ข้างหลังภาพ (Behind the Stamps)

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

หน้ากระดาษหนึ่งแผ่นเก็บเรื่องเล่าได้กว่าพันคำ ภาพถ่ายหนึ่งใบใช้แทนคำพูดเป็นล้านคำ แต่น่ามหัศจรรย์ที่กระดาษชิ้นน้อยที่มีพื้นที่เฉลี่ยไม่เกิน 30 ตารางเซนติเมตร ที่เรียกกันมากว่า 100 ปีว่า "แสตมป์" กลับบันทึกเรื่องราว ความรู้ และความเป็นชาติข้ามผ่านกาลเวลา แทนความหมายยิ่งกว่าคำพูด... ดั่งจดหมายเหตุประเทศฉบับจิ๋วก็ว่าได้

ทุกครั้งที่บุรุษไปรษณีย์ถือซองจดหมายมาหยุดหน้าประตูบ้าน ผู้รับจดหมายแทบจะอดใจ รอไม่ไหว อยากจะเร่งฉีกซองเปิดอ่านถ้อยความในแผ่นกระดาษอย่างใจจดใจจ่อ หลายคนอาจไม่เคยให้ความสนใจกับกระดาษแผ่นเล็กอีกแผ่นทางด้านขวาบนหน้าซองเลยด้วยซ้ำ

แสตมป์สองดวงบนซองจดหมายจากเพื่อนคนไกล เป็นภาพปราสาทขอมโบราณดูราวกับซากอดีต แต่ยังคงหลงเหลือเค้ารอยแห่งความยิ่งใหญ่ของอารยธรรม ภายใต้แสตมป์ดวงหนึ่ง มีคำบรรยายว่า "ปราสาทตาเมือนธม" ขณะที่อีกดวงเขียนว่า "ปราสาทสด๊กก๊อกธม" โดยมีข้อความตัวเล็กจนแทบมองไม่เห็นบอกไว้อีกคำว่า "อนุรักษ์มรดกไทย ๒๕๕๒"

ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียสิทธิอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชาโดยสมบูรณ์ อย่างแทบไม่มีหวังที่จะได้กลับคืนมา ปลายปีเดียวกัน ไทยเรายังมีข้อพิพาทกับกัมพูชาเรื่องความเป็นเจ้าของในปราสาทสด๊กก๊อกธม ในจังหวัดสระแก้ว และกลุ่มปราสาทตาเมือน ในจังหวัดสุรินทร์

"ที่บริษัทจัดพิมพ์แสตมป์ชุดนี้ขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยหากในอนาคตข้างหน้าเกิดมีคดีความกัน นี่จะเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งในการบอกว่า ปราสาทเหล่านี้เคยเป็นของเรา แม้จะไม่ใช่หลักฐานชิ้นเอกที่จะยืนยันกับศาลโลกได้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ หรือหากเกิดอะไร แสตมป์ชุดนี้ก็ยังเป็นเครื่องระลึกว่ามันเคยเป็นของเรา" เมธินทร์ ลียากาศ กล่าวในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากรของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในอีกบทบาท เขายังเป็นนักสะสมแสตมป์ตัวยง

แม้จะไม่มีการอธิบายเจตนาแฝงข้อนี้ไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือประกาศให้รับรู้เป็นการทั่วไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ด้วยวาระโอกาสที่ออกแสตมป์ชุดนี้พร้อมกับความมุ่งหมายที่บอกว่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของศิลปะอันล้ำค่าของชาติก็มีนัยเดียวกัน

อันที่จริง หน้าที่หลักของแสตมป์คือเป็นเครื่องแสดงว่าจดหมายหรือไปรษณียภัณฑ์นั้นได้ชำระค่าฝากส่งแล้ว หลังจากถูกประทับตรา มูลค่าหน้าดวงของแสตมป์ก็หมดไป เมื่อจดหมาย หรือไปรษณียภัณฑ์ถึงมือผู้รับ ก็ถือได้ว่าแสตมป์ได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

แต่ดูเหมือนแสตมป์ปราสาทสด๊กก๊อกธมและกลุ่มปราสาทตาเมือนยังมีบทบาทในแง่การอนุรักษ์มรดกของชาติและยังแฝงบทบาททางการเมืองระหว่างเทศเอาไว้

กว่า 120 ปีที่ประเทศไทยมีการออกแสตมป์มาใช้ มีแสตมป์อีกหลายดวงที่ทำหน้าที่มากกว่าแค่เป็นดวงตราแสดงการชำระค่าฝากส่ง

รูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเคียงข้างกับรูปพระตำหนักจูฮัมนูของเกาหลีเป็น สัญลักษณ์แห่งความภูมิใจในศิลปะ 2 ชน ชาติเป็นภาพแสตมป์ที่ระลึกในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีออกจำหน่ายเมื่อปี 2551 หรือรูปทูตฝรั่งเศส เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคียงคู่กับรูปทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ของ ทั้งสองประเทศ ถูกนำมาเป็นภาพแสตมป์ที่ระลึกสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศสครบรอบ 300 ปี ออกจำหน่ายในปี 2528

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของแสตมป์ในฐานะทูตสันถวไมตรี ซึ่งที่ผ่านมาไปรษณีย์ ไทยออกแสตมป์กลุ่มนี้มาไม่น้อย แต่ในอนาคตคงจะยิ่งมากขึ้น ทั้งนี้เพราะนับวันความร่วมมือระหว่างประเทศยิ่งทวีความสำคัญต่อความมั่งคั่งและความมั่นคงของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"แสตมป์กลุ่มนี้มี 2 แบบคือ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตและเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไปรษณีย์ของทั้งสองประเทศว่าจะทำแสตมป์ธีมเดียวกัน นัยหนึ่งก็คือการทำตลาดแสตมป์ร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับตลาดแสตมป์ในประเทศตน ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายแสตมป์ไปยังตลาดในต่างประเทศ" เมธินทร์อธิบาย

ครั้นแสตมป์ไทยเดินทางไปทั่วโลก "ทูตตัวน้อย" ก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยไปด้วยในตัว โดยเฉพาะแสตมป์ภาพแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN THAILAND ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ของคนไทย

แสตมป์ที่ระลึกฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประกอบด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ที่มีพื้นหลังเป็นภาพเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชกรณียกิจของทั้ง 9 รัชกาล และภาพถ่ายทางอากาศของพระบรมมหาราชวัง เป็นราวกับ "จดหมายเหตุรัตนโกสินทร์ฉบับจิ๋ว" ที่ดูจะยิ่งเพิ่มพูนคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจในประเทศไทยมากขึ้นหากมีเก็บไว้ครบทั้ง 10 ดวง นี่เป็นวิธีเพิ่มมูลค่าในการซื้อขาย

"แสตมป์ก็เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของฉากประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้านำไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงนั้นกระจ่างขึ้น และมันยังอธิบายได้ว่ายุคนั้นเน้นเรื่องอะไร เพราะอะไร"

เมธินทร์ยกตัวอย่างแสตมป์ที่พิมพ์ในสมัย ร.8 (2477-2489) ซึ่งประกอบด้วยภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภาของไทย, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และอนุสาวรีย์ทหารอาสา ซึ่งอธิบายได้ว่า ขณะนั้นประเทศไทยมุ่งเน้น อย่างมากในเรื่องการสร้างชาติและความมั่นคงของชาติ รวมถึงการปกครองระบอบใหม่

แสตมป์ยังมีบทบาทแฝงอีกหลายประการ เช่น ส่งเสริมความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์, กระตุ้นสำนึกรักชาติ, บันทึกเหตุการณ์ประเภท "แรกมีในสยาม" และฉลองครบรอบต่างๆ, รำลึกถึงวีรชนและบุคคลสำคัญ, รักษาไว้ซึ่งมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมไทย, เก็บตกความเป็นไทยที่ใกล้สูญหาย, อนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม, รณรงค์ลดโลกร้อน, ประชาสัมพันธ์หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ร้องขอ ฯลฯ แม้แต่ทำหน้าที่วัตถุมงคล แสตมป์ ไทยก็เป็นมาแล้ว

ภาพพระเบญจภาคีเนื้อชินทั้ง 5 แบบ ภาพจตุคามรามเทพและพระผงสุริยัน-จันทรา รุ่นปี 2530 ทั้ง 12 แบบ ภาพหลวงปู่ทวด หลวงพ่อโต พระอาจารย์มั่น และครูบาศรีวิชัย พระเกจิ อาจารย์ชื่อดังของเมืองไทยทั้ง 4 รูป และภาพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ รู้จักดีอย่างพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนนี้... เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแสตมป์วัตถุมงคล

นอกจากนักสะสมแสตมป์ นักเลงพระและผู้เคารพนับถือพระเกจิหรือเทพเจ้าดังกล่าวต่างก็พยายามหาซื้อแสตมป์กลุ่มนี้เอาไปกราบไหว้บูชาและสะสมเพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องจากแสตมป์ชุดเหล่านี้ล้วนผ่านพิธีบวงสรวงขออนุญาตจัดพิมพ์ และผ่านพิธีพุทธาภิเษกหรือปลุกเสก เพิ่มความขลังมาแล้ว ไม่ต่างจากพระเครื่อง

"ถ้ามองแบบสินค้า การพิมพ์แสตมป์ชุดนี้คงเป็นการขยายตลาด เพราะเราเห็นว่ามีตลาด ที่นิยมวัตถุมงคลทั้งในประเทศไทย และทาง e-commerce ที่เราทำกับฮ่องกง"

เช่นเดียวกัน แสตมป์ดอกกุหลาบที่มีลูกเล่นด้วยการเพิ่มกลิ่นหอมของกุหลาบ เพิ่มเทคนิค ปั๊มดุนนูนเคลือบด้วยสปอตยูวี เพื่อเน้นให้ดูมีมิติ และจงใจออกจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จริง แล้วก็คืออีกความพยายามในการขยายตลาดจับกลุ่มคู่รัก ด้วยการเพิ่มหน้าที่สื่อรักให้กับแสตมป์ ถือเป็นกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้แสตมป์ดวงน้อยอย่างได้ผล

"แม้ไปรษณียไทยจะเป็นธุรกิจการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถแสวงหากำไรมากๆ ได้ แต่ตอนนี้เราเริ่มเป็นธุรกิจมากขึ้น เราก็ต้องหารายได้จากทุกส่วน แสตมป์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งแม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้รวม แต่ก็ปีละหลายร้อยล้านบาท" เมธินทร์กล่าว

เมื่อโลกการสื่อสารเปลี่ยนไป จดหมายอิเล็ก-ทรอนิกส์เข้ามาทดแทน รายได้จากแสตมป์เพื่อฝากส่งจึงลดลง ดังนั้นเพื่อชดเชยรายได้ บริษัทจึงหันมาใช้วิธีส่งเสริมให้คนหันมาสะสมแสตมป์ โดยพัฒนาดีไซน์ให้ถูกใจผู้ซื้อ เพิ่มเทคนิคลูกเล่นที่หลากหลาย สอดแทรกเรื่องราว (story-behind) บนแสตมป์ ตลอดจนแสวงหาตลาดใหม่ และสร้างความรู้ความเข้าใจในแสตมป์ทุกชุดให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะได้แนะนำแก่ผู้ซื้อ ฯลฯ

ทั้งนี้ กว่าจะเป็นแสตมป์แต่ละดวง เกือบทุกดวงต้องวางแผนล่วงหน้านาน 1-2 ปี เริ่มต้นจาก "คณะกรรมการพิจารณาจัดสร้างตราไปรษณียากรและสิ่งสะสม" ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงและบุคคลที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือว่าจะออกแสตมป์เรื่องใด รูปแบบไหน จำนวนเท่าไรเพื่อให้ทั่วถึง ฯลฯ พอได้มติ ฝ่ายข้อมูลก็เริ่มรวบรวมข้อมูลความรู้ทั้งมวล เพื่อส่งต่อให้ดีไซเนอร์ออกแบบ พอได้แบบก็เสนอที่ประชุมพิจารณาว่าเหมาะไหม แก้ไขตรงไหน จนได้แบบที่สมบูรณ์แล้วจึงขออนุมัติต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่

เมื่อกรรมการผู้จัดการใหญ่เห็นชอบก็ส่งแบบให้หน่วยงานที่เป็นผู้ทรงภูมิรู้ในเรื่องนั้นๆ เช่น กรมศิลปากร, ราชบัณฑิตยสภา หรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อตรวจสอบแก้ไขจนได้ภาพและชื่อที่ถูกต้องเหมาะสม ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากรจึงส่งเรื่องไปขออนุมัติต่อรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

หลังจากแสตมป์เรียบร้อย ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากรต้องเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกครั้งเพื่อลงนามถึงรัฐมนตรีต้นสังกัด เสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาว่าแสตมป์ชุดนี้มีจำนวนเท่าไร ออกจำหน่ายเมื่อไร ฯลฯ แล้วจึงวางขายได้ตามวันที่ระบุ

สำหรับแสตมป์ภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ หลังจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วจะต้องส่งขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยผ่านสำนักราชเลขาธิการ เพื่อให้ทรงรับทราบและมีพระบรมราชวินิจฉัย ตลอดจนพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เสียก่อน ซึ่งเป็นระเบียบที่ปฏิบัติอย่างคร่งครัดในทุกรัชกาลโดยเฉพาะ รัชสมัยของรัชกาลที่ 5

"แสตมป์ดวงเล็ก แต่กระบวนการเยอะมาก บางดวงขึ้นไปถึงเบื้องสูงเลย"

เมธินทร์เล่าย้อนถึงแสตมป์ชุดฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระที่นั่งพุดตาลกาญจนสิงหาสน์ ดีไซเนอร์ออกแบบพระพักตร์ของพระองค์อ่อนเยาว์กว่าพระชนมพรรษา ณ ปี นั้น พระองค์ท่านจึงทรงมีพระราชดำรัสกลับ มาว่า "ใบหน้าอ่อนไปหรือเปล่า" หลังจากดีไซเนอร์ทำความเข้าใจผ่านสำนักราชเลขาธิการไปว่า เป็นการฉายภาพย้อนไปในปี 2489 แรกขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำรัสตอบว่า "เข้าใจว่าเหมือนแล้ว"

เพราะมีงานอดิเรกเป็นการสะสมแสตมป์ เมธินทร์จึงเข้าใจคุณค่าของแสตมป์ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นสื่อการเรียนรู้ใกล้ตัวที่ดีที่สุด ยิ่งถ้าผู้สะสมหมั่นทำความเข้าใจและเพียรหาความรู้จากรายละเอียดในแสตมป์เช่นเดียวกับเขา

"พอเห็นแสตมป์ครบรอบ 400 ปีแห่งการทำยุทธหัตถี คนมักจะถามว่าทำไมต้องมีตอไม้ ตอไม้เกี่ยวอะไร บางคนบอกว่าวาดผิดหรือเปล่า เราเอาแบบมาจากจากวัดสุวรรณดารารามในอยุธยา วาดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 กรมศิลปากรก็ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง และหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่าตอไม้นี้มีความสำคัญเพราะมีส่วนช่วยให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราช เพราะหลังจากช้างทรงของพระองค์หลงไปอยู่ท่ามกลางข้าศึกแล้วถอยร่นจนเท้าซ้ายยันตอไม้ ทีนี้ก็เข้าใจว่าเหมือนคนจนตรอกพอถอยไม่ได้แล้วก็ต้องโถมไปข้างหน้า พระนเรศวรฯ จึงได้ทีฟันพระมหาอุปราชสะพายแล่ง"

ไม่เพียงเก็บรักษาแสตมป์สะสมของตน บ่อยครั้งเมธินทร์ยังต้องถวายงานด้วยการทำหน้าที่ดูแลรักษาแสตมป์สะสมในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผู้ได้รับขนานพระนามว่า "เจ้าฟ้านักสะสม" อีกด้วย

ขณะที่แสตมป์บางดวงอาจประเมินคุณค่าได้ยาก แต่ในแง่มูลค่านั้นง่ายมาก เพราะนับตั้งแต่วันที่แสตมป์ดวงนั้นถูกขายหมดไปจากเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทยแล้ว ยิ่งนานวันมูลค่าแสตมป์ดวงนั้นก็ยิ่งสูงขึ้น เพราะจะไม่มีการพิมพ์ซ้ำ สนนราคาอาจเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2 เท่าของราคาหน้าดวงไปจนถึงหมื่นเท่าแสนเท่าเลยก็มี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแสตมป์สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

ยิ่งระยะหลังการจัดสร้างแสตมป์ของไทยมีการพัฒนาทั้งในด้านรูปแบบ สีสัน ความสวยงาม ความหมายภาพ เทคนิคลูกเล่น และระบบการพิมพ์ที่ทันสมัย แสตมป์ไทยหลายดวงจึงไปคว้ารางวัลจากเวทีประกวดแสตมป์ระดับโลก ทำให้แสตมป์ไทยเริ่มอยู่ในความสนใจและเป็นที่ต้องการในตลาดแสตมป์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น

"พ่อค้าหลายรายบอกว่า เดี๋ยวนี้แสตมป์ไทยติดอันดับท็อปเท็น ของโลก โดยดูจากมูลค่าการซื้อขายในตลาดโลกซึ่งปกติจะใช้การประมูล ต่างชาติเขาเสนอซื้อแสตมป์ไทยด้วยราคาสูงมาก สูงจนบางที เรานึกไม่ถึง บางดวงคนไทยได้เห็นแค่รูป แต่ของจริงกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมในต่างประเทศ"

สำหรับนักสะสมผู้ลุ่มหลงในประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ของไทยอย่างเมธินทร์ มูลค่าคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเหนือกว่ามูลค่า คือคุณค่าของ "กระดาษชิ้นน้อย"

เพราะแต่ละชิ้นเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศไทยในแต่ละฉาก เมื่อมีหลายๆ "ฉาก" มาประกอบกัน ภาพฉายแห่งวิวัฒนาการของประเทศไทยก็ยิ่งกระจ่างขึ้น บางทีจากแสตมป์ดวงเล็กๆ ที่สะสมไว้เมื่อครั้งยังเด็กอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกหวงแหนความเป็นชาติและภูมิใจความเป็นไทยเพิ่มขึ้นบ้างก็ได้ไม่มากก็น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.