|
“พานาโซนิค”งัดแผนสู้เร่งกู้ยอดคืน ชูไทยฐานผลิต-ออร์เดอร์ตปท.ไหลเข้า
ASTVผู้จัดการรายวัน(11 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
“พานาโซนิค” มองบวก ลั่นปีนี้กอบกู้ยอดขายคืน หวังโต 10% หลังวูบเป้าไป 20% ปีที่แล้ว ยอมรับตลาดไทยหินมาก เปิดแผนบุกมุ่งเน้นยอดขายและกำไรมากกว่าแชร์ พร้อมรับนโยบายบริษัทแม่ วางรากฐานไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ เผยออร์เดอร์ต่างประเทศเริ่มไหลเข้าแล้ว
นายฮิโรทากะ มุราคามิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พานาโซนิค ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยเป็นตลาดที่ยากมาก การแข่งขันเรื่องราคาค่อนข้างรุนแรง และเป็นตลาดที่ให้ส่วนลดสินค้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เคยบริหารมา ส่งผลต่อมาร์จิ้นของผู้ประกอบการลดลงด้วย ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทฯโดยรวม ในส่วนของการขายในรอบปีบัญชีที่แล้ว (เม.ย. 2551 – มี.ค. 2552 ) ตกลง 20% หรือมีรายได้ประมาณ 17,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ามีอัตราการเติบโตไว้ 10% ซึ่งจะมาทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศรวมกัน มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การเมืองไทยเริ่มมีความมั่นคงมากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯก็มีแผนที่จะให้ผลตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการขายให้กับพนักงาน ซึ่ง 3 เดือนแรกนี้บริษัทฯเติบโต 5% ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโต 15% และคาดว่าทั้งปีจะโต 10% ตามเป้าหมายได้ โดยในปีนี้บริษัทฯมุ่งเน้นยอดขายและผลกำไรมากกว่า ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดสินค้านั้นก็มีการเพิ่มขึ้นบางกลุ่ม
“ปีที่แล้วเราต้องปรับตัว โดยลดต้นทุนการผลิตในโรงงาน เพราะเราขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ส่วนระดับโลกก็ปรับตัวด้วยการมองหาสถานที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการผลิตมากขึ้น และวางเป้าหมายระดับโลกโดยให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ คือ ผลิตภัณฑ์จะต้องประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2555 จะต้องส่งสินค้าประหยัดพลังงานมากถึง 80% ลงตลาด และลด ปริมาณ ซีโอทูในโรงงานประมาณ 3 แสนตันต่อปีทั้งโลก ส่วนที่ไทยจากทั้งหมด 11 โรงงาน ตั้งเป้าลดปริมาณซีโอทู ลง 10,000 ตันต่อปี” นายฮิโรทากะกล่าว
แผนตลาดในประเทศไทย ปีนี้คือ 1.เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวแฟลกชิบ เช่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กล้องภาพนิ่ง เป็นต้น ด้วยการออกสินค้าใหม่ๆต่อเนื่อง 2.การเน้นช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น บีทูบี และการขายตรงเข้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนช่องทางขายแบ่งเป็น บีทูบี 10% ดีลเลอร์ 40% และช่องทางห้าง 50%
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรกับอัตราการครอบครองผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของคนไทยแล้วยังต่ำมาก เช่น แอร์ มีการครอบครองทั่วประเทศเพียง 16% เครื่องทำน้ำอุ่นประมาณ 12% กล้องประมาณ 9% เท่านั้นเอง โดยจะใช้งบการตลาดปีนี้ประมาณ 10% จากยอดขายหรือประมาณ 1,800 ล้านบาท เน้นไปที่บีโลว์เดอะไลน์ 60% ส่วนอโบฟเดอะไลน์ 40% จากปีที่แล้วที่เป็น 50%-50%
นายฮิโรทากะ กล่าวต่อว่า สำหรับช่องทางที่เป็นร้านเอ็กซ์คลูซีฟชอปนั้นปัจจุบันมี จำนวน 11 สาขา ซึ่งจะเป็นร้านที่ขายเฉพาะแบรนด์พานาโซนิคเท่านั้น ส่วนจะเพิ่มสาขาหรือไม่นั้นอยู่ที่ความสนใจของดีลเลอร์เพราะว่าดีลเลอร์จะเป็นผู้ลงทุน
สำหรับส่วนแบ่งตลาดสินค้าของพานาโซนิค ในหลายกลุ่มที่เป็นผู้นำตลาดนั้นเช่น เครื่องทำน้ำอุ่น มีแชร์ 55% เครื่องเป่าผมมีแชร์ 36% แบตเตอรี่มีแชร์ 83% โทรศัพท์ไร้สาย 22% เครื่องแฟ๊กซ์มีแชร์ 36% เป็นต้น
ส่วนตลาดส่งออก เริ่มมีออร์เดอร์จากต่างประเทศไหลเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนประมาณ 15% ซึ่งมั่นใจว่าจะมีรายได้จากการส่งออกประมาณ 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มี 52,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแม่ให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์การผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของพานาโซนิคทั่วโลก เช่น แบตเตอรี่ หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น
ภายหลังจากที่หลายโรงงานทั่วโลกได้ปิดตัวลง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วพานาโซนิคไทยได้ใช้งบประมาณไปมากกว่า 3,100 ล้านบาท ในการเพิ่มไลน์และขยายโรงงานการผลิต ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้พานาโซนิคไทยได้ส่งอุปกรณ์หลักๆคือ โมเดลและแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับทีวีพลาสม่าไปตลาดยุโรปแล้ว ทั้งนี้ตลาดที่เติบโตมากขึ้นคือ ตลาดยุโรป ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีสัดส่วนเพียง 5% แต่คาดว่าปีนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 40% ตลาดญี่ปุ่น 15% ตลาดเอชเอ 25% และที่เหลืออื่นๆ สาเหตุที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเนื่องจากว่า 1.ระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม 2.เรื่องของการสนับสนุนจากทางรัฐบาลผ่านทางบีโอไอ 3.เรื่องค่าแรงของคนไทย 4.เรื่องแนวความคิด
กรณีที่พานาโซนิคเข้าซื้อกิจการของซันโยในต่างประเทศนั้น นายฮิโรทากะ กล่าวเพียงว่า เรื่องนี้ยังไม่มีมีความชัดเจน ยังเป็นเรื่องของขั้นตอนกฎหมายอยู่ และ ยังไม่มีการดำเนินการอะไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|