สมรภูมิประกันชีวิตร้อนสวนทางเศรษฐกิจ "แมนูไลฟ์"วางยุทธศาสตร์ทะลวงตลาด


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ความเคลื่อนไหวในสมรภูมิประกันชีวิตยังร้อนระอุ แม้สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย "แมนูไลฟ์" เชื่อประกันชีวิตยังโตได้ท่ามกลางพายุวิกฤต พื้นทีในการทำตลาดยังมีช่องว่างอีกมากมาย เตรียมยุทธศาสตร์ทะลุทะลวงสนามรบประกันชีวิตแชร์ส่วนแบ่งทางตลาดเพิ่ม เน้นงานให้บริการสร้างความพึงพอใจลูกค้า พร้อมกับวาดแผนสวยหรูดันเบี้ยโตได้ 10 %

ดูเหมือนภาคธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบเพียงน้อยนิดจากพายุวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามมาจากแดนดินฝั่งอเมริกา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์โดยให้เหตุผลว่า บริษัทประกันชีวิตในไทยยังน่าจะมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเพราะความมั่นคงทางการเงิน และปัจจัยบวกจากการมีธนาคารพาณิชย์หนุนหลัง หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าร่วมกัน เช่น แบงก์แอสชัวรันส์ เป็นต้น

ความมั่นคงทางการเงิน และพันธมิตรที่หนุนหลังมีความแข็งแกร่งจนสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คาดว่าทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตได้ ขณะเดียวช่องว่างที่จะให้บริษัทประกันชีวิตเข้าไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดก็ยังมีอีกมาก เพราะอัตราส่วนผู้ถือกรมธรรม์ในปะเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านถือว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โอกาสทางธุรกิจมีอยู่

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจงว่าสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Insurance Penetration Rate) ในปี 2551 ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณ 2.45% ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่เกินกว่า 5-10% นอกจากนี้ จำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับต่อประชากรในไทย ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำประมาณ 25% เทียบกับสิงคโปร์ที่ 215% และมาเลเซีย 40%

และจะว่าไปการที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกมาประการลดอัตราดอกเบี้ยอาร์พี ในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้การลงทุนในสถาบันการเงินอย่างแบงก์ไม่นาสนใจอีกต่อไปเพราะอัตราผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับช่องทางการลงทุนประเภทอื่น และนั่นเองที่เปิดประตูโอกาสให้กับธุรกิจประกันชีวิต เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนให้ความสนใจออมแบบมีความคุ้มครองพร้อมผลตอบแทน ด้วยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีหลากหลายให้เลือก อย่างความคุ้มครองชีวิตผนวกกับการลงทุนเข้าไปด้วย โดยเฉพาะกรมธรรม์แบบ ยูนิตลิงค์ เป็นต้น

หลายๆปัจจัยที่เกิดขึ้นได้เอื้อต่อการขยายตัวในภาคธุรกิจประกันชีวิต ทำให้บริษัททั้งลูกครึ่ง ลูกเสี่ยว หรือไทยแท้ต่างไม่ละมือที่จะกระตุ้นตลาดเพื่อเพิ่มยอดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการขยายตัวทาง ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะขยายตัวในอัตราประมาณ 6-8% เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจาก 10.6% ในปี 2551 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมประมาณ 236,800-241,000 ล้านบาท

และจากการที่ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการประกันชีวิตทั้งที่ผ่านมาตรการภาษี การเสริมสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจให้มั่นคง และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตลาดของธุรกิจประกันชีวิตให้กว้างขวางขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจประกันชีวิตจะยังมีอัตราเติบโตเป็นบวกได้ ภายใต้ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ

ล่าสุด 'แมนูไลฟ์ ประกันชีวิต' เปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ 'คริสโตเฟอร์ เตียว' พร้อมกับแผนในการบริหารองค์กร สำหรับการช่วงชิงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นเพียงนามธรรม แต่สำหรับแมนูไลฟ์นี่คือแผนแม่บทขององค์กรที่จะเดินไปเพื่อหาความสำเร็จ

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการขอแชร์ส่วนแบ่ง แต่อย่างที่รู้กันว่าเพราะอัตราส่วนพลเมืองของไทยที่ทำประกันชีวิตยังมีอยู่ต่ำ ความท้าทายในการกวาดพื้นที่จึงมีสูง

คริสโตเฟอร์ ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แมนูไลฟ์ ประกันชีวิต (ประเทศ ไทย) บอกว่า กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือ การบุก ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้บริษัทสามารถขยับตำแหน่งในประเทศไทยได้ด้วยแผนการดำเนินงานของบริษัท ที่เน้นในหลัก P R I C E หลัก CARE และ SIAM

ในส่วนของ PRICE ประกอบด้วย Professional ความเป็นมืออาชีพ Real Value To Our Customers คุณค่าที่แท้จริงต่อลูกค้า Integrity ความซื่อสัตย์ Demonstrated Financial Strength ความเข้มแข็งทางการเงิน และ E-Employer of Choice เป็นนายจ้างที่ทุกคนอยากทำงานด้วย

CARE ประกอบด้วย Coverage ความคุ้มครองจากการประกันชีวิตและการเงิน Advisory ความเป็นมืออาชีพ Recovery Aid ความช่วยเหลือจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นจุดขายของบริษัท มองวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ และ Employer of Choice พนักงานแม้แต่ตัวแทนของบริษัทต้องสามารถดูแลครอบครัวได้

คริสโตเฟอร์ บอกว่า เนื่องจากตัวแทนประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศ เพราะคนไทยจะทำอาชีพดังกล่าวในรูปแบบงานนอกเวลา ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับอาชีพนี้ได้โดยแม้จริง หากก็ไม่โทษว่าเป็นความผิดของตัวแทน เนื่องจากโครงสร้างผลตอบแทน การตัดสินใจของลูกค้าที่จะซื้อประกันชีวิต ล้วนเป็นปัจจัยที่ตัวแทนส่วนใหญ่ยังมองว่ามีความไม่แน่นอนสูงเท่ากับการทำงานประจำที่มีรายได้แน่นอน

'ดังนั้นเราจึงอยากหาวิธที่ทำให้ตัวแทนของเราเชื่อมั่นในวิชาชีพของเขาว่าจะสามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการดูแลครอบครัวได้ในอนาคต ซึ่งนั่นคือการให้ความรู้ การสอนให้มีแผนงาน มีความเชื่อมั่น มีความเป็นมืออาชีพ แต่ทั้งหมดนี้เราจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เขาเกิดความเชื่อที่ว่านี้'

ด้านหลัก SIAM ประกอบด้วย Settory Gold การตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต Individually monitoring Their activating วางแผนการทำงานมุ่งเน้นการดูแลสนับสนุนให้ทำงานอย่างมีวินัยและถูกต้อง Attack Their ego การทำงานให้ไปสู่เป้าหมายผลักดันส่งเสริมให้เห็นศักยภาพของตัวเอง และ Manager Their Time ช่วยบริหารเวลาเป็นส่วนสำคัญที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จเป้าหมายการทำงาน

นี่คือกุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จขององค์กรหากว่าสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม หลักที่กล่าวมายังเป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้นส่วนจะเห็นภาพที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรมเมื่อไร คริสโตเฟอร์ บอกว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมามั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ โดยตั้งเป้าว่า 100 วัน แมนูไลฟ์จะต้องโตอย่างก้าวกระโดดจาก3 ช่องทาง คือช่องทางตัวแทนภายนอก ตัวแทนภายใน และผู้บริหารธุรกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.