|
โบรกฯเตือนแรงทิ้งหุ้นกดดัชนีรูด หลังพบยอดยืมหุ้นขายชอร์ต5เดือน1.2หมื่นล.
ASTV ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
โบรกเกอร์ เตือนระวังเจอแรงเทขายหุ้นกดดัชนีตลาดหุ้นรูด หลังตลาดหุ้นพุ่งเร็ว-แรงเกินปัจจัยพื้นฐาน แจงพบนักลงทุนเริ่มทยอยยืมหุ้นขายชอร์ตจาก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บล.เคจีไอฯ เผยปีนี้มีกองทุน 8 แห่งใหม่ นำหุ้นให้ยืมมูลค่ารวม 4-5 พันล้านบาท หวังเพิ่มรายได้แก่ผู้ถือหน่วย ส่งผลให้มูลค่ารวมสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ ยอดชอร์ตเซลทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท
ตลอดเดือนพฤษภาคม 2552 บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวในทิศทางบวกติดต่อกันหลายวัน ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่น หลังจากนักลงทุนต่างประเทศเริ่มหวนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหลายเป็นซื้อสุทธินับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือนพ.ค. 52 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิกว่า 8 พันล้านบาท
นางนฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนปรับแผนการลงทุนด้วยการยืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ตมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน ก่อนที่จะเข้าไปซื้อคืนหลังราคาหุ้นที่น่าจะปรับตัวลดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้
ทั้งนี้ จากการที่นักลงทุนเริ่มทยอยเข้ามายืมหุ้นกับทางบริษัทที่จะมีการขายชอร์ตออกมาก่อน จากที่มีมุมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสจะมีการปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) น่าจะคึกคักมา จากที่ดัชนีตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงในปีนี้ โดยในช่วงประมาณ 5 เดือนนี้ มูลค่าการยืมหุ้นไปชอร์ตของบริษัทนั้นถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตลาดหุ้นจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว แต่ในปีนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น-ลดลง แล้ว 3 รอบ
“ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 พ.ค.) ยอดการยืมหุ้นไปชอร์ตของบริษัทปรับตัวลดลง จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจนขณะนี้นั้นถือว่าเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว และไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา ทำให้จะต้องระมัดระวังในการลงทุน โดยเริ่มที่จะมีนักลงทุนทยอยเข้ามายืมหุ้นกับทางบริษัทที่จะมีการขายชอร์ตออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าการยืมจำนวน 500 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนที่มี 1.5 หมื่นล้านบาท ”
นางนฤมล กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนรายใหม่ที่นำหุ้นมาให้บริษัทยืมหุ้นจำนวน 8 กองทุน ภายใต้การบริหารจัดการ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 3 แห่ง มูลค่ารวม 4-5 พันล้านบาท ส่งผลให้บล.เคจีไอ มีหุ้นที่สามารถให้ยืมได้รวมจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยการที่บลจ.หันนำหุ้นมาให้บริษัทยืมมากขึ้น เนื่องจาก ในปีนี้บลจ.ได้มีการลงทุนในหุ้นจำนวนมาก แทนที่จะเก็บหุ้นไว้เฉยๆ นำมาให้ทางบริษัทยืม จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากได้อัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ จากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง นั้นทำให้บลจ.จะต้องพยายามหาแหล่งลงทุนเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้นหน่วยลงทุน และขณะที่ในฝั่งผู้ที่มายืมหุ้นจากบริษัทนั้น เป็นนักลงทุน และล่าสุดได้มีการเซ็นสัญญากับทางบล.ในประเทศจำนวน 5 แห่ง และบล.ต่างประเทศ 2 แห่ง ในการมายืมหุ้นกับทางบล.เคจีไอ แล้ว
ด้านนักวิเคราะห์ได้ประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง แม้บางวันจะปรับตัวลดลงบ้าง จากการที่นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งได้ฉวยจังหวะเทขายทำกำไร บวกกันความวิตกกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้มีทิศทางที่ดีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ในภาพรวมแล้วตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนมากนัก ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 1/2552 โดยตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่น่าจะติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน เป็นการแสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นไทยและทำให้มีแรงเทขายออกมาระลอกใหม่
“ดัชนีตลาดหุ้นไทยในระดับนี้ ถือว่าราคาหุ้นไทยไม่ถูกแล้วเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน จากพีอีเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 15-16 เท่า และมีหลักทรัพย์หลายตัวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนั้นในสัปดาห์นี้ดัชนีตลาดไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับฐานต่อ โดยให้กรอบแนวรับที่ 540 จุด แนวต้าน 555 จุด”
จากการรวบรวมข้อมูลการขายชอร์ตตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (21 พ.ค.) มีมูลค่ารวม 12,036 .01 ล้านบาท ซึ่งหุ้นที่มีการขายชอร์ตมากสุด 5 อันดับ แรก ประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT) มูลค่ารวม 2,363 .17 ล้านบาท บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 2,007.22 ล้านบาท บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) มูลค่า 1,050.32 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มูลค่า 736.88 ล้านบาท และบมจ.บ้านปู (BANPU) มูลค่า 625.37 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|