บ้าน...วิถีแห่งการอยู่ร่วมกัน

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่า "บ้าน" เกิดมิติหลายแง่มุมเมื่อมองผ่านเลนส์จากงานนิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ครั้งที่ 5 อันเป็นกิจกรรมส่งเสริมศิลปะ เนื่องในวันนริศประจำปี 2552 จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธินริศรานุวัตติวงศ์

ภาพ "บ้าน" ในจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่ละคน ทำให้เราอดหยุดคิดไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วบ้านไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างที่มีช่องว่างให้เข้าไปอยู่อาศัยได้เท่านั้น หากแต่มันบ่งบอกถึงความมีชีวิตที่ดำเนินไปใต้ชายคาด้วย

ผลงานภาพถ่ายบางชิ้นสะท้อนผ่านสายตาของสาวคนงานก่อสร้าง ว่ามันคือภาระของการแบกหาม เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งครอบครัวที่รอคอยอยู่เบื้องหลัง บ้านสำหรับบางคนคือวัตถุที่อยู่ไกลลิบท่ามกลางความเวิ้งว้าง บ้านของคนไร้บ้านคืออิสรภาพของการเลือก ใช้ชีวิตอย่างไร้กรอบ

บ้านบางหลังคือการเบียดแย่งพื้นที่เพียงเพื่อให้มีที่ซุกหัวนอนได้เท่านั้น บ้านบางหลังร้างไร้และรกเรื้อเพราะถูกทอดทิ้ง ภาพบางชิ้นมีแค่เตียงและนาฬิกาที่บ่งบอกได้ว่าบ้านอาจจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ซุกนอนนานกว่าอาณาบริเวณใดๆ หรือบางภาพก็สะท้อนความผูกพันของสองชีวิตจนย่างเข้าวัยชราอย่างมั่นคงและงดงาม บ้านบนตึกระฟ้าดูกระด้างและมองไม่เห็นสิ่งมีชีวิตอยู่ภายใน

ภาพเหล่านั้นทำให้เราสัมผัสกับอารมณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นบ้านจากแง่มุมมากมายอย่างเหลือเชื่อ นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายแล้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรยังจัดเสวนาขยายความให้ลึกซึ้งขึ้น ในหัวข้อ "ถิ่นฐาน บ้าน วัด วัง ย่านวังหลวง วังท่าพระ" สะท้อนภาพผู้คน ในแถบถิ่นมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งอยู่ในบริเวณอันเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศ และเป็นจุดกำเนิด วัฒนธรรมในยุคสมัยปัจจุบัน

"วังท่าพระ" แต่เดิมเป็นวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่พระราช โอรสที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อมีราชกิจเร่งด่วนก็จะสะดวกต่อการเข้าเฝ้าในพระบรมมหาราชวังได้ทันที วังแห่งนี้จึงมีฐานะเป็น "วังลูกหลวง" และเคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 เมื่อดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมาก็มีเจ้านายสำคัญหลายพระองค์ได้เคยประทับสืบต่อมา ณ ที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมช่างสิปหมู่มาแต่เริ่มแรก

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม พระยานริศรานุวัติวงศ์ วังท่าพระ จึงยิ่งทวีบทบาทแห่งการเป็นศูนย์รวมช่างศิลปะของชาติยิ่งขึ้น เพราะพระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นสมเด็จครูนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ด้วยทรงเชี่ยวชาญงานช่างและศิลปะไทยหลายแขนง จนปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

วังท่าพระจึงเปรียบเสมือนบ้านและที่ทำงานของสมเด็จครูฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระยศ เป็นกรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ โดยสภาพในยุคเก่าๆ นั้น ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ซึ่งเคยใช้ชีวิต วัยเด็ก ณ ที่แห่งนี้ราว 8 ปี ก่อนจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านได้เล่าว่านอกจากตัววังแล้ว พื้นที่รอบๆ วังด้านนอกกำแพงถัดไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นบ้านคนที่เข้ามาทำงานในวัง

เดิมทีวังท่าพระเป็นอาคารโถงชั้นเดียว ยกพื้นแบบโบราณอยู่ด้านหน้า ภายหลังรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างตึกแบบฝรั่งเป็นสองชั้นด้านหลังผนวกต่อจากอาคารเดิม ชั้นล่างเป็นที่เก็บของและที่ทำงานของช่าง ชั้นบนเป็นที่ประทับของสมเด็จครูฯ และตำหนักพรรณรายของพระราชมารดา ส่วนต่อเลยไปด้านหลังเป็น ตำหนักแดง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระชายา และโอรสธิดา ปัจจุบันรื้อทิ้งไปแล้ว

สิ่งที่ขึ้นชื่อในวังแห่งนี้คือ "บันได" ซึ่งสร้างโดยฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูฯ เพราะมีสัดส่วนที่ทำให้ก้าวย่างได้สบายและปลอดภัยกว่าบันไดแบบโบราณ ซึ่งเป็น ต้นแบบที่นักเรียนสถาปัตยกรรมต้องมาเรียนรู้กันเลยทีเดียว สิ่งที่หลงเหลืออยู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูฯ ณ ที่แห่งนี้อีก 2 อย่าง คือ ลายเหล็กดัดประตูทางเข้า สวนแก้ว และศาลาพักผ่อนกลางสวนแก้ว ม.ร.ว.จักรรถ เท้าความหลังว่า

"ผมมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง ที่นี่อยู่ใจกลางเมืองใกล้สนามหลวง ผมไปวิ่งเล่นสนามหลวงบ่อยมาก น้องสาวเคยถูก กระชากสร้อยที่สนามหลวงด้วย ที่สำคัญอยู่ไม่ไกลจากโรงละครของกรมศิลปากร ซึ่งช่วยสร้างความรักในศิลปะการแสดงของ ไทยให้กับครอบครัวของเราได้อย่างมาก พอว่างก็จะพากันไปดูละครบ่อยๆ ทำให้ชีวิตของพวกเราหมุนเวียนเกี่ยวข้องกับละครมาถึงทุกวันนี้"

ในราว พ.ศ.2455 พระพลานามัยของสมเด็จครูฯ ไม่ค่อยดี พระองค์ท่านจึงทรงกราบทูลขอลาออกจากราชการและเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ชักชวนให้ไปประทับที่บ้านบริเวณชานเมืองแถบคลองเตย พอได้ทรงลองไปประทับอยู่สักพักหนึ่ง พระพลานามัยดีขึ้น จึงตัดสินพระทัยย้ายไปสร้างพระตำหนักใหม่

สมัยนั้นคลองเตยเป็นท้องไร่ท้องนา ใช้เวลาเดินทางจากวังท่าพระโดยรถม้าราว 2 ชั่วโมง บ้านคนตั้งกันอยู่ห่างๆ มีทางรถไฟและคลองเตยไหลผ่าน ข้ามคลองจะเป็นทางลงเนิน ความที่วังของพระองค์ท่านอยู่ตรงปลายเนิน ใครไปที่นั่นก็มักจะไถ่ถามกันว่า "วังของพระองค์ท่านอยู่ไหน" ก็ได้รับคำตอบว่า "อยู่ตรงปลายเนิน" สมเด็จครูฯ จึงตั้งชื่อวังใหม่ว่า "วังปลายเนิน" โดยทรง ใช้เวลาหาซื้อเรือนไทยโบราณนานราว 2 ปี มาประกอบใหม่เป็นลักษณะเรือนไทยประยุกต์ ซึ่งในยุคนั้นคนไทยนิยมรื้อเรือนแบบโบราณทิ้ง แล้วสร้างเรือนไทยทรงปั้นหยาแทน

เมื่อทรงย้ายไปอยู่ที่คลองเตยแล้ว พระองค์ก็ถือคติอย่างโบราณว่า วังที่ได้รับพระราชทานมาเพื่อเป็นสถานที่ทำงานสนองเบื้องยุคลบาท หากไม่ใช้แล้วก็ต้องถวายคืนพระมหากษัตริย์ วังท่าพระในเวลาต่อมาไม่มีเจ้านายพระองค์ใดไปประทับอีกเลยและได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร อันเป็นสถาบันวิชาการด้านศิลปะสมัยใหม่นั่นเอง

กาลเวลาล่วงเลยไปจนเจ้าของวังสิ้นพระชนม์ จากวังก็กลายเป็นบ้าน ปัจจุบันยังเป็นจุดศูนย์รวมของคนในราชสกุลและเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูฯ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์โดยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในอาณาบริเวณใกล้กัน แต่ได้ปลูกบ้านเป็นแบบสมัยใหม่ไปหมดแล้ว ม.ร.ว.จักรรถสะท้อนว่า

"คำว่า "บ้าน" ในภาษาไทยมีหลายคำ เรียกตามจินตนาการของแต่ละคน ที่วังปลาย เนินจะเห็นได้ชัดเจน เพราะเจ้าของวังจะเรียกว่า "บ้าน" แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัง" เจ้าของวังเป็นเจ้า จึงเรียกคำที่ใกล้ตัวในศัพท์สามัญ แล้วพระองค์ท่านคิดว่าถ้าใช้ราชาศัพท์ตามฐานันดรดูจะเสแสร้ง ในทางกลับกันสามัญชนเรียกบ้านของเจ้าว่า "วัง" นี่ก็คือสถานภาพทางสังคมในภาษา"

โดยส่วนตัว ม.ร.ว.จักรรถจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมมาจากอังกฤษ เคยเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มองว่าบ้านเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ ทั้งยังเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมในจุดย่อยที่สุดของสังคม เป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์สังคมได้ ดังนั้นบ้าน ในวัฒนธรรมไหนก็จะสะท้อนการดำเนินชีวิตของคนในวัฒนธรรมนั้นในช่วงเวลาต่างๆ ได้ดี

อย่างบ้านในญี่ปุ่นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2540 ในเมืองที่เจริญแล้วอย่างโอซากา จะเห็นคนตกงานมานอนในบ้านที่ทำจากกล่อง เรียงรายตามข้างถนนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่ง เป็นลักษณะเหมือนกับบางภาพที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย

ในอังกฤษ ความนิยมสร้างบ้านจะแบ่งออกเป็นยุคๆ เลยทีเดียว ในช่วงที่ไปศึกษาด้าน สถาปัตยกรรมนั้น อยู่ในช่วง functionalism ซึ่งเป็นยุคที่การออกแบบรูปทรงของบ้านจะสะท้อนประโยชน์ใช้สอยภายในได้ พอมองจากภายนอกเข้าไปจะรู้ได้ทันทีว่า เป็นห้องนอน ห้องครัว หรือใช้โต๊ะกินข้าวรูปทรงอะไร ผนังห้องก็จะมีรูปทรงตามโต๊ะกินข้าวด้วย

บ้านแบบไทยก็สะท้อนความเป็นคนไทยและวิถีชีวิตแบบไทยๆ ในช่วงยุคสมัยต่างๆ เช่นกัน หากย้อนไปดูภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 จะเห็นว่าภาพกรุงเทพฯ โดยรวม มีอาคารเด่นๆ คือวัดและวัง มีบ้านหน้าตาคล้ายๆ กัน เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูงอยู่กันเป็นกลุ่มรายรอบ นอก นั้นก็เป็นต้นไม้และลำคลอง ถนนหนทางไม่ค่อยมี ที่สำคัญไม่มีสิ่งก่อสร้างใดสูงกว่ายอดไม้และพระบรมมหาราชวังเลย

สภาพเช่นนี้สะท้อนคติความเชื่อเมื่อแรกสร้างกรุง ว่าเราถือหลักไตรภูมิ กรุงเทพฯ จึงไม่ต่างจากทิพยวิมานของเหล่าทวยเทพบนเขาพระสุเมรุ อันมีผู้คนอาศัยลดหลั่นลำดับ ชั้นกันไปตามหน้าที่ในสังคม กษัตริย์เปรียบดุจดั่งพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่บนดาวดึงส์ พระเจดีย์ในวัดที่มียอดสูงเสียดฟ้า สะท้อนคติธรรมในพุทธศาสนาว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุด หยาดน้ำค้างบนยอดเจดีย์จึงหมายถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งอยู่สูงสุดยอดแล้วจะไม่มีการสร้างสิ่งใดๆ ให้สูงเทียมในระนาบเดียวกันเลย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างกว้างขวาง ก็มีรูปแบบศิลปะและ สถาปัตยกรรมแบบจีนเข้ามาผสมผสานในการสร้างบ้านเรือนและวัดวาอารามต่างๆ ล่วงมา ถึงรัชกาลที่ 5 ด้วยความจำเป็นต้องปรับประเทศให้ทันสมัยอย่างตะวันตก ก็มีบ้าน วัด และวัง มากมายที่สร้างเป็นอาคารตึกนานาชาติ มาถึงปัจจุบันรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ คนในเมืองก็นิยมอยู่บ้านบนตึกสูงเสียดฟ้ามากขึ้นทุกที เพราะเลิกยึดถือคติการสร้างบ้านเมืองแบบไตรภูมิกันแล้ว เขาวิเคราะห์ว่า

"ปัจจุบันพบว่ามีคอนโดตั้งอยู่ข้างวัดมากมาย ซึ่งมีความสูงเทียบเคียงหรือ สูงกว่ายอดเจดีย์ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนา คอนโดเป็นที่อยู่ของคนทั่วไป มีสิ่งจำเป็นคือส้วม และทำกิจวัตร ประจำวันในระนาบเดียวกับสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปเคารพบูชา สิ่งนี้ดูออกจะฝืนธรรมชาติของคน และฝืนวัฒนธรรมไทยแต่เดิมมาอย่างยิ่ง"

ข้อคิดเห็นดังกล่าวเขามีเหตุผลจาก การเคหะแห่งชาติของอังกฤษสนับสนุนว่า เดิมทีรัฐบาลอังกฤษสร้างเรือนแถวที่เรียกว่า "ห้องแถว" หรือ "ทาวน์เฮาส์" ให้ประชาชน อยู่มานานหลายร้อยปี ต่อมามีนโยบายปรับ สภาพแวดล้อมเมือง จึงเกิดคอนเซ็ปต์ "garden city" มีการจัดสัดส่วนพื้นที่สาธารณะและพื้นที่พักอาศัย ให้มีสวนสาธารณะมากขึ้นทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ต่อมาเกิดการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยให้เหลือน้อยด้วยการสร้างตึกสูง แล้วทำปาร์คให้มากที่สุด ผลก็คือ คนเป็นบ้ามากขึ้น เพราะบรรดาแม่จะไม่ยอมให้เด็กเล็กๆ ลงพื้นดินมาวิ่งเล่น จะเก็บเด็กให้อยู่ใกล้ๆ ขณะทำงาน เด็กที่โตขึ้นมาโดยไม่ได้เหยียบ ดินเลน กลายเป็นอาชญากรหรืออันธพาล เมื่อโตขึ้น

ในที่สุดค้นพบว่า หากสร้างบ้านเป็น รูปแบบการอยู่ร่วมกันในตึกสูงราว 4 ชั้น ให้หันหน้าโอบล้อมกัน แล้วมีสวนตรงกลาง จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าตึกสูงเสียดฟ้า งานวิจัยนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการอยู่บ้าน บนตึกสูงมากเกินไป เป็นมลภาวะต่อการอยู่อาศัยอย่างแน่นอน

สำหรับสิ่งที่ทำลายวัฒนธรรมบ้านไทยมากที่สุด คือ แผ่นสังกะสีและเก้าอี้ เพราะคนไทยโบราณมีวิถีชีวิตกับการปูเสื่อนอนฟูก ดังนั้นจะต้องเก็บที่นอนหมอนมุ้งทุกวัน แล้วเอาไปซุกไว้มุมห้อง จะใช้ก็ค่อย เอาออกมากางใหม่ มีเฟอร์นิเจอร์แค่ "คัน-ฉ่อง" เอาไว้ส่องหน้า พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านจึงมีไม่มาก มีห้องโถงกว้างโล่ง เป็นศูนย์กลางของบ้าน เพื่อเป็นที่มารวมตัว ประกอบกิจกรรมของคนอยู่อาศัยในแต่ละวัน ไม่มีการกั้นห้อง บ้านไทยทั่วไปมีห้องขนาด 3 ห้องเสา หน้าจั่ว 2 วา สำหรับคนอาศัยได้ 2-3 คน

เรือนไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น จน เข้ากับสภาพอากาศและพื้นที่ที่มีน้ำหลาก ฝนตกมาก มีแดดจัด ทั้งร้อนและชื้น เรือนไทยจึงยกพื้นสูง มีหลังคามุงจากหรือใบตองตึง ซึ่งมีหน้าจั่วสูง มีฝาและพื้นทำจากไม้กระดาน ใช้ไปนานๆ จะมีร่อง ลมพัดผ่านเข้ามาภายในตัวเรือนได้ ช่วยระบายอากาศร้อนให้ลอยสูงขึ้นไปยังรอยโหว่ของหลังคา

เมื่อฝนตกความโค้งที่คล้ายงอบจะช่วยสะบัดน้ำฝนไม่ให้เข้าบ้านและมีชายคากันอีกชั้น ใบตองตึงที่เขยิบได้จะกันไม่ให้ฝนรั่วมาตามรอยโหว่ หากฝนรั่วลงมาได้อีก ก็เอากระป๋องไปรอง เพราะภายในโล่งไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้งแบบถาวร หลังคาที่มุงจากใบไม้ จะมีอายุการใช้งาน เมื่อถึงคราวเปลี่ยนก็จะระดมคนมาช่วยกัน และกลายเป็นกิจกรรมสนุกของเด็กๆ ที่มาช่วยผู้ใหญ่ทำงาน

แบบของเรือนไทยจะสร้างขึ้นด้วยสูตรสำเร็จที่ท่องจำปากต่อปาก แล้วระดมช่างด้านต่างๆ มาประกอบเข้าเป็นตัวเรือน ไม่ต้องมีสถาปนิกและมัณฑนากร มีลักษณะยืดหยุ่นในแง่การใช้งานสูง การสร้างเรือนจะมีเรือนกลางที่เป็นเหมือนนิวเคลียส เมื่อต้องการ ขยายเรือนก็จะสร้างตัวเรือนใหม่ขยายต่อกันเป็นหมู่ หรือยกเอาไปสร้างเป็นนิวเคลียสใหม่ ในที่ห่างออกไปก็ได้

เมื่อไทยได้นำสังกะสีมาใช้งาน รูปแบบเรือนไทยก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สังกะสีทำ เป็นแมสได้ มีขนาดใหญ่และประหยัดเงิน ไม่ต้องใช้ไม้คานรองรับหลังคามาก แต่ไม่เข้ากับสภาพพื้นถิ่น คือฝนตกจะมีเสียงดัง แดดออกจะร้อนมาก และเป็นสนิม พอใช้สังกะสีมุงแทนจากหรือตองตึง หลังคาจะราบลง และไม่มีหน้าจั่วแบบโบราณอีกต่อไป หากใส่ฝ้าเพดานเข้าไปกันร้อน ก็ยิ่งทำให้ระบบระบายลมแบบโบราณพัง ภายในตัวเรือนจะสะสมความร้อน จนต้องพึ่งพาพัดลมและเครื่องปรับอากาศในที่สุด

ส่วนเก้าอี้ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน เห็นได้จากท้องพระโรงของวังปลายเนิน ซึ่งเป็นหอนั่งแบบโบราณ คือเป็นยกพื้นตรงกลาง สูงราว 1 ศอก นั่งห้อยขาสบาย มีทางเดินล้อมรอบ ที่นี่ใช้ทำกิจกรรม ไม่ว่าจะนอน นั่ง ล้อมวงกินข้าว เล่นไพ่ หรือสังสรรค์ในครอบครัว ส่วนระเบียงรอบๆ เป็นทางเดินและใช้นั่งทำงาน พอมีเก้าอี้ใช้ ก็ยังนั่งบนยกพื้น แล้วหันหน้าไปหาเก้าอี้ที่ตั้งอยู่บนทางเดิน ทำให้ชีวิตบนเรือนไทยหันหลังให้จุดศูนย์กลางของบ้าน (ตรงกลางยกพื้น) การใช้ชีวิตแต่ละวันก็กลับตาลปัตรทันที

"การมีวัสดุแบบใหม่ด้วยการไปซื้อของฝรั่งมาใช้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แบบไทยโดยไม่รู้ตัว ผมเคยไปอยู่โรงแรมแบบเรียวกังของญี่ปุ่น พอล้มตัวลงนอน หัว และเท้าเกือบชิดฝา เป็นห้องแคบๆ แต่อยู่ ได้สบาย มีทีวี หม้อต้มน้ำ และชักโครกที่ฝา มีน้ำไหลลงมาล้างมือได้พอประมาณ ทุกอย่างมีลักษณะพอตัว เหมือนยุคโบราณของ คนไทย แต่เขาได้พัฒนาของโบราณมาสู่ยุคใหม่ได้ ไทยมีอะไรบ้างที่พัฒนามาจากของโบราณไทยเอง" เขาตั้งข้อสังเกตไว้

จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ส่งผลให้เกิดกระแสการสร้างบ้านไทยแบบย้อนยุคกันบ้างแล้ว มีบ้านพักตากอากาศแบบวิลลาที่เน้นการประหยัดพลังงานและคุ้มค่าเงิน ในรูปแบบ collective ผุดให้เห็น มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีคอนเซ็ปต์การใช้งานแบบอเนกประสงค์อย่างบ้านไทยโบราณ คือมีห้องโถงโล่ง ไม่กั้นห้อง จะมีเพียงห้องน้ำต่อเชื่อมออกไปเท่านั้น ภายในไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรนัก เน้นการนั่งกับพื้น

แม้บ้านแบบนี้จะมีรูปทรงภายนอกไม่เหมือนเรือนไทยเดิมอีกแล้ว เพราะการพัฒนาวัสดุกันร้อนกันชื้นที่ก้าวหน้า ช่วยให้ คนไทยมีบ้านหน้าตายุคอวกาศ แต่คงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ยืดหยุ่นและเรียบง่าย ได้ในเวลาเดียวกัน บ้านไทยก็จะยังคงสืบสาน วิถีแบบไทยๆ ต่อไปได้ มันขึ้นอยู่กับว่า... จะออกแบบการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกใต้ชายคาเดียวกันอย่างไรในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.