|
เจาะขุมทองแดนเศรษฐีน้ำมัน..! 4 กลุ่มธุรกิจไทยร่วมปักธงโกยเงิน
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(25 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เจาะ 4 กลุ่มธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในแดนเศรษฐีน้ำมัน 'โอมาน-ยูเออี'พร้อมเปิดรับนักลงทุนหน้าใหม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งก่อสร้าง-โยธาฯ ส่วนด้าน'ท่องเที่ยว-โรงพยาบาล' ชาวตะวันออกกลางนิยมเข้ามาใช้บริการตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เหตุเชื่อมั่นในคุณภาพระดับสากล ขณะที่ 'อาหารฮาลาล' ยังมีโอกาสอีกมากเพราะทุกประเทศยอมรับในมาตรฐานฮาลาลไทย จี้ 'พาณิชย์' สนับสนุนรายย่อยโกอินเตอร์
นักลงทุนไทยกำลังมุ่งเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง เพราะเชื่อว่าจะสามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปได้ โดย 5 ธุรกิจที่โลกอาหรับให้การต้อนรับเป็นอย่างดีคือ ก่อสร้าง, ท่องเที่ยว , อาหาร .โรงพยาบาล และ สปา ธุรกิจเหล่านี้ล้วนสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา
รับเหมาก่อสร้างยังน่าสน.!
'สมัย ลี้สกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ TRC กล่าวถึงธุรกิจก่อสร้างในตะวันออกลางว่า ปัจจุบันธุรกิจก่อสร้างรับเหมายังสามารถไปได้ซึ่งขณะนี้ TRC ได้งาน รับเหมาก่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นการขยายฐานธุรกิจสู่โอมานเต็มตัว ล่าสุดคว้างานท่อขนส่งน้ำและท่อน้ำมัน จากแหล่งขุดเจาะน้ำมัน 72 จุดไปสู่ Rima Production Center มูลค่า 1,368 ล้านบาท และหลังจากนี้จะเริ่มเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ TRC ยังตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัทในประเทศโอมาน ถือเป็นหนึ่งในหลายโครงการสำคัญที่รองรับนโยบายขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ไปสู่งานต่างประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้ และ 2 บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้ เป็นการรองรับการขยายธุรกิจในตะวันออกกลางที่คาดว่าจะขยายตัวชัดเจนมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากยังมีงานอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก
'ตลาดในตะวันออกลางขณะนี้แข่งขันรุนแรงมากแต่ผู้ประกอบการคนไทยยังมีโอกาส โดยนอกจากTRC ที่เข้าไปบุกเบิกในโอมานแล้วยังมีบริษัทจากไทยอาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ , บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปรับงานด้านโยธา ส่วนด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่แนะนำเพราะว่ากำลังซื้อในตะวันออกกลางลดลงแหมือนกลับประเทศอื่นเช่นกัน' สมัย ระบุ
เจาะ โอมาน- ขุมทองก่อสร้าง
นอกจากนี้ รัฐบาลโอมานเปิดให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลงานโครงการต่างๆ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับบริษัทของไทยที่ประสงค์จะทำธุรกิจในโอมานหรือภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้เข้ามาศึกษาและหาช่องทางการค้าการลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงท่าเรือของในโอมานและหลายประเทศในตะวันออกกลาง 50 โครงการ แต่ละโครงการมีมูลค่า 10 ล้าน - 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมมูลค่ากว่า 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อีกทั้งรัฐบาลโอมานยังมีนโยบายเร่งขยายตลาดการท่องเที่ยว เน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ วัฒนธรรม และแบบผจญภัย ซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยรัฐบาลโอมานกำลังลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ นอกจากกรุงมัสกัต โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลาง ตอนใต้ และชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ที่มีการปรับปรุงก่อสร้างท่าอากาศยาน ท่าเรือ โรงแรม ถนน เส้นทางคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ฮาลาลไทยเจาะโลกมุสลิม
ขณะที่ธุรกิจส่งออกอาหารฮาลาลในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็ยังมีแนวโน้มไปได้ดีเพราะตลอด 4-5 ปีมานี้การส่งออกอาหารไปในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังไม่เคยลดลง และปีนี้ก็เช่นกัน มียักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารอย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อาหาร จำกัด (ซีพีเอฟ) , บริษัท เบทาโกร จำกัด , บริษัท สหฟาร์ม จำกัด , บริษัท แหลมทองอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด เป็นต้นที่ส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกลางอย่างต่อเนื่องโดยสินค้าที่ส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ ปลาทุน่ากระป๋อง, สัปปะรดกระป่อง, ไก่แช่แข็งและตัดแต่ง, ผลไม้ต่างๆ และ ผักต่างๆ
'ในจำนวนโรงงานผลิตอาหารในบ้านเรากว่า 8,000 โรงงานที่ส่งออกไปยังต่างประเทศมีแค่ 5 % เท่านั้น ส่วนอีก 95 % ยังไม่สามารถส่งออกได้' ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์และในฐานะ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
หากเทียบสินค้าในมาตรฐานและราคาเดียวกันที่ขายในท้องตลาดสินค้าฮาลาลของไทยจะได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มตะวันออกกลางแม้แต่ประเทศมาเลเซียที่เป็นประเทศมุสลิมยังไม่สามารถสู้ไทยได้
'ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลตลาดหลักที่ประเทศไทยไปยึดครอง คือ ซาอุดิอาระเบีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลิเบีย และ อียิปต์ โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 1,0000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลทั้งปีที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ'
แนะพาณิชย์ดัน'รายย่อย'โกอินเตอร์
ทว่าไทยยังมีปัญหาด้านการตลาดที่ต้องผ่านโบรกเกอร์ของตัวแทนท้องถิ่นและการเกิดใหม่ของผู้ประกอบการายใหม่ ซึ่งหากกระทรวงพาณิชย์จัดโรดโชว์สินค้าฮาลาลในตะวันออกกลางน่าจะช่วยดึงผู้ผลิตอาหารฮาลาลอีก 95 % ไปสู่โลกภายนอกด้วย เพราะขณะนี้มีเพียงผู้ประกอบการายใหญ่เท่านั้น ที่ส่งออกได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์น่าจะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ไปพร้อมๆกันด้วย
ส่วนผู้ประกอบการต้องพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนตะวันออกกลางมากขึ้นโดยต้องมีแบรนด์แต่สินค้าในการเจาะกลุ่มตลาดบน หรือ ตลาดล่างให้เป็นที่รู้จักและผลักดันให้ 95% ที่ผลิตอาหารฮาลาลเข้าสู่กระบวนการส่งออกให้ได้
นอกจากตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้วยังมีกลุ่มประเทศที่สินค้าฮาลาลไทยยังมีโอกาสอาทิ อินเดีย และบังคลาเทศ เพราะอินเดียมีชาวมุสลิมในประเทศถึง 200 ล้านคนและบังคลาเทศมีชาวมุสลิมถึง 130 ล้านคนหากสินค้าไทยสามารถเจาะตลาดนี้ได้เชื่อโอกาสสินค้าอาหารฮาลาลไทยจะไปได้ดียิ่ง
ททท.ปรับแผนรุกตะวันออกกลาง
'ด้าน วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและททท. ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อทำตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาล เป็นตลาดที่พึ่งพาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นโลว์ซีซัน เพราะนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีกว่า 3 ล้านคนที่พร้อมเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของลูกค้าในกลุ่มนี้
สำหรับแนวทางการทำการตลาดเพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวในตะวันออกกลางมี 2 ด้านที่สำคัญประกอบด้วย 1.ฮาลาล เซอร์วิส ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของอาหารเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมของคนอาหรับด้วย ทั้งอาหรับตอนบน ตอนล่าง ตะวันตก และตะวันออก ต่างมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากผู้ประกอบการ ได้มีการศึกษา และเข้าใจถึงวัฒนธรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่มจะทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น
2. ยกไทยเป็นเมดิคอล ทัวริสซึ่ม ผู้ประกอบการต้องเน้นทำตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น และในส่วนของ ททท. เองก็เพิ่งทำ จึงจำเป็นเป็นต้องทำความเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำ
ATTA ยืนยันตะวันออกกลางเงินหนา
ขณะที่ 'อภิชาติ สังฆอารี' อดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) มองว่า การที่ททท.เดินทางโรดโชว์ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี)ในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นผลดีเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่จะเข้าท่องเที่ยวในไทยในระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปีเพราะในช่วงดังกล่าวในตะวันออกกลางจะร้อนมากกว่าปกติทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเข้ามาในประเทศไทย
โดยนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางจะมาเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ขนาด 20-30 คนเพราะเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีฐานะ และมีกำลังซื้อในการจับจ่ายซื้อของจำนวนมากในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการไทยจึงมองว่านักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางคือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อในขณะนี้
ยืนยันมาตรฐานร.พ.ไทยระดับสากล
ด้าน 'น.พ.ไพศาล จันทรพิทักษ์' กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ลูกค้าชาวต่างชาติ ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจคือกลุ่มลูกค้าจากตะวันออกลางที่พฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11ก.ย. 2544 ที่สหรัฐอเมริกา เพราะคนไข้กลุ่มนี้ไม่สามารถเดินทางไปรักษาตัวหรือเดินทางไปรับการบริการทางสุขภาพในกลุ่มทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาสะดวกสบายเหมือนเดิมทำให้ลุกค้ากลุ่มนี้หันกลับมาใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนไทยมากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นมา
ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็ปรับตัวในเรื่องคุณภาพการบริการและเรื่องมาตรฐานโดยมีมาตรฐานสถาบันรับรองและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลของไทย (Hospital Accreditation: HA) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ และให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บริการดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันหลายโรงพยาบาลก็ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการพัฒนาและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ Joint Commission International (JCI) ของสหรัฐอเมริกา
ลูกค้าตะวันออกกลางแห่เข้าไทย
ขณะที่ น.พ. ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลางเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลกรุงเทพฯในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวคือกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดคือกว่า 40% ที่เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การ์ต้า และ โอมาน
'ผู้ป่วยจากกลุ่ม MIDDLE EAST เข้ามารับบริการมากขึ้นในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาเพราะเขายอมรับในเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และโรงพยาบาลเอกชนไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เขาต้องการ อีกทั้งความเป็นคนที่อัธยาศัยดีทำให้เราได้เปรียบอีกทางหนึ่ง ขณะที่คู่แข่งเราอย่างสิงคโปร์อาจะเด่นเรื่องมาตรฐานทางการแพทย์ แค่เรื่องราคาอาจจะแพงงกว่าซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วไทยยังสามารถสูได้ทุกด้านทำให้นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางนิยมเข้ามาใช้บริการในไทย'
ดังนั้น 4 กลุ่มหลักที่ปักธงมุ่งลูกค้าจากแดนตะวันออกลางจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะรายใหญ่ก็คงต้องประคองตัวต่อไปในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนรายย่อยหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่รอการแจ้งเกิดก็คงอีกไม่นานเพราะดินแดนตะวันออกลางพร้อมเปิดรับนักธุรกิจจากไทยไม่เฉพาะเพียง 4 ด้านที่ว่ามาเท่านั้นแต่ในอนาคตยังมีโอกาสมากที่รอนักธุรกิจไทยไปขุดทองในดินแดนของเศรษฐีน้ำมัน..!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|