|
มหาอำนาจที่ไม่เหมือนใคร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเป็นตัวของตัวเองของ Lula กำลังทำให้บราซิลกลายเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
ประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva แห่งบราซิลกำลังดวงขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ บราซิลยังเป็นเพียงประเทศประชาธิปไตยอ่อนหัด ยากจนและเศรษฐกิจสะดุดกับปัญหาอยู่บ่อยๆ หลังจากก้าวพลาดมานานหลายสิบปี บราซิล ในขณะนี้กลับกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยตลาดเสรีที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพซึ่งหาได้ยากยิ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ปกครองด้วยระบบกฎหมายแทนความคิดตามอำเภอใจของผู้นำเผด็จการ บัดนี้บราซิลมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจในวิถีทางที่แตกต่างไปจากมหาอำนาจอื่นๆ ในโลก
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บราซิลผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจที่ไม่เหมือนใคร การหลบอยู่ภายใต้ร่มธงของสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง การที่ไม่มีศัตรูเด่นชัด ทำให้บราซิลมีอิสระที่จะใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของตนได้อย่างเต็มที่ เพื่อการผูกมิตรสร้างอิทธิพลหรือร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในละตินอเมริกา ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมศัตรูที่สร้างความยุ่งยากมากที่สุดในภูมิภาคอย่างเวเนซุเอลาได้ Lula กลายเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจผู้มีฝีมือคร่ำหวอดและแตกต่างไปจากมหาอำนาจอื่นๆ ที่มาจากประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน
ในขณะที่จีนคุมเข้มช่องแคบไต้หวัน รัสเซียไม่ต้องการสูญเสียอิทธิพลใน Caucasus ที่มีมาแต่ดั้งเดิมตั้งแต่สมัยที่รัสเซีย ยังเป็นโซเวียต อินเดียแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลเลยแนวชายแดนปากีสถานไปจนถึงอ่าวเปอร์เซีย และสหรัฐฯ ยังคงแผ่อิทธิพลไปเหนือจรดใต้ แต่บราซิลกลับก่อร่างสร้างอิทธิพลในประชาคมโลกโดยไม่ต้องอาศัยอาวุธใดๆ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในละตินอเมริกา เช่นเมื่อครั้งที่เอกวาดอร์กับเปรูเกือบจะเปิดฉากสงครามกันในช่วงทศวรรษ 1990 หรือการที่โคลัมเบียดอดเข้าไปทิ้งระเบิดถล่มค่ายกองโจรในป่าของเอกวาดอร์เมื่อปีที่แล้ว บราซิลส่งนักการทูตและนักกฎหมายไปช่วยแก้ปัญหาแทนกองทัพ หรือรถถัง เมื่อทหารรักษาสันติภาพของสหประชาชาติปะทะกับแก๊งโจรในเฮติ คนที่บราซิลเรียกระดมพลมาไม่ใช่ทหาร หากแต่เป็นนักฟุตบอลชื่อดังของบราซิลอย่าง Ronaldinho, Robinho และ Ronaldo ที่ส่งไปช่วยให้เยาวชนเฮติเปลี่ยนมาทำสงครามในสนามฟุตบอลแทนการจับปืน
บราซิลยังกลายเป็นปากเสียงให้แก่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเวทีโลก สามารถรวมกำลังชาติกำลังพัฒนาท้าทายชาติร่ำรวยในเรื่องเงินอุดหนุนภาคเกษตร ผ่านการรวมกลุ่มที่เรียกว่า G5 และด้วยการผลักดันของบราซิล ทำให้ทูตบราซิล จีน อินเดียและ รัสเซียจัดประชุมกันเป็นประจำทุกเดือนที่กรุงวอชิงตัน เพื่อวาง แผนยุทธศาสตร์ร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศซึ่งเรียกย่อๆ ว่า กลุ่ม BRIC ซึ่งมักเป็นไปเพื่อท้าทายสหรัฐฯ รัฐบาลบราซิลผลักดันวาระ "จากใต้สู่ใต้" และเปิดสถานทูตมาแล้ว 35 แห่งในซีกโลกใต้คือทวีปแอฟริกาและแคริบเบียน นับตั้งแต่ Lula ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2003 เป็นต้นมา บราซิลยังเป็นผู้นำภารกิจรักษาสันติภาพในเฮติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของ ประเทศต่างๆ มากที่สุดปัญหาหนึ่งในซีกโลกใต้ และทำให้บราซิล ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง
บราซิลทำทั้งหมดนี้ได้เพราะไม่มีศัตรูเด่นชัดให้ต้องต่อกรด้วย จึงไม่ต้องถูกผูกมัดด้วยภาระหลายๆ อย่างที่เป็นของประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นการลาดตระเวนในน่านน้ำ ทั้งยังมีสหรัฐฯ คอยเป็นพี่ใหญ่ที่พึ่งสุดท้ายประจำภูมิภาคอยู่เสมอ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจตลาดเกิดใหม่ต้องอัดฉีดเงินที่หามาได้เข้าไปในงบกลาโหม แต่งบกองทัพของบราซิลยังคงเท่าเดิมคือประมาณ 1.5% ของ GDP เท่านั้นหรือเพียง 1 ใน 4 ของงบกลาโหมของจีน หรือ 60% ของงบกลาโหมของอินเดียหรือรัสเซีย บราซิลยังไม่มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นมหาอำนาจทางการทหาร ความแข็งแกร่งของบราซิลคือเศรษฐกิจ และการมีประวัติศาสตร์ในการเป็นชาติที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของตน รวมทั้งการมีวัฒนธรรมที่ซับซ้อนและเข้มแข็ง
บราซิลต้องการจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกมานานแล้ว แต่ก็ถูกเมินมาตลอด บราซิลเป็นประเทศเดียวในละตินอเมริกาที่ส่งทหารไปช่วยยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับไม่มีที่นั่งบนโต๊ะเจรจาหลังสงคราม ความต้องการของบราซิลเพิ่งได้รับการยกระดับในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เมื่อรัฐบาลนักปฏิรูปของอดีตประธานาธิบดี Fernando Henrique Cardoso แห่งบราซิล สามารถหยุดยั้งปัญหาเงินเฟ้อ และเปิดประเทศไปสู่การค้าและเชื่อมสัมพันธ์กับประชาคมการเงินโลกได้สำเร็จ Cardoso ทำให้บราซิลที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตยกลายเป็นประเทศที่มีความน่าเชื่อถือบนเวทีโลก เขาเรียกร้องที่นั่งให้บราซิลในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ริเริ่มเขตการค้าเสรี Mercosur ของชาติละตินอเมริกา และสามารถรวมพลังชาติกำลังพัฒนาภายใต้การค้าเสรีได้สำเร็จ
แต่ไม่มีผู้นำบราซิลคนใดที่มุ่งมั่นเท่ากับ Lula ในการแผ่ขยายอิทธิพลของบราซิลบนเวทีโลก แม้ Lula จะเริ่มต้นเส้นทาง การเมืองของเขาจากการเป็นฝ่ายซ้าย แต่เขาได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เมื่อเขาปกป้องโยบายเป็นมิตรกับตลาดของ Cardoso ท่ามกลางความผิดหวังของพรรคพันธมิตรกับพรรค Worker's Party ของเขา อย่างไรก็ตาม Lula เอาใจฝ่ายซ้ายด้วยการรักษานโยบายต่างประเทศของ Cardoso อย่างเต็มที่ เขาเพิ่มหน่วยงานใหม่ในกระทรวงการต่างประเทศเป็นสองเท่าและเริ่มออกทัวร์ต่างประเทศ
Lula เดินทางเยือนต่างประเทศมาแล้ว 45 ประเทศ และใช้เวลาเกือบ 1 เดือนต่อทุกๆ 5 เดือนในการทำงานในสำนักงาน ในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2007 จนสื่อบราซิลตั้งฉายาเขาว่า "Aero-Lula" จุดประสงค์ของ Lula คือเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับชาติกำลังพัฒนาด้วยกัน Lula ยังช่วยบีบชาติร่ำรวยให้ยอมลดอุปสรรคทางการค้า ในปี 2004 องค์การการค้าโลก (WTO) ตัดสินให้บราซิลชนะคดีทางการค้าสำคัญ 2 คดี เมื่อ WTO สั่งให้สหรัฐฯ ยกเลิกอุดหนุนเกษตรกรฝ้ายและสั่งให้ยุโรปยกเลิกคุ้มครองอุตสาหกรรม sugar-beet อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการค้าเสรีของ Lula ยังรวมถึงการเข้าข้างสหรัฐฯ ในการเจรจาการค้าโลกรอบ Doha เพื่อบีบให้ชาติกำลังพัฒนาลดการกีดกันทางการค้าลงด้วย ในรายงานล่าสุดของธนาคารโลกเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าในชาติกำลังพัฒนา ธนาคารโลกถึงกับชมเชยบราซิลที่ต่อต้านแรงกดดันให้บราซิลปิดประเทศเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง
การกระทำของบราซิลทั้งหมดข้างต้น เกิดจากแผนยุทธศาสตร์ที่บราซิลวางไว้ซึ่งแม้มิได้ประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้ง แต่เห็นได้ชัดว่ามีจุดประสงค์เพื่อลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯ ใน ละตินอเมริกา และเพื่อลบล้างความเข้าใจที่ว่าบราซิลเป็นตัวแทน ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ บราซิลปิดปากเงียบเมื่อ Hugo Chavez ผู้นำเวเนซุเอลาข่มขู่บริษัทต่างชาติและฝ่ายค้าน รวมทั้งศาลและรัฐสภาเวเนซุเอลา Lula กล่าวว่า ไม่มีใครอาจอ้างได้ว่าไม่มีประชาธิปไตยในเวเนซุเอลา บราซิลประณามโคลัมเบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทที่สุดของสหรัฐฯ ในละตินอเมริกา ว่าละเมิดอธิปไตย เอกวาดอร์ที่เข้าไปทิ้งระเบิดถล่มค่ายกองโจรถึงในเอกวาดอร์ เมื่อปีกลาย บราซิลยังมักจะงดออกเสียงในการลงมติของสหประชาชาติ เพื่อประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคิวบา
อย่างไรก็ตาม Lula กลับไม่เห็นดีเห็นงามไปกับการปฏิรูปอย่างในโบลิเวีย ตรงข้ามเขาพยายามควบคุมละตินอเมริกา ด้วยการให้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในด้านการค้า และเปลี่ยนทวีปนี้ทั้งทวีปให้กลายเป็นตลาดสินค้าของบราซิล ความเป็นมหาอำนาจของบราซิลไม่ได้มาจากปลายกระบอกปืน หากแต่มาจากการมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล รวมถึงน้ำมันและก๊าซ เหล็ก ถั่วเหลืองและเนื้อ บราซิลกลายเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่ป้อนสินค้าให้ทั้งตลาดเอเชียและประเทศใกล้เคียง ขณะนี้บราซิลเกินดุลการค้ากับทุกๆ ประเทศ ในละตินอเมริกา รวมถึงเวเนซุเอลาที่ขาดดุลให้บราซิลถึง 1 พันล้านดอลลาร์ David Rothkopf อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวง พาณิชย์สหรัฐฯ ชี้ว่า ความสามารถในการเปลี่ยนทรัพยากร ธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้บราซิลสามารถ "ชกข้ามรุ่น" ได้
บราซิลขัดขวางแผนการใหญ่ของ Chavez ได้ถึง 2 เรื่องคือการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งละตินอเมริกา ที่เรียกว่า Banco del Sur และการสร้างโรงกลั่นน้ำมันร่วมระหว่างบราซิลกับเวเนซุเอลา ซึ่งบราซิลไม่เคยออกปากว่าจะออกเงินช่วยเลย Lula ยังกล้าตำหนิ Chavez ที่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายไปกับการซื้ออาวุธทันสมัย ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจเวเนซุเอลายังอยู่ในสภาพยอบแยบ จนต้องพึ่งพิงสินค้าพื้นฐานจากบราซิลแทบทุกอย่าง เขาตำหนิผู้นำเวเนซุเอลาตรงๆ ในการพบกันเมื่อเร็วๆ นี้ว่า Chavez จะต้องการอาวุธ เหล่านั้นไปเพื่ออะไร ในขณะที่ในโรงแรมยังหาไม่ได้แม้แต่นมหรือกาแฟ รัฐสภาบราซิลอาจจะยอมรับรองเวเนซุเอลาเข้าเป็นสมาชิก Mercosur ในที่สุด แต่ไม่ได้เท่ากับเป็นการรับรองการทำตัวเป็นจักรวรรดิของ Chavez แต่การรับเวเนซุเอลาเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นวิธีควบคุมผู้นำเวเนซุเอลาผ่านข้อผูกมัดที่มีอยู่ในสนธิสัญญาการจัดตั้งกลุ่มการค้า Mercosur ซึ่งรวมถึงการเคารพประชาธิปไตยและการคุ้มครอง ทรัพย์สินของเอกชน
นี่อาจเป็นเกมการเมืองที่เสี่ยงสำหรับ Lula แต่ในเมื่อไม่มีคู่มือสอนการเป็นมหาอำนาจ Lula ก็ดูเหมือนกำลังเขียนคู่มือนั้นด้วยมือของเขาเอง
แปลและเรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 27 เมษายน 2552
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|