นิทาน...เรื่องเล่าก่อนนอนที่สร้างชาติได้

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"นิทาน" เรื่องเล่าเล็กน้อยในบ้านที่พ่อแม่บางคนมองเป็นเพียงเรื่องหลอกเด็ก ความลึกซึ้งของนิทานไม่ได้เป็นเพียงประตูสู่โลกจินตนาการ แต่ยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เปี่ยมด้วยความสุข เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาความคิดและจิตวิญญาณที่แยบยล เป็นสะพานเชื่อมสายใยรักระหว่างพ่อแม่กับลูก และเป็นประตูที่แง้มพาลูกน้อยสู่โลกใบใหญ่อย่างเข้าใจ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...

สิ้นเสียงดังกล่าว ม่านแห่งโลกจินตนาการของผู้ฟังตัวจิ๋วกำลังเปิดออกทีละน้อยๆ ในโลกใบนี้ราชสีห์เจ้าป่ากับเพื่อนหนูตัวน้อยโลดแล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ในโลกใบนี้ยังมีสัตว์ในเทพนิยายอย่างมังกรไฟหรือพญานาคเป็นตัวเอกของเรื่อง ในโลกใบนี้มีแม่มดใจร้าย ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเจ้าชาย และสุดท้ายเจ้าชายกับเจ้าหญิงก็แต่งงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

จบเรื่องเล่า หากผู้ฟังตัวน้อยยังไม่หลับฝันหวานไปเสียก่อน วลีปิดท้ายการผจญภัยในโลกนิทานประจำค่ำคืนนั้น มักจะมีว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..."

นิทานเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลกรูปแบบหนึ่ง นิทานอาจมีกำเนิดพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของครอบครัวมนุษยชาติ แรกเริ่มอาจเป็นเรื่องจริงที่เล่าสู่กันฟังโดยมีการเสริมแต่งให้มีความมหัศจรรย์และสนุกขึ้นจนห่างไกลจากเค้าเรื่องจริง นิทานจึงเป็นเรื่องเล่าจากจินตนาการสืบต่อกันมา

นอกจากนิทานอีสปที่เชื่อกันว่าเป็นที่รู้จักของเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกมากที่สุด ยังมีเทพนิยายกริมม์และนิทานการ์ตูนจากวอลท์ดิสนีย์ที่ได้รับความนิยมจากเด็กและพ่อแม่คนไทย เป็นอย่างมาก

ขณะที่ทั่วโลกมีนิทานอีสปสั่งสอนศีลธรรมอย่างแยบคาย คนไทยก็ยังมีนิทานชาดกสั่งสอนคุณธรรมอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่เทพนิยายกริมม์ของคนทั่วโลกมีเรื่องราวของ "ซิน เดอเรลล่า" สาวน้อยอาภัพที่พบกับความโชคดีในตอนท้ายสุดอันเนื่องมาจากความดีของเธอ นิทานพื้นบ้านของไทยก็มีเรื่องราวของนางเอื้อยใน "ปลาบู่ทอง"

นิทานพื้นบ้านของไทยหลายต่อหลายเรื่องเป็นตำนานของท้องถิ่นที่เล่าสืบทอดกันมานานนับร้อยนับพันปี ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายความเชื่ออันเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณี และกำเนิดของสถานที่สำคัญในท้องถิ่น รวมถึงเป็นชุดความคิดที่อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนรากฐานความคิดของคนโบราณ ซึ่งบ่อยครั้ง มักแฝงซึ่ง "โบราณอุบาย" หรือภูมิปัญญาของบรรพบุรษในการให้คติแง่คิดกับอนุชนรุ่นหลัง

การเล่านิทานพื้นบ้านไทยจึงเป็นหนทางในการเรียนรู้รากเหง้าทางความคิดของคนรุ่นก่อน และเป็นอีกแนวทางในการ รักษาความเชื่อ ทัศนคติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของสังคมไทยให้สืบทอดต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นนิทานสัญชาติใด หัวใจสำคัญของนิทานก็คือส่งเสริมให้เด็กได้ใช้จินตนาการ

"อยากให้เด็กฉลาดก็เล่านิทานให้ฟัง อยากให้ฉลาดขึ้นไปอีกก็เล่านิทานมากขึ้นอีกเท่านั้นเอง" อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยให้คำแนะนำนี้กับคุณแม่ท่านหนึ่งที่อยากให้ลูกกลายเป็นอัจฉริยะ

ในแต่ละคืนที่นิทานจบลงพร้อมกับหน้าที่ส่งผู้ฟังตัวจิ๋วให้นอนหลับฝันดี ทว่าต่อมจินตนาการของหนูน้อยยังไม่จบ เส้นใย ประสาทในสมอง โดยเฉพาะซีกขวากำลังขยายตัว

ผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า การเล่านิทานเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเซลล์สมองและเสริมสร้างความฉลาด (Quotient) รอบด้านให้กับลูกน้อย เด็กที่ได้ฟังนิทานจึงมักมีเส้นใยสมองมากกว่าเด็กคนอื่น นั่นหมายถึงความสามารถในการคิดเชื่อมโยงหาเหตุผลและแก้ปัญหา ก็ย่อมมากกว่าเด็กคนอื่น

แต่ทั้งนี้ การเล่านิทานจะได้ผลสูงสุดกับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 6 ขวบ เท่านั้น ดังนั้นหากพ่อแม่เริ่มเล่านิทานให้ลูกน้อยฟังก่อนวัย 6 ขวบ โอกาสที่ลูกจะกลายเป็นเด็กอัจฉริยะในด้านต่างๆ ก็มีมากขึ้น แต่หากช้ากว่าวัยนี้แล้วก็อาจจะสายเกินไป

จึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวหากันจนเกินไปนักที่จะพูดว่าพ่อแม่ที่ไม่เล่านิทานให้ลูกในช่วงวัยนี้ฟังเท่ากับกำลังตัดโอกาสความเป็นอัจฉริยะ (Quotient) ของลูกรัก

นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็กหลายประเทศยังเห็นตรงกันว่า นิทานอาจจะเป็นสื่อชนิดเดียวในยามนี้ที่สามารถสื่อกับเด็กเล็กได้ดีที่สุด นิทานถือเป็นสะพานที่สำคัญและ สวยงามที่พ่อแม่สามารถใช้เชื่อมสู่โลกของลูกน้อยได้อย่างแนบเนียนและเป็นเครื่องมือปลูกฝังคุณธรรมและจิตใจอันอ่อนโยนให้กับลูกน้อยได้อย่างแยบยล

แต่ไม่ว่าจะเป็นนิทานเรื่องใดของชนชาติไหน นิทานที่ถือว่าดีที่สุดสำหรับลูกน้อยก็คือนิทานที่มีพ่อแม่เป็นผู้เล่า

"จริงๆ แล้ว แง่งามของการเล่านิทานคือการที่พ่อแม่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับลูกน้อย โดยไม่จำเป็นต้องเล่าจากหนังสือ อาจแต่งขึ้นเองจากจินตนาการของผู้เป็นพ่อแม่และโยนคำถามให้ผู้ฟังตัวน้อยช่วยจินตนาการต่อเติมนิทานประจำบ้านเรื่องนี้ด้วยก็ยิ่งดี"

ประภาส ชลศรานนท์กล่าวขณะที่เดินชมงาน "มหกรรมเล่านิทาน อ่านและเล่นกับ ลูก" ซึ่งบริษัท เวิร์คพอยท์ จำกัด เป็นผู้จัดอีเวนต์ โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวเรือใหญ่ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมาย เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่ยุคเร่งรีบหันมาเห็นความสำคัญของนิทานและให้เวลากับการเล่า นิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ

ทั้งนี้จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าในปี 2549 ครอบครัว ไทยทั่วประเทศ มีพ่อแม่ถึง 1 ใน 3 ที่ไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยในรอบ 1 เดือน

สำหรับประภาส ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของนิทานเพลงสำหรับเด็กเล็กเรื่อง "มังกรไฟไม่เรียนหนังสือ" ซึ่งเป็นนิทานเรื่องแรกๆ ที่เขาแต่งเองให้ลูกน้อยฟัง และเป็นหนึ่งในนิทานร้อยกว่าเรื่องที่เขาเวียนเล่าให้ลูกๆ ฟังเกือบทุกคืนจนเติบใหญ่ ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า เด็กทุกคนมีจินตนาการ แต่เด็กที่ได้ฟังนิทานเป็นประจำจะเติบโตกลาย เป็นคนกล้าคิดกล้าฝันมากกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสฟังนิทานตอนเล็กๆ

ภายในมหกรรมเล่านิทานฯ มีโซนที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามคือ โซน "คุณค่าของการเล่านิทานและเพลงกล่อมเด็ก" ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ ที่มีความสุขกับการฟังนิทาน และโซน "นิทานไม่รู้จบ" ที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้จินตนาการและส่งผ่านการเล่านิทานคนละประโยค ร่วมกับพระเจ้าหลาน เธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ที่ทรงขึ้น ต้นเอาไว้ให้ว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแมงมุมหล่นจากฟ้า"

"นิทานนี้คงต้องดูว่าจะยังไงต่อไป แต่เวลานี้เราเลยกังวลแทนวอลท์ดิสนีย์ แทน คุณอีสป ว่านิทานพวกเขาจะขายไม่ออก เพราะนิทานไม่รู้จบของเราคาดเดาไม่ออกเลยว่า เจ้าแมงมุมตัวนี้ไม่รู้ไปถึงไหนต่อไหน" ปัญญา นิรันดร์กุล กล่าวอย่างอารมณ์ดีหลังจากเชิญชวนให้เด็กๆ มาร่วมแต่งต้นฉบับนิทานมหากาพย์จากจินตนาการร่วมกันได้มากกว่า 260 ประโยค

ปัญญาเล่าถึงวัยเด็ก แม้ว่าเขาจะไม่ได้ฟังนิทานยอดฮิตเหมือนเด็กคนอื่นเพราะพ่อแม่อ่านภาษาไทยไม่ออก แต่เขาก็ได้รับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ของพ่อที่ต้องอพยพจากเมืองจีนมาลงหลักปักฐานในเมืองไทยและเรื่องเล่าชีวิตแม่ค้า ของแม่ที่ต้องฝ่าฟัน แม้จะไม่ใช่นิทานอีสป แต่นิทานแห่งชีวิตของพ่อแม่ก็ให้แง่งามทางความคิด และทำหน้าที่ส่งปัญญาเข้านอนฝันดีได้เช่นกัน

ในฐานะคุณพ่อที่งานรัดตัว แม้ตัวปัญญาจะไม่มีเวลาเล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยนัก แต่ก็ยังมีภรรยารับหน้าที่แทนและทุกครั้งที่มีเวลา ปัญญาจะเสริมแต่งนิทานที่ลูกๆ เคยรู้จักให้กลายเป็นนิทานเฉพาะพ่อลูกบ้านนี้ เช่น นิทานเรื่องลูกหมูสามตัวที่หลายคนคุ้นเคย เขาเพิ่มลูกหมูตัวที่สี่เข้าไป

"ลูกๆ ก็จะถามว่าหมูตัวที่สี่มาจาก ไหน ก็กลายเป็นเรื่องสนุก เราก็แต่งเติมให้หมูมาหอมแก้มลูก มาเล่นกับลูก นี่ก็เป็น นิทานอีกเรื่องโดยปริยาย ดังนั้นนิทานจึงไม่จำเป็นต้องมาจากหนังสือ นี่แปลว่า ทุก บ้านทุกฐานะสามารถเล่านิทานให้ลูกฟังและเล่นกับลูกได้ พ่อที่เป็นกรรมกรก็อาจจะแต่งนิทานเรื่องของเจ้าดินวิเศษกับเจ้าจอบช่างพูด แม้จะไม่เหมือนนิทานบ้านไหน แต่ก็เป็นนิทานที่เล่าจากความรักเหมือนกัน" นิทานแต่งสดของปัญญาจึงเป็นเครื่องตอกย้ำว่า การเล่านิทานนับเป็นการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนเยอะ แต่ใช้เวลา จินตนาการ และความรักความอบอุ่นอย่าง สูง เพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างอนาคตให้ลูกเติบโตเป็นคน "เก่ง ดี และมีความสุข" ซึ่งก็นับเป็นการลงทุนที่ให้ผลลัพธ์งดงามและให้ผลตอบแทนคุ้มค่ายิ่งทั้งสำหรับตัวลูกน้อยเอง ครอบครัว และประเทศชาติ

แล้ววันนี้ คุณเล่านิทานให้ลูกน้อยฟังแล้วหรือยัง?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.