|
สมาชิกอีลิทขู่ฟ้องรัฐบาลไทย เอเย่นต์ทยอยปิดออฟฟิศตปท.
ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาชิกอีลิทการ์ดสุดทน ทีพีซีหั่นสิทธิประโยชน์จนไม่เหลือ แนะถ้าจะทำควรรอเวลาจนกว่ารัฐจะฟันธง พร้อมเล็งฟ้องรัฐบาลไทยแน่ หากจะต้องมาปรับลดบริการอีก ด้าน “แอคทีฟ” ตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ เผยเสียโอกาสหารายได้ไปแล้วกว่า 120 ล้านบาท ทนแบกรับค่าใช้จ่ายออฟฟิศทั้งที่ไม่มีรายได้มาปีเศษเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท ล่าสุดเล็งปิดออฟฟิศกรุงโซล ประเทศเกาหลีสิ้นเดือนนี้
นางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายบัตรไทยแลนด์ อีลิท เปิดเผยว่า จากการที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิทการ์ด เตรียมปรับลดสิทธิประโยชน์ผู้ถือบัตรอีลิทการ์ด ทำให้ สมาชิกจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ โดยบริษัทได้รับทั้งอีเมลล์ และโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก โดยสมาชิกต่างมองในประเด็นเดียวกันว่า อีลิทการ์ดถูกจับโยงให้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่สมาชิกกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งที่การตัดสินใจซื้อเพราะต้องการพริวิเลจ ตามที่โฆษณาไว้ แต่มาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อีลิทต้องการลดต้นทุน ด้วยการลดสิทธิประโยชน์และการปรับเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขึ้นค่าบัตรจาก 1 ล้านบาท เป็น 1.5ล้านบาท จำกัดการใช้บริการ การเลิกกับสนามกอล์ฟระดับดีๆออกไปจำนวนมาก เหลือเพียงระดับ ไว้คอยให้บริการ
ล่าสุด ปรับลดสเปครถลีมูซีนจาก BMW ซีรี่ย์ 7 มาอยู่ที่ โตโยต้า คัมรี่ และเตรียมปรับลดรายได้เรื่องอื่นๆอีก ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้แก่สมาชิก ที่สำคัญหลายรายเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ ระดับ CEO เจ้าของกิจการ มองไปถึงว่าไม่มั่นใจกับนโยบายของรัฐบาลไทย ตรงนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และการดึงเม็ดเงินลงทุนของชาวต่างชาติแน่นอน
อย่างไรก็ตามตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศและสมาชิกได้เสนอว่า ตามที่ผู้บริหารทีพีซีระบุว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะส่งข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะจัดการกับอีลิทการ์ดอย่างไร ดังนั้น ก็ควรชะลอการปรับลดสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เตรียมจะดำเนินการ โดยรอตัดสินในวันที่รัฐบาลตัดสินใจเลยทีเดียว ไม่ใช่มามีนโยบายปรับลดบ่อยๆเช่นนี้
สมาชิกขู่ฟ้องทีพีซีแล้ว
“มีสมาชิกหลายรายเตรียมที่จะยื่นฟ้องทีพีซี บางรายก็ต้องการตัดความรำคาญโดยยินดีที่จะรับเงินคืนถ้าเลิกกิจการ เพราะยิ่งนับวัน ความชัดเจนของธุรกิจยิ่งไม่มี สมาชิกเขาจับตามองยู่ตลอดและเชื่อว่าหากมีการปิดบริษัท หรือลดสิทธิประโยชน์มากเกินไปเขาคงยื่นฟ้องแน่ อีลิทเป็นโครงการที่ตอบโจทย์นโยบายดึงนักท่องเที่ยวไฮเอนด์จึงเป็นโครงการที่ดี แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกอีลิทตอนนี้ ทำให้เขาไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลไทยอีกต่อไปแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าหากต้องปรับลดสิทธิประโยชน์ หรือลดเกรดการให้บริการเช่นที่เป็นข่าว บริษัทก็ควรปิดกิจการไปเลยดีกว่า แล้วคืนเงินให้แก่สมาชิก โดยยินดีที่จะช่วยเจรจากับสมาชิกให้” นางสุนทรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูล 3 ปีแรก ของแอคทีฟ เท่าที่จัดเก็บมาพบว่า มีสมาชิกกว่า 30 รายประสานงานผ่านบริษัทเรา นำเงินมาลงทุนในกิจการด้านต่างๆรวมเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยยังมีอีกหลายรายที่เข้ามาลงทุนแต่ไม่ได้ผ่านการประสานงานของบริษัทเราจึงไม่มีข้อมูลตรงนั้นไว้ ขณะที่กลุ่มที่เข้ามาท่องเที่ยว ก็เข้ามาจับจ่ายเงินหลายแสนบาทต่อคนต่อทริป ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร และชอปปิ้ง แต่การกระทำขณะนี้ของคณะผู้บริหารและนโยบายของรัฐบาล กลับเหมือนว่าไม่ต้องการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
เตรียมปิดออฟฟิศที่กรุงโซลสิ้นเดือนนี้
นางสุนทรี กล่าวยอมรับว่า ตั้งแต่กระแสข่าวจะปิดกิจการของอีลิทมาปีกว่า ทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น บริษัทจึงไม่สามารถจำหน่ายบัตรได้ แต่ยังต้องมีต้นทุนเรื่องการบริหารจัดการออฟฟิศ รวมแล้วเป็นเงินมากกว่า 15 ล้านบาท และต้องสูญเสียโอกาสหารายได้ที่จะมาจากค่าคอมมิชชั่น 15% ต่อ 1 ใบคิดเป็นเงินราว 120 ล้านบาท เพราะหากเป็นช่วงเหตุการณ์ปกติ แอคทีฟจะหาสมาชิกใหม่ได้ประมาณปีละ 600-800 ราย
ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศที่เป็นเครือข่ายของแอคทีฟ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลี ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น มาเก๊า ฮ่องกง ก็ประสบปัญหาขาดรายได้ และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงานเพื่อคอยให้บริการสมาชิกอีกราวแห่งละ 1-2 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนกว่า 2 ล้านบาท เพราะเกาหลีเป็นตลาดใหญ่ มีสมาชิกบัตรอีลิท มากถึง 750 คน แต่เมื่อไม่มีรายได้ก็คงไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ โดยภายในสิ้นเดือนนี้คงต้องประกาศปิดออฟฟิศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่า สมาชิกผู้ถือบัตรอาจจะต้องเข้าร้องเรียกกับสถานทูตไทย หรือสำนักงาน ททท.กรุงโซล แต่ที่สำคัญคือสมาชิกที่เตรียมเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทย คงมองหาประเทศอื่นแทน เพราะไม่เชื่อมั่นประเทศไทยต่อไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|