เจาะกลยุทธ์การเปลี่ยน 'โลโก้' 8 แบรนด์ชั้นนำ


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(25 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

* เผยกลเม็ดการใช้กลยุทธ์ 'โลโก้' เพื่อผลักดันแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จระดับโลก
* ประมวลสัญลักษณ์ดั้งเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คิดอย่างไรถึงเป็นรูปลักษณ์ดังทุกวันนี้
* อ่านการตัดสินใจในเชิงการบริหารการตลาด และตำนานผ่านโลโก้ของหลายแบรนด์ดัง

ความสำเร็จทางการตลาดของผู้ประกอบการแบรนด์ดังของโลกในวันนี้ แทบจะไม่มีรายไหนเลยที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนโลโก้ของแบรนด์ตนเอง

เพียงแต่ในวันนี้ ผู้คนหรือนักการตลาดเองอาจจะลืมไปแล้วว่า แบรนด์ดัง ๆ ชั้นนำของโลกเหล่านี้มีพัฒนาการของการปรับเปลี่ยนโมเดลของโลโก้มามากน้อยเพียงใด

การประมวลภาพของการใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนโลโก้เพียงอย่างเดียว อาจสามารถบอกอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นประวัติศาสตร์ของการตัดสินใจในเชิงบริหารการตลาดของแบรนด์ชั้นนำระดับพระกาฬได้อย่างดี

วันนี้จึงอยากจะเขียนเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันของ 8 แบรนด์ดังของโลกในส่วนที่เป็นการปรับเปลี่ยนโลโก้โดยเฉพาะ

แบรนด์แรกที่อยากจะย้อนประวัติศาสตร์การปรับเปลี่ยนโลโก้ คือ แบรนด์แอปเปิ้ล ที่ต้องย้อนเวลาไปถึง 30 ปีทีเดียว

ในทางการตลาด โลโก้เป็นการระบุตัวตนขั้นพื้นฐานของสินค้า ควบคู่กับการสร้างแบรนด์สินค้า เพราะสองอย่างนี้ต้องมีความสอดคล้องกลมกลืนกัน เพื่อผนึกพลังกันเป็นองค์ประกอบของสินค้าที่จะสื่อสารออกไปยังลูกค้าเป้าหมายของกิจการ

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโลโก้ของกิจการใดกิจการหนึ่ง ก็เพื่อให้โลโก้ใหม่เหมาะเจาะและสอดรับกับการสื่อตัวตนของสินค้ามากขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อพบว่าโลโก้เดิมไม่สะท้อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายของกิจการอย่างเพียงพอ สำหรับงานการตลาดในอนาคต

การปฏิรูปหรือแม้แต่การปฏิวัติโลโก้ของแบรนด์ดัง จึงเป็นส่วนหนึ่งของตำนานของแบรนด์นั้น ๆ ด้วย

ตำนานของโลโก้แบรนด์แอปเปิ้ลเริ่มเมื่อปี 1976 เมื่อสตีฟ จ๊อบส์ และสตีฟ วอซนิแอคเริ่มดำเนินธุรกิจของบริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันมีพนักงานร่วมงานนับพันคน โดยในเวลานั้นทั้งสองคนได้ออกแบบและสร้างเมนบอร์ดต้นแบบเองในอู่จอดรถ ซึ่งต่อมาถูกครอบครองโดยฮิวเลตต์-แพคการ์ด และ คอมมอดาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้คนทั้งสองตัดสินใจตั้งกิจการของตนเอง จึงเริ่มคิดหาโลโก้ที่เหมาะสม

โลโก้แรกของบริษัทแอปเปิ้ลมองดูเป็นภาพที่ซับซ้อน ของเซอร์ ไอแซค นิวตันที่นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ซึ่งเป็นการสื่อถึงตัวของนิวตันมากกว่าตัวผลแอปเปิ้ล

ต่อมาผู้บริหารบางคนในกิจการ มองว่าธุรกิจของบริษัทแอปเปิ้ลมีความเสี่ยงสูงมากและตันสินใจขายหุ้นของกิจการออกไป ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะหากเก็บหุ้นนั้นไว้ถึงวันนี้คงรวยไม่รู้เรื่องไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงการบริหาร ทำให้เกิดการทบทวนว่าโลโก้ของกิจการมีความสลับซับซ้อนเกินไป จึงไปให้ร็อบ จานอฟฟ์ ออกแบบให้ เพราะเป็นดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษ 1980

โดยโลโก้ที่ออกแบบมาใหม่ เป็นรูปผลแอปเปิ้ลที่มีรอยกัด และใช้สีรุ้งกับตัวแอปเปิ้ล ซึ่งบริษัทแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ได้ใช้โลโก้นี้มาจนถึงปี 1999

จนถึงปลายปี 1998 โลโก้ของแอปเปิ้ลจึงปรับโทนสีมาเป็นสีดำล้วนสีเดียว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นโลโก้ปัจจุบันที่เป็นสีโทนเทาและขาว

วันนี้ โลโก้ของบริษัทแอปเปิ้ลได้รับการยอมรับว่าเป็นไอคอนของโลโก้ที่ได้รับการจดจำและยอมรับมากที่สุดโลโก้หนึ่งจากผู้คนทั่วโลก ด้วยสีสันแบบเงินชุปโครเมี่ยม

แบรนด์ที่สองที่มีตำนานของโลโก้ที่น่าสนใจ คือ โลโก้ของบริษัท เชลล์

โลโก้แรกของเชลล์ เป็นรูปหอยวางราบ ใช้ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยตัวโลโก้เน้นภาพเสมือนจริงของหอยเชลล์ และพัฒนาเป็นแบบแนวตั้งที่วางไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมสีดำ ในช่วงปี 1904

เพียง 5 ปีต่อมา โลโก้ก็เปลี่ยนอีกครั้งเป็นการปลดปล่อยหอยเชลล์ออกจากกรอบสี่เหลี่ยม แต่ยังใช้สีดำและภาพเสมือนจริงอยู่

ในปี 1930 ภาพโลโก้ของเชลล์ เพียงแต่ปรับโทนสีให้ขาวมากขึ้น และสีดำลดลงแต่ยังคงความเป็นสีขาวดำไว้อย่างเดิม

โลโก้ของเชลล์ถูกปรับอีกครั้งในปี 1948 ด้วยการปฏิวัติโทนสีมาเป็นเหลืองแดง ซึ่งเป็นสีธงชาติสเปนและเอาชื่อแบรนด์ shell ใส่ไว้กลางโลโก้ที่เป็นภาพเสมือนจริงของหอยเชลล์ ในช่วงเวลานั้น เชลล์ได้ปรับโลโก้พร้อมกับการเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกในแคลิฟอร์เนีย

การปรับเปลี่ยนสีสันครั้งนี้ เป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์สำหรับกิจการก็ว่าได้ เพราะทำให้ยอดการจำหน่ายของสินค้าขายดิบขายดีแบบตั้งตัวไม่ทัน เพราะความเป็นสีของชนชาติสเปน ทำให้พลเมืองเชื้อสายสเปนในแคลิฟอร์เนียให้การต้อนรับเชลล์อย่างท่วมท้น

แต่โลโก้ของเชลล์ก็ยังมีจุดอ่อนเพราะคำว่าเชลล์ตรงกลางโลโก้เป็นสีขาว ทำให้ภาพออกมาเบลอไม่ชัดเจน ยิ่งเป็นยุคก่อนที่จะเกิดเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เชลล์ได้ปรับโลโก้ของกิจการอีกหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดพัฒนาการของโลโก้ที่ดูง่ายขึ้น ยุ่งเหยิงลดลง เอาคำว่าเชลล์ออกไป เพราะไม่จำเป็น รูปโลโก้ที่เป็นหอยเชลล์อยู่แล้ว สามารถสื่อได้อย่างไม่บิดเบือน และปรากฏว่าการปรับโลโก้ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากตลาดดีขึ้นตามลำดับ ในด้านของการจดจำได้และความพอใจในคุณค่าของแบรนด์

นับตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา โลโก้ของเชลล์ก็นิ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลงานจากการออกแบบของดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เรย์มอน โลวี่ ซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้ที่ออกแบบโลโก้ให้กับอีก 2 บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก อย่าง บีพี (BP) และเอ๊กซอน (Exxon)

โลโก้ของบริษัทซีร็อกซ์เป็นรายที่ 3 ที่น่าสนใจในการเปลี่ยนวิถีทางของการสร้างโลโก้อย่างชนิดไม่เหลือร่องรอยเดิมเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน

เดิมทีซีร็อกซ์ ใช้ชื่อของกิจการว่า ฮาลอยด์ คอมปานี ซึ่งมีกำเนิดในโลกการตลาด เมื่อปี 1906 ทำธุรกิจผลิตกระดาษและอุปกรณ์การล้างรูปภาพถ่าย

จนเมื่อซีร็อกซ์ตัดสินใจเปิดตัวเองในภาพลักษณ์ใหม่ที่ฉีกแนวไปจากเดิม จึงมีการตัดคำว่า ฮาลอยด์ออกไปจากชื่อเต็ม 'ฮาลอยด์ ซีร็อกซ์' ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1961 เหลือแค่เพียงคำว่า 'ซีร็อกซ์'

ด้วยเหตุนี้ โลโก้ของซีร็อกซ์ในปี 1948 จึงปรับโฉมมาเป็นการใช้คำว่า Xerox แถมด้วยอักษรตัวใหญ่ของคำว่า X ตรงกลางโลโก้ เป็นสีเหลืองสด

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงอีก 2 ปีต่อมา ผู้บริหารของซีร็อกซ์ก็เปลี่ยนใจใช้สีแดงบนตัวอักษร X แทนสีเหลือง แต่คำว่า Xerox ยังคงเป็นสีขาวในกรอบดำเหมือนเดิม

ตัวอักษรคำว่า Xerox ออกมาอยู่นอกกรอบเป็นครั้งแรกในปี 1961 โดยเป็นคำว่า Xerox บรรทัดแรกสีน้ำเงินและคำว่า Corporation ในบรรทัดที่ 2

หลังจากนั้นอีก 7 ปี คำว่า Corporation ก็หายไปเหลือเพียงคำว่า Xerox สีน้ำเงินและทิศทางของซีร็อกซ์พลิกผันอีกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนโลโก้กลับเป็นข้อความยาวเหยียดสีดำเหนือคำว่า Xerox ด้วยคำว่า The Document Company และเปลี่ยนสีของคำว่า Xerox จากน้ำเงินเป็นสีแดงครั้งแรก

จากปี 2004 จึงตัดข้อความรุกรังออก เหลือเพียงสีแดงโดดเด่นของคำว่า Xerox ที่มีขนาดและรูปลักษณ์เหมือนเมื่อปี 1968

ส่วนโลโก้ปัจจุบัน แม้ว่าจะยังคงเป็นคำว่า Xerox แต่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นและตัวอักษรที่ปรับจากตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด มาเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กแทน แถมด้วยเจ้า X ตัวใหญ่สีขาวที่กลับมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมวงกลมสีแดง รวมศตวรรษหนึ่งเปลี่ยนโลโก้ 11 ครั้ง

ทุกวันนี้ บริษัทซีร็อกซ์ หวังว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจระบบดิจิตอลที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นในธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกัน และการขยายตัวในรุกคืบตลาดใหม่ๆ เพื่อหาช่องทางสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขีดความสามารถในทางธุรกิจ และสมรรถนะทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินงานของลูกค้าง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ประหยัดขึ้น

โลโก้ใหม่ของซีร็อกซ์จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะสื่อว่าซีร็อกซ์ต้องการเชื่อมโยงไปให้ถึงลูกค้าเป้าหมายให้ได้ ด้วยธุรกิจใหม่ด้านซอฟต์แวร์และงานบริการ ไม่ใช่บริษัทที่ทำได้เพียงพรินเตอร์และอุปกรณ์ถ่ายเอกสารเท่านั้น แต่สามารถช่วยลูกค้าในการบริหารจัดการสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โลโก้รายที่ 4 ที่น่าจะกล่าวถึงคือ บริษัทบีเอ็มดับบลิว ซึ่งมีโลโกดั้งเดิมกับโลโก้ปัจจุบันใกล้เคียงกันมาก จนสะท้อนถึงความคงเส้นคงวา ความหนักแน่นและมั่นคงของแนวคิดทางการตลาดได้ดี แม้ว่าจะปรับโฉมถึง 6 ครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงของโลโก้ของบีเอ็มดับบลิว จึงมีไม่กี่อย่าง เช่น

- การทำให้สีขาวน้ำเงินตรงกลางมีมิติของความลึกมากขึ้น จนดูเห็นความนูน

- คำว่า BMW สีเหลือง ได้ปรับเป็นสีขาวตั้งแต่ปี 1936

ที่จริงมีอยู่ช่วงหนึ่งคือระหว่างทศวรรษ 1970-1980 ที่บีเอ็มดับบลิวทำท่าจะฉีกแนวคิดเกี่ยวกับโลโก้ที่แตกต่างไปจากเดิม มีการดีไซน์ใหม่ทันสมัยมากขึ้นแทรกสีแดงเข้าไปด้วย

ส่วนการที่โลโก้ของบีเอ็มดับบลิวเป็นสีขาวกับน้ำเงิน ก็เพราะต้องการสื่อให้เห็นความเป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องยนต์ของเครื่องบิน สีขาวน้ำเงินจึงน่าจะเป็นตัวแทนของท้องฟ้า และยังเป็นสีดั้งเดิมของชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษของบีเอ็มดับบลิวว่า Bavarian Motor Works

โลโก้ที่ 5 คือ ไนกี้ ซึ่งคนที่ออกแบบโลโก้ให้กับไนกี้เป็นรายแรกเป็นเพียงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพาร์ตแลนด์ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ชี่อ แครอลีน เดวิดสัน ในปี 1971 โดยได้รับค่าตอบแทนเพียง 35 ดอลล่าร์สำหรับค่าออกแบบ

ในปี 1979 โลโก้ของไนกี้เปลี่ยนแปลงไป 2 ประเภท

- คำว่า ไนกี้ปรับจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กเป็นตัวใหญ่หรือจาก nike เป็น NIKE

- เครื่องหมายที่เหมือนคำว่าถูก ได้แยกจากการทบบนคำว่าไนกี้เป็นมาอยู่ใต้คำว่าไนกี้แทน

ในปี 1985 คำว่าไนกี้ได้ปรับโฉมด้วยการเอาไปใส่ในกรอบสีแดง ล้อมรอบคำว่าไนกี้และสัญลักษณ์ถูก ( ) สีขาว

จนในที่สุด โลโก้ของไนกี้ได้กลับสู่สามัญและความเรียบง่ายได้ใจความด้วยสัญลักษณ์ สีแดงเพียงอย่างเดียว

โลโก้ที่หกเป็นของไอบีเอ็ม หรือชื่อเต็มว่า International Business Machines Corporation ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบริษัท 2 บริษัทเข้าด้วยกัน โลโก้ของกิจการจึงเปลี่ยนเป็นการเอาชื่อบริษัทมาทำรูปแบบคล้ายลูกโลก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 บริษัทไอบีเอ็มเปลี่ยนจากการทำธุรกิจช่วยพันธ์การ์ดสู่โลกของธุรกิจคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของกิจการ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอดรูปเลยทีเดียว และการปรับโลโก้ดูเหมือนช่วยเสริมได้ไม่น้อย

จนในปี 1947 ไอบีเอ็มตัดสินใจปรับเปลี่ยนโลโก้ของกิจการในช่วง 2 ทศวรรษสู่รูปแบบที่เรียบง่ายและจำได้ง่าย เป็น 'IBM' แทนชื่อเต็มที่ยาวเหยียดของบริษัท โดยใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ที่มีแต่ขอบเส้นเจาะด้วยสีขาว

ปี 1956 ตัวอักษรคำว่า IBM เปลี่ยนมาเป็นสีดำทึบเพื่อให้ดูหนักแน่งขึ้น มีพื้นสีเข้มจ้นหนักแน่นขึ้น และเพื่อประกาศความเปลี่ยนแปลงในระดับบริหารจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก และต้องการเปิดศักราชใหม่ทางธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกคราวของไอบีเอ็มเกิดในปี 1972 เมื่อมีการปรับสีของตัวอักษร IBM เป็นสีฟ้าและมีการใช้เส้นสีขาวตัดขวางตลอดแนว เพื่อสื่อให้เห็นถึงความรวดเร็วและการปรับตัวไม่หยุดยิ่ง  Speed and dynamism

รายต่อมาคือ รายที่ 7 แคนอน ซึ่งโดยภาพรวมในช่วงเวลาที่ยาวนานของบริษัทแคนอน คือ พื้นฐานของโลโก้จะมีความชัดเจนในส่วนของตัวอักษร C เอนไปหาตัว a ซึ่งเป็นตัวสะกดที่สอง

ที่มาของโลโก้ของกิจการเกิดขึ้นในปี 1934 เมื่อนายโยชิดะ และลูกเขยคือ ซาบูโร อูชิดะ และทาเคโอะ ไมดะ ร่วมกันเปิดตัวกล้องถ่ายรูปรุ่นแรกที่ใช้ชื่อว่า Kwanon เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อของเจ้าแม่กวนอิม และใช้ปางพันมือของเจ้าแม่กวนอิมเป็นสัญลักษณ์

คำว่า Kwanon และ Canon มีการออกเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก ทำให้บริษัทไม่ประสบปัญหาแม้แต่น้อยในการเปลี่ยนชื่อกิจการและโลโก้ ซึ่งในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นรุ่นเก่าบางคนยังคงเรียกชื่อเดิมของบริษัทแทนที่จะเรียกตามชื่อใหม่

คำว่าแคนอนจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าจริงในปี 1935 หลังจากนั้นคำว่า Canon ก็มีการปรับไปปรับมาเพียงเล็กน้อย ด้วยการลดหรือเพิ่มความหนาของตัวอักษรที่เป็นโลโก้เท่านั้นเอง

รายที่แปดเป็นโลโก้ของกูเกิ้ล ซึ่งเริ่มเมื่อปี 1996 นี่เองโดยนักศึกษาจากสแตนฟอร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้ คนที่ร่วมกันสร้างเสิร์จ เอนจิ้น ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นแบรนด์กูเกิ้ล โดยยกเลิกชื่อเดิมคือ BackRub

คำว่า กูเกิ้ล แผลงมาจากคำว่า Googol ซึ่งเลข 1 ที่ตามด้วย เลข 0 อีก 100 ตัว

แบรนด์กูเกิ้ลดอทคอมเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1998 ก็นำกิจการเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวในการค้นหาข้อมูล

ปี 1998 การประกอบการเริ่มปรับมาอยู่ในรูปของบริษัท กูเกิ้ล โดยใช้โรงจอดรถของเพื่อนเป็นสำนักงาน

โลโก้ของกูเกิ้ลคิดโดย 1 ใน 2 ของผู้ก่อตั้ง ความเปลี่ยนแปลงไปของโลโก้กูเกิ้ลอย่างหนึ่ง คือเจ้าเครื่องหมายตกใจ ! ที่เข้าๆ ออกๆ จากโลโก้เป็นพักๆ ศิลปะจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชื่อ รัช เคดาร์ และได้ใช้โลโก้ดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเด่นที่สำคัญของโลโก้ของกูเกิ้ลที่ไม่เคยพบมาก่อนในแบรนด์อื่นๆ คือการปรับเปลี่ยนโลโก้เป็นครั้งคราวตามเทศการพิเศษ และโอกาสเฉพาะกิจ ทำให้โลโก้ของกูเกิ้ลทำหน้าที่ในการส่งเสริมการจำหน่าย และทำให้ผู้เข้ามาสู่เว็บไซต์ได้ประหลาดใจเป็นพักๆ

นักการตลาดจึงยกย่องโลโก้ของกูเกิ้ลว่าเป็นโลโก้ของธุรกิจที่มีชีวิตชีวาและไม่ยึดติดกับความจำเจอย่างแท้จริง สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีการปรับตัวและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์อย่างครบวงจร

จากการดูตำนานของการเปลี่ยนโลโก้ของ 8 บริษัทชั้นนำของโลกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องฉาบฉวยหรือการปรับโลโก้อย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังคือการปรับแบรนด์ (Re-brand) จึงควรเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับหัวใจของกิจการอย่างแท้จริง

ส่วนใหญ่การปรับแบรนด์จะเกิดในช่วงต้นปี เพราะปีใหม่กับโลโก้ใหม่มักจะเป็นเครื่องที่ไปด้วยกันได้ดีกว่าช่วงอื่นๆ ช่วงเวลาปีใหม่จึงมักจะเป็นช่วงเป้าหมายในการปรับแบรนด์หรือโลโกของบริษัทชั้นนำทั้งหลายของโลก

การเปลี่ยนโลโก้พร้อมกับแบรนด์ จึงมักเกิดผลให้กิจการสามารถยกเครื่องภาพลักษณ์หรืออิมเมจ หรือเป็นการเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่

นอกจากนั้นในแต่ละกิจการไม่ว่าอุตสาหกรรมสาขาใด ความแข็งแกร่งของแบรนด์เป็นหัวใจของความสำเร็จของกิจการอย่างหนึ่งเป็นเสมือนหัวใจที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกทางธุรกิจ หากเมื่อใดที่หัวใจทางธุรกิจหยุดเต้นหรือขยับเขยื้อน องค์กรก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้

การศึกษาและทำความเข้าใจกับการปรับเปลี่ยนโลโกของแต่ละกิจการข้างต้น ควบคู่กับการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างธุรกิจ อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เหลือได้อย่างดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.