|

ธนาคารพาณิชย์เมินอำนาจแบงก์ชาติสั่ง'ลดดอกกู้-ปล่อยสินเชื่อ'อย่าหวัง
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(25 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
มึนแบงก์ชาติ'ขยัน' ผิดปกติ บี้แบงก์พาณิชย์ลดดอกกู้-ตั้งศูนย์แก้ปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ทั้งที่ก่อนหน้าเห็นดีเห็นงามส่วนต่างดอกเบี้ยเหมาะสม คนอุตสาหกรรมเชื่อนายแบงก์เมิน ทั้งลดดอกและปล่อยสินเชื่อ สวดมีอีกหลายส่วนที่ทำได้แต่ไม่ทำ สุดท้ายเศรษฐกิจไม่เดิน
ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง รวมถึงการเปิดศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อเมื่อ 18 พฤษภาคม 2552 เพื่อให้ประชาชนที่ประสงค์จะแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการให้สินเชื่อและปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับทราบและสามารถประสานงานกับธนาคารพาณิชย์เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว
ถือเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติแสดงออกอย่างแข็งขันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2551 ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างต่อเนื่องจาก 3.75% เหลือ 1.25% และจะเหลือ 1% หรือไม่สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อ 20 พฤษภาคมนั้น คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป
เพราะทุกวันนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยกลับเลือกที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงตามความต้องการของแต่ละธนาคารด้วยข้ออ้างที่ต้นทุนของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงทำให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าเงินกู้
กลับไปกลับมา
'เราประหลาดใจที่แบงก์ชาติออกมาอ้อนวอนให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเงินฝาก พร้อมให้เหตุผลว่าต้นทุนเงินฝากระยะยาวได้ทยอยปรับลงแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนกันว่าธนาคารพาณิชย์กินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติกลับออกมายืนยันแทนธนาคารพาณิชย์ว่า ส่วนต่างดังกล่าวไม่ได้สูงเกินไป'นักอุตสาหกรรมรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต
เขากล่าวต่อไปว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถึงวันนี้ชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือช่วยชะลอไม่ให้เศรษฐกิจแย่ลง เพราะกลไกส่วนอื่นไม่ทำงานโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจโดยตรง
ช่วงที่แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยฝากมากกว่ากู้ ทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงนั้น แบงก์ชาติออกมาการันตีว่าไม่ใช่ 4-6% แต่มีส่วนต่างจริงแค่ 3.2% ถือว่าไม่สูงเกินไป วันนั้นกับวันนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับเดียวกัน ทำไมวันนี้จึงเรียกร้องให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และที่สำคัญคือนายแบงก์ใหญ่ก็ออกมายันแล้วว่าดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในเวลานี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมายความว่าไม่ลดดอกเบี้ยตามที่แบงก์ชาติร้องขอ
ไม่ปล่อยกู้-อยู่ได้
ที่จริงแล้วแบงก์ชาติมีส่วนสำคัญในการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่แพ้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าใช้ให้เป็นก็จะทำให้เศรษฐกิจบ้านเราไม่แย่ลงมากนัก
ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน ขณะที่สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งระมัดระวังในเรื่องการปล่อยสินเชื่อมาก เห็นได้จาก 3 เดือนแรกของปี 2552 ธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดสินเชื่อลดลง 1.37 แสนล้านบาทหรือลดลง 2.36% ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้กลไกสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ต้องเดินหน้า
แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อ ตรงนี้กระทรวงการคลังก็เข้ามาร่วมผลักดันได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปร่วมค้ำประกันหรือให้ธนาคารของรัฐนำร่องปล่อยสินเชื่อ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เห็นเรื่องนี้
แบงก์ชาติก็กระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ได้เช่นกัน ในอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่เข้มแข็งจะมีกลวิธีทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ในยุคนี้ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าหญิงคนแรกอาจมีข้อจำกัดมาก ทำให้แบงก์พาณิชย์เกือบทุกแห่งนิ่งเงียบ
เมื่อเป็นเช่นนี้คงหวังให้เศรษฐกิจฟื้นยาก เพราะแบงก์เองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเสี่ยง แม้ไม่ปล่อยสินเชื่อก็หารายได้จากส่วนอื่น ปล่อยกู้ในตลาด R/P ก็ได้ดอกเบี้ย 1.25% หรือถ้าปรับลดลงเหลือ 1% ก็ไม่เสียหายดีกว่าต้องมาตั้งสำรองจากหนี้เสีย
แบงก์พาณิชย์มีรายได้จากส่วนอื่นอีกมาก เช่น ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มที่เปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิต หรือค่าธรรมเนียมจากการให้บริการอื่น ๆ ที่แบงก์ชาติไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ว่าคิดค่าบริการแพงเกินไปหรือไม่
อีกทั้งรายได้ที่ยังเป็นกอบเป็นกำคือบัตรเครดิต บางแบงก์ดำเนินการโดยบริษัทลูก บางแห่งดำเนินการเอง ตรงนี้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับเดิมคือ 20% ที่ปรับขึ้นไปเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2549 วันนั้นดอกเบี้ยเงินฝากที่ 5% วันนี้ดอกเบี้ยฝากต่ำกว่า 1% ดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ไม่ได้ปรับลดลงมาแต่อย่างใด
'กรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของแบงก์ชาติโดยตรง เพราะตอนที่ผู้ออกบัตรเครดิตขอปรับขึ้นแบงก์ชาติก็อนุญาตแต่วันนี้แบงก์ชาติน่าจะเป็นผู้นำที่ส่งสัญญาณให้ผู้ออกบัตรเครดิตปรับลดดอกเบี้ยลงตามสภาพต้นทุน' นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคกล่าว
หากทำได้น่าจะเป็นการช่วยลดจำนวนลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระ อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและยังเป็นการช่วยให้ผู้ออกบัตรมีความเสี่ยงจากผู้ใช้บัตรกลุ่มนี้น้อยลง ไม่ต้องตั้งสำรอง ไม่ต้องว่าจ้างบริษัทรับทวงหนี้ติดตามหนี้
รวมไปถึงการดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกไม่เสียเปรียบคู่แข่งจากต่างชาติจนเกินไป นี่คือสิ่งที่แบงก์ชาติจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่แพ้รัฐบาล หากแบงก์ชาติมองประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|