วิกฤตเศรษฐกิจสำแดงฤทธิ์!BOI รับทุนนอกตีจาก7หมื่นล้าน-นิคมฯโคม่า


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นิคมฯทั่วประเทศโอดยอดขายที่ดินตกฮวบ ทั้งปัจจัยภายใน-นอกกดดันต่อเนื่อง ด้านยักษ์ใหญ่อย่าง 'อมตะ'ไตรมาสแรกขายได้เพียง 50 ไร่สะท้อนนักลงทุนหนีหน้า หวั่น 'เวียดนาม' ดึงทุนนอกเข้าประเทศขณะที่ BOI ยอมลดเป้ารอบที่ 3 เหลือเพียง 4.5 แสนล้าน เร่งโรดโชว์ต่างประเทศดึง 'จีน-อินเดีย' ปักธงไทย เผยเพียงไตรมาสแรกทุนนอกหายไปกว่า 7 หมื่นล้าน

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการลงทุนของภาคเอกชนมีส่วนสำคัญและเป็นสัญญาณสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศควบคู่กับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งผ่านไปหนึ่งไตรมาสการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะหากวัดจากยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศถือว่าตกต่ำอย่างมาก ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 2 การลงทุนใหม่ของภาคเอกชนยังจะมีโอกาสบ้างหรือไม่ นับเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยเนื่องเพราะการลงทุนจากต่างชาติคือส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

อมตะชี้สัญญาณเริ่มดีขึ้น

'สมหะทัย พานิชชีวะ'ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน(AMATA)กล่าวกับ 'ผู้จัดการราย 360 องศา รายสัปดาห์' ว่า ยอมรับว่าการขายที่ดินในเครืออมตะกรุ๊ปลดลงกว่า 200-300% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้โดยขายได้เพียง 50 ไร่เท่านั้น แต่ยอดขายที่ลดลงไม่ใช่เฉพาะในส่วนของอมตะกรุ๊ปเท่านั้นแต่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆก็มียอดขายที่ลดลงเช่นกัน ซึ่งธุรกิจนิคมฯได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกด้วยกันทั้งหมด

ขณะที่ธุรกิจต่อเนื่องอย่างการให้บริการ ไฟฟ้า, น้ำประปา,โทรศัพท์ ก็มีอัตราการใช้ที่ลดลง 15% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเพราะยอดออเดอร์สั่งของโรงงานต่างๆทำให้บริษัทต่างๆมียอดการใช้บริการธุรกิจต่อเนื่องลดลงตามด้วย

'ตอนนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้น คือโรงงานต่างๆ เริ่มมีออเดอร์สั่งของเข้ามา สั่งเกตได้จากโรงงานต่างๆเริ่มมีงานล่วงเวลา (O.T.)ให้พนักงานได้ทำบ้างแล้ว'

อย่างไรก็ดีแม้อุตสาหกรรมหนักอย่าง อุตสาหกรรมรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ยังมีปัญหาในการส่งออกแต่อุตสาหกรรมของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างอุตสาหกรรมอาหาร เสื้อผ้ายังมีออเดอร์สั่งของเข้ามาต่อเนื่องเพราะสินค้าเหล่านี้มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค

ทุนนอกห่วง - หนีการเมืองเดือด.!

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้วปัญหาการเมืองภายในยังคงเป็นปัจจัยที่น่าห่วงที่สุดในขณะนี้เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้สถานการณ์การเมืองภายในจะมีความเคลื่อนไหวตลอดแต่ก็มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่จำกัดเช่น ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือ หน้าทำเนียบเท่านั้น แต่ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวได้ขยายวงออกไปไม่มีกำหนด เช่นการปิดสนามบิน, เหตุความวุ่นวายในช่วงสงกรานต์ทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่กล้ามาลงทุนในประเทศเพราะไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยแล้ว

ขณะเดียวกันแม้ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีการปฏิวัติและการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอดแต่การชุมนุมทางการเมืองยังมีพื้นที่ในการชุมนุมชัดเจนไม่กระทบต่อการลงทุนแต่อย่างใดซึ่งนักลงทุนต่างชาติเข้าใจดีในจุดนี้

'เดิมพื้นที่ระหว่างกิจกรรมทางการเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจกิจแยกกันชัดเจนแต่ตอนนี้ช่องว่างระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจคือช่องว่างเดียวกันทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในไทย นี่คือปัญหาใหญ่'

ปักธงลงทุนใหม่ 'เวียดนาม'มากขึ้น

ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดยังเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดิมเพราะไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในสายตานักลงทุนจากญี่ปุ่น และไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นจำนวนมากมาลงทุนแต่จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้างแล้ว

โดยขณะนี้นักลงทุนจากญี่ปุ่นได้ไปลงทุนที่ ประเทศเวียดนามจำนวนมาก แม้ในตอนแรกจะมีจำนวนน้อยแต่ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นหากไม่ลงทุนในไทยก็จะไปที่เวียดนามแทน

'ที่เวียดนามมีนักลงทุนรายใหญ่อย่างเกาหลีใต้และไต้หวันยึดครองอยู่แต่ตอนนี้มีนักลงญี่ปุ่นสนใจลงทุนจำนวนมากทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นอาจจะขึ้นเบอร์หนึ่งในแทน'

สำหรับผลการดำเนินงานอมตะไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ67.12 ล้านบาท ลดลง 196.93 ล้านบาท หรือลดลง 74.58% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 264.05 ล้านบาท เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศขณะนี้ ทำให้รายได้จากการขายที่ดินของบริษัทลดลงจำนวน301.68 ล้านบาท หรือเท่ากับ 49.12% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

นิคมฯชั้นนำยอดขายดิ่งทั่วหน้า.!

ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้จึงพบว่านิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ประสบภาวะยอดขายเช่นกัน เช่นบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน) หรือ ROJNAเผยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัทมีรายได้รวม 1,346 ล้านบาท ลดลง 14.92% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,582ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาท ลดลง 63% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ200 ล้านบาท

บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด(มหาชน) หรือ HEMRAJ ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัทมีกำไรสุทธิ 68.4 ล้านบาท ลดลง 87% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของยอดขายที่ดินอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัทมีรายได้รวมจำนวน 440.5 ล้านบาท ลดลง 71% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน1,525.6 ล้านบาท

ด้านบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL เปิดผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัทมีกำไรสุทธิ 492,000 บาทลดลง 86.26 ล้านบาท หรือลดลง 99.43% เนื่องมาในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินลดลง 90.31 ล้านบาท รายได้ค่าบริการลดลง 21.10 ล้านบาท ต้นทุนขายที่ดินและบริการลดลง 2.80 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ลดลง 18.21 ล้านบาท

โดยทั้ง 4 บริษัทชั้นนำต่างให้เหตุผลถึงสาเหตุยอดขายที่ลดลงว่า มาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลในทางลบอย่างรุนแรงในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องระงับหรือชะลอ การตัดสินใจในการลงทุนไว้ก่อน

'ภาคอุตสาหกรรมบางเซกเตอร์อาจจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้างในช่วงไตรมาส 2 แต่ธุรกิจนิคมฯคาดหมายกันว่าน่าปีนี้อาจจะทรงตัวยาวและจะเริ่มฟื้นในไตรมาส 1 ปี 2553 โน่น' สมหะทัย กล่าวยืนยัน

ทุนนอกหาย 7 หมื่นล้าน .!

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจข้อมูลของ 'ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์'ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย.2551 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ในช่วงเดียวกันพบว่านักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ยังเป็นหน้าเดิมประกอบด้วย ญี่ปุ่น ,กลุ่มยุโรป, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา ,ฮ่องกง และ สิงคโปร์ หากเทียบจำนวนโครงการที่ผ่านการอนุมัติของบอร์ดสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วง ม.ค.-เม.ย.2552 พบว่าจำนวนโครงการลงทุนของนักลงทุน ต่างชาติมีจำนวนโครงการที่ลดลงจากทุกประเทศยกเว้นจากลุ่มสหรัฐยุโรปที่เพิ่มขึ้น 11 โครงการ

สำหรับประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ยื่นขอรับฯสูงสุด โดยยื่นขอ 71 โครงการลดลง 41.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าลงทุน 10,148 ล้านบาท ลดลง 47.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเป็นการลงทุนจากยุโรปมีทั้งสิ้น 46 โครงการมูลค่า 5,660 ล้านบาท มูลค่าลดลงคิดเป็น 77.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากแยกเป็นทุนจดทะเบียนพบว่านักลงทุนจากญี่ปุ่นลดลงมากที่สุดโดยระหว่างเดือน ม.ค. - เม.ย.2551 มียอดออกบัตรส่งเสริมถึง 12, 7000 ล้านบาทแต่ช่วงเดียวกันของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2552) เหลือยอดออกบัตรส่งเสริมเพียง 2,100 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ(FDI) มีทั้งสิ้น 186 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 21,672ลดลงทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนจากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจำนวนโครงการลดลง 123 โครงการหรือคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงลดลง 39.8% ขณะที่เงินลงทุนลดลง 69,837 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 76.3%

ทั้งนี้จำนวนโครงการจากต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนคิดเป็น 63.3 % ของจำนวนโครงการทั้งสิ้นที่ยื่นขอส่งเสริม (294 โครงการ) ปริมาณเงินลงทุนคิดเป็น 15.8 %ของปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ยื่นขอส่งเสริม (137,072 ล้านบาท) อุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมและมีปริมาณเงินลงทุนสูงสุด คือ กิจการบริการและสาธารณูปโภคในภาคอุตสาหกรรม รองลงมาคือ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง

'ต้องยอมรับว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ช่วงนี้จะไม่มีการลงทุนใหม่เพราะบริษัทต่างๆต้องรอดูสถานการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองของไทย' 'ดร.อรรชกา ศรีบุญเรือง บริมเบิล' เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวยืนยันถึงสถานการณ์ในขณะนี้

ทว่าผ่านไปเพียงไตรมาสแรกบีโอไอได้ปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนถึง 3 ครั้ง โดยเริ่มศักราชใหม่ได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมลงทุนไว้ถึง 650,000 ล้านบาทและเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ปรับตัวเลขลดลงเหลือเพียง 600, 000 ล้านบาท แต่ล่าสุด BOI ยังได้รับลดตัวเลขส่งเสริมการลงทุนเหลือเพียงแค่ 450,000ล้านบาทในปีนี้เท่านั้น

'จีน-อินเดีย'อีกความหวังปักธงไทย

ดังนั้นบีโอไอ จึงจำเป็นจะต้องออกไปโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมด้วยบีโอไอได้เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อพบปะนักลงทุนที่สนใจลงทุนในไทยรวมถึงอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งเบื้องต้นนักลงทุนอินเดียสนใจลงทุนเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ ,ปุ๋ย และ รถยนต์ เป็นต้นเพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่นักลงทุนจากประเทศจีนเป็นอีกกลุ่มที่บีโอไอให้ความสนใจในขณะนี้เพราะจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากในเรื่องการลงทุน ล่าสุด บีโอได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ประจำกรุงปักกิ่งไปแล้วเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งที่ 2 ของบีโอไอในประเทศจีน และจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนของทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดยจะช่วยให้บีโอไอสามารถเข้าถึงและรองรับนักธุรกิจจีนที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยได้มากยิ่งขึ้น และสะท้อนให้นักธุรกิจจีนเห็นว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับนโยบายการออกไปลงทุนในต่างประเทศของภาครัฐและเอกชนของจีน และประมาณเดือนก.ค.-ส.ค. บีโอไอก็จะเปิดสำนักงานแห่งที่ 3 อีกที่เมืองกวางโจว

สำหรับนักลงทุนจากประเทศจีน จะสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ กลุ่มงานโลหะต่างๆ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ และกลุ่มพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสนใจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนจีน

ดังนั้นการออกไปโรดโชว์และเปิดสำนักเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศของบีโอไอ นั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหรือไม่เป็นเรื่องต้องติดตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.