|
รสชาติอาหารเมือง หลังตามคณะ พอ.สว. ลงจากดอยสามหมื่น
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2522 ณ พระราชตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่อยู่ห่างไกล ตามป่าเขา ถนนหนทางเข้าไปไม่ถึง ยากต่อการเดินทางไปรักษายามเจ็บไข้ ซึ่งควรจะมีแพทย์เข้าไปดูแลรักษา อย่างน้อยเดือนละครั้งสองครั้ง คือจุดกำเนิดของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี (พอ.สว.) ในปัจจุบัน
โดยทรงจัดตั้งเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น พอ.สว.ทีมแรกที่ได้ออกตรวจรักษาคนไข้ ที่บ้านสามหมื่น อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยมี นพ.ระเบียบ ฤกษ์เกษม เป็นหัวหน้าหน่วย นพ.ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ และปราณีต สวัสดิรักษา เป็นผู้ช่วยตามพระราชประสงค์ของ "สมเด็จย่า" สถานที่ที่หน่วย พอ.สว.จะต้องออกปฏิบัติการต้องเป็นจุดที่รถเข้าไปไม่ถึงหรือไม่สะดวก
การเดินทางไปสู่บ้านสามหมื่นครั้งนั้นจึงต้องไป โดยเฮลิคอปเตอร์ นำมาซึ่งความตื้นตันและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด
เมื่อปี พ.ศ.2516 สมเด็จพระบรมราชชนนีฯ ทรงให้เริ่มทดลองใช้วิทยุรับ-ส่งสำหรับแพทย์ติดต่อกับคนไข้โดยตรง ตามสถานีอนามัยที่อยู่ห่างไกล เพื่อปรึกษาโรคและแนะนำการรักษา เมื่อทรงเห็นว่าจะเป็นงานที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทได้และเป็นการติดต่อกันได้ทุกวันทุกเวลา เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ เป็นสถานีแพทย์ทางอากาศแห่งหนึ่ง เรียกว่าแพทย์ทางอากาศ โดยการรับส่งทางวิทยุ ที่ต่อมาเรียกว่า "แพทย์ทางวิทยุ" ซึ่งอยู่ที่ชั้น 7 ของอาคารบุญสม มาร์ติน และมีแพทย์เวรอาสา เป็นผู้ให้คำแนะนำในการรักษาผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหนัก ก็ส่งมาทางเฮลิคอปเตอร์มาลงที่สนามฟุตบอลหน้าคณะแพทย์ แต่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั่วถึงแล้วแพทย์อาสาจึงมีบทบาทน้อยลง
สมเด็จพระศรีนครินทราบบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นว่า กิจการและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประสบผลและเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1 ล้านบาท เป็นทุนแรกเริ่มจดทะเบียนตั้งเป็น "มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)" เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2517 โดยพระองค์เป็นนายิกากิตติมศักดิ์
ในส่วนของคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีความร่วมมือกับ พอ.สว.โดยตลอดมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และในปัจจุบันก็ยังคงทำหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายยาและวัสดุภัณฑ์ให้กับ พอ.สว.จังหวัดเชียงใหม่เรื่อยมา โดยมีสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานที่มาร่วมดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการในด้านอื่นๆ
โดยรวมตั้งแต่ก่อตั้งมีการออกหน่วย พอ.สว.ของจังหวัดเชียงใหม่แล้วรวม 1,144 ครั้ง จำนวนผู้ป่วย 126,333 คน
นอกจากนี้ยังมีโครงการทดลองแพทย์ทางโทรศัพท์พอ.สว. ให้การรักษาพยาบาลและช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือในการติดต่อแพทย์เพื่อสั่งการรักษาแก่ผู้ป่วยซึ่งมารับบริการที่สถานีอนามัย
มูลนิธิ พอ.สว.มีวัตถุประสงค์และกิจกรรม คือการจัดหาและส่งเสริมให้มีแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือให้การรักษาพยาบาล ป้องกันโรค ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นทุรกันดารหรือห่างไกลคมนาคม หรือท้องถิ่นที่คณะกรรมการกำหนด หรือให้การรักษาโรคต่างๆ โดยการผ่าตัด ได้แก่ ตาต้อกระจก ปากแหว่ง-เพดานโหว่ ปลูกแก้วหูเทียม ใส่อุปกรณ์แขน-ขาเทียม ฟันคุด หัวใจรูมาติกและหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคไตซึ่งมีภาวะไตวายขั้นสุดท้าย และรักษาด้วยการเปลี่ยนไตจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ บริการด้านสาธารณสุข
พอ.สว.มี 2 ประเภทด้วยกันคือ
อาสาสมัครสามัญ ได้แก่ อาสาสมัครสายการแพทย์หรือสาธารณสุข เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น
อาสาสมัครสมทบ ได้แก่ ผู้ที่ศรัทธาในกิจการ พอ.สว. ช่วยทำงานในด้านอื่นๆ นอกจากสายการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจุบันมีจังหวัดแพทย์อาสารวมกว่า 51 จังหวัด และอาสาสมัคร พอ.สว. จำนวน 30,000 กว่าคน
บ้านสามหมื่นเป็นที่อยู่อาศัยชุมชนชาวไทยภูเขาหลายเผ่าด้วยกัน เช่น มูเซอ ปะหร่อง จีนฮ่อ และชาวไทยใหญ่ เป็นต้น อาชีพส่วนใหญ่ ปลูกกาแฟ ลูกท้อ ลูกไหน และปลูกพืชผักเมืองหนาวเป็นอาชีพหลัก
ชาวเขาเผ่ามูเซอ เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่ทิเบต โดยอยู่ร่วมกับอีก้อ และลีซอ ต่อมาได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศจีน พม่า ลาว และประเทศไทย จะพบที่ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ โดยจะแบ่งเป็นมูเซอแดง มูเซอดำ มูเซอเหลือง และมูเซอลี อาศัยอยู่รวมกัน
เผ่าปะหร่อง มีถิ่นกำเนิดที่รัฐฉาน ประเทศพม่า และได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะการยึดถือประเพณีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
จีนฮ่อ ถิ่นฐานเดิมประเทศจีน และได้อพยพมาอยู่ชายแดนไทย-พม่า เชียงใหม่ เชียงราย เพื่อหลีกหนีจากการปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน โดยใช้ประเทศไทยเป็นเกาะกำบังจากการรุกรานจากรัฐบาลจีน ซึ่งในขณะนั้นได้มีการขยายลัทธิ ปัจจุบันได้อนุญาตให้ชาวจีนฮ่อที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่อาศัยในพื้นที่ที่จัดไว้สำหรับชุมชนชาวจีนฮ่อโดยเฉพาะ
ชาวไทยใหญ่หรือ "ไต" จะอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน พม่า ลาว และไทย เดิมอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันชาวไทยใหญ่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมและการแต่งกายแบบดั้งเดิมไว้
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณใน "สมเด็จย่า" เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีและทีมงาน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก พร้อมหน่วยแพทย์ พอ.สว.ออกปฏิบัติหน้าที่ให้บริการตรวจรักษาประชาชน ตามรอยพระราชกรณียกิจสมเด็จย่า โดยมี ศ.นพ.ยงยุทธ สัจจวาณิย์ แม้อายุจะย่างเข้าหลักแปดแล้วก็ตาม แต่ยังมีจิตใจมุ่งมั่นเหมือน 40 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ร่วมเดินทางไปตรวจรักษาชาวบ้านกับเหล่า พอ.สว. ณ หมู่บ้านสามหมื่นอีกครั้ง
Order by Jude ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของกลุ่มหน่วยแพทย์อาสาในครั้งนี้ด้วย
จากเชียงใหม่ในช่วงบ่ายคล้อยเดินทางสู่ปายโดยทางหลวงหมายเลข 107 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตลาดแม่มาลัยไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย-ปาย ถนนลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาชื่นชมทิวทัศน์ป่าเขาแมกไม้สายธารสอดส่องสายตาไปตามประสา ตลอดการเดินทาง บางคนรู้ตัวเองว่า จะมีอาการเมารถ ได้ใช้ยาระงับความเมานอนพิงพนักเบาะ นอนหลับตาไปตลอดการเดินทาง ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงขึ้นลงเนินเขาสลับกันไปเข้าสู่ตัวเมืองปาย ดินแดนแห่งมนตร์เสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่ไขว่คว้าหาธรรมชาติ เมืองที่ยังมีกลิ่นอายความเป็นตัวของตัวเองที่ยังจะพึงหาได้บ้าง บ้างบอกว่าเป็นเมืองที่น่ารัก คิขุสำหรับคนในวัยใส
แต่ในวันนั้นอากาศไม่เป็นใจ ทำให้ต้องแอบผิดหวังเล็กน้อย เมื่ออุณหภูมิในปรอทพุ่งปรี๊ดอย่างไม่เกรงใจสูงถึงกว่า 38 องศาเซลเซียส ซึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ร้อนตับแลบ หรือร้อนจนตับจะแตกนั้นแหละครับ แม้ที่พักของพวกเราจะตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำปายก็ตาม ก่อนเข้านอนเปิดเครื่องปรับอากาศแล้ว แต่เหมือนว่าเครื่องทำความเย็นไม่ทำงานเอาเสียเลย
แม่น้ำปายเป็นแม่น้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาแดนลาวในเขตอำเภอปายแล้วไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ตลอดลำน้ำปายนี้สามารถล่องแพได้
ช่วงหัวค่ำพาไปเดินเล่นชมเมือง เพื่อรับรู้ถึงเสน่ห์ตามที่ผู้คนกล่าวขาน หรือบรรยากาศที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ไทยบางเรื่อง แต่โชคร้ายซ้ำสอง เมื่อร้านรวงที่เคยเลื่องลือไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก สินค้าพื้นเมืองต่างพากันขึ้นป้ายประกาศว่าจะเปิดในเดือนหน้า สอบถามร้านข้างๆ ที่ยังเปิดขายอยู่ บอกว่าร้านเหล่านั้นไปกรุงเทพฯ (ว่ากันว่าคนกรุงมาหุ้นเปิดร้านกันเอง) เที่ยวทะเลหลังสงกรานต์ ส่วนถนนคนเดินได้รับผลกระทบจากเม็ดฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ ทำให้มีให้เห็นและสัมผัสเพียงเล็กน้อย
ร้านบริการอินเทอร์เน็ตมีให้เห็นทั่วไปและมีจำนวนมาก เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ และร้านที่ติดตั้งทีวีจอยักษ์ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวได้นั่งเชียร์และชมฟุตบอลในแมตช์ต่างๆ ในบรรยากาศสงบเงียบ น่ารักจัง
เมื่อมาถึงเมืองปายทำให้นึกได้ว่าเคยมาสัมผัสบรรยากาศแถบนี้มาแล้วถึงสองครั้งสองครา สมัยนั้นจำได้ว่าความเจริญ ไฟฟ้า ประปายังมาไม่ถึง ที่พักซึ่งน่าจะเรียกว่า โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นกระท่อมหลังย่อมนอนเรียงกันเป็นแถว เสียค่าเช่าเสื่อผืนหมอนใบในราคาคนละ 20 บาท (พูดยังกับอยู่ในสมัยนี้ บรรพบุรุษชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย) ส่วนห้องน้ำ ห้องส้วมกั้นสี่เหลี่ยมหลังคาเปิดโล่งมองเห็นท้องฟ้าที่สดใส ส่วนอาหารมื้อเช้าเป็นแพนเค้กกับกล้วยน้ำว้า กาแฟ หรือนมไว้บริการ ก่อนจากแขกผู้มาเยือนจะลงนามในสมุดว่าเคยมาเยือนถิ่นนี้แล้ว
ครั้งนี้เกือบ 20 ปีให้หลัง จึงพบสัจธรรมกับคำว่าความเจริญเข้าไปเยือน ณ ที่ใดแล้ว ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
7 โมงเช้า ผู้ร่วมเดินทางพร้อมแล้วออกเดินทางย้อนจากปายเพื่อไปพบกับคาราวานคณะ พอ.สว. ณ ที่นัดหมายคือบริเวณที่ทำการอุทยานห้วยน้ำดัง
อุทยานห้วยน้ำดัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ และอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีภูเขาที่สูงที่สุดคือดอยช้าง (ถิ่นปลูกกาแฟ) เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ที่ทำการอุทยานอยู่แยกจากทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย กิโลเมตรที่ 65-66 ไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตรจะมีจุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง หรือที่รู้จักในนามดอยกิ่วลมเป็นจุดชมวิวที่ให้ความสวยงามและมีชื่อเสียงมาก การชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่และพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งมีความงดงามมาก
โป่งเดือดป่าแป๋ บ่อน้ำพุร้อนแบบไกเซอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงและแรงดันสูงมาก ลักษณะน้ำพุร้อนพุ่งสูงตลอดเวลา บางครั้งพุ่งสูงถึง 2 เมตร มีกลิ่นค่อนข้างแรง
การเดินทางในวันนี้เริ่มพบกับอุปสรรค อากาศเริ่มมืดครึ้มตลอดเวลา ฝนจากฟ้าเริ่มโปรยปรายลงมาเป็นระยะ จนในที่สุดใกล้ถึงที่นัดหมาย ทุกคนตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจกับทะเลหมอก เมื่อถึงบริเวณที่ทำการอุทยานท้วยน้ำดัง ทุกคนกุลีกุจอลงจากรถมองหามุมบริเวณรอบๆ หาวิวทิวทัศน์กดชัตเตอร์เพื่อเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกท่ามกลางทะเลหมอกกันยกใหญ่ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเรื่องส่วนตัวก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจุดหมาย ทุกคนต่างขึ้นรถ ซึ่งมีทั้งรถทหารยีเอ็มซี และรถขับเคลื่อนสี่ล้อจำนวนรวม 12 คัน
ทันทีที่เสียงเครื่องยนต์ดังขึ้น ล้อเริ่มเคลื่อน พายุฝน เริ่มกระหน่ำทันควัน และหนักขึ้นเป็นลำดับ เมื่อรถเคลื่อนไปได้สักพักถนนลาดยางเริ่มกลายเป็นถนนดินแดง หนทางเริ่มคดเคี้ยวลัดเลาะหุบเหวไปตามไหล่เขา ขึ้นเนินลงหล่มสลับกันไป ด้านหนึ่งจะมองเห็นผนังเขาส่วนอีกด้านจะมองเห็นหุบเหวสูงชันตลอดเวลา ทำให้ทุกคนต่างมุ่งมั่น ตั้งสติ รวบรวมสมาธิ รถวิ่งไต่ไหล่เขาเริ่มกวาดกิ่งไม้ใบหญ้าที่โน้มกิ่งระทางลงมาตลอดทางที่วิ่งผ่าน ทุกคนต้องนั่งอย่างระมัดระวัง บางครั้งจะได้ยินเสียงกรีดร้องอย่างสนั่นหวั่นไหวเมื่อเกิดอาการรถแฉลบออกนอกลู่วิ่งกลัวดิ่งลงเหว หรือตกหลุมตกร่องกระแทกกระทั้นกระดูกกระเดี้ยวแทบเคลื่อน ซึ่งเป็นอย่างนี้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง เมื่อรถลงเนินพบป้ายชื่อชุมชนหรือผ่านหมู่บ้านเสียงเฮจะดังขึ้นเป็นระยะ เพราะทุกคนคิดว่าจบสิ้นจากการผจญภัยแบบวิบากเสียที
แต่ในใจผมคิดว่าได้มาทำรายการสารคดีท่องเที่ยวที่ทุกครั้งเข้าหมู่บ้านครั้งใดคราใดก็ตาม รถจะต้องพบเจอกับอุปสรรครถยนต์ตกหล่มจมโคลน ต้องขอความช่วยเหลือลากจูงด้วยความทุลักทุเลกันตลอดรายการ
บางครั้งขบวนรถต้องหยุด เพราะคันข้างหน้าเกิดตกหลุมลึกขับเคลื่อนต่อไม่ได้ ทหารซึ่งร่วมคณะเดินทางมากับเราจะวิ่งตากฝนฝ่าทะเลโคลนเพื่อช่วยอำนวยการให้การเดินทางของคณะไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้โดยปลอดภัย เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่ากว่า 20 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ในที่สุดทุกคนโล่งอก ด้วยอาการหนาวสั่น (เพราะฝนสาดเปียกไปทั้งตัวตลอดเวลา) เมื่อขบวนของเราคืบคลานสู่เป้าหมาย เห็นภาพชาวเขา ชาวบ้านในชุดต่างเผ่าพันธุ์กว่า 300 ชีวิต ยืนรอคอยการมาของ พอ.สว. ด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข อย่างมีความหวังท่ามกลางสายฝนที่กระหน่ำไม่หยุดเสียที
การเดินทางมาครั้งนี้ทำให้มีรถในขบวนที่ขนเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจคัดกรองมะเร็ง และรถที่บรรทุกของบริจาคที่จะนำมาแจกจ่ายแก่ประชาชนเกิดติดหล่มไม่สามารถเข้ามาถึงพื้นที่ได้
วันนี้เราได้ผ่านพบเจอสภาพอากาศหลากรูปแบบทั้งทะเลหมอก ทะเลโคลนและพายุฝน ทำให้ได้ความรู้สึกที่หลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ทำให้ได้เรียนรู้และรู้ซึ้งถึงคำว่าถิ่นทุรกันดารนั้นหมายถึงอะไรเป็นอย่างไร มีความหมายเช่นไร
แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต่างกุลีกุจอเปลี่ยนแปลงห้องเรียนของโรงเรียนชุมชนบ้านสามหมื่นให้กลายเป็นโรงพยาบาลย่อมๆ มีห้องเวชระเบียน ห้องตรวจคนไข้ ห้องจ่ายยา ส่วนหมอสูฯ ที่เครื่องมือแพทย์มาไม่ถึงนั้นได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตรวจคนไข้แผนกอื่นแทน ผู้ที่มารับบริการซึ่งมีตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงคนในวัยชรา โดยเฉพาะคนไข้ที่เคยได้รับบริการเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยังมีมาให้ตรวจรักษาอีกด้วย ซึ่งบางครั้งบางคนไม่เข้าใจภาษาไทย สื่อสารไม่ได้จะมีลูกหลานเป็นล่ามช่วยถ่ายทอดให้คุณหมอผู้ตรวจได้รับรู้เรื่องและเข้าใจ
นพ.ยงยุทธ์เล่าว่า เมื่อสมัยครั้งแรกเข้ามานั้นจะพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นในเรื่องของความเชื่อเรื่องพ่อมดหมอผี แต่เมื่อเข้ามารักษาแล้ว เขาหายป่วย เขาดีขึ้นสบายขึ้น ชาวบ้านก็จะเข้าใจ ทั้งนี้ต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน และประสบการณ์อื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับบรรดาแพทย์ร่วมคณะโดยเฉพาะแพทย์ในวัยหนุ่ม วัยสาว ผู้ที่มีจิตสาธารณะ จิตอาสาทั้งหลายได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาได้ฝึกฝนจิตใจ ตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 1 ติดตามรุ่นพี่ไปในชนบทเพื่อตรวจรักษาคนไข้หรือออกค่ายอาสาในช่วงชีวิตนักศึกษา นอกจากนี้ต้องมีจิตสำนึกความมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม ดูแลรักษาคนไข้ผู้ป่วยผู้ยากไร้อย่างทั่วถึง มีคุณธรรม จริยธรรมในอาชีพ สิ่งเหล่านี้ได้ตัวอย่างจากรุ่นพี่ๆ การทำให้ทุกคนมีสุข เราก็จะสุขไปด้วย หรือการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง การเป็นตัวอย่างที่ดีของรุ่นพี่ๆ เหล่านี้เป็นเบ้าหลอมที่ดีเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับสังคมในยุคนี้
เมื่อพูดคุยกันได้พอสมควร จะทราบว่าแพทย์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เคยเป็นนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แทบทั้งสิ้น การออกหน่วยแพทย์ครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเฉลิมฉลองที่คณะแพทยศาสตร์จัดตั้งครบ 50 ปี ในปีนี้โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าทางด้านวิชาการและการตรวจรักษาบริการผู้ป่วยไข้ตลอดปี
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในส่วนภูมิภาค และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามของประเทศไทย
1 มกราคม 2502 โอนโรงพยาบาลเชียงใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
19 กรกฎาคม 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
16 มีนาคม 2508 โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มาสังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ทุกคนเรียกติดปากว่าโรงพยาบาลสวนดอก เพราะตั้งอยู่บริเวณประตูสวนดอก)
หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางอันทรหดกลับเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ทำให้นึกถึงความสุขในการกินขึ้นมาทันที
สำหรับเรื่องของการกินในครั้งนี้จะเน้นกลิ่นอายความเป็นล้านนาจริงๆ ซึ่งมีร้านที่มีอยู่ในใจมากมายหลายสิบร้าน มีการปรุงอาหารหรือรสชาติมีความใกล้เคียงกัน จุดเด่นจุดขาย บรรยากาศ สถานที่แตกต่างกันออกไป แต่พอดีเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมต้องมีภารกิจมาเชียงใหม่ และเพื่อนสนิทคนเมืองพาชิมอาหารเมือง แต่การที่มาชิมร้านนี้อีกครั้ง เพราะรสชาติและบรรยากาศตรงสเป็ก
อาหารของชาวภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยข้าวนึ่งจิ้มกับน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกตาแดง ตำมะเขือยาว น้ำปู๋ แคบหมู (ถ้าคนเมืองจะรับประทานแบบติดมันหนา) ส่วนประเภทแกงจะเป็น ฮังเล แกงแค แกงขนุน แกงโฮะ อ่อมหมู น้ำเงี้ยว ข้าวซอย ลาบคั่ว นอกจากนี้มีไส้อั่ว แหนมหม้อ จิ้นปิ้ง หมูทอดพร้อมผักสด ผักต้มนานาชนิด
อาหารที่คนพื้นเมืองชอบจริงๆ และนิยมเรียกหารับประทานกันเป็นประจำ "จิ้กุ่ง" ทอด ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ลำขนาด ลำจั๊ดนัก"
รสชาติอาหารของชาวเหนือโดยปกติจะออกเค็มนำเล็กน้อยเป็นรสกลางๆ แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อการตลาด แต่ยังคงเสน่ห์เหมือนเดิมไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปแต่ประการใดเลย
Order by Jude จะพาลัดเลาะไปร้านอาหารพื้นเมือง โดยมีอาหารไทย จีน ไว้เป็นทางเลือกสำหรับบางคนที่ไม่ถนัดอาหารเหนือนัก
บนถนนชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ ฝั่งตรงข้ามถนนทางไปพืชสวนโลก
จะมองเห็นบ้านไม้หลังใหญ่ตั้งตระหง่านงามสง่า ดูร่มรื่นอวดสายตาผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนนี้ บรรยากาศที่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติริมดอยสุเทพ มองเห็นดอยสุเทพได้โดยรอบด้านถ้ายิ่งได้มีโอกาสมาดื่มด่ำในยามค่ำคืนด้วยแล้วจะได้บรรยากาศ ตื่นตาตื่นใจกับแสงสีไฟระยับระยับ อากาศเย็นสบายไปอีกแบบ
การตกแต่งร้านออกแนวล้านนาประยุกต์ วัสดุสิ่งของที่ใช้ประกอบเป็นการเพิ่มสีสันให้สะดุดตา สะดุดใจ โดยเน้นวัสดุพื้นบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเหนือ ไม่ว่าจะเป็นไม้สลัก เงินสลัก โคมไฟ ซึ่งทำให้ได้บรรยากาศกลิ่นอายความเป็นล้านนาได้มากที่สุด
บริเวณร้านนั้นจะเลือกภายในเรือนไม้ หรือระเบียงภายนอกอาคาร ซึ่งในส่วนนี้จะมีการแสดงดนตรีสดในสไตล์เพลงพื้นเมือง โฟล์กซองและอะคูสติก
สำหรับชั้นสองของร้าน ใช้เป็นห้องรับรอง ห้องสัมมนา จัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ จุได้ถึง 50 คน มีคาราโอเกะไว้บริการ การไปรับประทานอาหารในครั้งนี้ ได้พบกับแม่หญิงชาวเมืองเหนือแต้ๆ ในชุดพื้นเมืองเกล้าผมทัดดอกไม้เหมือนดังได้ไปอยู่ในยุคสมัยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ทำให้นึกถึงเอี้องงามฟ้อนต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในขบวนใหญ่
ปรียนันท์ สุวัฒนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ "บ้านแก้ว เฮือนคำ" ทำให้ได้รับความประทับใจในความรักในการอนุรักษ์รักษาคุณค่า ขนบธรรมเนียมประเพณีในสิ่งที่บรรพบุรุษชาวล้านนาในอดีตที่ได้สั่งสมและยังมีเหลือไว้ให้เป็นสมบัติถึงลูกหลานจนทุกวันนี้
ยิ่งมาฟังเธอคุยในเรื่องอาหารการกินด้วยแล้วยิ่งซึ้งใจ และชื่นใจขึ้นอีกมากโข โดยเธอบอกกับเราว่าเธอชอบเข้าครัวมาตั้งแต่เป็นละอ่อนและคิดว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์เสน่ห์ปลายจวักของความเป็นล้านนา เสน่ห์อาหารพื้นเมือง พื้นบ้านให้อร่อยล้ำ เช่นในอดีต อนุรักษ์พืชผักพื้นเมืองที่ใช้ปรุง เพื่อให้ชาวต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมได้รู้ได้เห็นได้สัมผัส
แม้ว่าร้านนี้จะเปิดให้บริการยังไม่ครบ 2 ปีก็ตาม แต่ความนิยมชมชอบของคนเมืองด้วยกันเอง หรือนักชิมต่างถิ่น ต่างให้การยอมรับในบรรยากาศและรสชาติอาหารสิ่งเหล่านี้ เป็นกำลังใจทำให้เธอมีความมุ่งมั่นที่จะต้องเดินทางต่อสู้ เพื่อการอนุรักษ์งานนี้ไปให้ถึงที่สุดต่อไป
สำหรับอาหารแนะนำ แขกผู้มาเยือนที่สั่งมาลิ้มลองเป็นอันดับหนึ่งของร้าน คือเมนูที่ใช้ชื่อว่า ปลาช่อนไร้ก้าง เมนูนี้เริ่มด้วยการนำเนื้อปลานึ่งแต่ไม่ต้องสุกมากนัก ดึงก้างออกแล้วเอาเนื้อปลามาคลุกกับหมูส้มพร้อมเครื่องเทศต่างๆ สำหรับการดึงก้างปลาต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้หนังปลาฉีกขาด เพื่อที่จะนำส่วนผสมใส่กลับเข้าไป แล้วจึงนำตัวปลาไปทอดให้เหลืองกรอบ เป็นอันเสร็จกรรมวิธี
แกงแคไก่ เป็นอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการอีกหนึ่งเมนู โดยจานนี้จะใช้เนื้อไก่ ผักตำลึง ยอดมะพร้าว มะเขือพวง ชะอม ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ ใบชะพลู ผักชีฝรั่ง ดอกแค เห็ดหอม และผักขี้หูด นำพริกแห้ง ขิงหั่น ตะไคร้ หอม กระเทียม รากผักชี กะปิ และปลาร้าสับ โขลกเครื่องแกงทั้งหมดให้เข้ากันจนละเอียด แล้วใช้น้ำมันใส่เครื่องแกงลงคั่ว จนหอมแล้วตามด้วยเนื้อไก่เติมน้ำซุปใส่ผักพอสุก
แกงฮังเล เป็นอาหารพื้นเมืองอีกจานที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ เครื่องปรุงจะใช้เนื้อหมูสันนอก หมูสามชั้น ผงแกงฮังเล ขิงสดหั่น กระเทียม ซีอิ๊วดำ น้ำมะขามเปียก สำหรับเครื่องแกง พริกแห้ง ข่าหั่น ตะไคร้ หอม กระเทียม กะปิ เกลือป่น โขลกเครื่องแกง เคล้าเครื่องกับหมูแล้วหมัก 1 ชั่วโมง ใส่หมูลงหม้อ ใช้ไฟอ่อนจนกระทั่งหมูตึงตัว ใส่น้ำเปิดฝาแล้วเคี่ยวไปเรื่อยๆ ใส่ขิงฝอย กระเทียม ใส่ผงแกงเคี่ยวจนหมูนุ่ม จนน้ำงวด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกชิมรสให้เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด
นอกจากนั้นยังมีออเดิร์ฟเมือง แกงหน่อไม้ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกตาแดง แหนม และอาหารอีกหลากหลายเมนูไว้บริการ
สำหรับของหวานไม่ได้ลองลิ้มรส
เพราะมัวแต่สาละวนกับข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าดังของเชียงใหม่ แม่นิ้ม แห่งกาดต้นพะยอม (ขออนุญาตจากร้านขอนำเข้ามาด้วย) ซึ่งได้รับอภินันทนาการจากเพื่อนๆ จาวเหนือที่มีจิตอาสาในเรื่องกินโดยเฉพาะ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|