|
สคิบขายหุ้นกู้หมื่นล.-BISแตะ14%
ASTVผู้จัดการรายวัน(10 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์นครหลวงไทยเคาะวงเงินออกหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท หนุนบีไอเอสแตะ14% ชี้ การแข่งขันของสถานบันการเงินอีก 2-3 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก กลุ่มที่ไม่มีแบงก์คอยสนับสนุนจะทำธุรกิจยากขึ้น ชี้ในครึ่งปีหลังจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์บริษัทในเครือมากขึ้น ล่าสุดปรับโฉมสาขาใหม่พร้อมพัฒนาบริการมุ่งตอบสนองทุกความต้องการลูกค้า
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางธนาคารได้ทำการสรุปวงเงินในการจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิอายุ 10 ปี เสนอผลตอบแทนในอัตราแบบก้าวหน้าจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี ปีที่ 4-7อัตราดอกเบี้ย 6.0% ต่อปี ปีที่ 8-10 อัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท ระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย. 2552แล้ว โดยวงเงินที่จะจำหน่ายอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากจำหน่ายได้หมดจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14% โดยเงินกองทุนขั้นที่ 2 ของจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% หรือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.7%
'ที่เราเลือกจะออกหุ้นกู้เพียง 10,000 ล้านบาท ทั้งที่สามารถจะออกได้ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อีกทั้งตอนนี้การสำรวจความต้องการก็มีเกินกว่า 10,000 ล้านบาทแล้วด้วย เป็นเพราะเราคิดว่าเป็นระดับที่เหมาะสม เนื่องจากต้องการให้บีไอเอสวิ่งอยู่ที่ 12-14% อีกทั้งเวลามีเงินเข้ามากก็ต้องพยายามทำให้เกิดผลตอบแทนถ้ามีเงินมากแต่มาอยู่เฉย ๆ นาน ๆ ส่วนของผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นต่ำ (ROE) ต่ำคนก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดี อีกทั้งหากมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมเราก็สามารถจะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ได้ แต่ต้องขอจากทางผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อน'
สำหรับการแข่งขันของสถาบันการเงินในอีก 2-3 ปีข้างหน้านั้นมองว่าจะยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการแข่งขันอีกมาก โดยธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในเครือของธนาคารจะมีความสามารถในการแข่งขันที่น้อยลง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ถ้าไม่มีขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่ หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ที่สูงพอ หรือประมาณ 3-5% ก็จะแข่งขันได้ลำบากและถ้าไม่ได้อยู่ในเครือของธนาคารก็คงจะมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ถ้ามีขนาดสินทรัพย์ที่บริหารต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ก็จะแข่งขันได้ยากเช่นกัน
ในส่วนของธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งในขณะนี้ได้มีธนาคารขนาดใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้กันมากขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่ม ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต้อง มีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยในส่วนของธนาคารนครหลวงไทยนั้นได้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ราชธานีลีสซิ่งอยู่ประมาณ 49% และก็มีความต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งขณะนี้ทางบริษัท ราชธานีอยู่ระหว่างการให้ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท หลักทรัพย์กิมเอง จำกัด (มหาชน) ทำแผนการเพิ่มทุนให้อยู่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอแผนเข้ามายังธนาคารในเดือนหน้า ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้เสร็จสิ้นในปีนี้
'ในครึ่งปีหลังของปีนี้เราจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ บริษัทในเครือมากขึ้น โดยตอนนี้ทางราชธานีลีสซิ่งเขามีความเชี่ยวชาญการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือ 2 มีตลาดหลักๆ อยู่ในกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมามีการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเพิ่มทุน เพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจ และจะมีแผนทำการตลาดผ่านสาขาทั่วประเทศ และจะเข้าไปทำตลาดรถยนต์ใหม่ ส่วนบลจ.นครหลวงไทยตอนนี้มีขนาดอยู่ 60,000 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาทในปีหน้า ส่วนของบล.ตอนนี้มีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ไม่ถึง 1% ก็จะพยายามทำให้ถึง 3-5% ภายในไม่เกิน 3 ปีถ้างั้นก็คงจะอยู่ไม่ได้'
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารตั้งเป้าที่จะเปิดที่ทำการสาขารูปแบบใหม่ตามโครงการปรับภาพลักษณ์องค์กร และบริษัทในเครือ (Corporate Re-Branding) และโครงการปรับปรุงระบบบริหารงานสาขา (Branch Business Transformation) เพิ่มอีก 15 สาขา โดยมีสาขาต้นแบบ 2 สาขา คือ สาขาชาญอิสสระทาวเวอร์ (พระราม 4) และสาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร A) และติดตั้งเครื่องให้บริการเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) จำนวน 100 เครื่อง ส่งผลให้ตู้เอทีเอ็มรวมเป็น 1,720 เครื่อง เพื่อเป็นการสร้างจุดให้บริการ (SCIB Touch Point) แก่กลุ่มลูกค้า และประชาชนในพื้นที่ หรือแหล่งที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง (Trading Area) เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรพร้อมบริการเสริมอื่น ๆ ของธนาคารตลอดจนบริษัทในเครือ และการนำเสนอบริการของพันธมิตรทางธุรกิจผ่านสาขาของธนาคาร และมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มเฉลี่ยปีละ 15-20 แห่ง อย่างต่อเนื่องตามแผน 3 ปี (ระหว่างปี 2551-2553) ถึงแม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวลงอยู่ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนในการเปิดดำเนินการสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีแผนที่จะพิจารณาเพิ่มจำนวนสาขาที่ขยายเวลาในการให้บริการอีกประมาณ 30-40 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมด 63 สาขาทั่วประเทศ หลังจากที่พบว่ามียอดการทำธุรกรรมของลูกค้าเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับการนำระบบการบริหารและการดำเนินงานของเขตและสาขาออกเป็น 7 คลัสเตอร์ (Cluster) ส่งผลให้แต่ละสำนักงานสาขาเขตและสาขากำหนดกลยุทธ์และการเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินสำหรับกลุ่มลูกค้าในแต่ละคลัสเตอร์ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังสามารถให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
'แบงก์ได้เตรียมงบในการโฆษณาไว้ 100 ล้านบาท แบ่งเป็นโฆษณาชุด SCIB Heart : ก้าวไปกับคุณด้วยใจ ในวงเงิน 50 ล้านบาท และใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ 25 ล้านบาท และที่เหลือใช้โฆษณาทั่วไป'
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|