คดีมาบตาพุด บทเรียนที่ต้องเรียนรู้

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คดีความเรื่องสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุดได้มีการกล่าวถึงกันในหลายแง่มุม บ้างก็มองในแง่ของการไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม บ้างก็อ้างว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมมีช่องโหว่และไม่มีอานุภาพที่จะบังคับใช้ใดๆ บ้างก็เชื่อว่ากระบวน การจัดทำ EIA มิชอบมาพากลมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว และยังมองไปได้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สร้างความร่ำรวยให้กับคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว มากกว่าสิ่งแวดล้อมของชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเจ้าของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอย่างใดนั้น นี่คือบทเรียนที่ต้องศึกษาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนช่องว่างหลายๆ อย่างในสังคมไทย

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกิดขึ้นมาเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเริ่มเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด มีการเร่งรัดการส่งออก มีการใช้พลังงานอย่างสูง ส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศ ผลักดันให้ GDP สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในประเทศก็มีการใช้วัตถุดิบที่เป็นสารปิโตรเคมีมากขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลาสติก

จวบจนปัจจุบันก็ก้าวเข้ามาถึงแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะที่ 3 ซึ่งมีการสรุปออกมาว่า

"พื้นที่บริเวณมาบตาพุดและใกล้เคียงยังมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับการปล่อยของเสียได้ ด้วยค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้ปล่อยได้ ส่วนของเสียที่เป็นของแข็งและของเหลวยังไม่เป็นปัญหาในการกำจัด เพราะไทยเราสามารถกำจัดของเสียเหล่านี้ได้อีกมาก จึงมีข้อสรุปว่าการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะ 3 สามารถทำได้"

ตรงข้ามกับข้ออ้างในแผนแม่บท สภาพความเป็นจริงจากรายงานการตรวจสอบของนักวิชาการและองค์กรอิสระอื่นๆ ต่างชี้เป็นเสียงเดียวกันว่า "ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัยของประชาชน โดยพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐาน และมีสถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เม็ดเลือดขาวสูงกว่าที่อื่นๆ ถึง 5 เท่า"

นอกจากนั้นยังมีผลพวงไปถึงการปนเปื้อนของมลพิษในแหล่งน้ำและในดินอีกด้วย ส่วนการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมก็มีการพบว่าได้มีการลักลอบนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะหลายอำเภอใกล้เคียง

ผู้เขียนอยากจะเชื่อว่า การตรวจประเมินที่อ้างไว้ในแผนแม่บทฯ นั้น หน่วยงานตรวจวัดข้อมูลดังกล่าว แม้จะมิใช่เจตนาจะบิดเบือน แต่ก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะแต่ละโรงงานถึงแม้จะปล่อยก๊าซเสียออกมาไม่เกินค่าสูงสุดที่กำหนด แต่ปล่อยในระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้ (ทำนองเดียวกับการสร้างคอนโดมิเนียม) เมื่อเป็นดังนี้หลายๆ โรงงานเข้า ก็ย่อมทำให้ค่าโดยรวมสูงขึ้นมากได้ หรือการมีจำนวนโรงงานอยู่มากเกินไป ตั้งอยู่ติดๆ กัน ก็ย่อมทำให้เกิดมลพิษสะสมในสภาวะแวดล้อมได้สูง ยิ่งไม่มีมาตรการตรวจสอบติดตามผลที่ดีก็ยิ่งทำให้สภาพความเป็นจริงเลวร้ายยิ่งขึ้น

ย้อนไปถึงสาเหตุก็อาจจะสรุปได้ว่ามีที่มาจากเหตุต้นทางหลายประการ ได้แก่

- กฎหมายหรือข้อบังคับมีช่องโหว่ หรือช่องทางหลบเลี่ยง

- ขาดการประสานงาน และการใช้วิจารณญาณของหน่วยงานรับผิดชอบ

- ขาดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักธรรมาภิบาล

- ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

- ขาดระบบการตรวจสอบและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง จนเกิดปัญหามลพิษสะสม

- ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายหลัก (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่คำนึงถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งคำนึงถึงสภาพพื้นที่และสังคม

หน่วยงานรับผิดชอบ (ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน) ขาดวิจารณญาณหลายอย่าง ตั้งแต่การเริ่มต้นวางแผนการดำเนินงาน การตรวจสอบติดตามผล ตลอดไปจนถึงการคำนึงถึงทุกข์สุขของประชาชน และการมีส่วนร่วม หน่วยงานควบคุมสิ่งแวดล้อมอาจจะแก้ตัวได้ว่า จำนวนโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นนั้น มิใช่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานสิ่งแวดล้อม แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตีความได้ว่า "ข้าฯ ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้ว ผลออกมาจะเป็นอย่างไรนั้นมิใช่เรื่องของตัวข้าฯ"

ผลที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน คือสภาพแวดล้อมเป็นพิษที่คุกคามคุณภาพชีวิตให้เลวร้ายลงทุกวันๆ โรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าที่จะรับไว้ได้ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อปกป้องตนเอง รวมตัวกันดิ้นรนนำเรื่องขึ้นพึ่งกระบวนการยุติธรรมในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และด้วยพลังแห่งพระบารมีปกเกล้า ศาลปกครองก็ได้ตัดสินให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้แพ้คดีในที่สุด

ศาลสั่งให้หน่วยงานรัฐประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษที่จะต้องมีการตรวจสอบควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด มิให้สร้างปัญหาความเป็นอยู่แก่ชาวบ้านอีกต่อไป แต่หน่วยงานรัฐ แทนที่จะยอมรับข้อบกพร่องของตน กลับแสดงเจตนาที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพื่อรักษาหน้าของตนเอง ลักษณะการคิดเช่นนี้เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยโดยแท้! ซึ่งเราควรต้องนำจุดอ่อนอันนี้มาขบคิดให้ละเอียดลึกลงไปถึงรากเหง้ากัน

ตามที่กล่าวไว้ในแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด ถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของทรัพยากร แม้จะมีการแปลงแผนเป็นขั้นเป็นตอน แต่ในขั้นสุดท้ายของการตัดสินใจ รัฐก็ต้องเลือกเอาเศรษฐกิจหรือ GDP มาก่อนเสมอ การพัฒนาจริงจึงมักจะขัดแย้งกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เศรษฐกิจพอเพียงรอไว้ก่อน ค่อยคิดค่อยทำไปช้าๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้ผลกันในชาติไหน เพราะความเป็นจริงของกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยก็จำเป็นต้องลอยอยู่ในกระแสที่เราจำเป็นต้องอภิวัฒน์และแข่งขัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

เมื่อเป้าหมายอยู่ที่ความเจริญรุ่งเรือง หรือ Growth เราจะชี้วัดด้วยมุมมองเช่นใด? GDP หรือ GNH (Gross National Happiness) ถ้าเป็นในทางของเศรษฐกิจพอเพียง คือความเป็นอยู่ที่เป็นสุขของปวงชนชาวไทย ก็วัดเป็นตัวเลขได้ยาก หลายคนเลือกที่จะมาทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเล็งเห็นได้ว่าในระยะยาวจะเป็นหนทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป็นการรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ ทรัพยากร ธรรมชาติ และสังคม ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดังนี้

เครือข่ายพันธมิตร 16 จังหวัดภาคใต้ และ 6 จังหวัดภาคตะวันตก ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมประจวบคีรีขันธ์ แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกและภาคใต้ รวมถึงโครงการถลุงเหล็ก เครือข่ายฯ เรียกร้องให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาภายใต้ระบบรัฐสภา โดยใช้เหตุผลรอบด้านและโปร่งใสพิจารณาตัดสิน โดยจะไม่เคลื่อนไหวในลักษณะม็อบ นี่เป็นวิวัฒนาการอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ในลักษณะแนวทางเดียวกับการเมืองใหม่ (ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ช้าก็เร็ว)

สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2540 "เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป..."

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือหลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะเกิดขึ้นจริงในทุกภาคส่วนได้แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับธรรมาภิบาลและระดับความสามารถในสังคมไทย โปรดสังเกตว่าผู้เขียนมิได้ใช้คำว่าการศึกษา แต่ใช้คำว่าความสามารถ ด้วยเหตุผล (ของผู้เขียน) ว่า การศึกษาเป็น การให้ความรู้เพื่อการพัฒนาและเพื่อดำรงอยู่ในสังคม แต่ความสามารถเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไปถึงความนึกคิด ความรู้สำนึก อันเป็นกลไกของการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อสังคมรู้ซึ้งถึงความถูกต้องเหมาะสม ก็ย่อมนำสังคมไปในทางที่เจริญ รุ่งเรืองและสัมฤทธิผลอย่างแท้จริง เช่น การรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังต้องพยายามเอาชนะ ข้อเสียของสังคมไทยที่เคยชินกับความประพฤติประเภท ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ หรือต่างคนต่างทำ หรือเอาตัวรอดเป็นยอดดี จึงมักไม่ค่อยคำนึงถึงระบบการประสานงาน กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และการให้เกียรติซึ่งกันและกันในวิชาชีพ ถ้าจำเป็น ต้องร่วมมือกันก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ร่วมกัน หรือได้ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ร่วมกัน พฤติกรรมดังกล่าวอยู่ในระบบเก่า จำเป็นต้องถอนรากถอนโคนออกไปให้หมด คนรุ่นใหม่จะต้องทำงานอย่างสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ เคารพในสิทธิ์ซึ่งกันและกัน มีมารยาทในงานวิชาชีพ และประสานร่วมมือกันจึงจะมีคุณภาพและคนรุ่นเก่าก็ต้องยอมรับข้อบกพร่องปรับใหม่เสียแต่บัดนี้

หวังว่าความขัดแย้งต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร ย่อมแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราพยายามใช้ทั้งการศึกษา ความสามารถ และคุณธรรม แทนการใช้วิธีเดินม็อบ หรือการโต้แย้งกันในรัฐสภาอย่างไร้เหตุผล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.