เงินเฟ้อต่ำกดดันการลงทุน ส่งสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายวัน(18 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" บิ๊กแบงก์กรุงเทพ เตือนอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.5% ต่อเนื่องนาน 17 เดือน อาจผลักดันให้นักลงทุนหันไปลงทุนในภาค ธุรกิจอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า เพราะเงินเฟ้อต่ำการลงทุนภาคการผลิตให้ผลตอบแทนต่ำ ระบุเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ แม้จะมีความเชื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามตัวเลขคาดการณ์ของสภาพัฒน์ พร้อมลุ้นให้กำลังการผลิตขยับขึ้นถึง 80% เพื่อ หนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างเข้มแข็ง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย ว่า มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยนับจากปัจจุบันจนถึงสิ้นปีนี้ คงจะไม่มีปัจจัยสำคัญเข้ามาส่งผลให้เกิดการพลิกผันทางเศรษฐกิจมากนัก

ทั้งนี้สภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีเพิ่มเป็น 5.8-6.2% จากเดิมกำหนดไว้ 4.5-5.5% และตั้งเป้าปี 2547 ไว้อย่างต่ำที่ระดับ 6.5% และอาจจะขยายตัวสูงถึง 9%

นายโฆสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก พบว่า ปัจจัยต่างประเทศเริ่มเข้ามามีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น โดยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่สภาพัฒน์ ประเมินว่ามีอัตราการขยายตัว 5.8% เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ 4.8% และปัจจัยต่างประเทศ 1% ขณะที่ไตรมาสแรกมีอัตราการขยายตัว 6.1% เกิดจากปัจจัยในประเทศ 5% และต่างประเทศอีก 1%

"ในปี 2547 ไทยจะต้องอาศัยปัจจัยจากต่าง ประเทศมากขึ้น เพื่อเข้ามาทดแทนดัชนีการบริโภคที่ถือว่าร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกัน การลงทุนน่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น จากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนนัก"

ปัจจุบันกำลังการผลิตภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 65% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งถือ ว่าเป็นระดับที่น้อยมาก เพราะมีกำลังการผลิตคงเหลืออยู่มาก หากต้องการให้เศรษฐกิจมีการขยาย ตัวอย่างมีเสถียรภาพและเข้มแข็ง กำลังการผลิตในประเทศน่าจะสูงถึงระดับ 80%

สำหรับประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ทรงตัวอยู่ในระดับกว่า 0.5% ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานกว่า 17 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายสินค้าต่ำ และทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำตามไปด้วย

"จากการที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ กดดันให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ ไปด้วยนั้น จะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจงดการลงทุนในธุรกิจพื้นฐาน และดิ้นรนและหันไปหาลงทุนประเภทอื่นที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า"

นายโฆสิต ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ราคาสินค้าและบริการไม่มีการขยายตัว สวนทางกับราคาสินทรัพย์ประเภทอื่น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ และราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเริ่มเป็นทิศทางเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือก่อนเกิดฟองสบู่แตก

"ขณะนี้ ผมยังมองไม่เห็นชัดเจนว่า นักธุรกิจหันไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ หรือรูปแบบใด ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญและ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา"

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับเหมาะสมที่จะเกิดแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและ การผลิตนั้น นายโฆสิต กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ประเมินไว้ที่ระดับประมาณ 1-2% จึงจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ซึ่งประเทศไทยเองก็ควรจะมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนแนวโน้มของภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ประชาชนควรมีพฤติกรรมการบริโภค ที่มีความเข้มแข็งและมีวินัย เพื่อลดความรุนแรง ดัชนีการบริโภคในขณะนี้ ขณะที่รัฐบาลเริ่มกลับเข้าสู่การมีวินัยการคลังแล้ว ด้วยการพยายามลดบทบาทนโยบายการคลัง เช่น การขาดดุลนโยบายลดลง ดังนั้นประชาชนอย่าหวังพึ่งการบริโภคให้มากนัก ขณะที่สิ่งที่จะทำให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน คือการทำมาค้าขาย การนำเข้าส่งออก หรือการลงทุน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศจีน และจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือหากจีนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้า แม้ว่าขณะนี้ประเทศจีนจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

"ที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศจีนจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2546 ไทยมีการส่งออกยางพาราไปจีน คิดเป็นสัดส่วนถึง 91% ดังนั้นหากจีนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้า ก็จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย"

ดอกเบี้ยคงที่จนถึงสิ้นปีนี้

สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเฟดไว้ที่ระดับ 1.00% นั้น นายโฆสิต กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายการเงินของแต่ละประเทศ ที่จะปรับเปลี่ยนให้มีความ เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้สหรัฐฯ เองยังมีความกังวลเรื่องตัวเลขการจ้างงาน ที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 6.1%

ขณะที่นโยบายของไทย ที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อนั้น ถือว่านโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำได้ดีอยู่แล้ว และมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ ส่วนธนาคารกรุงเทพ เองก็จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมในการบริหารเงิน รวมทั้งดูทิศทางของดอกเบี้ย ทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดๆ เปลี่ยน แปลงมากนัก

ส่วนประเด็นของไถ่ถอนแคปส์จำนวนประมาณ 46,000 ล้านบาท เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 จำนวน 34,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 11% ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2547 ขณะนี้ธนาคาร ยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้วิธีใดในการไถ่ถอน โดยวิธีที่เหมาะสมคือ การรีไฟแนนซ์ และการเพิ่มทุน

"แบงก์กรุงเทพ ต้องการไถ่ถอนแคปส์ทั้งจำนวน เพื่อจะไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยปีละประมาณกว่า 4 พันล้านบาท เพราะแคปส์จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท มีภาระดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 11% แต่ทั้งนี้แนวทางการไถ่ถอนแคปส์ ของแบงก์จะไม่กระทบต่อเงินกองทุน และการบริหารแต่อย่างใด"

สินเชื่อเกษตร-เอสเอ็มอีเกินเป้า

ส่วนนโยบายการสนับสนุนโครงการเกษตรก้าวหน้า และธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น นายโฆสิต กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับทั้ง 2 โครงการ โดยจัดโครงการเครือข่ายคุณภาพเอสเอ็มอี หวังที่จะให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง และเป็นฐานให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัว โดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2546 ธนาคารสามารถ ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ได้ 24,000 ล้านบาท จาก เป้าหมายทั้งปี 30000 ล้าน ซึ่งจะทำให้ผลงานทั้งปีเกินเป้าหมายอย่างแน่นอน

ขณะที่โครงการสินเชื่อเกษตรก้าวหน้า ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อไว้ 5,000 ล้าน บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท โดย 3 ปีที่ผ่านมาสามารถปล่อย สินเชื่อได้แล้ว 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะกลาง-ยาว ตั้งแต่ 3-7 ปี และลูกค้าส่วนใหญ่ จะเป็นลูกค้ารายย่อย ประมาณ 1,500 คน คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ยอดการปล่อยสินเชื่อ ถึงเดือนสิงหาคมรวมทั้งสิ้น 817 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.