รองนายกรัฐมนตรีกับความสำคัญทางการเมืองในนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าพูดถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีกับคอการเมืองของบ้านเรา ผมมั่นใจว่าหลายท่านคงมองว่าเป็นตำแหน่งปลอบใจของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เพราะในเมืองไทยนั้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดูมีความสำคัญน้อยกว่ารัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ เสียอีก โดยเฉพาะในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ในทุกรัฐบาลจะมีรองนายกรัฐมนตรีกันหลายคนในบางรัฐบาลก็มีเกือบครึ่งโหล

แต่ประเทศในเครือจักรภพ ตำแหน่งหมายเลขสองในคอร์คัส ซึ่งผมได้เคยกล่าวไว้เมื่อหลายฉบับก่อนนั้น มีความสำคัญมากโดยเฉพาะประเทศอังกฤษนั้นมีระบบคณะรัฐมนตรีที่น่าสนใจมากกว่าประเทศต่างๆ เพราะตำแหน่งที่เรียกว่ารองนายกรัฐมนตรีหรือ Deputy Prime Minister กอร์ดอน บราวน์ยกเลิกไปแล้ว แต่ในประเทศอังกฤษนั้นตำแหน่งที่ชาวอังกฤษถือว่าเป็นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือคนที่รองจากนายกรัฐมนตรีแต่มีศักดิ์และสิทธิ์สูงกว่ารัฐมนตรีมีสองคนด้วยกันคือตำแหน่ง Chancellor of Exchequer

ที่จริงแล้วคำว่า Chancellor นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาโรมัน ซึ่งจะพบว่าในปัจจุบันก็ยังหมาย ถึงนายกรัฐมนตรีในประเทศเยอรมนีกับออสเตรีย ขณะที่ในประเทศสเปน เม็กซิโก และละตินอเมริกา หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสวีเดนกับฟินแลนด์หมายถึงรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งมีอำนาจเป็นอัยการสูงสุด หรือ Attorney General ไปในตัว ในญี่ปุ่นและเดนมาร์กในสมัยโบราณหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ส่วนการปกครองอังกฤษในสมัยโบราณนั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ 9 คน หรือ Great Officers of the State มีตำแหน่งต่างๆ คือ Lord High Steward, Lord High Chancellor, Lord High Treasure, Lord President of the Council, Lord Privy Seal, Lord Great Chamberlain, Lord High Constable, Earl Marshal และ Lord High Admiral ซึ่งปัจจุบัน Lord High Steward และ Lord High Treasure คือนายกรัฐมนตรี ส่วน Lord High Chancellor คือประธานสภาสูงควบคู่ไปกับการเป็นองคมนตรี Lord President of the Council คือประธานองคมนตรี Lord Privy Seal คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วน Lord Chamberlain สังกัดสำนักพระราชวัง ส่วนสามตำแหน่งโบราณที่อยู่สุดท้ายคือเสนาบดีทหารราบ ทหารม้า และทหารเรือ ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงตำแหน่งที่ตั้งให้เป็นเกียรติกับขุนนางเท่านั้นเพราะอำนาจจริงๆ อยู่ที่กองทัพ

ปัจจุบัน Great Officers of the State Great ได้มีการปรับให้เหลือแค่ตำแหน่งที่มีความสำคัญคือ Lord High Chancellor, Lord President of Council, Lord Privy Seal ในขณะที่อำนาจบริหารได้มี Offices of the State ซึ่งมีสี่ตำแหน่งใน Great Offices สำคัญคือ Prime Minister, Chancellor of Exchequer, Foreign Secretary, Home Secretary หรือนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรคลัง, รัฐมนตรีการต่างประเทศ และรัฐมนตรีมหาดไทย

แต่ถ้าถามถึงอำนาจในทางนิตินัยแล้ว ระบบ Westminster ไม่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.เพราะเขามีนิยามว่านายกรัฐมนตรีคือ First among equal ดังนั้นนายกรัฐมนตรีก็คือ ส.ส.คนหนึ่งซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับ ส.ส.คนอื่นๆ เพียงแค่มีหน้าที่มากที่สุดเพราะต้องบริหารประเทศ โดย Chancellor of Exchequer มีหน้าที่มากเป็นอันดับที่สองคือ ต้องบริหารการคลังและการค้าของชาติ ถ้าวัดกับระบบในไทย Chancellor of Exchequer คือการรวมสามตำแหน่งเข้าด้วยกันคือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงทำให้มีอำนาจมากเป็นอันดับสองในประเทศ และทำให้มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของรัฐบาลโดยตรง

ในประเทศนิวซีแลนด์นั้นจะมีโครงสร้างคล้ายกับอังกฤษคือ รองนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นรัฐมนตรี กระทรวงสำคัญแบบ Great Office หรือ Office of States คือต้องมีตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง, ต่างประเทศ, มหาดไทย นอกจากนี้ยังมีเกษตร หรือยุติธรรม ควบไปด้วยอีกตำแหน่ง ซึ่งในนิวซีแลนด์ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีโดยมากรองนายกรัฐมนตรีมักจะคุมการคลัง เหตุผลเดียวที่รัฐมนตรีคลังจะไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและต้องมาจากการะทรวงสำคัญอีกสี่แห่ง มักจะมีเหตุมาจากการไม่ลงรอยระหว่างคอร์คัส เนื่องจากประธานพรรคจะเป็นผู้จัดอันดับในคอร์คัสหรือไม่ก็นายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่งการคลังเองเท่านั้น

ในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังคือ เซอร์ คีธ โฮลียอร์ค ซึ่งมาจากรัฐมนตรีเกษตรเนื่องจากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ เซอร์ ซิดนีย์ ฮอลแลนด์ ตัดสินใจรวบอำนาจนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีคลังเข้าด้วยกัน แต่เมื่อเซอร์ ซิดนี่ย์ ออกจากตำแหน่งเซอร์ คีธก็ได้นำระบบเก่ามาใช้อีกครั้งหลังจากได้รับเลือกเป็นนายกฯ โดยรองนายกฯ ของท่าน คือ เซอร์ แจ็ค มาร์แชลก็เป็นรัฐมนตรีคลัง และเมื่อ เซอร์ มาร์แชล เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งเซอร์ โรเบิร์ต มัลดูนเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีคลัง เช่นเดียวกับรัฐบาลพรรคแรงงานของบิล โรลิ่งที่ตั้งบ็อบ ทิซาร์ดเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีคลัง

จะมีเหตุผิดปกติอีกครั้งคือ เซอร์ มัลดูน ซึ่งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังคงไม่ยอมปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีคลังจึงตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไบรอัน ทัลบอย เป็นรองนายกฯ เช่นเดียวกับรัฐบาลแรงงาน ในยุค 80 เกิดปัญหาคือกลุ่มคอร์คัสในพรรคแตกเป็นหลายฝ่าย โดยคอร์คัสให้เซอร์ โรเจอร์ ดักลาส เป็นรัฐมนตรีคลัง แต่กลุ่มโรเจอร์นั้นไม่ลงรอยกับกลุ่มของนายกรัฐมนตรีเดวิด แรงกี เพราะเป็นกลุ่มเอียงขวาในรัฐบาลเอียงซ้าย แรงกีจึงให้เซอร์ เจฟฟรีย์ ปาร์มเมอร์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม

ปัญหาของกลุ่มการเมืองไม่ได้มีแค่ในพรรคแรงงานแต่พรรคเนชั่นแนล ก็ประสบปัญหาเดียวกันคือ นายกฯ จิม โบลเจอร์ต้องจำใจจำยอมให้นางรูธ ริชาร์ดสัน หัวหน้ากลุ่มแมคเรย์ ซึ่งไม่ลงรอยกับกลุ่มโบลเจอร์มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง โดยนายกรัฐมนตรีโบลเจอร์ต้องตั้งคนสนิทคือ ดอน แมคคินนอน รัฐมนตรีการต่างประเทศเป็นหมายเลขสองแทน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะไม่ได้มาจากคลังก็ยังมาจากเกรทออฟฟิศแบบของอังกฤษอยู่ดี

หลังจากการปฏิรูปทางการเมืองแล้วการเมืองนิวซีแลนด์ต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีโบลเจอร์ต้องจำใจร่วมรัฐบาลกับพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สของวินสตัน ปีเตอร์ แรกเริ่มเดิมที ปีเตอร์เป็นผู้นำกลุ่มเมารีในพรรคชาตินิวซีแลนด์ ซึ่งมี ส.ส.ในสังกัดเป็นชาวเมารีซึ่งได้รับเลือกจากโควตาของชาวเมารีและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเมารี เพราะเป็นเก้าอี้ที่การันตีให้ ส.ส.เมารี แต่ปีเตอร์เองก็รู้ดีว่าการที่จะได้เก้าอี้กระทรวงใหญ่ๆ ที่ฝรั่งนั่งอยู่นั้นมีทางเดียวคือเลื่อยขาเก้าอี้คนอื่น ปีเตอร์จึงเริ่มทำตัวเป็นฝ่ายค้านในคณะรัฐบาลเพราะ เชื่อว่าอย่างไรเสียกลุ่มของตนเองก็มี ส.ส.ในมือพอสมควร

ปีเตอร์มีชื่อเสียงอย่างมากในการปลุกกระแสคลั่งชาติให้ทั้งเมารีและฝรั่งทำการเหยียดสีผิวชาวเอเชีย โดยอ้างว่าเมารีเป็นเจ้าของประเทศ ฝรั่งเป็นคนมาพัฒนาประเทศ แต่คนเอเชียมากอบโกย โดนไม้นี้เข้าไป นายกฯ โบลเจอร์จึงตัดสินใจไล่ปีเตอร์ออกจากพรรค ซึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมา กลุ่มเมารีได้พัฒนาไปเป็นพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สและได้รับเลือกถึง 17 ที่นั่งกวาดเก้าอี้เมารีทุกเก้าอี้ในสภาเป็นพรรคใหญ่อันดับที่สาม ทำให้นายกรัฐมนตรีโบลเจอร์ต้องจำใจทนร่วมรัฐบาลกับปีเตอร์ ซึ่งปีเตอร์ ได้ยื่นข้อเสนอเป็นรัฐมนตรีคลังควบคู่กับรองนายกรัฐมนตรีอย่างไม่รีรอ ซึ่งโบลเจอร์จำต้องรักษาระบบ และรัฐบาลด้วยการยอม ซึ่งระหว่างการร่วมรัฐบาล ปีเตอร์ได้ทำให้รัฐบาลเสียคะแนนเสียงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นเจนนี่ ชิพเล่ย์ จึงตัดสินใจไล่ปีเตอร์ออก จากการร่วมรัฐบาล

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ รัฐบาลแรงงานของเฮเลน คล้ากได้รับเลือกเข้ามาจำต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคพันธมิตร (Alliance) ซึ่งเกิดจากกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองคือ สมัชชาแรงงาน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มสังคมนิยม นักวิชาการเอียงซ้าย และ NGOs โดยเก้าอี้รองนายกฯ ควบคู่ไปกับการควบคุมเศรษฐกิจต้องตกไปเป็นของจิม แอนเดอร์ตัน ผู้นำพรรคพันธมิตร เมื่อเวลาผ่านไป อำนาจไม่เข้าใครออกใคร รัฐบาลเริ่มหันไปให้น้ำหนัก กับกลุ่มที่ควบคุมได้เช่น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสมัชชาแรงงาน ทำให้พันธมิตรนิวซีแลนด์แตกกระจัดกระจาย กลุ่มนักวิชาการแตกกระเจิงไปตั้งพรรคใหม่แล้วก็ล้มเหลว กลุ่มสมัชชาเหลือกลับมาเก้าอี้เดียว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติต้องไปรวมกับพวก สังคมนิยมเพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม พรรคพันธมิตรจากเดิมได้ ส.ส. 10-12% กลับเหลือไพร่พลราวๆ 5-6% ในสภาหลังการเลือกตั้งปี 2002 แถมแตกเป็นสองพรรค ส่วนรัฐบาลแรงงานก็ได้พวกนี้มาร่วมรัฐบาลแบบไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังและการบังคับบัญชาเศรษฐกิจจึงกลับมา อยู่ในมือรัฐบาลอย่างเดิม นายกรัฐมนตรีเฮเลน คล้ากจึงตั้ง ดร.ไมเคิล คัลลินเข้ายึดตำแหน่งหลักทันที

เมื่อมีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2005 พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งแบบเฉียดฉิวจึงต้องทำการแบ่งเค้ก โดยได้พรรคนิวซีแลนด์เฟิร์ส พรรคกรีน (สังคมนิยมรวมกับอนุรักษ์ธรรมชาติ) พรรคโปรเกสซีฟ (สมัชชา) พรรคยูไนเต็ดฟิวเจอร์มาร่วมเป็นรัฐบาลผสมห้าพรรค เรียกว่าจับฉ่ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองนิวซีแลนด์ แต่พรรคแรงงานที่ตั้งตัวติดจึงประกาศชัดว่าจะไม่ยกเก้าอี้รองนายกฯ ควบรัฐมนตรีคลังให้ใครนอกจากตนเอง

พรรคเหยียดสีผิวเป็นหัวเรือใหญ่เข้ายึดกระทรวงการต่างประเทศ พรรคกรีนเข้ามาร่างนโยบายสังคมกับธรรมชาติ พรรคเล็กๆ อื่นๆ เข้ามานั่งในกระทรวงเล็กๆ กันถ้วนหน้า แต่พรรคแรงงานก็ออกลายไม่น้อยคือ เล่นเอาตำแหน่งที่ควบคุมด้านตุลาการมารวมกับรองนายกฯ เรียกว่านั่งควบทั้งรองนายกฯ คลัง และยุติธรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลเหมือนกับเอา Chancellor of Exchequer และ Lord High Chancellor มารวมกันทำให้รองนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมหาศาล แต่การเก็บการคลังและยุติธรรมไว้กับตัวเองก็ทำให้รัฐบาลเจอปัญหาหลักสองข้อ ข้อแรกคืออัตราภาษีที่สูงขึ้นแถมรองนายกฯ ได้สัญญาเรื่องลดภาษีแต่ก็เบี้ยวมาตลอดจนกลายเป็นตัวล่อเป้าชั้นดีของฝ่ายค้านประกอบกับค่าเงินที่แข็งเกินจริงและเศรษฐกิจตกสะเก็ดทำให้รัฐบาลแรงงานทำท่าว่าจะไปไม่รอด ประเด็นที่สองคือการที่เอานักการเมืองที่ตุกติกมีลูกเล่นเยอะ มาคุมยุติธรรมย่อมส่งภาพต่อความน่าเชื่อ ถือของรัฐบาลอย่างแรง

ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่ารองนายกรัฐมนตรีสำคัญมากในการเมืองนิวซีแลนด์ เพราะว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจเหนือรองนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใดจึงไม่สามารถปลดหรือลงโทษได้ นอกจากนี้รองนายกฯ ที่ทำการขึ้นภาษี ต้องทำให้ประชาชนไม่พอใจประกอบกับการที่คอยบ่ายเบี่ยงเรื่องลดภาษีไปเรื่อยๆ กระแสความนิยมของรองนายกฯ ที่ลดลง ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้รัฐบาลของเฮเลน คล้ากได้ประสบปัญหา คือการที่ฝ่ายค้านส่งรัฐมนตรีเงาประกบระยะเผาขนตามระบบเวสมินสเตอร์ แค่ตัวนายกฯต้องมาปะทะกับจอห์น คีย์ ผู้นำฝ่ายค้านก็ย่ำแย่พอแล้ว ยิ่งฝ่ายค้านส่งอดีตข้าราชการแบงก์ชาติ อย่างบิล อิงลิชมาประกบ แถมรองนายกฯ ไม่ลงรอยกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะสั่งให้ขึ้นดอกเบี้ย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศนิวซีแลนด์รู้ว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยประชาชนก็อยู่ไม่ได้เลยสั่งลดแทนเป็นการลองของ ยิ่งทำให้ความนิยมของรัฐบาลลดลง และพอจะเอาคืนด้วยการไปแอบอัดเสียงรัฐมนตรีเงามาแฉยิ่งให้ผลร้ายกับรัฐบาลเพราะฝรั่งเขามองว่าเทปแอบอัด แอบถ่ายนั้นเป็นการเล่นการเมืองที่ใช้ไม่ได้ สิ่งที่เราต้องยอมรับสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับฝรั่งคือการที่มีจิตใจเป็นธรรมถูกก็ว่าถูกผิดก็ว่าผิด

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาประเทศนิวซีแลนด์ได้มีภาพของหัวหน้าและรองหัวหน้าพรรคชาตินิวซีแลนด์คือ จอห์น คีย์กับบิลอิช โฆษณาไปทั่วเหมือนกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและทางพรรคเนชั่นแนล ในช่วงรณรงค์หาเสียงบทบาทของรองนายกฯ และรัฐมนตรีเงาด้านการคลังได้เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจไม่แพ้การโต้กันระหว่างนายกฯและผู้นำฝ่ายค้าน แน่นอนครับ ความนิยมของรองนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแรงงานแพ้การเลือกตั้ง

ในทางกลับกันถ้ารองนายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมย่อมสามารถเปลี่ยนกระแสได้เช่นกัน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งจนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ บรรดานักวิชาการ นักวิจารณ์การเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าพรรคแรงงาน เปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีจาก ดร.คัลลิน ซึ่งมีชื่อเสียทั้งเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า มีความกะล่อนสูง และไม่เป็นที่นิยมทั้งจากประชาชน และข้าราชการโดยเฉพาะแบงก์ชาติมาเป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทางการเงิน พรรคแรงงานคงไม่แพ้เลือกตั้งแบบถล่มทลายอย่างที่เกิดขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.