"ธปท."รับนโยบายควบแบงก์เพิ่มสินทรัพย์หนุนการแข่งขัน


ผู้จัดการรายวัน(17 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติรับนโยบายนายกรัฐมนตรีในกรณีควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ ระบุแบงก์ที่มีศักยภาพจะต้องมีสินทรัพย์รวมกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่การรวมไทยธนาคารกับ ไอเอฟซีที ยังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดราคา และสรรหาทีมผู้บริหาร ด้านการคุมค่าบาทยังรอดูท่าที แม้นักการเงินชี้มีโอกาสแข็งค่าต่อ ส่วนการเพิ่มทุนของแบงก์ทหารไทย นักลงทุนรายย่อยแห่จองหุ้นเกินวงเงินจัดสรรร้อยละ 30

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการ ควบรวมกิจการระหว่างธนาคารไทยธนาคาร กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอ็ฟซีที) ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกำหนดราคาหุ้น และวางตัวผู้บริหารที่เหมาะสม โดยในกรณี ที่มีรายชื่อของผู้บริหารธนาคารใหม่ออกมานั้น โดยเฉพาะนายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ นั้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หลักการของการควบกิจการของสถาบันการเงิน ธปท. มีนโยบายในการกำกับดูแลธนาคาร พาณิชย์ในอนาคตที่จะต้องเน้นความแข็งแรง สามารถปล่อยสินเชื่อมีศักยภาพในการแข็งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผลการดำเนินธุรกิจให้มีกำไร จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งเมื่อจ่ายเงิน ปันผลได้ราคาหุ้นก็จะขึ้นเอง รวมทั้งยังต้องการที่จะให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นตัวสนับสนุนให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอนาคตระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต้องลดจำนวนลง โดยอาจเป็นการควบรวมกันเองระหว่างแบงก์เอกชน หรืออาจควบรวมระหว่างธนาคารรัฐกับเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จากการศึกษาของธปท.ได้ข้อสรุปว่าขนาดสินทรัพย์ที่เหมาะสมในการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ควรจะเป็นธนาคารที่ธุรกิจและขนาดใกล้เคียงกัน

โดยจากการศึกษาขนาดสินทรัพย์ที่เหมาะสมหลังการควบรวมกิจการ ธนาคารพาณิชย์ควรจะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งตรงกับกรณีของธนาคารไทยธนาคารและไอเอฟซีที

ยันไม่ใช้มาตรการภาษีสกัดค่าบาท

ด้านมาตรการการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่งถึงจะสามารถหาข้อ สรุปได้ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของออกมาตรการเพื่อให้เงิน ที่เข้ามานั้นมีการนำไปลงทุนจริงไม่ใช่นำเข้ามาเพื่อการเก็งกำไร ส่วนที่มีข่าวว่าจะนำเอามาตรการภาษีมาใช้เพิ่มเติม เหมือนประเทศมาเลเซียนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวความคิดที่จะออกมาตรการทางด้านภาษีเพื่อสกัดเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทแต่อย่างไร

นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารนครหลวง ไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย แต่ไม่สามารถคาดการณ์ในระยะสั้นๆ ได้ ขณะที่ในระยะยาวค่าเงินบาทของไทยยังมีโอกาส แข็งค่าได้ต่อเนื่องเพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาสนับสนุน

โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ พื้นฐานเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวเร็วกว่าประเทศสหรัฐฯและเงินทุนสำรอง ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตลอดเวลา มีการส่งออกมากกว่าการนำเข้าและมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า รวมทั้งยังมีรายได้ภาคการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะเปลี่ยนบทบาทเป็น ประเทศให้เงินกู้แก่ประเทศอื่น นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. มีการเข้ามาดูแลด้วยการแทรกแซงบ้าง เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป โดยแต่ละปีไม่ควรให้เงินบาทแข็งค่าเกินร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อปี เพื่อที่จะให้ผู้ส่งออกมีโอกาส ปรับตัวและมีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ส่งออก ในต่างประเทศได้ ส่วนภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้น ไม่น่าวิตกว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด

รายย่อยแห่จองหุ้น TMB

เกินยอดจัดสรรกว่า 30%

นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย เปิดเผยถึงยอดการจองซื้อหุ้นของธนาคารทหารไทยเฉพาะรายย่อยมีเม็ดเงินเข้ามาทั้งสิ้นประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินกว่าสิทธิ์ที่ธนาคารจัดสรรให้ถึงร้อยละ 30 เพราะธนาคารต้องการเม็ดเงิน จากการจองซื้อหุ้นจำนวน 6,600 ล้านบาทเท่านั้น จากจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด 2,000 ล้านหุ้น

"จำนวนเม็ดเงินที่จองเกินสิทธิ์นั้น คลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในธนาคารทหารไทยลง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ากระทรวงการคลังจะลดหุ้นที่ถืออยู่เหลือเท่าไร เพราะได้หารือกับนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องนี้แล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.