|
วิวาทะว่าด้วยอัสเตริกซ์
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
หนังสือการ์ตูนที่คลาสสิกที่สุดของฝรั่งเศสเห็นจะเป็นเรื่อง Asterix-อัสเตริกซ์ เป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของฝรั่งเศสในยุคที่ยังเรียกตนเองว่า ลา โกล (La Gaule) พลเมืองเรียกว่า โกลัวส์ (Gaulois)
พระเอกของเรื่องชื่อ อัสเตริกซ์ (Asterix) ตัวเล็กนิดเดียว อยู่ในหมู่บ้านชาวโกลัวส์แห่งสุดท้ายที่สามารถต้านทาน การรุกรานของกรุงโรม ซึ่งนำโดยจูเลียส ซีซาร์ (Juliuis Cesar) ฝรั่งเศสเรียก จูลส์ เซซาร์ (Jules Cesar) เพียงเพราะหมู่บ้าน แห่งนี้มี "พ่อหมอ" ที่สามารถปรุงยาวิเศษ (potion magique) พระเอกร่างเล็กอย่าง อัสเตริกซ์จึงแข็งแกร่งและสามารถปราบปรามทหารโรมันทั้งกองทัพในชั่วพริบตา
อัสเตริกซ์มีผู้ช่วยที่เป็นเพื่อนซี้ รูปร่างอ้วนใหญ่และทรงพลัง เพราะในวัยเด็กเคยตกลงในหม้อปรุงยาวิเศษของ "พ่อหมอ" จึงแข็งแรงกว่าคนอื่นแม้จะไม่ได้ดื่มยาวิเศษของ "พ่อหมอ" อีกก็ตาม หนุ่มเหน้านี้ชื่อ Obelix-โอเบลิกซ์ มีหน้าที่ แบกแท่นหินที่เรียกว่า menhir ไปส่งตาม ที่ต่างๆ โดยมีหมาน้อยชื่อ Idefix-อิเดฟิกซ์ ติดตามไปทุกแห่งหน
Asterix ถือกำเนิดในเดือนตุลาคม 1959 ด้วยสมองอันเฉียบแหลมของเรอเน กอสซีนี (Renee Goscinny) ผู้เขียนบท และฝีมือการเขียนรูปของอัลแบรต์ อูแดร์โซ (Albert Uderzo) นอกจากจะเผชิญกับพวกโรมันแล้ว อัสเตริกซ์ยังมีวีรกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การต่อกรกับชาวอังกฤษ ชาววิซิโกธ ชาวเยอรมัน เป็นต้น ความเฉียบแหลมอยู่ที่บทสนทนาและการนำประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่อง รวมทั้งการนำข้อความในวรรณกรรมมาประยุกต์ กับเรื่อง ดังเช่น ยามที่อัสเตริกซ์ได้พบคลีโอพัตราจะรำพึงอยู่เนืองๆ ว่า ถ้าเพียง แต่จมูกจะสั้นกว่านี้ เพียงเพราะลา โรชฟูโกลต์ (La Rochefoucault) นักเขียนคติพจน์ชาวฝรั่งเศสเคยเขียนว่า หากคลีโอพัตรามีจมูกสั้นกว่านี้ โฉมหน้าของประวัติศาสตร์คงเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอ่าน Asterix ฉบับภาษาฝรั่งเศสให้สนุก จึงต้องมีพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และหากมีทักษะด้านภาษาฝรั่งเศสด้วยแล้ว จะยิ่งอ่านสนุก เพราะบรรดาชื่อตัวละครล้วนแต่มีความหมายทั้งสิ้น ซึ่งยังสอดคล้องกับลักษณะและพฤติกรรมของตัวละคร ความชาญฉลาดของผู้แต่งยังอยู่ที่ชื่อของชนชาติต่างๆ หากลงท้ายด้วย ix จะเป็นชาวโกลัวส์ ชื่อชาวอังกฤษลงท้ายด้วย ic ชื่อชาวโรมันลงท้ายด้วย us เป็นต้น
Asterix ก้าวตามโลกด้วย เมื่อมีการแข่งกีฬาโอลิมปิกที่เม็กซิโก เรอเน กอสซีนี และอัลแบรต์ อูแดร์โซก็รังสรรค์ให้อัสเตริกซ์ไปแข่งกีฬาโอลิมปิกด้วยหรือ เมื่อภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตราออกฉายก็มี Asterix et Cleopatre หรือเมื่อมีการแข่งจักรยาน Tour de France ก็มีตอน Tour de la Gaule เป็นต้น
Asterix ได้รับการแปลเป็นภาษา ต่างประเทศด้วย ผู้แปลต้องมีความเฉียบคมไม่แพ้ผู้เขียน เพราะสามารถแปลงชื่อตัวละคร โดยนำสำนวนในภาษานั้นๆ มาแปลง ผู้อ่านจึงได้อรรถรสไม่แพ้ฉบับภาษาฝรั่งเศส
แล้วในปี 1977 แฟนของ Asterix ก็ต้องตกตะลึงด้วยว่าเรอเน กอสซีนีเสียชีวิตอย่างกะทันหันทิ้งให้อัลแบรต์ อูแดร์โซ งงงวยกับชีวิตอยู่สองปี หลังจากนั้นจึงหันมาสรรค์สร้าง Asterix ตอนใหม่ๆ เพียงลำพัง โดยเลิกพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Dargaud และหันมาพิมพ์ที่ Albert Rene สำนักพิมพ์ที่อัลแบรต์ อูแดร์โซตั้งขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อหน้าของเขาและเพื่อนมาตั้งและ บริหารโดยซิลวี อูแดร์โซ (Sylvie Uderzo) ลูกสาวของเขา
ในเดือนธันวาคม 2008 อัลแบรต์ อูแดร์โซขายสำนักพิมพ์ Albert Rene แก่กรุ๊ป Hachette โดยที่ซิลวี อูแดร์โซไม่เห็นด้วย อัลแบรต์ให้สัมภาษณ์ว่าตนไม่ได้ต้องการเงิน หากเพราะเขาอายุมากแล้ว จะครบ 82 ปีในเดือนเมษายน 2009 และต้องการเห็นตัวละครที่ตนสร้างสรรค์อยู่ยงคงกะพัน จึงอยากส่งมอบ Asterix ให้สำนักพิมพ์ที่มีความมั่นคงซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย Asterix มานานปี เขาจึงขายหุ้น 40% ที่ถืออยู่แก่กลุ่ม Hachette โดยที่อานน์ กอสซีนี (Anne Goscinny) ลูกสาว ของเรอเน กอสซีนีได้ขายหุ้น 20% ในวาระเดียวกัน อัลแบรต์ อูแดร์โซไม่ต้อง การให้สำนักพิมพ์ Albert Rene ตกแก่ลูกสาวของตนที่ถือหุ้น 40% หรือโดยเฉพาะแก่แบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซี (Bernard Boyer de Choisy) ผู้เป็นลูกเขย
การตัดสินใจของอัลแบรต์ อูแดร์โซทำให้ซิลวี อูแดร์โซไม่พอใจเป็นอันมาก และไม่ลังเลที่จะออกความเห็นในหนังสือ พิมพ์เลอ มงด์ (Le Monde) ตำหนิติเตียนบิดาและกล่าวว่ามีผู้ชักจูงบิดาในทางที่ผิด ฝ่ายอัลแบรต์ อูแดร์โซ เสียใจกับการกระทำของลูกสาวมาก หลังจากเงียบอยู่หลายเดือนจึงออกมาให้สัมภาษณ์ เสียใจที่ลูกสาวถูกสามีครอบงำ เขาไม่พอใจการทำงานของแบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซี อีกทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของลูกเขย อัลแบรต์ อูแดร์โซค้นพบว่าแบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซียักยอกทรัพย์สินของตน สืบเนื่องจากว่า อัลแบรต์ อูแดร์โซให้ Fondation Raymond Lablanc ยืมต้นฉบับ Asterix ตอน Oumpah-pah le Peau Rouge เพื่อนำไปจัดนิทรรศการ ทว่าแม้การแสดง นิทรรศการสิ้นสุดลงแล้ว เขาไม่ได้รับต้นฉบับดังกล่าวคืน สอบถามได้ความว่า Fondation Raymond Lablanc ส่งคืน ผ่านแบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซีมานานแล้ว จวบจนบัดนี้ อัลแบรต์ อูแดร์โซไม่ได้ เห็นต้นฉบับเรื่องนี้อีกเลย
เมื่อซิลวีแต่งงานกับแบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซีนั้น อัลแบรต์ อูแดร์โซ ให้ต้นฉบับเรื่อง La Rose et le Glaive เป็นของขวัญแต่งงาน หากเขาค้นพบในภายหลังว่าต้นฉบับดังกล่าวถูกนำออกขายประมูล ในเรื่องนี้แบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซียอมรับว่า ตนเป็นผู้นำออกขายเพราะโกรธที่พ่อตาให้เขาออกจากงาน
ความไม่ลงรอย ความหวาดระแวง ทำให้ยากที่จะร่วมงานกันต่อไป ในวันที่ 14 ธันวาคม 2007 อัลแบรต์ อูแดร์โซก็ ให้ลูกสาวออกจากงาน ซิลวี อูแดร์โซจึง ยื่นฟ้องบิดาที่เลิกจ้างตนอย่างไม่เป็นธรรม ศาลตัดสินในเดือนมีนาคม 2009 ให้อัล แบรต์ อูแดร์โซชดใช้ค่าเสียหายแก่ซิลวีเป็นเงิน 270,000 ยูโรพร้อมดอกเบี้ย
ในขณะเดียวกัน อัลแบรต์ อูแดร์โซ ก็ยื่นฟ้องต่อศาลว่าแบร์นารด์ บัวเยร์ เดอ ชัวซียักยอกทรัพย์สินของตน
ในการขายสำนักพิมพ์ Albert Rene แก่กลุ่ม Hachette อัลแบรต์ อูแดร์โซมอบสิทธิให้ Hachette ผลิตผลงาน ใหม่ๆ ของ Asterix ด้วย ทั้งๆ ที่แต่เดิมนั้น เขาคิดว่า Asterix คงจะ "ตาย" ไปพร้อมๆ กับเขา หากเมื่อเห็นว่าการ์ตูนชุดอื่นๆ อาทิ Lucky Luke หรือ Les Schtroumpfs หรือ Blake et Mortimer ต่างก็มีผู้เขียนต่อหลังจากที่ผู้ให้กำเนิดตัวละครเหล่านี้ถึงแก่กรรม และยังคงเป็น การ์ตูนขายดี ในขณะที่การ์ตูนชุด Tintin ประสบปัญหาหลังจากที่แอร์เจ (Herge) เสียชีวิต อัลแบรต์ อูแดร์โซ จึงเปลี่ยนใจให้สิทธิในการพัฒนาตอนใหม่ๆ ขึ้นด้วย และตราบใดที่เขายังไม่ตาย เขาจะยังคงเขียน Asterix ต่อไป
อัลแบรต์ อูแดร์โซกำลังเตรียม Asterix ตอนใหม่ในโอกาสที่ Asterix มีอายุครบ 50 ปี ซึ่งจะวางจำหน่ายในวันที่ 22 ตุลาคม 2009 ส่วนบรรดาต้นฉบับ Asterix นั้น เขาจะมอบสองเรื่องแรกแก่หลาน ส่วนที่เหลือจะมอบให้หอสมุดแห่งชาติ เพราะไม่ต้องการให้ผลงานของตนตกอยู่ในมือของลูกสาวและลูกเขย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|