CSER ธนาคารกรุงไทย บรรษัทภิบาล+4 มิติ


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กิจการธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกว่า SME ก็ล้วนสามารถแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการมี CSR (Corporate Social Responsibility) ได้ทั้งสิ้น หากมีจิตสำนึกใฝ่ดีและทำดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่ ทุนหนายิ่งจำเป็นต้องมี CSR เพราะมีโอกาสเป็นพลังในทางสร้างสรรค์หรือพลังในทางทำลาย กระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมมากกว่ากิจการขนาดเล็ก

ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน) เป็นธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ที่สุด มีฐานะทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสมควรที่ได้ประกาศจุดยืนการดำเนินการด้วยนโยบาย 'เก่ง+ดี' คือให้มีทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเกื้อหนุนเศรษฐกิจและสังคม

แนวทางที่ว่านี้ ธนาคารกรุงไทย เรียกว่า CSER หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social and Environment Responsibility)

หนังสือ 'รายงานการดำเนินการ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2551' ซึ่งเผยแพร่ พร้อมการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้ข้อมูลยืนยันการเป็นพลเมืองดีของสังคม

ธนาคารดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ การบริหารความเสี่ยงที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมพร้อมด้วยการตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยบุคลากรมีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพพร้อมด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสำเร็จขององค์กร

ในปี 2551การดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนเข้มแข็งขึ้น เห็นได้จากการมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยดูแลโครงการต่างๆ ทั้งในระดับกรรมการธนาคาร อาทิดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดุสิต นนทะนาคร กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงในระดับผู้บริหารสายงานได้เข้ามากำกับดูแลงานในแต่ละมิติให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งฝ่ายเสริมสร้างทุนทางปัญญาและกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนโครงการ หรือ กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

1.มิติการศึกษา มีโครงการ 'กรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้าน' ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยธนาคารได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อให้นักเรียน ครูมีโอกาสที่เท่าเทียมกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอื่นๆ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ให้การสนับสนุนในการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยการจัดอบรมความรู้ในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนด้วย ICT โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ซึ่งมีชื่อเสียงในด้าน ICT รวมทั้งนำผู้อำนวยการโรงเรียนไปดูงานการบริหารจัดการด้านการศึกษาในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น

ในปี 2551 มีโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 93โรงเรียน และธนาคารได้สนับสนุนจนสามารถยกระดับเป็นโรงเรียนในฝันได้ 85 โรงเรียน และส่วนที่เหลืออยู่ในเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เป็นโรงเรียนในฝันที่มีมาตรฐานโดยเร็วต่อไป ขณะนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปยังนักเรียนที่ด้อยโอกาสด้วยโดยได้สนับสนุนโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนชาวเขาที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้นพร้อมกับการพัฒนาครูอาสาสมัครของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารหลายแห่งที่ จ.ตากและที่จะดำเนินการต่อไปในพื้นที่อื่นๆ

นอกจากนี้ธนาคารได้ประกาศนโยบายโครงการกรุงไทยสานฝันสู่บัณฑิตเพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและประพฤติดีศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐด้วยโดยจะเริ่มมอบทุนการศึกษาในปี 2552

จากมิติการศึกษา ยังได้แตกแขนงเป็น โครงการหนังสือดีสำหรับเยาวชน คือ จัดมุมหนังสือดีให้แก่โรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อฝึกเป็นนักเขียน ใน 'โครงการ KTB เยาวชนคนรักข่าว' ที่สนับสนุนให้เยาวชนที่มีใจรักในงานเขียนสู่ถนนนักข่าวโดยนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้ด้านสื่อสารมวลชนและประสบการณ์ด้านการเขียนข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ เป็นต้น

โครงการที่สร้างโอกาสให้แก่นักเรียนนักศึกษา รู้จักการทำธุรกิจอย่างมีแบบแผนและดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมได้แก่ 'โครงการกรุงไทยยุววาณิช' ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความรู้และตัดสินการประกวดการทำธุรกิจจำลองร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายอาชีพ

'โครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว' ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความรู้และจัดประกวดการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี

สำหรับลูกค้าและประชาชนทั่วไปก็มี 'โครงการ KTB Lecture Series' เพื่อขยายสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นโดยธนาคารเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงในด้านเศรษฐกิจการเงินการธนาคารธุรกิจ สังคมศิลปวัฒนธรรมมาเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ใช้ศักยภาพในการเป็นสถาบันการเงินเข้าไปให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคารใน 'โครงการธนาคารโรงเรียน' โดยช่วยวางระบบธนาคารโรงเรียนและฝึกให้เด็กเรียนรู้จากระบบจริง นอกจากนั้น ธนาคารยังได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใน 'โครงการสร้างวินัยการออม' ให้แก่ครูนักเรียนและผู้ปกครองด้วย

2.มิติสังคมและสิ่งแวดล้อม มีทั้งโครงการในการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามนโยบายของธนาคาร และในส่วนที่พนักงานรวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นเป็นชมรมกรุงไทยอาสา ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบต่อจากปีก่อน อาทิ การปลูกป่าชายเลน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดค่ายภาษาอังกฤษแก่เยาวชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากสังคมจะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้วยังช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของธนาคารและบริษัทในเครือ ลูกค้าและเครือข่ายพันธมิตรในการร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ บริจาคทรัพย์ เพื่อจัดมุมหนังสือบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่จ.ตากการบริจาคเงินในโครงการกรุงไทยสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนที่ขาดแคลน เป็นต้น

'โครงการกรุงไทยหัวใจสีเขียว' เพื่อปลูกฝังให้บุตรพนักงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายจะขยายผลไปยังโครงการกรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้านด้วย อาทิ จัดกิจกรรมปลูกฝังให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนในโครงการฯ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำโครงการโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco-School) โดยธนาคารร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนในโครงการฯ ให้มีความร่มรื่นสวยงามอันจะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการกรุงไทย GrowingGreen นั้น มุ่งสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นในองค์กรที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ เพื่อส่งผ่านจิตสำนึกในการตระหนักถึงภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไปสู่พนักงานลูกค้าและประชาชนซึ่งสามารถดำเนินการไปแล้วในสำนักงานใหญ่และอีก 80 สาขา

3.มิติศิลปวัฒนธรรม สืบเนื่องจากการได้ให้การสนับสนุนการจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันและได้ให้การสนับสนุนรางวัลPurchasingPrize แก่ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นได้เป็นแรงบันดาลใจให้ธนาคารสร้างสวนประติมากรรมกรุงไทย ขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมของธนาคารที่เขาใหญ่ อปากช่อง จ.นครราชสีมา และหอศิลป์กรุงไทยที่อาคารสาขาเยาวราช เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่ได้รับรางวัลจากการประกวดซึ่งธนาคารมีอยู่ในครอบครองโดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเยี่ยมชมตั้งแต่ปลายปี 2551

ในโอกาสต่อไปธนาคารกรุงไทยจะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดประกวดวาดภาพศิลปกรรมเยาวชน การจัดกิจกรรมของชมรมกรุงไทยคนรักศิลป์ จัดนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินรับเชิญการจัดนิทรรศการภาพถ่ายสะสมวิถี ชุมชนเยาวราช นอกจากนั้นธนาคารจะร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดโครงการอ่านบทกวี 'ความรักในสวนโลก' โดยศิลปินแห่งชาติและกวีร่วมสมัย ณ หอศิลป์กรุงไทย เป็นต้น

4.มิติกีฬา ด้วยศักยภาพของทีมฟุตบอลสโมสรธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นทีมที่อยู่ในอันดับต้นๆของฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกและเคยครองแชมป์มาแล้ว 2 สมัย จึงจัดทำ 'โครงการ KTB เยาวชนคนรักบอล' โดยการฝากสอนบุตรหลานของพนักงานและลูกค้าและนักเรียนของโรงเรียนในโครงการกรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้านบางโรงเรียนให้เรียนรู้พื้นฐานในการเล่นฟุตบอลอย่างถูกต้องฝึกทักษะ และประสบการณ์ในการเล่นบ่มเพาะความมีระเบียบวินัยรู้แพ้รู้ชนะและรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันอันจะทำให้เยาวชนมีพลานามัยแข็งแรงและสนใจในกีฬาเพิ่มขึ้นโดยจะสานต่อไปยังโรงเรียนในโครงการกรุงไทยสานฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านอื่นๆ ต่อไป

อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับรางวัลยกย่องมากมาย เฉพาะปี 2551 มีทั้งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รางวัลการดูแลผู้ถือหุ้นดีเลิศ รางวัล Corporate Governance Report of Thai Listed Companies และ CSR Asia Business Barometer 2008 ประเมินให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 9 ของประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ข้อคิด

ธุรกิจยุคใหม่ที่รู้จักปรับตัวให้ทันต่อกระแสโลกจึงไม่เพียงมุ่งดำเนินกิจการเพื่อความเป็นเลิศในการผลิตสินค้าและบริการ แต่การทำธุรกิจยังต้องคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แนวทางเช่นนี้แหละจะนำพาองค์กรให้พัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

เพราะหลักคิดของธุรกิจชั้นนำระดับโลกล้วนตระหนักแล้วว่าในยุคปัจจุบัน ที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงผันผวน เนื่องจากการบริโภคและการผลิต รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงหลักความพอเพียงและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายมุ่งแต่กำไรสูงสุด หรือบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน (Bottom Line) จึงใช้ไม่ได้กับยุคสมัยอีกต่อไป และจากนี้ไปธุรกิจจะสร้างความสมดุลของความเป็นเลิศโดยคำนึงถึง 3 ส่วน หรือ 3 บรรทัด หรือ (Triple Bottom Line) คือ มิติด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งกำไร (Profit) ด้านสังคม คือ สร้างคุณค่ากับคนคือพนักงาน (People) ให้มีคุณภาพและคุณธรรม และด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราใบนี้ (Planet)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.