|

ทหารไทย-CIMB อุดช่องโหว่ลูกค้าหายงัดโปรโมชั่นดูดลูกค้า'ฟรี-ดอกเบี้ยสูง'
ASTVผู้ัจัดการรายสัปดาห์(8 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
2 แบงก์กลางเปิดฉากดูดลูกค้ากลับ งัดโปรโมชั่นแรงล่อใจ แบงก์ทหารไทยเน้นฟรีค่าธรรมเนียมและบริการ ส่วน CIMB จับบัตรเงินฝากบวกอนุพันธ์ล่อใจดอกเบี้ยอาจได้ถึง 5.35% นักการเงินแนะหากมีความพร้อมก็คุ้มค่า แต่ถ้าทำตามเงื่อนไขไม่ได้ต้องชั่งใจให้ดี โดยเฉพาะของฟรีที่ขอสิทธิเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้ง
ในยามที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยติดดินเช่นนี้ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ แบงก์ขนาดใหญ่จึงหลีกเลี่ยงที่จะเล่นสงครามชิงเงินฝาก ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษล่อใจลูกค้าเหมือนในช่วงก่อนหน้า โดยเลือกที่จะนิ่งไม่ออกโปรโมชั่นใหม่ ๆ ออกมา
เว้นแต่ธนาคารที่มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างธนาคารทหารไทยและธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยหรือไทยธนาคารเดิมที่มีโปรโมชั่นเรียกลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการของธนาคารให้มากขึ้น เพื่อทดแทนลูกค้าที่หดหายไปจากช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น
ใน 4 เดือนแรกของปี 2552 ธนาคารทหารไทยที่ได้ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างไอเอ็นจีแบงก์ ยอดเงินฝากลดลง 2.29 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่สัญชาติมาเลเซีย เงินฝากหายไป 2.4 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาในลักษณะที่ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เริ่มที่ธนาคารทหารไทยได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม ซึ่งได้ให้สิทธิในเงื่อนไขฟรีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หลายรายการเริ่มจากฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างธนาคารและต่างจังหวัด รายการที่ 2 ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายบิลค่าสินเค้าและบริการต่าง ๆ และฟรีค่าธรรมเนียมการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มต่างธนาคาร เมื่อทำธุรกรรมการเงิน ทีเอ็มบี อิเล็กทรอนิกส์ แบงก์กิ้ง และฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ปีแรก เมื่อสมัครบัตรเดบิต TMB มูลค่ารวม 300 บาท ถึง 31 กรกฎาคม 2552
แน่นอนว่าเงื่อนไขฟรีดังกล่าวถือเป็นรายการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยก็ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่สำคัญคือแบงก์อื่นไม่เคยมีเงื่อนไขดี ๆ อย่างนี้
ของฟรีมีแต่ไม่นาน
นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า ถือว่าทั้ง 2 แบงก์ต่างต้องการเร่งเอาเงินฝากเข้ามาด้วยการให้สิทธิพิเศษมาเพิ่มในผลิตภัณฑ์ของธนาคาร หลังจากที่เงินฝากและสินเชื่อของ 2 แบงก์นั้นหายไปไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา
แน่นอนว่าการเร่งดึงเอาเงินฝากเข้าไปนั้นเพื่อที่จะเตรียมการสำหรับปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องเงินฝากไว้ก่อน
เริ่มที่ธนาคารทหารไทย แม้ว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม ทางแบงก์จะใจกว้างไม่คิดค่าธรรมเนียมจากรายการตามที่ระบุไว้ แต่ผู้ที่สนใจควรจะต้องศึกษาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่แบงก์กำหนดไว้ได้หรือไม่ เพราะหากอ่านเงื่อนไขทั้งหมดให้ละเอียดจะพบว่าทางแบงก์มีรายละเอียดให้ผู้เปิดบัญชีต้องทำตามค่อนข้างมาก
เริ่มจากเปิดบัญชีเงินฝากครั้งแรก จำนวน 2 หมื่นบาทขึ้นไปและรักษายอดเงินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท จะได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นค่าธรรมเนียมตามเงื่อนไขของธนาคาร กรณียอดเงินฝากคงเหลือต่ำกว่า 2 หมื่นบาทติดต่อกันเกิน 3 วัน นับจำนวนวันเริ่มต้นจากวันที่ทำธุรกรรมที่เงินคงเหลือในบัญชีต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ธนาคารขอสงวนสิทธิ์เก็บค่าธรรมเนียม 50 บาท โดยคิด 1 ครั้งต่อเดือน
นอกจากนี้การรับสิทธิ์ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการสำหรับ 20 ธุรกรรมแรกต่อเดือนเท่านั้น กรณีที่ทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ที่สาขาธนาคาร TMB หรือทำธุรกรรมครั้งที่ 21 ขึ้นไป ธนาคารขอสงวนสิทธิ์คิดค่าธรรมเนียมตามปกติ
'จะเห็นได้ว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียมของทหารไทย มีเงื่อนไขที่ต้องคงเงินฝากให้เหลือเกินกว่า 2 หมื่นบาทจึงจะไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือการใช้บริการต่าง ๆ นั้นต้องไม่เกิน 20 รายการ ตรงนี้เจ้าของบัญชีต้องตรวจสอบให้ดีเพื่อให้ได้สิทธิค่าธรรมเนียมฟรี'
ที่สำคัญคือในท้ายเงื่อนไขที่ระบุไว้ว่า ธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และการเปลี่ยนแปลงของธนาคารถือเป็นที่สิ้นสุด
ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่แบงก์จะเป็นผู้กำหนดว่าระยะเวลาในการให้สิทธิฟรีในการใช้บริการต่าง ๆ นั้นจะนานเพียงใด แต่เชื่อว่าแบงก์คงปล่อยให้ลูกค้าได้รับสิทธิฟรีในเรื่องค่าธรรมเนียมไประยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข
นี่ถือเป็นทั้งการทำตลาดและหาลูกค้าไปในตัว การตลาดในลักษณะนี้แบงก์ทั่วไปก็ใช้กันมาตลอดขึ้นอยู่กับว่าผลิตภัณฑ์นั้นพ่วงกับเงื่อนไขอย่างไร ในอดีตมีการเร่งระดมเงินฝากด้วยการบวกเพิ่มกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุเข้ากับบัญชีเงินฝาก ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ฝากเงินไม่น้อย โดยไม่ระบุว่าระยะเวลาของการคุ้มครองนั้นจะหมดเมื่อใด ผ่านมาราว 5-6 เดือนทางธนาคารก็ส่งจดหมายแจ้งว่ายกเลิกความคุ้มครองดังกล่าว
'หลักการเหล่านี้ผู้ฝากเงินก็ต้องทำใจว่าเงื่อนไขที่แบงก์เสนอให้นั้นจะฟรีได้นานแค่ไหน เพราะโดยหลักการแล้วคำว่าฟรีค่าธรรมเนียมและบริการที่ให้นั้นแบงก์ก็ต้องมีต้นทุน เชื่อว่าแบงก์คงแบกได้ไม่นานนัก'
พ่วงอนุพันธ์ดอกสูง
อีกธนาคารหนึ่งที่เปิดฉากระดมเงินฝากอย่างชัดเจนคือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ด้วยการเปิดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Maxi Return ซึ่งเป็นบัตรเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง โดยใช้ตัวเลขของผลตอบแทนที่ธนาคารรับประกันขั้นต่ำที่ 0.8% ต่อปี และมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 3.35% ต่อปีในปีแรก และอาจมากถึง 5.35% ในปีที่ 5
เป้าหมายของบัตรเงินฝากประเภทนี้เน้นลูกค้ารายใหญ่ที่ 10 ล้านบาท อายุของบัตรเงินฝากอยู่ที่ 5 ปี นอกจากนี้ธนาคารยังมีสิทธิที่จะไถ่ถอนเงินก่อนกำหนด(Call Option) และสิ่งที่ผู้ต้องการออมต้องทราบคือบัตรเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงนี้จะไม่ได้รับคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ระบุว่านั้น ใช้คำว่าผู้ลงทุนอาจจะได้รับประมาณ 3.35-5.35% ต่อปีนั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขใน Indicative Structured ซึ่งถือว่ามีความซับซ้อนในเรื่องวิธีการคำนวณ หากไม่ทำความเข้าใจให้ดีอาจจะได้ผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่หวัง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|