วนิดา กุลกำม์ธร หญิงเดี่ยว? ที่ "การ์เด้น ออฟ อีเด็น"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

การ์เด้น ออฟ อีเด็น เป็นบริษัทในเครือ อีเด็น กรุ๊ป ซึ่งดำเนินกิจการอุตสาหกรรมสิ่งทอประกอบด้วยบริษัท การ์เด้น ออฟอีเด็น ซึ่งผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่น การ์เมนท์ส ทำหน้าที่ทางด้านการส่งออก และบริษัท อินเตอร์ปริ้นท์ ดำเนินกิจการพิมพ์ผ้าและสิ่งทอต่าง ๆ

เมื่อ 2-3 ปีก่อนชื่อของอีเด็น กรุ๊ป ไม่คุ้นหูนัก แต่เมื่อพิจารณาการเติบโตแล้ว นับว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอดาวรุ่งที่กำลังพุ่งแรง เมื่อปี 2525 มียอดขายเพียง 11 ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นปี 2529 มียอดขายรวมถึง 515 ล้านบาท คิดโดยเฉลี่ยอัตราเติบโตประมาณ 4,300% ในช่วงเวลา 5 ปี ออกจะเป็นการเติบโตรวดเร็วจนน่าใจหาย

ประกอบกับตั้งแต่ต้นปี 2530 มานี้ อีเอ็น กรุ๊ป มีรายการโปรโมชั่นต่าง ๆ นานาหลายชนิด ทั้งข่าวสารการประชาสัมพันธ์การเปิดให้ชมโรงงาน การออกงานแสดงสินค้า จนถึงการจัดการแข่งขันดีไซเนอร์ ฯลฯ มีการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเปิดตัวต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น

ชื่อของ อีเด็น กรุ๊ป วันนี้จึงเริ่มชินชาในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอและกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

เช่นเดียวกันชื่ออีกชื่อหนึ่งคือ วนิดา กุลกำม์ธร ก็เริ่มติดหูติดตา วินิดาดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลและการค้า รับผิดชอบพนักงานโรงงานเกือบ 3,000 คนและพนักงานประจำสำนักงานอีกกว่า 100 คน รวมทั้งการติดต่อกับหน่วยราชการและกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ด้วย

ภาพของวนิดาจึงเหมือนหน้าตาของ อีเด็น กรุ๊ป และเป็นที่เข้าใจกันว่าเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะผู้บริหารระดับสูงที่เป็นชาวต่างประเทศ

"ยังมีคนอื่นด้วย เราทำงานกันเป็นทีม คณะบริหารของอีเด็น กรุ๊ป ทีมนี้จะบริหารทั้ง 3 บริษัท" วนิดาให้ความกระจ่างกับ "ผู้จัดการ" ถึงคณะผู้บริหารที่มีทั้งสิ้น 7 คน มีชาย 3 คนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น ส่วนที่เหลืออีก 4 เป็นผู้หญิงคนไทย

อดัม ไลโซสกี้ ประธานบริษัท

นิโคลัส พาเจ็นสกี้ ผู้จัดการทั่วไป

อเล็กซ์ บรูเกอร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต

วนิดา กุลกำม์ธร ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและการค้า

สาธิยา สิริเรืองอำไพ ผู้จัดการฝ่ายการเงิน

แพทริเซีย หอวัง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

อุษา วัชรีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

อีเด็น กรุ๊ป นั้นเริ่มที่บริษัทการ์เด้น ออฟ อีเอ็น เมื่อปี 2521 เป็นเพียงผู้ผลิตเสื้อสำเร็จรูปรายย่อยที่มุ่งตลาดภายในประเทศ ด้วยการสั่งสติ๊กเกอร์ติดเสื้อจากต่างประเทศเข้ามาตกแต่งจำหน่ายสินค้ามีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ และมีการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ

เมื่อตลาดภายในเป็นไปด้วยดี ลู่ทางการการส่งออกแจ่มใสจึงมุ่งส่งออกตลาดต่างประเทศแต่ในเวลานั้นการ์เด้นท์ ออฟอีเด็น ยังไม่มีโรงงานผลิตที่ทันสมัยและกำลังผลิตไม่มากพอ เมื่อได้รับออเดอร์ จากต่างประเทศก็มีปัญหา เพราะต้องนำส่งต่อโรงงานผุ้ผลิต สินค้าที่ผลิตไม่ได้คุณภาพและไม่เสร็จตามเวลากำหนดเวลา

มร.อดัม ไลโซสกี้ ประธานบริษัท เริ่มคิดเรื่องตั้งโรงงานของตนเอง ได้ตั้งโรงงานขึ้นหลายแห่งและเมื่องานขยายขึ้นโรงงานก็ย้าย และขยายตาม จนถึงครั้งล่าสุดมาปักหลักที่ริม ถนนวิภาวดีรังสิต บนเนื้อที่ 12 ไร่ ซึ่งรวมที่ทำการของบริษัทในเครืออีเด็นทั้งหมดไว้ด้วย

สำหรับวนิดานั้นชีวิตคลุกคลีอยู่ในวงการสิ่งทอมาตลอดเกิดมาก็พบแล้วว่าครอบครัวเะปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่ที่สำเพ็ง มาเบี่ยงเบนเล็กน้อยเมื่อช่วงแรกเริ่มชีวิตทำงาน เพราะหลังจาการเรียนจบทางด้านเลขาฯ จาก STAN FORD COLLEGE ที่อังกฤษแล้วกลับมาทำงานเลขาฯอยู่พักใหญ่ก่อนเข้าสู่วงการสิ่งทอ

"ทางครอบครัวสนิทกับคุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ท่านแนะนำให้ไปทำที่เท็กซ์ปอร์ต เขียนนามบัตรให้ไปหาคุณประกายเพชร อินทโสภณ ซึ่งตอนนั้นนั้นเป็น M.D ก็ได้เข้าทำงาน" วนิดาย้อนอดีตถึงสายสัมพันธ์ที่ กุล กำม์ธร ทางฝ่ายสามี มีกับ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เมื่อครั้งเลือดประชาธิปัตย์ยังเข้มข้น จึงมีโอกาสเข้าสู่วงการสิ่งทอทำงานได้เพียงปีกว่า ที่เท็กซ์ปอร์ต มีปัญหาไฟไหม้โรงงานและฝ้ายราคาตกต่ำถึงขั้นขาดทุนมาก ภายในบริษัทมีปัญหา วนิดาจึงลาออกมาอยู่ที่ชินวัตรไหมไทย ดูแลด้านบริหารและการตลาด

"อยู่ชินวัตรได้เพียงปีเดียว บริษัทแฟนนี่ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนจากฮ่องกงมาเปิด COMMISSION AGENT ก็ออกมาเป็น INSPECTOR ให้เขาเวลาลูกค้ามีออเดอร์เข้ามา เราก็พาไปติดต่อโรงงาน ทำอยู่ได้ 3 ปี ทางอีเด้น กรุ๊ป ก็ชวนมาทำงาน วนิดาบอกผู้จัดการว่า รู้จักกับ มร. ไลโซสกี้ ประธานอีเด็น กรุ๊ป ตั้งแต่เมื่อครั้งทำงานอยู่ชินวัตรฯ

วนิดาเริ่มงานกับอีเด็น กรุ๊ป ในปี พ.ศ 2526 พร้อม ๆ ไปกับการเติบโตของบริษัทการ์เด้น ออฟ อีเด้น และตามมาด้วยการเกิดบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่น การ์เมนท์ส และอินเตอร์ปริ้นท์ควบคู่กันไปกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี ในปี 2530 นี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 800 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,000ล้านบาท ในปีรุ่งขึ้น

เรามีดีไซเนอร์ของตนเองจึงเสนอแบบให้ลูกค้าเลือกได้ตลอดปี ตัวแทนของเราในต่างประเทศจะสำรวจความต้องการของลูกค้าส่ง มาที่ศูนย์ผลิตที่กรุงเทพฯ คนงานของเราจะมีงานทำกันตลอด วนิดาให้เหตุผลหนึ่งที่มีส่วนทำให้ยอดขาย อีเด็นกรุ๊ป เติบโต ซึ่งทำให้พนักงานโรงงานทำงานกันเต็มที่ 3 กะ เป็นเหตุให้บางครั้งเที่ยงคืน ตีหนึ่ง เธอต้องขับรถแวะเข้ามาดูความเรียบร้อยในโรงงาน

นอกจากนี้ทางอีเด็นกรุ๊ป ยังเป็นรายแรกๆ ที่มุ่งเจาะตลาด สินค้าประเภทไม่จำกัดโควตา เช่น เสื้อกันหนาว 2 ชั้นที่มีผ้าใยสังเคราะห์ สอดใส่ภายใน สามารถสวมได้ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งสินค้าประเภทไม่จำกัดโควต้า นี้อีเด็นกรุ๊ปส่งออกถึง 56 % ส่วนสินค้าที่มีรายได้จำกัดโควต้าส่งออก 44%

วันนี้อีเด็นกรุ๊ปเป็นกลุ่มร่วมอุตส่หกรรมสิ่งทอที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เกือบจะครบวงจร เริ่มตั้งแต่การ์เมนท์ ฟอกย้อม และพิมพ์ ซึ่งการพิมพ์นั้นทางอินเตอร์ปริ้นท์ ภูมิใจนักหนาว่าเป็นโรงงานที่พิมพ์ได้มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่อย่างไรก้ตาม อีเด้น กรุ๊ป ก็ยังสั่งซื้อวัสดุจากต่างประเทศเข้ามามาหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผ้า"

ถึงแม้ว่า นิดาจะบอก ผู้จัดการ ว่า สำหรับการลงทุนทอผ้าเองนั้น อีเด็น กรุ๊ป ยังไม่กล้าแตะต้องในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เมื่อถึงวันอุตสาหกรรม สิ่งทอทอแสง อีเด็นกรุ๊ป ก็ครบวงจรแล้ว

"ผู้จัดการ" ว่าวันนั้นคง ไม่ไกลนักถ้านักอัตราการเติบโตยังสม่ำเสมอเช่นนี้

ดาวรุ่งยังพุ่งออกไปอีกไกล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.