ผู้บริหารปูนใหญ่มาถึงยุควิศวะ จุฬาฯบวกเอ็มบีเอ สหรัฐฯ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยคนปัจจุบัน นับเป็นคนไทยคนที่ 4 ดำรงตำแหน่งนี้ (สืบต่อจาก บุญมา วงศ์สวรรค์ สมหมาย ฮุนตระกูล และจรัส ชูโต) ในช่วงประวัติศาสตร์กว่า 70 ปีของปูนใหญ่ และเป็นคนที่สองที่จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนแรก - จรัส ชูโต)

ความจริงคณะวิศวะ จุฬาฯ กำเนิดระยะไล่เลี่ยกับปูนใหญ่ วิศวกรหรือนายช่างจากรั้วชมพูเหล่านี้ (ที่อื่นไม่มี) ได้กลายเป็นกำลังพื้นฐานของโรงปูนต่อเนื่องมา อันเนื่องจากความจำเป็นด้านบุคลากรของอุตสาหกรรมนี้ จนก่อรูปเป็นสังคมที่มีปึกแผ่นในองค์กรไป

ครั้นเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม บุคคลพื้นฐานเหล่านั้นก็ค่อย ๆ ไต่เต้าจากนายช่างเป็นผู้บริหารและจนถึงผู้จัดการใหญ่เป็นเรื่องที่มีประวัติศาสตร์ มีเหตุผลรองรับแม้ว่า จรัส ชูโต หรือพารณ อิศรเสนาฯ ไม่ใช่ลูกหม้อซึ่งแกะกล่องที่ปูนใหญ่เสียทีเดียวก็ตาม หากมองกว้างแล้ว พวกเขาก็คือ "ตัวแทน" พนักงานรากฐานของปูนใหญ่ก็คงไม่ผิดนัก

ประวัติศาสตร์บอกอีกว่า กิจการผลิตปูนซิเมนต์ในประเทศไทยพัฒนาจากอุตสาหกรรมลักษณะผูกขาดเป็นกึ่งผูกขาดการประกอบการเน้นการผลิต (MANUFACTURING ORIENTED) จึงออกมาในรูปของการพัฒนาเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิตในขณะที่โครงข่ายทางการตลาดก่อรูปอย่างเป็นธรรมชาติที่หมุนตามการผลิตอย่างช้า ๆ

ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวเชิงประวัติศาสตร์ของปูนใหญ่ มองว่า ยุคบุญมา วงศ์สวรรค์ ผู้จบเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ (LONDON SCHOOL OF ECONOMICS) สำนักเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นช่วงการรับช่วงจากการบริหารของชาวเดนมาร์ก ยุคสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นการขยายตัวสู่ธุรกิจต่อเนื่องหรือแนวใหม่ เริ่มเรียนรู้การแก้ปัญหาธุรกิจที่สลับซับซ้อน การร่วมทุนกับต่างชาติ รวมไปถึงการแสวงหาเทคโนโลยีหลายทางจากยุโรปไปสู่ญี่ปุ่นและไต้หวัน เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดเป็นยุคเครือซิเมนต์ไทยได้เข้าสู่วงจรธุรกิจแข่งขันอย่างเสรี

ถึง จรัส ชูโต ถือกันว่า เป็นยุคพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นวิชาการบริหารสมัยใหม่

ผู้เชี่ยวชาญบริหารธุรกิจสมัยใหม่ อรรถาธิบายถึงเงื่อนไขบางประการอันเป็นรากฐานของยุคจรัส ชูโตไว้ 2 ประการ

หนึ่ง - การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจไปตามสถานการณ์ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ปูนใหญ่ขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจแขนงต่าง ๆ

สอง - ประสบการณ์ของเครือซิเมนต์ไทยเอง จรัส ชูโต เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทเอสโซ่ สแตนดาร์ด ประเทศไทย อันเป็นช่วงสะสมประสบการณ์ในการบริหารองค์กรสมัยใหม่ งานแรกที่เขามาอยู่เครือซิเมนต์ไทย จรัสก็ต้องปรับประสบการณ์สำคัญครั้งอยู่เอสโซ่เข้ากับปูนใหญ่ด้วย ต่อจากนั้นเขาก็ได้มายืนอยู่ตรงกลางระยะหัวเลี้ยวหัวต่อธุรกิจเน้นการผลิต ไปสู่การเรียนรู้การบริหารด้านการตลาด

"เดือนมีนาคม 2519 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งฐานะของบริษัทในขณะนั้นไม่ค่อยดีนัก เพราะขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี จากสาเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า ภาวะการตลาดมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านปริมาณและราคาในขณะที่ต้นทุนการผลิตของบริษัทอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ประกอบกับการจำหน่ายสินค้าบางชนิดประสบการขาดทุนตลอดมาเป็นเวลานาน รวมทั้งปัญหากำลังคนมีมากกว่างาน…" จรัส ชูโต เล่าเรื่องนี้ในหนังสือครบรอบ 70 ปีของปูนซิเมนต์ไทย (ปี 2526)

แท้ที่จริง บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างเป็นกิจการผลิตสินค้าต่อเนื่องจากปูนซิเมนต์ไทยที่เน้นสำหรับการก่อสร้าง และเป็นบริษัทที่สองจากจุดเริ่มต้นที่ปูนซิเมนต์ไทย และนับหนึ่งที่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย

จรัส ชูโต แสดงฝีมือพลิกฟื้นฐานะของบริษัทในปีถัดมา

ในปีเดียวกันนั้น ทีมงานสำคัญของปูนได้โดดเข้าอุ้มบริษัทสยามคราฟท์ ซึ่งมีปัญหาการบริหารอย่างหนัก มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วยหวั่นเกรงว่า จะกระทบถึงการผลิตปูนซิเมนต์เนื่องมาจากสยามคราฟท์ ผลิตกระดาษคราฟท์สำหรับทำถุงบรรจุซิเมนต์เพียงรายเดียวของประเทศขณะนั้น

ชุมพล ณ ลำเลียง เอ็มบีเอ (ฮาร์วาร์ด) คนแรก ๆ ของปูนได้เข้าไปดูอาการวิเคราะห์ฐานะของกิจการ ก่อนที่ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จะเข้าบริหารค้ำกิจการอยู่พักหนึ่ง และตามมาด้วยการเข้าบริหารอย่างเป็นทางการ โดย อมเรศ ศิลาอ่อน นำทีมจนต่อเนื่องมาถึง ทวี บุตรสุนทร ซึ่งทั้ง 4 อยู่ในกลุ่มผู้บริหารของปูนใหญ่ ซึ่งนำนาวาในช่วง 10 ปีจากนี้ไปอย่างแน่นอน

เมื่อ จรัส ชูโต ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ปี 2523 การพัฒนาบุคลากรด้านบริหาร จึงได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง

"โครงการพัฒนาพนักงานบริหารระดับสูง" เป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยนำเข้าวิชาการบริหารสมัยใหม่จากสหรัฐฯ มาอบรมเพื่อประยุกต์กับประสบการณ์ของเครือซิเมนต์ไทยด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์ดเล่ย์ ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด และเพนซิลวาเนีย เป็นต้น

อันเป็นจังหวะเดียวที่สหรัฐฯ เองก็มีการพัฒนาวิชาการบริหารธุรกิจสมัยใหม่อย่างขนานใหญ่ ผู้จบเอ็มบีเอกลายเป็นสูตรความสำเร็จอันหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลกและสหรัฐฯ อยู่ในภาวะผันผวนอย่างมาก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (เอ็มบีเอ.) ถูกส่งเข้าประเทศไทยด้วย เมื่อผนวกกับความจำเป็นของพัฒนาอุตสาหกรรมและการเล็งการณ์ไกลของผู้บริหารปูนใหญ่ ประตูปูนใหญ่จึงเปิดอ้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารนี้

บางคนวิเคราะห์ว่า การไหลบ่าวิชาการบริหารธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาปูนใหญ่นั้น ยังเป็นการถ่ายทอดวิญญาณการดำเนินธุรกิจแบบอเมริกันด้วยเอ็มบีเอสหรัฐฯ มีแรงขับดันการปีนป่ายสู่ความสำเร็จในการบริหารอย่างสูง มีวิญญาณ RISK TAKER มากกว่าผู้ผ่านการศึกษาจากอังกฤษซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อยู่ในคณะกรรมการของปูนใหญ่ต่อเนื่องมา

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า ในบรรดาผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการขึ้นไปจำนวน 25 คนนี้ มีผู้จบ เอ็มบีเอ. มากขึ้นตามลำดับ และเป็นการสานวิชาวิศวะกับเอ็มบีเอ.โดยส่วนมากด้วย

ผู้สังเกตการณ์บางคนเลยตั้งข้อสังเกต "เด็กอนามัย" ปูนใหญ่ (คนที่ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงอย่างรวดเร็ว) ไว้อย่างน่าฟังว่า นอกจากความสามารถเป็นที่ยอมรับแล้ว คน ๆ นั้นสมควรจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ หนึ่ง - จบปริญญาตรีวิศวะ ถ้าจบจากจุฬาฯ ยิ่งดี สอง - ไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน หรือเรียกกันว่า แกะกล่องที่ปูนใหญ่เลย สาม - เป็นนักเรียนทุน โดยเฉพาะเรียนปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ

ซึ่งพนักงานปูนใหญ่หลายคนค่อนข้างจะเห็นคล้องตามแนวความคิดสำหรับข้อหนึ่ง พารณ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า พนักงานใหม่ของปูนจะมาจากสถาบันไหนไม่สำคัญ หากคนนั้นมีความสามารถและปัจจุบันก็กระจายสู่สถาบันมากขึ้นแล้ว

หากเป็นไปตามสูตรฯ นั้นจริง ๆ ใครจะจัดอันดับ สบสันต์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดต่อจาก อมเรศ ศิลาอ่อน ทวี บุตรสุนทร และชุมพล ณ ลำเลียง ก็มิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ !?!?!?!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.