เปิดตึกใหม่เจ้าแห่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ ไอบีเอ็ม


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปี 2495 บริษัท ไอบีเอ็มแห่งอเมริกาเข้ามาก่อตั้งบริษัทสาขาในประเทศไทย ภายหลังจากที่เริ่มดำเนินการเปิดขยายสาขาไปเกือบทั่วภูมิภาคของโลกแล้ว

บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด เริ่มดำเนินการเช่าสำนักงานของตัวเองเป็นนึกที่ทำการแห่งแรกในปีนั้น เป็นตึก 2 ชั้นบนถนนดินสอใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งคนในรุ่นเก่า ๆ เล่าให้ฟังว่าเริ่มกันด้วยพนักงานเพียง 3 คน

นั่นเป็นสำนักงานแห่งแรกเมื่อ 34 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลา 34 ปีที่บริษัท ไอบีเอ็มประเทศไทย ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพนักงานเพียง 3 คนก็เพิ่มเป็น 300 กว่าคนจากยอดขายเพียงไม่กี่แสนบาทต่อปี ก็เพิ่มยอดขายเป็นพันกว่าล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน

การเติบโตอย่างยั้งไม่หยุดทำให้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำเป็นต้องย้ายที่ทำการของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นการย้ายครั้งที่ 4 เพื่อไปอยู่ตึกที่ทำการใหม่ซึ่งจะเป็นสำนักงานแห่งที่ 5

ตึก ไอบีเอ็ม แห่งใหม่ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน เป็นตึก 15 ชั้น อยู่ตรงข้ามกับวอยราชครูติดกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในปัจจุบัน

"เราเริ่มทำการสรรหาสถานที่ สำหรับตึกใหม่ ตั้งแต่ปี 2527 เพราะสัญญาการเช่าของเรากับ F.E. ZUELIG จะสิ้นสุดในปีนี้ ในปี 2528 มีบริษัทต่าง ๆ เสนอสถานที่ให้เราคัดเลือกหลายแห่งเช่นที่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพญาไท หัวมุมของสี่แยกปทุมวันถนนสาธร และบางกะปิ หลังจากที่ผู้บริหารระดับสูงได้พิจารณาสถานที่ทั้งหมดแล้ว จึงได้เลือกไว้ 3 จุด คือบริเวณหัวมุมของสี่แยกปทุมวัน ถนนพหลโยธินและรัชดาภิเษก แล้วให้บริษัท TISCO ทำการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของสถานที่ทั้ง 3 แห่งนั้นผลก็คือ สถานที่ที่พหลโยธินเหมาะสมที่สุด" ณรงค์ ตันสถิตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรงของไอบีเอ็ม. กล่าวไว้ในนิตยสารไอบีเอ็มสาส์นสัมพันธ ซึ่งเป็นนิตยสารภายในของพนักงานไอบีเอ็มประเทศไทย

เจ้าของตึกแห่งใหม่ก็คือบริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของชุมพล พรประภา ซึ่งบริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ได้จัดตั้งบริษัท เอส.พ.บิลดิ้ง ขึ้นมารับผิดชอบดูแลควบคุมตึกแห่งนี้ร่วมกับบริษัท ไอบีเอ็ม โดยเฉพาะ

"เราจำเป็นต้องเข้าไปร่วมในการวางแปลนด้วยเนื่องจากเราต้องการให้ได้มาตรฐานเพื่อให้เข้ากับระบบที่ ไอบีเอ้ฒ จำเป็นต้องใช้" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไอบีเอ็ม ประเทศไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ บริษัทที่ต้องการโชว์ไฮเทคทางด้านคอมพิวเตอร์อย่างไอบีเอ็มซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของโลก

การเข้าไปเปิดตึกไอบีเอ้มจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจของหลายคนเพื่อให้กระจ่างว่า ภายในนั้นจะมีความมหัศจรรย์ขนาดไหน

การก่อสร้างตึกใหม่เริ่มกระทำกันมาตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ของปี 2528 มาเสร็จเอาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เหลือเพียงการตกแต่งภายในที่กระทำกันมาจนถึงเดือนกรกฎาคม

บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เริ่มย้ายพนักงานเข้าประจำที่ทำงานแห่งใหม่ทีละส่วนตั้งแต่เมื่อว้นที่ 4 กรกฎาคม และเสร็จสิ้นเอาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม

ภายหลังการย้ายเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 สัปดาห์ นิตยสาร "ผู้จัดการ" ได้รับเกียรติเข้าเยี่ยมชมตึก 15 ชั้นที่หลาย ๆคนกำลังสนใจกันอยู่นี้

"ความจริงแล้ว ตามโปรแกรมของเรา เราจะทำการเปิดตึกใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งนี่ก็เรียกว่าเป็นนิตยสารฉบับแรกทีเดียวที่ได้เยี่ยมชมตึกใหม่ของเรา" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

กลิ่นความใหม่ของตึกจึงยังไม่จางหายไป ในขณะที่ "ผู้จัดการ" เข้าเยี่ยมชมตึกแห่งนี้อดที่จะทำให้โจรระทึกไม่ได้

ในจำนวน 15 ชั้นของตึกแห่งนี้ จากการเยี่ยมชม ทำให้ทราบว่า จริง ๆ แล้ว ไอบีเอ็มเช่าไว้เพียง 8 ชั้นกับอีก 1 ชั้นลอยเท่านั้นเอง ไอบีเอ็มไม่ได้เช่าไว้ทั้ง 15 ชั้นอย่างที่เข้าใจกัน

"ตึกใหม่แห่งนี้จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งหมดอย่างแผนกช่างของเราเมื่อตอนอยู่ตึกที่สีลม ฝ่ายช่างต้องไปอยู่ตึกที่เราเช่าอีกตึกหนึ่ง ตึกเดิมของเราไม่สามารถรวมทุกฝ่ายไว้ด้วยกันได้" สุธาสินี เกรียงศักดิ์พิชิตประชาสัมพันธ์คนเก่งของ ไอบีเอ็มกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในขณะที่กำลังนำเยี่ยมชม

เราเริ่มกันตั้งแต่ชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นของแผนกต้อนรับ

"พนักงานของเราเกือบทุกคนจำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น การสื่อสารภายในของเราใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยหมด ระบบที่ใช้ก็ยังเป็นระบบ SERIES ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่" สุธาสินี เกรียงศักดิ์พิชิต กล่าวอีกตอนหนึ่ง

เดินผ่านโอปะเรเตอร์ 2 คน ซึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่ และก็สังเหตเห็นว่า แม้แต่บนโต๊ะของโอปะเรเตอร์ก็ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้

"โอปะเรเตอร์ก็ต้องใช้เครื่องให้เป็น เพราะการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์จะทำให้สะดวกอย่างเช่น เมื่อมีใครโทรศัพท์เข้ามาถึงพนักงานคนใดคนหนึ่งของเรา หากว่าเขาไม่อยู่เขาก็จะฝากโน้ตไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อโอปะเรเตอร์รับสายแล้วต่อขึ้นไป หากไม่มีคนรับสายโอปะเรเตอร์ก็จะกดเครื่อง ก็จะทราบว่าเขาไปไหน จะเข้ามาเมื่อไหร่"" สุธาสินี เกรียงศักดิ์พิชิต อธิบายต่อ

สังเกตเห็นว่าก่อนเข้าไปในออฟฟิศแต่ละชั้น ได้ผู้นำชมออฟฟิศต้องเสียบบัตรของตัวเองเข้าไปที่ประตูทุกครั้งที่เข้าไปประตูจึงจะเปิดออกได้ ซึ่งสุธาสินี เกรียงศักดิ์พิชิต ได้อธิบายต่อว่าบัตรนี้ทำไว้เฉพาะพนักงานของไอบีเอ็มเท่านั้น บุคคลภายนอกจะเข้าไปไม่ได้ ถ้าไม่มีบัตรนี้

บนชั้นที่ 1 นอกจากจะเป็นชั้นของแผนกต้อนรับแล้ว ยังมีศูนย์ซ่อมและบริการอะไหล่ แผนกจัดส่งและออกของห้องแสดงสินค้า (ซึ่งอยู่ด้านหน้า) และศูนย์รับสมัครบุคลากร

ส่วนชั้นลอย ซึ่งถูกเรียกว่าชั้น M นั้น เป็นชั้นของแผนกบริการทางด้านการเงิน แผนกแคชเชียร์ แผนกธุรการ และแผนกรักษาความปลอดภัย ขึ้นไปบนชั้น 2 ก่อนเข้าไปก็มีประตูกระจกกั้นอยู่ อย่างเช่นชั้นที่ 1 ที่ผ่านมาพนักงานนำชมเอาบัตรเสียบเข้าไปในประตูแล้วเปิดประตูออกพลางอธิบายว่า ชั้นนี้เป็นของฝ่ายแผนกช่าง ซึ่งเมื่อตอนที่อยู่ที่ตึกที่สีลม ฝ่ายช่างต้องแยกไปอยู่อีกตึกหนึ่ง ไม่ได้อยู่รวมกัน ดังที่กล่าวตอนต้น ชั้นนี้นอกจากจะเป็นแผนกช่างแล้ว ยังมีแผนกค้นคว้าทางด้านภาษาไทย (NLR) อยู่ด้วย

ชั้นที่ 3 ชั้นนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นชั้นที่ถูกจัดให้เป็นชั้นของการศึกษา และห้องประชุมสัมมนา โดยเฉพาะ ห้องทั้งหมดมี 5 ห้อง เป็น EXECUTIVE ROOM 1 ห้อง สำหรับฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือสัมมนาอะไรก็จะใช้ห้องนี้ส่วนอีก 4 ห้องเป็น CLASS ROOM ไว้เป็นที่ประชุมและให้การศึกษาแก่ลูกค้าและพนักงานในบริษัทโดยเฉพาะ ทุกห้องจะมีจอภาพขนาดใหญ่เอาไว้ โดยจอภาพเหล่านี้จะคอยรับสัญญาณภาพจาก จอคอมพิวเตอร์ขนาดธรรมดาที่ถูกยิงเข้ามา เพื่อให้คนที่เข้ามาทำการศึกษาเห็นได้ชัดโดยที่ไม่ต้องเดินเข้ามารุมล้อมดูที่หน้าจอเครื่องเหมือนทั่ว ๆ ไป

"นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่แตกต่างจากตึกที่สีลมของเรา ที่นั่นคับแคบทำให้เราไม่สามารถที่จะทำการสาธิต หรือให้การศึกษาแก่ลูกค้าภายในตึกของเราเองได้ลูกค้าเข้ามาเรียนแต่ละครั้งก็ต้องไปเช่าโรงแรม ซึ่งต้องลากหรือนำคู่สายไป มันยากลำบาก พอมาอยู่ที่ตึกนี้ ลูกค้าเข้ามาในตึกก็เรียนก็ได้เลย ทำให้ทั้งลูกค้าและเราต่างก็สะดวกขึ้น" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไอบีเอ็ม กล่าวบ้าง

ขึ้นไปบนชั้นที่ 4 ชั้นนี้ค่อนข้างที่จะพิเศษหน่อย พนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องถูกห้ามเข้าโดยเด็ดขาด พนักงานของไอบีเอ็มบอกกับเราว่า ชั้นนี้เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ พนักงานที่ทำงานในแผนกนี้จะมีบัตรพิเศษอีกแบบหนึ่งในการเปิดประตูเข้าออก

สภาพของศูนย์คอมพิวเตอร์บนตึกไอบีเอ็ม เท่าที่มองเห็นจากภายนอก พื้นถูกยกขึ้นสูงเป็นพิเศษไม่เห็นสายไฟหรือสายเคเบิลเลยในศูนย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก สำหรับศูนย์ที่ใหญ่เช่นนี้

"คือสายเคเบิลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ใต้พื้นหมด ทั้งตึกเลยนะฮะ ซึ่งอันนี้จะแตกต่างกับตึกที่สีลม ถ้าคุณสังเกตคุณจะไม่เห็นสายเคเบิลเลยแม้แต่เส้นเดียวเพราะมันอยู่ใต้พื้นหมด ยิ่งโดยเฉพาะชั้นนี้ที่เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ สายก็ต้องมีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการออกแบบ็ต้องออกแบบให้พื้นสามารถรับน้ำหนักเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่หลาย ๆ เครื่องได้พื้นบนชั้นนี้ก็เลยต้องหนา และคุณจะเห็นมันเหมือนกับถูกยกขึ้นมา" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ช่วยไขข้อข้องใจ

จากชั้นที่ 4 ก็ขึ้นไปชั้นที่ 12 เนื่องจากชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 11 ไอบีเอ็ม ไม่ได้เช่าเอาไว้

ชั้นที่ 12 เป็นแผนกห้องสมุดและฝ่ายระบบธุรกิจ ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือคอมพิวเตอร์มากมายเก็บไว้ให้พนักงานได้ศึกษาและค้นคว้า

ชั้นที่ 13 และ 14 เป็นฝ่ายการตลาดทั้งหมด

"ที่นี่จะแตกต่างจากที่เก่าอีกประการหนึ่งคือ นอกจากเราสามารถออกแบบตึก ทำให้สามารถเก็บสายเคเบิลไว้ใต้พื้นหมดแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังทำให้เราสามารถใช้สายเคเบิลที่เป็นของไอบีเอ็มทั้งหมดได้ แม้แต่สายโทรศัพท์และโทรศัพท์เราก็ใช้ของ ROLM ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของไอบีเอ็มเช่นกัน สายโทรศัพท์เหล่านี้จะถูกตอ่เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานของพนักงานแต่ละคนเก็บข้อมูลจากโทรศัพท์ได้ตามที่ต้องการ" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ อธิบายกับ "ผู้จัดการ" ต่อ

ชั้นที่ 15 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดเป็นฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล ฝ่ายประชาสัมพันธ์และผู้จัดการใหญ่

เมื่อเข้าไปจากประตูดิ่งไปจนสุดทาง จะมีซอยแยกเลี้ยวเข้าไปทางด้านซ้าย เมื่อเดินเข้าไป จะเห็นห้องของสมภพอมาตยกุล ผู้จัดการใหญ่ของไอบีเอ็ม อยู่ด้านขวามือ

"ห้องของผู้จัดการระดับบริหารทุกคน จะอยู่ติดกับหน้าต่างกระจกซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพฯได้"

ด้านนอกเป็นโต๊ะของพนักงานถูกวางเป็นล็อก ๆ รวม ๆ กันคล้าย ๆ กับห้อง ๆ หนึ่ง บนโต๊ะทุกโต๊ะมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ทุกโต๊ะ ประชาสัมพันธ์ของไอบีเอ็ม อธิบายให้ฟังว่าด้วยระบบออฟฟิศ ออโตเมชั่นเช่นนี้ ทำให้พวกเขาสะดวกมากจะส่งโน๊ตถึงใคร ก็ไม่จำเป็นต้องเดินขึ้นลงตึกไปส่ง เพียงแต่กดเครื่องคอมพิวเตอร์ มันก็จะปรากฏขึ้นบนจอภาพของคนที่เราจะส่งโน้ตไปถึง

มันอาจจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะมหัศจรรย์สำหรับคนทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับคนของไอบีเอ็มแล้วพวกเขาบอกว่า มันก็เหมือนดั่งตึกเก่าที่สีลม จะมีแตกต่างกันบ้างก็อย่างที่ว่าไปแล้ว

และไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่อย่างไร ไม่ว่าบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทยจะเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหนในปัจจุบัน ข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ไอบีเอ็มไม่เคยมีตึกเป็นของตัวเองเลย

"อาจจะเป็นนโยบายของบริษัทแม่…" สมคิด พิชัยศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์พยายามอธิบายกับ "ผู้จัดการ"

ก็แปลความหมายกันเอาเองก็แล้วกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.