ไดเออิ อิงค์ในนามเจ้าพ่อร้านค้าปลีกญี่ปุ่นสู่เมืองไทยในฐานะสำนักงานตัวแทน


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ไดเออิ เป็นบริษัทดำเนินกิจการค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งการตลาดประเภทร้านสรรพสินค้าประมานร้อยละ 10 ของทั้งหมด คิดเป็นยอดขายประมาณปีละ 18 ล้านบาท เห็นตัวเลขยอดขายก็รู้ได้ถึงความใหญ่

จากเหตุที่บริหารโดยยึดแนวคิดร้านค้าแบบลูกโซ่ของอเมริกัน ประกอบกับกุลยุทธ์การจัดหาผลิตภัณฑ์หลากชนิดมาจำหน่ายตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ร้านปลีกของไอเออิขยายไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นกลุ่มร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีร้านค้าปลีกที่ดำเนินกิจการเองประมาน 169 แห่ง และร้านค้าย่อยอีกที่ไดเออิมีหุ้นหรือมีสิทธิ ทางการค้าอีกกว่า 5,000แห่ง

เมื่อไดเออิขยายร้านค้าออกไปอย่างกว้างขวาง จากร้านขายยาเพียงคูหาเดียวเมื่อปี 2500 ขยายเป็นร้านค้าปลีกที่มีอยู่ทั่วญี่ปุ่นกว่า 5,000 แห่ง ขอบข่ายการขยายความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่ายในร้าน จึงจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นแล้วยังนำสินค้าต่างประเทศเข้าไปจำหน่ายด้วยสำนักงานตัวแทน จัดซื้อสินค้าในต่างประเทศที่มีอยู่ตามจุดต่างๆทั่วโลกแล้ว 10 แห่งไม่เพียงพอ ที่จะหาสินค้า ใหม่ๆ มาสนองความต้องการ ของลูกค้าที่คิดเฉลี่ยแล้วเข้ามาใช้บริการไดเออิ วันละประมาณ 3 ล้านคน

สำนักงานตัวแทนเพื่อจัดซื้อสินค้า ส่งไปญี่ปุ่น แห่งที่ 11 ไดเออิ กรุงเทพฯ จึงเปิดทำการตั้งแต่ปลายปี 2529 และเพิ่งเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว

"เราพบว่าสินค้าของไทย มีโอกาสขยายตัวได้มากในตลาดญี่ปุ่นหากได้รับการส่งเสริมด้านการส่งออกจากภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดในญี่ปุ่นให้มีความรู้ความเข้าใจ และต้องการในสินค้าของไทย" มร.ที.ฟูจิตะ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนไดเออิ กรุงเทพฯ กล่าวถึงโอกาสที่มีมากของสินค้าไทยในญี่ปุ่นอันเป็นสาเหตุ ให้ไอเออิ ต้องมาเปิดสำนักงาน ตัวแทนที่กรุงเทพฯ

สินค้าที่ไดเออิติดต่อจัดซื้อจากบริษัทจำหน่ายและผู้ผลิตในประเทศไทย เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า อาหารทะเลแช่เย็น ไก่ ข้าวตัง กล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้ ลวด เครื่องแก้ว เซรามิค

"ขณะที่เราติดต่อผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าในประเทศ ไทยอยู่ประมาน 150 ราย และคาดว่า จะสามรถส่งสินค้าไปญี่ปุ่นได้ ประมาณ 26 ล้านบาท" มร.ฟูจิตะ กล่าวเสริมถึงการนำเข้าสินค้าเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าปลีกที่ญี่ปุ่น

กล่าวได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นหัวใจสำคัญของไอเออิ เพราะคิดเป็น 90% ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งธุรกิจอื่นประกอบด้วยธุรกิจที่อยู่อาศัย ภัตตาคาร และบริการอื่น ๆ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

"ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของกลุ่มไอเออิ คือ ลูกค้าจำนวน 3 ล้านคนที่แวะเข้าไปร้านค้าต่างๆ ของบริษัท ทุกๆ วัน คนเหล่านี้ไม่เพียงซื้อสินค้าและใช้บริการของบริษัท แต่ยังเป็นเงาสะท้อนความต้องการและแนวโน้มการตลาดด้วย ด้วยเหตุนี้ เราคิดว่าไม่มีกลุ่มบริษัทใดในญี่ปุ่น จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าได้ดีเท่าไอเออิ ผู้บริหารกลุ่มไอเออิคนหนึ่งกล่าวโยงไปถึงการเปิดสำนักงานตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อหาสินค้าสนองความต้องการของลูกค้าญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายตัวที่มีลู่ทางตลาดดีที่ญี่ปุ่น แต่มีปัญหาการกีดกันทางการค้าไม่สามารถส่งเข้าไปตลาดญี่ปุ่นได้ เช่น ไก่ทอดกระดูกแช่แข็ง ที่เจอกำแพงภาษีอย่างสูง และผลไม้ที่ถูกกีดกัน เนื่องจากปัญหาเรื่องการกำจัดแมลง

"ปัญหาเหล่านี้เกินความสามารถที่ไดเออิจะจัดการได้ ต้องพึ่งพาความร่วมมือทั้งทางราชการทั้ง 2 ประเทศ และผู้ผลิตเองด้วย รวมทั้งต้องการให้ สื่อมวลชนช่วยกันให้ความสนใจ เป็นตัวกระตุ้นให้การกีดกันนั้นหมดไป" มร.อิชาโอะ นาคาอุชิ ประธานกรรมการและหัวหน้า ผู้บริหารไอเออิ อิงค์ ซึ่งเป็นกรรมการ เจโทร ประเทศญี่ปุ่นด้วย กล่าวถึงเรื่องนี้

ด้วยความมุ่งมั่น การขยายร้านสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกออกไปไม่หยุดยั้ง ไอเอิที่ญี่ปุ่น ปี 2529 จึงเพิ่มขึ้นอีกหกร้าน ถึงแม้ในเมืองไทย ไดเออิยังไม่มีห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกของตนก็ตาม

ในเมืองไทยนั้นกลุ่มร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น มาเปิดห้างสรรพสินค้าและเป็นตัวแทนจัดซื้อสินค้าจากประเทศไทยกลับไปนั้นก็มีหลายหลายแล้ว เช่น ไดมารู จัสโก้

แต่ไดเออิยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้า กลับเข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนจัดซื้อสินค้าเสียก่อนแต่คงไม่แน่หรอก ต่อไปประเทศไทยอาจมีห้างสรรพสินค้า ชื่อ ไอเออิ ก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.