|
โลกหนังสือดิจิตอล
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับหนอนหนังสือแล้ว การได้เข้ามานั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือหลากหลายนานาชนิดจำนวนหลายแสนหลายล้านเล่ม ถือเป็นความฝันที่ไม่ใช่หนอนทุกคนสามารถพานพบมันได้ในชีวิตหนึ่ง บางคนต้องทุ่มทุนเดินทางไปต่างประเทศ ไปยังห้องสมุดที่มีหนังสือหลายล้านเล่มในนั้น แต่พวกเขาก็ทำได้แค่เข้าไปเยี่ยมชม แต่ไม่สามารถนั่งอ่านได้นานๆ แบบห้องสมุดแถวบ้าน
หลายประเทศเอาห้องสมุดไปตั้งไว้ในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางในการจับจ่ายซื้อสินค้าในแต่ละท้องที่ ซึ่งถ้าเทียบกับเราก็คือ อาจจะมีทุกตำบล หลายๆ ประเทศให้บริการไม่เพียงแต่คนในประเทศของตน แต่ให้บริการสำหรับคนต่างชาติที่ไปทำงานหรือเรียนหนังสือในประเทศนั้นๆ ด้วย โดยเพียงแค่สามารถแสดงหลักฐานที่บ่งบอกถึงถิ่นที่พำนักก็สามารถใช้บริการได้เหมือน คนในประเทศนั้นๆ
แต่สำหรับคนไทยนี่ เรามีห้องสมุดเล็กๆ อยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะห้องสมุดใหม่ๆ ที่เดี๋ยวนี้เริ่มเข้าไปใช้บริการได้ง่ายขึ้น แม้จะต้องเสียค่าบริการบ้าง ทั้งๆ ที่เรื่องห้องสมุดและการเพิ่มความรู้ของประชาชนควรเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และเป็นระบบ โดยเฉพาะการมีห้องสมุดประชาชน ที่คนในประเทศสามารถมาใช้บริการได้ฟรี สามารถหยิบยืมหนังสือและสื่ออื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการอื่นใด นอกจากนี้ รัฐยังควรต้องให้บริการโดยการตั้งห้องสมุดไว้ในจุดที่ประชาชนสามารถเดินทางมาใช้บริการได้อย่างสะดวก ซึ่งรัฐบาลในหลายๆ ประเทศขอพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเป็นที่ตั้งห้องสมุด และอีกหลายๆ ประเทศก็ตั้งหอสมุดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปเลย
ซึ่งประเทศไทยในช่วงหลายปีหลังมานี้ก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศในแง่ที่มีการนำเอาหน่วยงานที่ให้บริการของทางราชการไปไว้ในห้างสรรพสินค้า ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุด TK Park ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือ TCDC ที่ไปตั้งในห้างเอ็มโพเรียม เพื่อจัดนิทรรศการต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้บริการ
แต่ตอนนี้ หนอนหนังสืออาจจะเริ่ม หยิบจับความฝันของพวกเขาเต็มมือเต็มไม้ มากขึ้น โดยเกือบห้าปีที่ผ่านมา กูเกิ้ลได้ริเริ่มโครงการห้องสมุดออนไลน์ ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าหมายว่า มันจะเป็นโครงการที่ส่งผลต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายก็มองว่า นี่จะเป็นการเข้ามาครอบงำวงการนักเขียนสิ่งพิมพ์และหนังสือดิจิตอลในอนาคตของกูเกิ้ลก็เป็นได้
ในปี 2004 กูเกิ้ลประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า พวกเขากำลังจะสร้างห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา นี่จะเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยกูเกิ้ลได้เซ็นสัญญากับเหล่ามหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ชั้นนำทั่วโลกให้ทำหน้าที่สแกนหนังสือ ในห้องสมุดของพวกเขา โดยทางกูเกิ้ลจะทำให้ไฟล์ที่สแกนมาสามารถใช้เสิร์จเอ็นจิ้นของกูเกิ้ลค้นหาคำได้ทุกคำในหนังสือเหล่านั้น โดยใช้วิธีการค้นหาแบบเดียวกับที่เราค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกูเกิ้ลนั่นเอง หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ซึ่งความฝันนี้สะดุดลงทันทีเพราะกูเกิ้ลต้องมาติดปัญหากับความจริงเรื่องของลิขสิทธิ์
ทางกูเกิ้ลเองก็ยืนยันว่าตัวเองมีสิทธิ์ตามกฎหมายภายใต้หลักการเรื่อง Fair use สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นๆ ซึ่งเป็นหลักการที่ยอมให้ใช้หรืออ้างอิงถึงทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ แบบจำกัดสิทธิ์โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์ เช่น ใช้ในการศึกษาทางวิชาการหรือใช้ในการเขียนวิจารณ์ เป็นต้น
ตามแผนของกูเกิ้ลนั้น พวกเขาจะสร้างเว็บเสิร์จเอ็นจิ้นใหม่ที่สามารถค้นหาทุกๆ คำในหนังสือที่เก่าพอที่จะสามารถนำมาเปิดเผยให้คนทั่วไปดูได้ แต่สำหรับหนังสือที่ยังคงพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่อยู่ กูเกิ้ลก็จะโชว์แค่เพียงบางหน้าเท่านั้น ยกเว้นทางเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้เผยแพร่ได้ทั้งเล่ม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ตรงหนังสือ อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่หรือจำหน่ายแล้ว แต่ยังถูกคุ้มครองอยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ โดยหนังสือบางเล่มนั้น ไม่สามารถติดตามหาเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนหรือสำนักพิมพ์ได้อีกแล้ว ทำให้กูเกิ้ลไม่สามารถขออนุญาตเพื่อนำมาสแกนได้ ซึ่งสำหรับหนังสือในกลุ่มนี้ กูเกิ้ลเสนอแนวทางแบบประนีประนอม โดยพวกเขาจะสแกนหนังสือเหล่านี้ทั้งเล่มเอาไว้ก่อน แต่เมื่อจะนำไปโชว์บนเว็บ พวกเขาจะแสดงแค่เฉพาะตัวอย่างของหนังสือเท่านั้น คล้ายๆ กับการแสดงในบัตรดัชนี
อย่างไรก็ตี โครงการของกูเกิ้ลนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับสมาคมนักเขียนและผู้จัดพิมพ์อเมริกัน หรือ The Authors Guild and the Association of American Publishers โดยพวกเขามองว่า โครงการของกูเกิ้ลเป็นโครงการขโมยลิขสิทธิ์ระดับยักษ์ใหญ่ ซึ่งในปี 2005 ที่ผ่านมา พวกเขา ก็ได้ฟ้องศาลเพื่อให้กูเกิ้ลยุติโครงการนี้เสีย
เมื่อปีกลายทางกูเกิ้ล, นักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้มีข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งเรียกว่า Authors, Publishers, and Google Landmark Settlement แต่หลังจากนั้นก็มีการต่อต้านจากทั้งเหล่านักวิชาการทางด้านลิขสิทธิ์และทนายของผู้บริโภค และที่สุดทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้เริ่มขบวนการไต่สวนในประเด็นการผูกขาดตลาดจากข้อสรุปร่วมกันดังกล่าวนั้น ซึ่งหลายคนก็เห็นว่า โครงการของกูเกิ้ลนี้รวมถึงข้อตกลงของกูเกิ้ลที่มีกับเหล่านักเขียนและสำนักพิมพ์เหล่านี้จะทำให้กูเกิ้ลและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะมีอำนาจแบบไร้เทียมทานในตลาดใหม่ของหนังสือดิจิตอลนี้
อย่างน้อยในช่วงต้นๆ ข้อตกลงนี้น่าจะส่งผลดีมากต่อกูเกิ้ลเอง สมมุติว่าเราต้องการค้นหาคำสักคำหนึ่ง เราจะได้หนังสือมากมายออกมาซึ่งเกี่ยวข้องกับคำคำนั้น แต่เดิมกูเกิ้ลจะแสดงเฉพาะข้อมูลบางส่วนหรือบางหน้าเท่านั้น หรืออาจจะไม่ให้ดูรายละเอียดใดๆ ยกเว้นข้อมูลทางดัชนี แต่จากข้อตกลงใหม่นี้กูเกิ้ลจะยอมให้ผู้ใช้ที่เป็นคนอเมริกันสามารถดูรายละเอียด ในหนังสือได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือใดๆ ก็ตามที่สแกนมา ในขณะที่ห้องสมุดสาธารณะหรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่กว้างขวางกว่า โดยผู้ใช้งานที่ห้องสมุดเหล่านั้นจะสามารถมองเห็นได้ทุกหน้าผ่านเว็บของกูเกิ้ล
อย่างไรก็ดี กูเกิ้ลจะแทรกโฆษณาเข้าไปไว้ข้างๆ หนังสือ และจะให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ เวอร์ชั่นดิจิตอล ได้ โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปในตอนนี้ว่าฟอร์แมต ของไฟล์หนังสือดิจิตอลนั้นจะเป็นชนิดไหน ทางกูเกิ้ลจะแบ่งรายได้ 63 เปอร์เซ็นต์ใส่ไว้ในกองทุนที่เรียกว่า Book Right Registry ซึ่งกองทุนนี้ทางอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะเป็นคนคอยดูแลเอง
ซึ่งถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็คือ นี่จะเป็นกองทุนช่วยเหลือนักเขียนที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์อยู่ แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว โดยนักเขียนเหล่านั้นสามารถลงทะเบียนไว้กับกองทุนนี้และทำให้พวกเขาสามารถมีรายได้จากงานเขียนของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับโครงสร้าง และรูปแบบการแบ่งรายได้ให้กับเหล่านักเขียนยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากข้อตกลงนี้
นั่นคือ กูเกิ้ลในฐานะเจ้าของเว็บไซต์ ในการค้นหาหนังสือจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากการเข้าถึงในทุกหน้าทุกคำของหนังสือ และที่สำคัญ ทั้งกูเกิ้ลและนักเขียนก็จะสามารถสร้างรายได้จากการเข้าถึงนี้
แต่ปัญหาก็คือเฉพาะนักเขียนที่ลง ทะเบียนไว้กับกองทุน Book Right Registry เท่านั้นจึงได้รับเงินนี้ แม้ว่าจะไม่มีใครค้นหา หนังสือของพวกเขาก็ตามที แต่ถ้านักเขียน หนังสือเหล่านั้นไม่รู้เรื่องนี้ล่ะ หรือพวกเขาตายไปแล้วล่ะ แน่นอนว่า กูเกิ้ลและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั้งหลายจะเป็นคนรับผลประโยชน์เหล่านั้นทุกบาททุกสตางค์
นอกจากนี้ยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนสำหรับผู้เขียนในการอนุญาตให้ใคร ก็ตามเอาหนังสือของพวกเขาไปใช้ฟรีๆ
แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด น่าจะเป็นประเด็นของสิ่งที่กูเกิ้ลได้รับจากข้อตกลงและโครงการนี้ โดยกูเกิ้ลจะกลาย เป็นบริษัทเดียวในโลกที่สามารถเข้าถึงหนังสือจำนวนมากที่สุดผ่านทางระบบดิจิตอล ในขณะที่อเมซอน, ยาฮู, ไมโคร ซอฟท์และกลุ่มต่างๆ เช่น Open Content Alliance จะถูกกีดกันออกจากกองทุนนี้เป็นแน่ นั่นทำให้กูเกิ้ลและอุตสาหกรรม สิ่งพิมพ์จะมีอำนาจและอิสระในการปรับขึ้นหรือปรับลงราคาหนังสือที่พวกเขาครอบครองได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ ไม่ว่าจะเป็น นักเขียนหรือผู้จัดพิมพ์ก็ตาม จะต้องพยายามผลักดัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามที่จะให้สิทธิ์ในลักษณะเดียวกันนี้กับบริษัทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน, ไมโครซอฟท์ หรือใครก็ตามเพื่อจะมาคานอำนาจกับกูเกิ้ลที่มีอยู่ โดยแนวทางนี้นอกจากจะช่วย ให้ตลาดไม่เกิดการผูกขาดโดยใครคนใดคนหนึ่งแล้ว ยังทำให้ตลาดหนังสือมีชีวิตชีวาขึ้นด้วย และนี่จะเป็น การทำให้กูเกิ้ลพยายามพัฒนาระบบค้นหาหนังสือของพวกเขาให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันที่พวกเขาไร้แรงจูงใจเพราะพวกเขาเป็นรายเดียวที่สามารถเข้าถึงหนังสือได้ ในขณะที่พวกเขา พัฒนาระบบเสิร์จเอ็นจิ้นของพวกเขาก่อนหน้านี้ให้เลิศเลอเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะคู่แข่งทุกรายสามารถ เข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกับกูเกิ้ลนั่นเอง
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โลกของเรากำลังมุ่ง ไปสู่เป้าหมายที่ว่าหนังสือ ทุกเล่มในโลกจะเป็นดิจิตอล ซึ่งนั่นแน่นอนว่าจะเกิดผลดีต่อผู้อ่านอย่างเราเป็นสำคัญ การปล่อยให้กูเกิ้ล หรือใครก็ตามผูกขาดการเข้าถึงหนังสือได้เพียงผู้เดียว จะกลายเป็นหายนะใหญ่ไม่เพียงแต่กับคนเขียนหนังสือเท่านั้น แต่จะส่งผลสะเทือนต่อเหล่าผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นหนอนหนังสือหรือหนอนไม้ไผ่ก็ดี
อ่านเพิ่มเติม :
1. Authors, Publishers, and Google Reach Landmark Settlement, http://www.google.com/intl/en/press/pressrel/20081027_booksearchagreement.html
2. Manjoo, F. (2009), 'Your Search Returned 12 Million Books,' Slate, http://www.slate.com/id/2217804/
3. Helft, M. (2009), 'Justice Dept. Opens Antitrust Inquiry Into Google Books Deal,' The New York Times, http://www.nytimes.com/2009/04/29/technology/internet/29google.html?_r=1
4. Samuelson, P. (2009), 'Legally Speaking: The Dead Souls of the Google Booksearch Settlement,' O'Reilly radar, http://radar.oreilly.com/2009/04/legally-speaking-the-dead-soul.html
5. Samuelson, P. (2009), 'Reflections on the Google Book Search Settlement,' http://www.slideshare.net/naypinya/reflections-on-the-google-book-search-settlement-by-pamela-samuelson
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|