Cyber University บทใหม่ของ ม.รังสิต


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าระบบ e-learning จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับแวดวงการศึกษาไทย แต่สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวกำลังเป็นประหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสถานศึกษาแห่งนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Cyber University ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตพยายามที่จะกำหนดนัยความหมายให้แตกต่างไปจากระบบ e-learning ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยทั่วไป ม.รังสิต ลงทุนเงินกว่า 185 ล้านบาท เพื่อปรับระบบไอทีภายในมหาวิทยาลัย

นอกเหนือจากการซื้อ Software U-Plus จากสามารถเทลคอม ซึ่งเป็น solutions ที่สถานศึกษาหลายแห่งใช้เหมือนกันแล้ว จุดเด่นของ ม.รังสิต ในการดำเนินการ Cyber University น่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการการศึกษาที่นอกจากจะมุ่งเน้นมาตรฐานคุณภาพแล้ว

วิสัยทัศน์ในการปรับแต่งให้ Cyber University เป็นส่วนหนึ่งของงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณบดีและผู้อำนวยการ โครงการในแต่ละคณะจะต้องรับผิดชอบดูแลและออกแบบหลักสูตร ถือเป็นแรงกระตุ้นให้ Cyber University ของ ม.รังสิต เติบโตและประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว

"การบริหารจัดการภายในถือเป็นหัวใจของความสำเร็จของ ม.รังสิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงสุดด้วย" บุญมาก ศิริเนาวกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ม.รังสิต ในฐานะประธานโครงการระบบการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นผู้ดูแล Cyber University ระบุ โดยไม่ลืมที่จะกล่าวถึง อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้

แต่ความสำเร็จของ Cyber University ย่อมไม่ได้เป็นคำตอบที่จะผลักดันให้ ม.รังสิต นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นต้นแบบในการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี เพราะนักศึกษาสองกลุ่มนี้มีความต้องการที่แตกต่างกัน

"ม.รังสิต เชื่อว่าชีวิตของนักศึกษาปริญญาตรีต้องการมากกว่าห้องเรียนในอินเทอร์เน็ต ม.รังสิตจึงมองฐานข้อมูลความรู้ภายใต้ระบบ e-learning เป็นเพียงส่วนเสริมที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษามากกว่าที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญา" บุญมากระบุ

หลักสูตรปริญญาโทภายใต้ระบบการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ตของ ม.รังสิต ในปัจจุบันประกอบด้วยหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมืองของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

แม้ว่าปรัชญาหลักของ Cyber University ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน จะอยู่ที่การเป็นคำตอบสำหรับผู้สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม แต่ติดขัดในมิติของเวลาและการเดินทาง แต่ปฏิเสธได้ยากว่า Cyber University สามารถช่วยให้การบริหารต้นทุนด้านบุคลากรของ ม.รังสิต ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันการให้คณะต่างๆ ที่เปิดหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์เหล่านี้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยตรง แทนที่จะต้องไปผูกพันหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบัณฑิตวิทยาลัย ยังทำให้การพัฒนาฐานข้อมูลของหลักสูตรและลักษณะวิชาสามารถต่อยอดและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ยิ่งขึ้นอีก

กระนั้นก็ดี เป้าประสงค์ที่จะเป็น Cyber University ของ ม.รังสิต ย่อมไม่สามารถยึดโยงอยู่เฉพาะหลักสูตร 3 สาขาในฐานะปฐมบทของการพัฒนาครั้งใหม่ที่เปิดสอนอยู่นี้ได้เท่านั้น หากยังต้องขยายสาขาวิชาออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต

แต่เป็นเมื่อใดนั้นคงต้องประเมินความพร้อมกันอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.