กองทุนสนหุ้นใหม่ฐิติกรจุดประกายกลุ่มไฟแนนซ์


ผู้จัดการรายวัน(17 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ฐิติกร หุ้นเนื้อหอมน้องใหม่ นักลงทุนสถาบันสนใจล้น เหตุพื้นฐานใกล้เคียงหุ้นไฟแนนซ์รุ่นพี่ ค่าพีอีเฉลี่ย 15-35 เท่า วันนี้โรดโชว์รายย่อย ผู้บริหารประเมินพอร์ตสินเชื่อปีนี้โตได้ 12-15% ตามยอดรถจักรยาน-ยนต์ ดังนั้น เตรียมออกหุ้นกู้อีก 1,000 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทฐิติกร จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า วานนี้(16 ก.ย.) สามารถสรุปราคาขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป(ไอพีโอ)จากการทำบุ๊กบิวดิ้งกับนักลงทุนสถาบันได้แล้ว เบื้องต้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก โดยหุ้นจะเข้าจดทะเบียนในกลุ่มไฟแนนซ์ เนื่องจาก อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี)ของบริษัทใกล้เคียงกับหุ้นไฟแนนซ์ตัวอื่นๆ เช่น KTC AEONTS MIDA ค่าพีอีเฉลี่ยที่ 15-35 เท่า ขณะที่ฐานลูกค้าและอัตรากำไรใกล้เคียงกันเพราะเป็นธุรกิจสินเชื่อรายย่อย(Consumer Finance) โดยวันนี้(17 ก.ย.)จะทำการนำเสนอข้อมูลให้นักลงทุนเวลา 14.30-16.30 น. ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ นางปฐมา กล่าวว่า พอร์ตสินเชื่อของบริษัทน่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 12-15% ตามยอดขายรถยนต์ที่เติบโต 30% ณ สิ้นไตรมาส 2/46 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่มีพอร์ตสินเชื่อ 5,600 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรถจักยานยนต์ 70% ที่เหลือ 30% เป็นสินเชื่อรถยนต์มือสอง

โดยรถจักรยานยนต์ได้รับส่วนต่างผลตอบแทน(Effective Rate)สูงที่ 25% รถจักรยานยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ต่อเดือน ขณะที่รถยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-5% แต่ให้ส่วนต่างผลตอบแทนที่ 10% สำหรับการตั้งสำรองหนี้เสียจะตั้ง 100% ของยอดมูลค่าเต็ม ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 2/46 มีกำไร 187 ล้านบาท และคาดว่าผลประกอบการของปีนี้จะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนรายได้จะเข้ามาในครึ่งปีแรกต่อครึ่งปีหลังในสัดส่วน 40:60 เพราะครึ่งปีหลังจะเป็นฤดูกาลในการจับจ่ายใช้สอย สิ้นปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 370 ล้านบาท ประมาณ 75% เป็นรายได้จากดอกเบี้ย และบริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 60% ของกำไรสุทธิ

สำหรับฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีบริษัทในเครือคือบริษัทซีวีเอ จำกัด ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก บริษัท ชยภาค จำกัด ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ มือสองโดยบริษัทมีเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจและเจ้าหน้าที่สินเชื่อกระจายอยู่กว่า 350 แห่ง ในเขตพื้นที่ที่ให้บริการเช่าซื้อ จนทำให้บริษัทเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯและ ปริมณฑล ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 37%

"กลยุทธ์ในการมัดใจลูกค้าเริ่มตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าเดินเข้ามาหาเราหลังจากการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานเรียบร้อย การอนุมัติทำได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-7 วัน รวมถึงการให้บริการ ด้านอื่นๆ เช่น การชำระเงิน ต่อทะเบียน เป็นต้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเรา ดีลเลอร์ และลูกค้ามีความต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจในการบริการ และที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงโดยตั้งสำรองสูง 100%"

กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ยังมีอีกมาก จากปีที่แล้วที่มียอดขายรถจักรยานยนต์ 1.3 ล้านคัน เทียบปี 2537 ยอดขายรถจักรยานยนต์สูงสุด 1.5 ล้านคัน ขณะที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนา (R&D)การผลิต ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์จะมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงสนับสนุนการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ให้เพิ่มขึ้น ได้อีก

นอกจากนั้น อัตราการซื้อทดแทนประมาณ ปีละ 10% จากยอดรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันที่มีอยู่ 16 ล้านคัน เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีจะมีการซื้อทดแทนขั้นต่ำปีละ 1.6 ล้านคัน โดยคิดคร่าวๆจากอายุการใช้งาน 10 ปี แต่โดยเฉลี่ย อายุการใช้งานรถจักรยานยนต์ 3-4 ปีเท่านั้น

"การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความมั่นคงของบริษัท เพราะบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่การบริหารงาน เป็นมืออาชีพ เพราะต้องมีกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบ มีความคล่องตัวเรื่องการระดมทุนในอนาคต"

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มด้วยการออกหุ้นกู้มูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อให้แหล่งเงินทุนพอดีกับระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ส่วนเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะนำไปขยายสาขา พัฒนาระบบเทคโนโลยี และใช้คืนเงินกู้ระยะสั้น บมจ.ฐิติกร เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป(ไอพีโอ)จำนวน 100 ล้านบาท ราคาพาร์ 1 บาท คิดเป็น 20% ของทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 400 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.