ไฟเขียวTHAIออกหุ้นทุน-กู้หนี้"เคหะ-การทาง"เป็นทุน


ผู้จัดการรายวัน(17 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.ไฟเขียวการบินไทย (THAI) ขายหุ้นเพิ่มทุน 300 ล้านหุ้น แต่คลังยังคงถือหุ้นอย่างน้อย 50% พร้อมออกหุ้น 1 หมื่นล้านบาทรีไฟแนนซ์หนี้เงิน กู้ต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการเงิน ถือเป็นการออกหุ้นกู้งวดแรกของสายการบินแห่งชาติ จากวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท "ดีดี การบินไทย" ระบุหุ้นกู้ได้เรตติ้ง AA- จากทริสแล้ว เชื่อนักลงทุนสถาบัน-รายย่อย สนใจ คาดขายได้เดือนหน้า ขณะที่ ครม. ไฟเขียวคลังแปลงหนี้เป็นทุน การเคหะ-การทางฯ วงเงินรวม 1.81 หมื่นล้านบาท หวังแก้ปัญหาภาวะหนี้ และช่วยเหลือทั้ง 2 องค์กรให้มีเงินทุนมากขึ้น

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (16 ก.ย.) มีมติเห็นชอบแผนขายหุ้นเพิ่มทุนบริษัท การบินไทย (THAI) ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เสนอ ที่ให้จำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน 300 ล้านหุ้น โดยขายนักลงทุนทั่วไป 285 ล้านหุ้น และแบ่งขายพนักงาน 15 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าจะขายทันปลายปีนี้

คลังยังถือการบินไทยเกิน 50%

ยังเห็นชอบข้อเสนอคณะกรรมการระดมทุน ที่กำหนดการให้ภาครัฐยังคงถือหุ้นบริษัท การบินไทย เกิน 50% และเห็นชอบยกเว้นการบินไทยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีการรัฐวิสาหกิจทั่วไป ยกเว้นกรณีก่อหนี้ต่างประเทศ ที่ยังคงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การก่อหนี้ต่างประเทศ พ.ศ. 2528 และการทำงบลงทุนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีการจัดทำงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

ครม.ยังเห็นชอบคณะกรรมการระดมทุนมีอำนาจจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนการบินไทย 300 ล้านหุ้น และสามารถกำหนดสัดส่วนจำหน่ายให้นักลงทุนไทย และต่างประเทศ รวมถึงราคา ช่วงราคา โดยจะกำหนดราคาภายใน 2-3 วันก่อนจะจำหน่าย และมอบให้คณะกรรมการระดมทุน นำกรณีตัวอย่าง จำหน่ายหุ้นปตท.เป็นแบบดำเนินการด้วย

ไฟเขียวออกหุ้นกู้หมื่นล้านบาท

นายกนก อภิรดี ประธานกรรมการ บมจ. การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (16 ก.ย.) เห็นชอบการบินไทยออกหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท เป็นสกุลเงินบาท การออกหุ้นกู้นี้ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ต่างประเทศที่ต้นทุนการเงินสูง จะส่งผลบริษัทประหยัดเงินได้มาก เช่น การรีไฟแนนซ์ทุกๆ หมื่นล้านบาท จะประหยัดเงินได้ หลายร้อยล้านบาท ส่วนจะรีไฟแนนซ์เงินกู้ใด ต้องพิจารณาเป็นตัวๆ โดยต้องดูว่าตัวใดดอกเบี้ยสูงจะ รีไฟแนนซ์อันดับต้นๆ

การออกหุ้นกู้ของการบินไทยได้รับฉันทามติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทมีสิทธิจะออกหุ้นกู้ได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท ใน 5 ปี งวดนี้ ออกหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 4 ส่วน 4 หุ้นกู้ที่จะออกทั้งหมด ธนาคารกสิกร ไทยจะจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว

นายกนกกล่าวว่าหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดเรตติ้งจากบริษัท ทริสเรทติ้ง AA- ซึ่งมีเพียง 6 องค์กร จาก 16 องค์กรที่ผ่านมา ที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือระดับนี้ การได้รับการจัดอันดับครั้งนี้ จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนสถาบัน และรายย่อย มากขึ้น การออกหุ้นกู้จะมี 2 แบบ คือ ออกหุ้นกู้กรอบ 5 ปี และ 7 ปี โดยหุ้นกู้ที่จะออกกรอบ 5 ปี จะมุ่งขายนักลงทุนสถาบัน ส่วน 7 ปี จะขายผู้ออมและนักลงทุนทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะขายได้เดือนหน้า

กรอบที่ทริส เรทติ้งกำหนดศึกษาเพื่อปรับอันดับครั้งนี้ คือ 1. ด้านศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยผลประกอบการดี และกำไรตลอด 38 ปี 2. ความรวดเร็วแก้ไขปัญหาช่วงเกิดวิกฤติ โดยช่วงที่ผ่านมา การบินไทยแก้ไขปัญหาผ่านมาถึง 3 วิกฤติ คือ ช่วงเหตุระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซีย สงครามมะกัน-อิรักรอบ 2 และปัญหาระบาดโรคหวัดมรณะ (ซาร์ส) ซึ่งถือว่าการบินไทยสามารถตอบโต้ รวมถึง แก้ไขปัญหาได้ดีเป็นพิเศษ 3. การวัดความแข็งแกร่ง การบินไทย โดยรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของการ บินไทยอย่างดี และบริษัทเป็นกลุ่มพันธมิตร สตาร์อัลลิอันซ์ (Star Alliance) ซึ่งถือเป็นกลุ่มพันธมิตร ด้านการบินที่แข็งแกร่งอันดับต้นๆ ของโลก การออกหุ้นกู้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำจะส่งผลต้นทุนดำเนินการลดลงแน่นอน

คลังแปลงหนี้เคหะฯ-การทางฯ เป็นทุน

ทางด้านนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยหลังประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 ก.ย.) ว่าครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบกระทรวงการคลังเสนอแปลงหนี้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมประมาณ 18,000 ล้านบาท เป็นทุน โดยเป็นของการทางพิเศษฯ 14,000 ล้านบาท และการเคหะฯ 4,100 ล้านบาท เป็นผลให้สัดส่วนหนี้ ต่อสินทรัพย์ลดลงจากเดิม ที่การทางพิเศษฯมีอยู่ 2.95 เท่า เหลือ 1.9 เท่า และการเคหะฯลดลงจากเดิม 7.56 เท่า เหลือ 2.99 เท่า โดยจะส่งผลให้รัฐบาลมีสัดส่วน ถือหุ้นทั้ง 2 องค์กรมากขึ้นด้วย

"การแปลงหนี้ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่เคยไปตรวจเยี่ยมรัฐวิสาหกิจหลาย แห่งที่มีความก้าวหน้า แต่พบว่ากิจการขาดเงินทุน ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไม่มีภาระผูกพัน ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ลดลง มีความคล่องตัวในการบริหารเพิ่มมากขึ้น" นางพรรณี กล่าว

การแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจต้องมาจาก เงินงบประมาณสนับสนุนของรัฐ โดยมีภาระผูกพันว่าต้องใช้คืน แต่การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ไม่มีภาระผูกพัน และส่งผลดีต่อรัฐวิสาหกิจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.