|
‘ฟุตซี่’ขอเวลาให้ดัชนีชารีอะห์/ลั่นไม่ถึง2ปีเงินทะลักเข้าไทย
ASTVผู้จัดการรายวัน(26 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหลักทรัพย์ฯจับมือฟุตซี่ บินให้ข้อมูล ดัชนีชารีอะห์ ถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางช่วงเดือนตุลาคมนี้ หวังดึงเม็ดเงินไหลเข้าไทยมากขึ้น เชื่อใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีเห็นผล ผู้บริหารฟุตซี่ กรุ๊ปมั่นใจคุ้มค่ากับเวลารอคอย แต่ยอมรับเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่ๆยังไม่เป็นที่รู้จักในแดนอาหรับมากนัก ด้าน“โสภาวดี” คาดปีนี้มีกองทุนอิงดัชนีชารีอะห์เพิ่มขึ้นอีก 2 กองทุน
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ สายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักหลักทรัพย์ฯ และ ฟุตซี่ กรุ๊ป จะมีการเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เกี่ยวกับดัชนี ฟุตซี่ เซ็ท ชารีอะห์ ประมาณเดือนตุลาคมนี้ ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง 6 ประเทศ หรือ Gulf Cooperation Council (Gcc) เพื่อหวังดึงเม็ดเงินนักลงทุนในแถบนี้ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก
“หากนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในรูปแบบ อิสลามิกฟันด์ ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะรูปแบบนี้จะไม่มีการลงทุนในสถาบันการเงิน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินในปีที่ผ่านมา และจะไม่เป็นการลงทุนในธุรกิจเก็งกำไร จึงทำให้การลงทุนรูปแบบนี้ให้ผลตอบแทนที่ดี และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ที่สนใจในการนำดัชนี ฟุตซี่ เซ็ท ชารีอะห์ ไปอ้างอิงในการออกกองทุนจำนวน 3-4 แห่ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถจัดตั้งกองทุนได้ประมาณ 2 กองทุน และจากนั้นก็จะมีการออกกองทุนอีทีเอฟ ที่อ้างอิงกับ ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาในอนาคต
ด้าน นาย พอล ฮอฟ กรรมการผู้จัดการ เอเซีย แปซิฟิค ฟุตซี่ กร๊ป กล่าวว่า การที่จะมีเม็ดเงินลงทุนจากตะวันออกกลาง เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผ่านกองทุนที่นำดัชนีใหม่นี้ จะไม่ผิดหลักของศาสนาอิสลาม แต่ในการนำไปอ้างอิงในการเสนอขายกองทุนต่างๆ จะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะกลุ่มประเทศ GCC ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในสินค้าใหม่ๆ เช่น กองทุนอีทีเอฟ กองทุนอิสลามิกฟันด์ มากนัก โดยส่วนใหญ่จะมีการลงทุนเฉพาะในหุ้นเท่านั้น
ดังนั้นทางฟุตซี่ และตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการให้ข้อมูล โดยการทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าวรู้จักประเทศไทยมากขึ้น รู้จักดัชนีของประเทศไทย รู้จักกองทุนอีทีเอฟ แต่เม็ดเงินเข้ามาลงทุนนั้นจะต้องใช้เวลานานพอสมควรประมาณ 1-2 ปี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะคุ้มค่ากับเวลาที่รอคอย เพราะเม็ดเงินในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีมูลค่าสูง ซึ่งจีดีพีในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีมูลค่า 24 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) 36 ล้านล้านบาท จากมีประชากรเพียง 36 ล้านคนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้น หรือตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันฟุตซี่ ได้มีการจัดทำดัชนีชารีอะห์ ในเอเชียจำนวน 4 ประเทศ รวม 6 ดัชนี ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย 2 ดัชนี ไทย และ ฟุตซี่จัดทำขึ้นเอง คือ ดัชนีฟุตซี่อาเซียน ชารีอะห์
ส่วนที่มีการออกกองทุนอีทีเอฟ โดยการนำ ดัชนี ชารีอะห์ในการอ้างอิงนั้น ตอนนี้ยังไม่ค่อยเติบโตมากนัก แม้รัฐบาลมาเลเซีย ต้องการดึงเม็ดเงินทุนตรงจากกลุ่มGCC เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนที่ขอนำไปอ้างอิงกับกองทุนรวมอื่นๆนั้นเติบโตดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าขนาดเท่าไร เพราะ ปีที่ผ่านมาได้รัผลประทบจากวิฤตเศรษฐกิจกันไปถ้วนหน้าในทุกประเทศ
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำดัชนี ชารีอะห์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2550 นั้น จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุน แต่ที่ผ่านมาทางฟุตซี่ ได้มีการเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน อีทีเอฟบ้างแล้ว ทำให้เราเชื่อว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ดัชนีของไทย ในครั้งนี้น่าจะได้รับการตอบรับ และมีการลงทุนกลับมาสู่ประเทศ ด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่าประเทศญี่ปุ่น หรือคงจะไม่ถึง 2 ปี” นายพอล กล่าว
สำหรับ ดัชนีฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ ( FTSE SET Shariah Index) เป็นความร่วมมือระหว่าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ - ฟุตซี่ กรุ๊ป และ Yasaar Limited โดยได้เริ่มทำการเผยแพร่ข้อมูลมาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา แต่ปัญหาสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะนั้นไม่เหมาะจึงทำให้ต้องเลื่อนการเปิดตัว อย่างเป็นทางการออกไป จนถึงปัจจุบันซึ่งตลท.จะทำการเปิดตัวดัชนีดังกล่าวอย่างเป็นทางการวานนี้ (25พ..ค.)แทน
โดยการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาคำนวณในดัชนี ฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ Yasaar Limited ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในการลงทุนตามกฎและหลักศานาอิสลาม เข้ามาคัดเลือกหลักทรัพย์ จำนวน 55 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด มาจัดทำเป็นดัชนี ซึ่งครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ หลักการคัดเลือกเป็นให้ไปตามหลักศาสนาอิสลาม คือ ไม่มีการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือประกันภัย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร ซึ่งไม่เป็นอาหารฮาลาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นกาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก รวมทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทเหล่านั้น โดยกำหนดว่าต้องมีส่วนของหนี้ต้องน้อยกว่าร้อยละ 33 ของสินทรัพย์รวม ส่วนของเงินสดและดอกเบี้ย ต้องน้อยกว่าร้อยละ 33 ของสินทรัพย์รวม สัดส่วนของบัญชีลูกหนี้และเงินสด ต้องน้อยกว่าร้อยละ 50 ของสินทรัพย์รวมและดอกเบี้ยรวมและรายได้อื่นๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ควรเกินร้อยละ 5 ของรายได้รวม
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมที่จะเก็บค่าธรรมเนียม จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ที่นำดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) SET50 Index และ SET100 Index ไปอ้างอิงกับกองทุนที่ออกนำเสนอขายต่อประชาชน จากก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยมีการจัดเก็บเลย ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งมีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวมากถึง 10-15% ของรายได้รวม
ซึ่งในเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมจากบลจ. ไทย ในช่วงต้นปีหน้า โดยปัจจุบันพบว่ามี บลจ.ไทยออกกองทุนที่อ้างอิงกับดัชนีในกลุ่มดังกล่าวแล้วประมาณ 50 กองทุน ขณะที่สถาบันการเงินต่างชาติ คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังพบว่ามีการนำดัชนีของไทยไปใช้อ้างอิงในการออกกองทุนแล้วกว่า 10 กองทุน
ทำให้ในส่วนดัชนีฟุตซี่ เซต ชาริอะห์ (FTSE SET Shariah Index) และ FTSE SET All-Share Index นั้น หากมี บลจ.หรือสถาบันการเงินใดนำไปใช้ ตลาดหลักทรัพย์จะคิดค่าธรรมเนียมทันทีในสัดส่วนเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|