|
พีแอนด์จีพลิกทั่วโลกเน้นง่ายปรับโมเดลขยายลูกค้าโชวห่วย
ASTVผู้จัดการรายวัน(16 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัทแม่สั่งพีแอนด์จีทั่วโลก ปรับหลักการทำงาน ชูความง่ายและคล่องตัว รับมือสถานการณ์โลกผกผัน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ตลาดอุปโภคบริโภคแข่งเดือด ชี้มรสุมเศรษฐกิจ 5 เดือน กระทบผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย อัดความถี่การวิจัยหวังเข้าถึงพฤติกรรมซับซ้อน เดินเกมไซซ์ซิ่งทะลวงโชวห่วย ปีงบประมาณ 51 โต 5 -8%
นายเมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการสื่อสารทางการตลาดและองค์กร บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยว่า บริษัทแม่วางนโยบายพีแอนด์จีทั่วโลกใหม่ โดยให้ปรับหลักการทำงานเรียกว่า ซิมพลิฟิเคชั่น (Simplification) หรือเป็นการทำงานแบบองค์รวมที่มีความง่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว นับว่าเป็นการปรับปรุงหลักการทำงานครั้งใหญ่ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับสถานการณ์ของโลก และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันยังรองรับการแข่งขันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนับว่ามีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งคู่แข่งยังมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเท่าทันเหตุการณ์ เมื่อเทียบกับพีแอนด์จี การดำเนินงานยังมีความซับซ้อนทำให้เกิดความล่าช้า อย่างเช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 ชิ้น ต้องใช้เวลาประมาณกว่า 1 – 2 ปี
พร้อมกันนี้บริษัทวางแผนปรับปรุงและปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในร้านโชวห่วย โดยบริษัทได้ลดขนาดสินค้าลงและขายในราคาที่เป็นที่ยอมรับ เช่น แชมพูขนาด 120 กรัม ราคา 20 บาท หรือการจำหน่ายสินค้าแบบซองที่มีราคาถูก ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของบริษัทผ่านร้านโชวห่วยเพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 30% เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสินค้าพีแอนด์จีอยู่ระดับพรีเมียม ทำให้ต้องใช้เวลาในการขยายช่องทางดังกล่าว
**พิษเศรษฐกิจพ่นพฤติกรรมคนไทย**
นายเมธี กล่าวต่อว่า ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเป็นครอบครัวใหญ่ ซื้อสินค้าในขนาดใหญ่เพราะเมื่อเทียบปริมาณกับเม็ดเงิน มีความคุ้มค่ามากกว่าการซื้อขนาดเล็ก ส่วนผู้บริโภคระดับล่าง หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลออกไปนิยมซื้อสินค้าขนาดเล็ก และในบางครั้งมีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย และยังจัดลำดับความสำคัญในการซื้อสินค้า โดยจะซื้อสินค้าที่จำเป็นก่อน หากมีเงินเหลือก็จะจับจ่ายสินค้าที่มีความสำคัญรองลงมา
ดังนั้นบริษัทจึงปรับกลยุทธ์ทางการวิจัยตลาด ด้วยการเพิ่มความถี่จาก 7-8 เดือนต่อครั้ง มาเป็น 4 เดือนต่อครั้ง ขณะที่การวิจัยเพิ่มความละเอียดมากขึ้น อาทิ การสัมภาษณ์ผู้บริโภคตัวต่อตัว การไปเยี่ยมลูกค้าถึงบ้าน หรือแม้กระทั่งการเดินชอปปิ้งเป็นเพื่อน การสัมภาษณ์เป็นรายกลุ่ม เป็นต้น เพื่อเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง และนำผลการวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงความต้องการมากที่สุด
ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้สถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแข่งขันอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ราคา เพื่อกระตุ้นยอดขาย บริษัทมองว่าเป็นการเร่งให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เร็วมากขึ้น และไม่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบ เพราะผู้บริโภคจะรอซื้อเฉพาะช่วงเวลาที่ลดราคาเท่านั้น สำหรับบริษัทมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ราคาเหมาะสม
นายเมธี กล่าวถึงพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หลังจากบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริษัทคงไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด จากปัจจุบันพีแอนด์จีมีแผนกดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น ข้อความในการโฆษณาที่กำลังแพร่ภาพอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา อาทิ ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้สามารถช่วยให้ผิวดีขึ้นได้ แต่ไม่เทียบเท่ากับการใช้เลเซอร์ หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้บำรุงผิวหน้าได้ 8 ชั้น จากผิวหนังทั้งหมด 20 ชั้น เป็นต้น
สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรก พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสกินแคร์เติบโต 5 -7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ให้ความชุ่มชื้นกันผิว ส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมการเติบโตคงที่ โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์ และเส้นผม มีสัดส่วน 75% ส่งผลให้ผลประกอบของบริษัทในปี 2551 (ปีงบประมาณ 2551 ของพีแอนด์จี เริ่มก.ค. 2551 – มิ.ย. 2552) ซึ่งจะปิดในเดือนมิ.ย.นี้ มีอัตราการเติบโต 5 -8% เป็นไปตามเป้าหมาย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|