกษตรพื้นฐานคือการปลูกอ้อยนับได้ว่ารากฐานของอุตสาหกรรมนี้พัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติในแง่เทคนิคของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเอง แต่อยู่ในกรอบของผู้มีอำนาจทางการเมืองตลอดมา และกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง ผู้ใหญ่ในแผ่นดิน มาทุกยุคทุกสมัย ปัจจุบันอุตสาหกรรมยังคงลักษณะพิเศษเกาะแน่นลักษณะเก่าเช่นเดิมมาก ๆ

ทั้งสองอุตสาหกรรมอาศัยเทคโนโลยีไม่สูงนัก โดยตัวอุตสาหกรรมเองก็ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากกว่านี้สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงผูกติดกับประโยนช์เฉพาะหน้าคือการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ มากจนเกินไป

แต่สำหรับผู้ประกอบการแล้ว การเข้าไปดำเนินธุรกิจเหมืองแร่และน้ำตาลทำให้พวกเขาสะสมทุนและเรียนรู้อุตสาหกรรมเบื้องต้นในการเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นต่อไป แม้จะพกพาแนวความคิดแบบ "ซื้อมาขายไป" ไปด้วยก็ตาม

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เริ่มต้นจากการค้าเมล็ดพันธุ์ ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประมาณปี 2510 ต่อมาอีกประมาณ 3 ปีก็ร่วมกับเอเบอร์เคเคอร์ ของตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ สหรัฐตั้งบริษัทพัฒนาพันธุ์ปศุสัตว์ จากนั้นค่อย ๆ ขยายธุรกิจแบบแนวตั้ง สู่อุตสาหกรรมครบวงจร และย้อนลงไปถึงการเลี้ยงสัตว์ในต่างจังหวัดด้วย

ธนินทร์ เจียรวนนท์ ผู้นำกลุ่มซีพี. เป็นชาวจีนโพ้นทะเลถึงแม้จะตั้งรกรากในประเทศไทย แต่เขาอาศัยสายสัมพันธ์ "พี่น้องชาวจีน" ในย่านอินโดจีน ขยายธุรกิจเหล่านี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นรากฐานของประเทศเกษตรกรรม ในระยะแรก ๆ การขยายตัวของซีพี. จึงเป็นการโยกย้ายอุตสหากรรมเข้าประเทศเกษตรกรรมอื่น ๆ เช่นจากไทย ไปสู่อินโดนีเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ตามลำดับจากแนวการขยายตัวธุรกิจนี้จึงมีข้อจำกัดเพื่อพัฒนาประเทศก้าวหน้า

ปัญหาของซีพี.ต้องพัฒนาโนว์ฮาวอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีสายธุรกิจยาวมากถึงอุตสาหกรรมอาหาร นั่นคืออนาคตเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินเข้าประเทศจำนวนมาก กลุ่มทีบีไอ.ของสุกรี โพธิรัตนังกูรเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ก็กำลังเผชิญปัญหาอนาคต ในส่วนต้นทุนการผลิต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานมาก (COST OF PRODUCTION) ซึ่งในต่างประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมนี้ก้าวหน้าไปค่อย ๆ ถอยออกจากอุตสาหกรรมเนื่องจากค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรม ในประเทศไทยเติบโตเพราะระดับค่าแรงของคนงานยังอยู่ในระดับต่ำ

ธุรกิจนี้ได้เริ่มเติบโตอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อประมาณสัก 10 ปีมานี้ ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทมากพอสมควร ทั้งขายโนว์ฮาวจนถึงขั้นมาลงทุนด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมนี้ ความสามารถในการประกอบการยังอยู่ที่วัตถุดิบซึ่งราคาผันผวนอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเป็นสินค้าคอมมอดดิตี้ ลักษณะการเก็งกำไรจึงดูมีมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะต้นทุนต่ำก็สามารถแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้ว

ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ อุบัติขึ้นตามนโยบายของสฤษดิ์ คืออุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า

โดยพ่อค้าจีนโพ้นทะเลหันเหธุรกิจเข้าสู่การผลิตสินค้าเอง การขยายตัวของนักลงทุนต่างประเทศ และการสนับสนุนของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งเข้าสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในรูปของการถือหุ้น ที่เด่นชัดคือตระกูลโสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพและตระกูลเตชะไพบูลย์ แห่งธนาคารศรีนคร

ในช่วงเวลานี้ (2503-2513) บทบาทของรัฐบาลลดลงน้อยเมื่อจอมพลสฤษดิ์ จากโลกไป

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทข้ามชาติซีกโลกตะวันตกลงทุนในลักษณะบริษัทในเครือมากกว่าการร่วมลงทุน ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นมาในลักษณะร่วมทุนกับชาวจีนโพ้นทะเลญี่ปุ่นสนใจอุตสหกรรมสิ่งทอ แผ่นกระจกพลาสติก เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ ส่วนกิจการจากซีกโลกตะวันตกเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ ยา และในอุตสาหกรรมน้ำมัน เช่นการกลัน ขนส่งและการขาย

แรงจูงใจการในการลงทุนสำหรับบริษัทต่างชาติซีกโลกตะวันตก ตามสมมติฐานแสวงหากำไรจากการผูกขาดเทคโนโลยี การผลิตสินค้าแบบ DIFFERENTIATED PRODUCT เช่นในอุตสหากรรมน้ำมันเช่นบริษัทเอ็กซอนเคมิคอลประเทศไทย (2510) เชลล์, โมบิลออยล์ไทยแลนด์ (2505) และอุตสาหกรรมสินค้าคอนซูมเมอร์เช่นบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ บริษํทในเครือยูนิลิเวอร์เริ่มตั้งโรงงานผลิตผงซักฟอกปี 2502 สก็อตเปเปอร์ ร่วมทุนตั้งบริษัทกระดาษไทย - สก็อตผลิตกระดาษอนามัย (2511) เฮิร์ซ ผลิตยา (2522) เนสเล่ ผลิตอาหารหรือโคคา-ดคล่าผลิตน้ำอัดลมเป็นต้น

นักการตลาดบางคนเชื่อในทฤษฎีผู้ผลิตน้อยราย (BAND WAGON) กล่าวว่า บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเดียวกันก็เพื่อรักษามาร์เก็ตแชร์ในตลาดโลกเอาไว้ เช่น ฟอร์ด มอเตอร์ (2513) กับเยนเนอรัลมอเตอร์ (2515) หรือเฮิร์ซ (2502) กับไบออร์ (2505)

ส่วนญี่ปุ่นก็มองกันว่าเนื่องจากอุตสาหกรรมบางประเภทได้เข้าสู่เติบโตเต็มที่ จึงหาช่องทางย้ายไปผลิตในประเทศด้อยพัฒนากว่า (เช่นเดียวกับแนวความคิดของซีพี.) เช่นกรณีโทเรเท็กซ์ไทล์ (2505) กับเทยิ่น (2505) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นิสสันมาร่วมทุนกับสยามกลการ (2505) โตโยต้า (2505) เข้ามาลงทุนประกอบรถยนต์ หรืออุตสหกรรมเครื่องไฟฟ้าเนชั่นแนล (2504) ซันโย (2503) โตชิบ้า (2512)

การเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมในประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติ ก่อนวิกฤติการณ์น้ำมันจะเน้นหนักอุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยมและเคมีเกือบทั้งหมด และลดหลั่นมาอุตสาหกรรมรถยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า และสิ่งทอตามลำดับ (AKIRO SUEHIRO)

จากนั้นก็ทำให้เกิด "หน่อ" ผู้ลงทุนผลิตของไทย อาทิ ถาวร พระประภา เริ่มจากธุรกิจค้ารถยนต์เก่าต่อมาได้รับการสนับสนุนจากนิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เริ่มจากการนำเข้ามาจำหน่าย จนถึงปี 2504 จึงตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ง่าย ๆ ขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นการร่วมทุน ซึ่งต่อมาได้ขยายตามแนวตั้ง ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีกหลายบริษัท กลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลาต่อมา

สุกรี โพธิรัตนังกูร เริ่มจากการนำเข้าสิ่งทอผ่านร้านกิมย่งง้วน ที่วังบูรพา จนกล้าหาญรับช่วงเช่าโรงงานทอผ้าของทหาร เพื่อเผชิญปัญหาเทคโนโลยี เขาก็ได้รับความร่วมมือจากชิกิโบ และโนมูระ เทรดดิ้ง ผู้ผลิตของญี่ปุ่น ค่อย ๆ สะสมเทคโนโลยีซึ่งไม่สูงนักกลายเป็นกิจการใหญ่โตมาก ๆ ในเวลาต่อมา

ทั้งสุกรี และถาวร มีลักษณะเป็นนักอุตสาหกรรมที่มีวิญญาณพ่อค้าที่ดี เขาอาศัยเทคโนโลยีของต่างชาติโดยความสัมพันธ์ที่เหมาะสมจนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีพอสมควรแต่สุกรี สามารถพัฒนากิจการต่อเนื่องถึงขั้นมีเทคโนโลยีของตนเอง (แม้ในส่วนผลิตเส้นด้ายยังล้าหลังอยู่มาก) แต่ถาวร พระประภา แห่งกลุ่มสยามกลการยังไม่สามารถทำได้ถึงขั้นนั้น นอกจากปัญหาการบริหารงานและที่สำคัญเนื่องมาจากเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสิ่งทอต่ำกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์

ในที่สุดสยามกลการก็จำเป็นต้องติดกับเทคโนโลยีของนิสสันอย่างแนบแน่นต่อไป

หลังวิกฤติการณ์น้ำมัน ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเข้าสู่ภาคอุตสหกรรม พึ่งพาต่างประเทศน้อยลง ในขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเหล่านั้นซัดกระหน่ำหลายกิจการต้องมีอันซนเซทั้งนโยบาการลงทุนจากต่างประเทศไม่แน่นอน ทางอออกของเจ้าของกิจการผนวกเข้ากับแผนการขยายเข้าสู่ธุรกิจอื่นของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารต่าง ๆ จึงเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมแขนงที่แตกต่างกันไป

จากปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก บวกกับปัญหาการบริหารงาน กลุ่มอุตสาหกรรมจากซีกโลกตะวันตกถอนตัวออกไปจากประเทศไทยหลายราย ในขณะที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาแรงงานในประเทศ มาตรการป้องกันมลภาวะในประเทศเขา รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ลดลง ทำให้การลงทุนได้เปรียบขึ้น แนวโน้มมิใช่เพิ่งเกิด 2-3 ปีนี้เกิดมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว จากจุดนั่นเองการผลิตเพื่อการส่งออกจึงเริ่มมีบทบาทมากเนื่องจากการส่งออกโดยตรงจากญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการกีดกันทางการค้า แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เจอมาตรการนั้น

ถึงแม้จะเป็นกลุ่มลงทุนไม่มากรายสำหรับการเพิ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมของนักลงทุนไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวพวกเขาได้ประสบปัญหาร่วมสมัย ตั้งแต่ปัญหาราก่ฐานการบริหารกิจการ การผลิตอันเกี่ยวกับเทคโนโล่ยีจนกระทั่งปัญหาความร่วมมือของการร่วมทุน กรณีไทยเกรียงอุตสาหกรรม ผู้ผลิตสิ่งทอสรายใหญ่ซึ่งธนาคารต้องเข้าไปโอบอุ้มจนถึงอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์และโรยัลเซรามิค ที่ในที่สุดบริษัทปูนซิเมนต์ไทยต้องเข้าแก้วิกฤติการณ์นั้น

นับเป็นจังหวะเหมาะเจาะที่ปูนซิเมนต์เริ่มตืนจากเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่หลับมานาน

ปูนซิเมนต์ไทยในระยะฝรั่งเป็นผู้จัดการ เป็นกิจการอุตสาหกรรมลักษณะ "ผลิตเท่าใดก็ขายเท่านั้น" จากสมมติฐานว่าผู้บริหารเป็นวิศวกรไม่เข้าใจภาพอุตสาหกรรมทั้งหมด พอบุญมา วงศ์สวรรค์คนไทยคนแรกเป็นผู้จัดการใหญ่ เริ่มพยายามพัฒนาการบริหารอุตสาหกรรม โดยพยายามพัฒนาการบริหารอุตสาหกรรม โดยพยายามนำเทคโนโลยีการบริหารจากตะวัตกมาประยุตก์ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก ตอนนั้นมีการรับคนไทยจากบริษัทน้ำมันต่างชาติในประเทศไทยหลายคนเข้ามาทำงาน

จนถึงยุคของสมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งได้นำสไตล์การบริหารของญี่ปุ่นเข้ามาประสมประสาน การพัฒนาของปูนซิเมนต์ไทยก็เริ่มขึ้นอย่างแจ่มชัด เป็นการพัฒนาทั้งด้านบุคคลาและการขยายตัวทางด้านธุรกิจอย่างแท้จริง

ว่าไปแล้วเครือซิเมนต์ไทยตื่นจากยักษ์หลับประมาณปี 2515 หรือประมาณ 15 ปีมานี้เอง

จากนั้นปูนซิเมนต์ไทยซึ่งมีพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมแตกต่างเกือบ่จะสิ้นเชิงจากธูรกิจของพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลก็ขยายอาณาจักรใหญ่โตขึ้น ความแตกต่างอยู่ความเป็นเจ้าของที่เป็นลักษณะสถาบันมิใช่ครอบครัว ทั้งฝรั่งได้วางรากฐานแนวคิดอุตสาหกรรมไว้อย่างมั่นคง

ในช่วงแรกของวิกฤติการณ์น้ำมันปูนซิเมนต์ไทยจึงเข้ามาแบกรับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

จากอุตสาหกรรมการผลิต ที่พยายามพัฒนาการเทคนิคการผลิต สู่การพัฒนาด้านการตลาดและพัฒนาบุคลาการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้รวมถึงการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ขั้นต่อไปของปูนซิเมนต์ไทยคือการพัฒนางานด้านพัฒนาและวิจัย (R&D) ซึ่งขณะนั้นเริ่มมองเห็นความจำเป็นแล้ว

ปูนซิเมนต์ไทยได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปแล้ว

เถ้าแก่เก่า เถ้าแก่ใหม่ และมืออาชีพ

ธุรกิจในปัจจุบัน นอกจากบริษัทต่างชาติในประเทศไทยและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ที่เหลือเกือบทั้งหมดคงความเป็นเจ้าของยังอยู่ในระบบครอบครัว

และส่วนผู้ก่อตั้ง-ผู้บริหารกิจการ (เถ้าแก่) จนยืนยังคงกระพันยังมีชีวิตอยู่ และยังครอบครองอำนาจการตัดสินใจในขั้นสำคัญเอาไว้ และก็ส่วนใหญ่ก็คือการพัฒนาต่อเนื่องธุรกิจการค้าเป็นสำคัญ ลักษณะแยกไม่ออกระหว่างความเป็นเจ้าของกับผู้บริหารยังดำรงอยู่อย่างหนาแน่น

ในเวลาเดียวกันรุ่นลูกผู้ผ่านการศึกษา หรือมืออาชีพรุ่นใหม่ก็เริ่มเข้ามาดำเนินในด้านปฏิบัติการ

ปัญหาการบริหารงานปัจจุบันของธุรกิจไทยก็ปัญหาของการผสมผสานระหว่างเถ้าแก่เก่า เถ้าแก่ใหม่และมืออาชีพ ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางธุรกิจดั้งเดิมค่อย ๆ ถูกทำสายไป ความสัมพันธ์ส่วนตัว (PERSONAL RELATIONSHIP) อันร้อยรัดธุรกิจเก่าแก่มีอันเป็นไป ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เอกสารมากขึ้น ในการบริหาร จึงเกิดปรากฏการณ์ "เบี้ยวสัญญา" / "เจ๊งแล้วหนี" เกิดขึ้นทั่วไปมากกว่ายุคก่อน พร้อม ๆ กับบทเรียนความสำเร็จอันภาคภูมิของเถ้าแก่เก่านับวันจะใช้ไม่ได้กับการบริหารธุรกิจในเงื่อนไขปัจจุบัน

ตัวอย่างชัดเจน เช่น บริษัทกระจกไทย อาซาฮี, สหยูเนียน, สหพัฒนพิบูล หรือซีพี. เป็นต้น

เถ้าแก่เก่ามีลักษณะที่แตกต่างจากเถ้าแก่รุ่นใหม่หลายประการอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์อันพัฒนาของธุรกิจในประเทศไทยคือ หนึ่ง-เถ้าแก่เก่า ทำงานหนัก ทุ่มเทตลอดชีวิตเพื่องาน สอง-มองหาช่องทางจะได้ผลประโยชน์ (EQUITY) หรือพร้อมจะเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา สาม-เถ้าแก่เก่าเน้นผลดำเนินงาน (RESULT ORIENTED) ในระยะเฉพาะหน้า ว่าได้หรือเสีย ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ เถ้าแก่จึงปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นในการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารซึ่งพวกเขาแสวงหาอยู่ตลอดเวลา

อีกประการหนึ่งเถ้าแก่มีลักษณะเชื่อประสบการณ์ในอดีต โดยเฉพาะความสำเร็จการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ของเขาจะมีปัญหาเนื่องจากลักษณะเช่นนี้

ส่วนเถ้าแก่ใหม่ ผู้ผ่านการศึกษาด้านบริหารธุรกิจใหม่ มีลักษณะคล้าย ๆ กับมืออาชีพ ซึ่งมองทุกอย่างเป็นระบบ มองพาหะซึ่งตรงกันข้ามกับเถ้าแก่เก่าซึ่งมองผลเป็นสำคัญ อีกประการหนึ่งเนื่องด้วยธุรกิจเปลี่ยนสภาพการบริหารคนเดียวชี้ขาดมาเป็นหลายคนหรือทีมมากขึ้น เช่นเดียวกับมืออาชีพ พวกเขาจะต้องหาเหตุผลเสมอในการตัดสินใจ เนื่องด้วยจะต้องอรรถาธิบายให้คนอื่นหรือคณะกรรมการตัดสินใจ เพราะพวกเขายังอยู่ในขั้นงานปฏิบัติการมิใช่ระดับตัดสินใจก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

ดังนั้นการบริหารและแนวความคิดของเถ้าแก่เก่ายังครอบงำอยู่อย่างหนาแน่น

ความคิดแบบพ่อค้า ซึ่งเน้นการตลาดมุ่งแสวงหากำไร หรือมาร์เก็ตแชร์ เข้าธุรกิจซึ่งมีผลตอบแทนเร็ว ไม่สนใจกระบวนการผลิต สนใจเทคโนโลยีน้อยเนื่องด้วยการลงุทนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ต้องใช้เงินจำนวนมาก และเวลายาวนานอันเป็นอุปสรรคสำคัญการพัฒนาเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมของประเทศไทย จึงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร กว่าจะพัฒนาจากการผลิตสินค้าพื้นฐานหรือรับข้างผลิตเพียงชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่นเซมิคอนดักเตอร์ จากประเทศที่กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมตามคำสั่งของบริษัทข้ามชาติพัฒนามูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรอย่างมหาศาลได้

ปัญหาการตลาดเพื่อส่งออกสินค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง เพื่อจะรองรับหรือเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

"มืออาชีพ" ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการเข้าสู่การบริหารธุรกิ่จสมัยใหม่กว่านี้ สิ่งแรกสำคัญมากก็คือพวกเขาจะต้องสร้าง "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" ให้กับ "เถ้าแก่เก่า" ให้ได้เสียก่อน ความสามารถจึงจะได้แสดงในเวทีที่กว้างขวาง

คน 2 วัฒนธรรม กล่าวกันว่าไม่มีทางจะประสานกลมกลืนกันได้ ต้องปล่อยให้ผ่านหรือแยกตัวจากกันด้วยประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยเพิ่มผ่านไม่นานนัก สังคมการค้าหรือธุรกิจครอบครัวเพิ่มผ่านมาแค่ประมารศตวรรษเดียวเท่านั้นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.