ธปท.ฟุ้งค้ำปล่อยกู้SMEใกล้ถึงเป้า


ASTVผู้จัดการรายวัน(16 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.ฟุ้งผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีขอสินเชื่อโครงการค้ำประกันของบสย.ใกล้เต็มจำนวน 30,000 ล้านบาท อ้างเหตุขอสินเชื่อล่าช้า ลักษณะกู้แบบใหม่ ทำให้จะต้องมีขั้นตอนพิจารณาอย่างละเอียด ระบุวันที่ 19 มิ.ย.นี้จัดเสวนาให้ความรู้และระดมความคิดกลุ่มเอสเอ็มอี หวังเป็นแนวทางพิจารณาโครงการและนโยบายดูแลภาคสถาบันการเงินให้แก่ธปท. ด้านแบงก์ทหารไทยชี้สินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลังเริ่มสดใส พร้อมคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 3

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้นว่า ขณะนี้หลายธนาคารพาณิชย์ในระบบได้มีการแจ้งรายละเอียดจำนวนลูกหนี้และยอดวงเงินขอสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งใกล้เต็มวงเงิน 30,000 ล้านบาท และหลังจากนี้จะเป็นการพิจารณาคุณสมบัติ เพื่ออนุมัติสินเชื่อเป็นขั้นตอนต่อไป

"แม้โครงการนี้ต้องการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านฐานะหรือลูกหนี้ที่มีศักยภาพ แต่เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก เพราะแบงก์กังวลความเสี่ยง จึงมีการระมัดระวังปล่อยกู้ยากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาขั้นตอนต่างๆ ในการขอวงเงินสินเชื่ออาจจะล่าช้างบ้าง เพราะเป็นลักษณะปล่อยกู้แบบใหม่ จึงอาจมีขั้นตอนในการพิจารณาเพิ่มขึ้น อาทิ การรวบรวมข้อมูลที่ต้องแจกแจงรายละเอียด ซึ่งด้านเอสเอ็มอีที่มีฐานะดีอาจไม่อยากเข้าร่วม รวมทั้งเงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการนี้จะต้องจ่ายค่าค้ำประกันด้วย”

ทั้งนี้ แม้ธนาคารพาณิชย์จะรวบรวมลูกหนี้ที่ต้องการวงเงินสินเชื่อใกล้เต็มวงเงิน 30,000 ล้านบาทแล้ว แต่โครงการนี้ยังไม่ปิดหรือขอกระทรวงการคลังขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เพราะธปท.จะรอให้ธนาคารพาณิชย์เสนอรายชื่อลูกหนี้ให้เต็ม รวมถึงประเมินว่าสุดท้ายแล้วสินเชื่อที่ลูกหนี้ได้รับจากธนาคารพาณิชย์จะได้รับปริมาณเงินมีแค่ไหน อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าในช่วงต่อไปการปล่อยสินเชื่อจะรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับเงื่อนไขลูกหนี้ที่มาขอสินเชื่อตามโครงการนี้แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือลูกหนี้ที่ต้องการสินเชื่อใหม่ สินเชื่อที่ขอเพื่อขยายงาน และสินเชื่อที่เป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยวงเงินค้ำประกันในแต่ละรายให้สินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งบสย.จะใช้เวลาพิจารณาหลักเกณฑ์ค้ำประกันให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ ตามคุณสมบัติของลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ส่งมาให้กับบสย.

นอกจากนี้ ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ธปท.เตรียมจัดเสวนาหัวข้อ “เอสเอ็มอีจะได้อะไรจากโครงการประกันสินเชื่อ” ในช่วงเวลา 8.30 น. ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. โดยภายในงานเสวนานี้จะมีทั้งแนวทางและเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ การรับฟังอุปสรรคหรือปัญหาการขอสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์สินเชื่อในปัจจุบันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในโครงการ รวมถึงเป็นแนวทางให้ธปท.กำหนดนโยบายการดูแลสถาบันการเงินในอนาคตได้ จึงจะเชิญตัวแทนสมาคมเอสเอ็มอี พร้อมด้วยผู้ประกอบการที่สนใจเข้าฟังการเสวนาดังกล่าวนี้

ด้านนายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอี ทั้งระบบน่าจะเริ่มมีเติบโตได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆ มีการทำธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นธนาคารต่างๆ ก็มีความมั่นใจว่าเมื่อปล่อยสินเชื่อไปแล้วจะไม่ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อน้อยลง โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีให้อยู่ที่ 122,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 3-4% จากสิ้นปี 2551 พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 118,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สินเชื่อพอร์ตเอสเอ็มอีได้ลดลงมาอยู่ที่ 103,000 ล้านบาท แต่จากแนวโน้มที่เริ่้มดีขึ้นประกอบกับการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองลูกค้าได้อย่างเหมาะสมทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายแน่นอน

“ช่่วง 3-4 เดือนแรกการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีค่อนข้างจะนิ่งมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี อีกทั้งแบงก์ต่าง ๆ ก็ได้เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้วยเพราะความเสี่ยงก็มีสูง แต่ตัวเลขในเดือน พ.ค. เริ่มมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อกระจายทุกอุตสาหกรรม และโดยในส่วนของแบงก์ทหารไทยเองมียอดการอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีมากกว่า 60% ซึ่งเป็นระดับเดียวที่ธนาคารอยากเห็นอยู่แล้ว” นายสยาม กล่าว

ส่วนเอ็นพีแอลที่เกิดใหม่ของธนาคารในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยในสิ้นปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4-5% ทั้งนี้เชื่อว่าเอ็นพีแอลจะลดลงได้ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อมีอัตราการเติบโตขึ้น ส่งผลให้เอ็นพแอลลดลงโดยอัตโนมัติ ประกอบกับการเข้าไปช่วยลูกค้าแก้ไขปัญหาซึ่งก็จะทำให้หนี้เสียดังกล่าวกลับมาเป็นหนี้ปกติ

ขณะเดียวกันธนาคารมองว่าตลาดเอสเอ็มอียังมีช่องว่างที่สามารถเข้าไปแข่งขันได้อีกมาก โดยใน 3 ปีข้างหน้า ธนาคารตั้งเป้าหมายมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์)อยู่ที่ 14% หรือเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ จากปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 7% หรือเป็นอันดับ 6 ซึ่งธนาคารทหาไทยเองจะแข่งขันด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สนองตอบลูกค้าจริงๆ ส่วนเรื่องการแข่งขันด้วยราคานั้นมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ธนาคาได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอี 30-40% และในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้ ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์สำหรับเอสเอ็มอีอีก 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้วงเงินในการซื้อของเพื่อผลิตแล้วนำไปส่งออกต่างประเทศ โดยจะเป็นการให้วงเงินสูงสุดถึง 5-6 เท่า ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งการออกผลิตภัณฑ์ดักล่าวเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อของผู้ส่งออกเข้ามา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.