พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล คนที่ 2 ของรุ่นที่ 3 "นักตามรอย"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

"ลี้อิสสระนุกูล" วันนี้ไม่เล็กเลยเมื่อย้อยกลับไปเทียบ 70 สิบปีที่แล้ว ครั้งที่กนก ลี้อิสสระนุกูล จากเมืองจีนเข้ามาตั้งรกรากซ่อมจักรยานอยู่ที่ตลาดน้อยจนถึงรุ่นที่ 2 ที่ดำเนินกิจการรับช่วงจากกนก ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อปี 2516 คือ ปริญญา, วิทยา ลี้อิสสระนุกูล และกัลยาณี พรรณเชษฐ์

พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล คนที่ 2 ของรุ่นที่ 3 ที่ตามรอยทนงเกือบทุกอย่าง ด้วยเหตุผลที่มีพื้นฐานทางด้านวิศวะ และเข้าใจการผลิตเป็นอย่างดี เมื่อถูกซักถามจากนักข่าวเกี่ยวกับการผลิต ลึกๆ เธอมักจะตอบฉะฉานเสมอว่า ขอไม่ตอบเพราะเกรงความลับด้านการผลิตจะรั่วไหล

ตั้งแต่วันนี้ที่กนกเริ่มก่อร่างสร้างตัวจนถึงวันนี้ "ลี้อิสสระนุกูล" เติบโตออกไปอย่างกว้างขวางในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่สิทธิผล 1919 ที่เป็นกิจการแรกเกี่ยวกับจักรยานสิทธิผลมอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ, สหพัฒนายานยนต์ ประกอบรถยนต์มิตซูบิชิ รถบรรทุกฟูโซ่, โรงเรียนกนกอาชีวศึกษา, บริษัท อินโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย) ผลิตยางนอกยางในรถจักยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ที่ทำด้วยยางบริษัทไทยสแตนเลย์ ารไฟฟ้าผลิตหลอดไฟและโคมไฟสำหรับยานพาหนะทุกชนิด

ในวันนี้อิสระนุกูล รุ่นที่ 3 ได้เข้ามามีบทบาทแล้วเริ่มด้วยทนง ลี้อิสสระนุกูล ลูกชายคนโตของวิทยาและพรดี ลี้อิสสระนุกุล ซึ่งขณะนี้มีบทบาทเด่นมากเขาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท สิทธิผล 1919 บริษัทไทย สแตนเลย์ การไฟฟ้า บริษัทไทยเชต้าสตีลอินดัสเตรียลและรองประธานกรรมการบริษัทอินโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ยังมีอีกคนที่ตามรอยทนงเกือบทุกอย่าง พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล น้องสาวทนง ลูกสาวคนที่ 2 ของวิทยาจากลูกทั้งหมด 4 คนเป็นคนที่ 2 ของรุ่นที่ 3 ที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจกลุ่ม สิทธิผล เธอเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอินโนโว รับเบอร์ (ประเทศไทย ) เมื่ออายุ 25

พิมพ์ใจขณะนี้อายุ 26 จบปริญญาตรีวิศวอุตสาหกรรมจากจุฬาฯ เมื่อได้ทำงานวิศวะตามที่เรียนมาสมใจที่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วจึงทำที่ครอบครัวต้องการ เริ่มด้วยการเรียนทางบริหารธุรกิจ ตามรอยพี่ชาย แต่แทนที่จะไปเรียนที่ญี่ปุ่นเหมือนทนง พิมพ์ใจ ไปเรียนที่ เอ็มบีเอ ที่ DREXELUNIVERSITY ฟิลาเดลเฟีย

ทันทีที่กลับเมืองไทยก็รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอินโนเว รับเบอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางรถจักยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ที่ทำด้วยยางที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ต่อจากทนง ซึ่งเริ่มบทบาทของตนในกลุ่มสิทธิผล ที่บริษัทวันนี้ เธอเรียนรู้งานมาแล้ว 1ปี กับ 4 เดือน

"ถ้าคิดว่าตนเองเป็นวิศวกรก็ต้องบอกว่าใช้เวลาในโรงงานน้อยไป แต่ถ้าคิดว่าตนเองเป็นผู้บริหารก็ต้องบอกว่า ให้เวลาส่วนใหญ่กับโรงงานมากทีเดียว" พิมพ์ใจกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงตัวเองที่มีพื้นฐานทางวิศวอุตสาหกรรมมาก่อน เมื่อมาบริหารงานบริษัทที่เป้นผู้ผลิตจึงเข้าในงานด้านโรงงานเป็นอย่างดี

ความจริงแล้ว อินโนเวรับเบอร์เป็นบริษัทที่เหมาะมากที่สุดในกลุ่มสิทธิผล สำหรับการเรียนรู้งานเพราะดูเหมือนจะเป็นบริษัทที่ทำงานเป็นทีมและมีระบบมากที่สุด เป็นบริษัทที่มีการถ่ายทอดทั้งทางด้านบริหารงานและเทคโนโลยีการผลิตจากญี่ปุ่นเพราะบริษัทนี้ อินโนเว ประเทศญี่ปุ่นถือหุ้น 49% กลุ่มคนไทย ถือ 51% ดำเนินการผลิตยางรถยนต์และชิ้นส่วนที่ทำด้วยยาง เพื่อทดแทนการนำเข้ามาได้ 15 ปีแล้ว และในปีหน้า 2531 ภายใต้การนำของกรรมการผู้จัดการอายุ 26 บริษัทนี้จะส่งยางรถจักรยานยนต์ ไออาร์ซี ที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งออก เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

โครงการเพื่อการส่งออกนี้ต้องลงทุนเพิ่มอีก 30 ล้านบาท ต้องลงทุนเพื่อควบคุมคุณภาพมากขึ้นๆ เพราะการส่งออกภายใต้ชื่อ ไออาร์ซี ทางญี่ปุ่นต้องการให้สินค้าที่ออกไปมีคุณภาพมาตราฐาน พิมพ์ใจบอกว่าบริษัทนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการถ่ายทอดเท็คโนโลยีขั้นต่อไปคือ การลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาส่วนสำคัญที่ต้องลงทุนคือ TESTING ROOM เพื่อเตรียมรับการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออก

ขณะนี้ยางไออาร์ซีของอินโนเวรับเบอร์ ครองส่วนการตลาดถึง 70% และเป็นซัพพลายยางให้กับจักรยานยนต์ ทั้งฮอนด้า ยามาฮ้า คาวาซากิ ซูซูกิ และส่วนประกอบรถยนต์ที่ทำด้วยยางซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ประมาณ 80% ก็เป็นซัพพลายให้กับผู้ประกอบรถรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า โตโยต้า อีซูซู มิตซูบิชิ นิสสัน มาสด้า เปอร์โยต์ บีเอ็มดับบลิว

"เราคิดว่าจะขยายตลาดในส่วนชิ้นส่วนยางออกไปอีกนอกจากตลาดที่เป็นยานยนต์ เช่นยางขอบกระจก ตามอาคาร ยางระบบวาวล์ ยาง INSULATOR" พิมพ์ใจกล่าวถึงความคิดส่วนตัวในเรื่องการขยายตลาด

ปี 2529 อินโนเวรับเบอร์ ประเทศไทยมียอดขาย 240 ล้านบาท ในปี 2530 คาดว่าจะทำยอดขายได้ทั้งสิ้นประมาน 280 ล้านบาท และในปี 2531 จะเป็นปีแรกที่อินโนเวรับเบอร์ ประเทศไทย ส่งออกยางรถจักรยานยนต์ ไออาร์ชี เป็นครั้งแรก ภายใต้การนำของกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล และเมื่อผ่านเวลานั้นไปไม่นาน รุ่นที่ 3 คนที่ 2 นี้ต้องขยับขยายหน้าที่รับผิดชอบตามพี่ชายต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.