|
คนฝากเงินสูญ7.6หมื่นล. ธปท.อ้างเหตุผลคงดอกเบี้ย1.25%
ASTVผู้จัดการรายวัน(21 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติแข็งข้อ "กรณ์" ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% "อัจนา" อ้างสารพัด ลดมากแล้ว กรี๊ด! รับไม่ได้คนฝากเงินโดนกดดอกเบี้ย เผย 5 เดือนดอกฝากลด 1.96% ส่งผลรายได้ผู้ฝากเงินวูบ 7.6 หมื่นล้าน พร้อมยอมรับความเสี่ยงในและนอกประเทศยังไม่หมด เป็นใบ้ถูกถามทำไมแบงก์พาณิชย์ไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ปากดีแขวะเสื้อเหลืองปิดสนามบินหนักกว่าแดงถ่อยสงกรานต์ แบงก์กรุงเทพขี่ม้าขาวประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% แม้จิ๊บจ๊อยแต่ก็ทำให้เอ็มแอลอาร์ต่ำสุดจนได้
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วานนี้ (20 พ.ค.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25%ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว คิดว่าต่ำพอสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกันเครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัวเริ่มหดตัวชะลอลงและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแรงกระตุ้นนโยบายการคลังเริ่มมีความชัดเจนและเริ่มมีการเบิกจ่ายมากขึ้น จึงช่วงประคองเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง
“ขณะนี้เศรษฐกิจลงลึก ถือว่ายังติดลบอยู่ แต่ข่าวร้ายลดลง ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปีก่อนและในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ทำให้การใช้นโยบายการเงินน้อย การลดอัตราดอกเบี้ยเหมือนเชือก แค่ดึงให้เศรษฐกิจเย็นลงแค่นั้น แต่ในยามที่ความไม่แน่นอนข้างหน้ายังมีอยู่ก็มีช่องหรือโอกาสใช้นโยบายการเงินได้ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ต่ำมากจนมองว่าไม่มีเครื่องมือแล้ว” นางอัจนากล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า กนง.สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25% เพราะขณะนี้ไม่มีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ
รองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวอีกว่า การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่ได้หมายว่าประสิทธิภาพในการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ผล และสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในปัจจุบัน ธปท.ได้มีการป้องกันมาหลายครั้งแล้ว จึงลดอัตราดอกเบี้ยมาหลายครั้ง แต่การตัดสินใจครั้งนี้แตกต่างออกไป เพื่อตั้งหลักรอดูผลการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง รวมทั้งติดตามผลกระทบที่ทำให้รายได้ผู้ฝากเงินจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม แม้การพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้แล้ว แต่ ธปท.ไม่สามารถบังคับได้ว่าธนาคารพาณิชย์ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก และจากการหารือระหว่างธนาคารพาณิชย์และ ธปท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้ให้เหตุผลว่าลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้น้อย เพราะต้องดูแลความเสี่ยงท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอลง ดังนั้น ธปท.ได้ให้แนวคิดธนาคารพาณิชย์ไปว่าการคิดค่าธรรมเนียมความเสี่ยงหรือต้นทุนอะไร รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ควรอยู่ให้สมเหตุสมผล
รองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า กนง.ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2.50% ในช่วง 5 เดือนหรือ 4 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้วประมาณ 70%ของระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงหรือลดลงประมาณ 1.96% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดไปประมาณ 50% หรือประมาณ 1.19% และล่าสุด ณ วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แท้จริงอยู่ที่ 7.05% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงอยู่ที่ 0.15%
ทำให้รายได้ของผู้ฝากเงินลดลงโดยเฉลี่ย 7.6 หมื่นล้านบาท โดยผู้ฝากเงินประเภทออมทรัพย์มีรายได้ลดลง 4.6 หมื่นล้านบาทหรือเฉลี่ยแต่ละบัญชีรายได้ลดลง 115 บาทต่อปี ขณะที่ผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่เป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 12 เดือนลดลง 4-7 แสนบาทหรือเฉลี่ยแต่ละบัญชีลดลง 6,000 บาทต่อปี ส่วนเงินฝากประจำประเภท 6 เดือน ซึ่งมียอดเงินฝากประจำมากที่สุด ผู้ฝากเงินมีรายได้ลดลง 11,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยแต่ละคน 1,100 บาทต่อปี แต่ในส่วนของการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะส่งผลดีให้ผู้กู้แง่ลดภาระหรือลดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผู้กู้แต่ละรายได้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันและกลุ่มผู้กู้ต่างกัน โดยหากเป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มลูกหนี้รายใหญ่
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอยู่ทั้งภายนอกและในประเทศ โดยขณะนี้ยังมีความไม่นอนแน่หลายปัจจัยทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน ราคาน้ำมัน แม้ราคาไม่สูงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่หากมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นอาจส่งผลให้ราคาสูงขึ้นและดึงอำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลงได้ นอกจากนี้การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินในต่างประเทศและสะสางภาคการเงินที่ต้องใช้เวลา ซึ่งในช่วงแรกอาจเกรงไม่ปล่อยกู้ก็ได้
ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศยังมีอยู่ทั้งยอดการส่งออกชะลอลงและเสถียรภาพการเมือง ซึ่งมีผลนักท่องเที่ยวลดลงและปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจได้ รวมถึงการตอบสนองนโยบายรัฐให้ล่าช้าออกไปได้ และความเชื่อมั่นลดลงของนักลงทุนและผู้บริโภค
แว้งกัดเสื้อเหลืองปิดสนามบิน
นางอัจนากล่าวด้วยว่า การจลาจลของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเกิดจากผลการเมืองไม่ได้แสดงชัดเจนว่ากระทบภาคท่องเที่ยวเลวร้ายต่างกับช่วงที่ปิดสนามบิน แต่มองว่าที่นักท่องเที่ยวลดลงเกิดจากรายได้ของนักท่องเที่ยวน้อยลงมากกว่า ดังนั้นเสถียรภาพการเมืองได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง ทำให้การใช้นโยบายของภาครัฐต่อระบบเศรษฐกิจล่าช้าออกไป รวมทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้บริโภคลดลงได้
บัวหลวงฮึดลดดอกเบี้ยกู้ 0.125%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 พ.ค.) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลงในอัตรา 0.125% และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลดลงมาอยู่ที่ 5.875% จากเดิมอยู่ที่ 6% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ลดลงมาอยู่ที่ 6.125% จากเดิมอยู่ที่ 6.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลดลงมาอยู่ที่ 6.375% จากเดิมอยู่ที่ 6.50%
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพดังกล่าวนั้น ถือเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยในที่ผ่านมาทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการเรียกประชุมสมาชิกพิจารณาเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่มีสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้นทุนการเงินของธนาคารแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ยังส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของธนาคารกรุงเทพนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร ซึ่งจากเดิมดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของธนาคารกรุงเทพ เท่ากับธนาคารกรุงไทยที่ระดับ 6 % ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 6.10 % และธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 6.15 % อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้ทำการปรับลดอัตราเงินฝากออมทรัพย์ของนิติบุคคล หน่วยงานราชการ และสถาบันการลงไปก่อนแล้ว ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวได้ลดลงมาอยู่ที่ 0.25% จากเดิมอยู่ที่ 0.375% และเงินฝากประจำ 12 เดือนปรับลดลงเหลือ 0.75% จากเดิม 1% ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาไม่เปลี่ยนแปลง
"KTB-KBANK" หารือลดตาม
นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การที่ธนาคารกรุงเทพได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมานั้น ทำให้ธนาคารต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาธนาคารซึ่งถือว่าเป็นธนาคารของรัฐนั้นได้มีการเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำสุดในระบบและให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด และคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุมของธนาคารในครั้งถัดไป
ส่วนการที่ กนง.ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% นั้น มองว่า การใช้นโยบายการเงินในขณะนี้จะใช้ไม่ได้ผลเท่ากับการใช้นโยบายการคลัง ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งเครื่องมือทางการเงินของ ธปท.ยังมีตัวอื่นนอกจากอัตราดอกเบี้ยด้วย โดยมองว่าเครื่องมือที่ธปท.น่าจะใช้ต่อไปคือในด้านของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
"คิดว่าทางแบงก์ชาติคงต้องลองใช้เครื่องมือตัวอื่นบ้าง เพราะจะใช้แค่เรื่องของดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องใช้สิ่งที่สามารถสร้างดีมานด์ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มและเมื่อรัฐบาลมีการใช้เงินได้ถูกจุดด้วยก็จะทำให้เกิดการหมุนของเศรษฐกิจ"
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงนั้นก็เป็นแนวคิดและนโยบายของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอยู่แล้ว ที่พยายามจะทำหากธนาคารสามารถจัดการต้นทุนทางอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะทำให้ธนาคารขนาดเล็กปรับลดตามด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยเองจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเมื่อไรนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอประชุมคณะกรรมการของธนาคารก่อน ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ลงนั้น โดยส่วนตัวแล้วขอยืนยันว่าธนาคารไม่ได้มีการกดดันอะไรและธนาคารก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวมากจนเกินไป เนื่องจากธนาคารจะพิจารณาถึงผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และผลประกอบการของธนาคารเป็นหลัก เพราะถ้าธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยลงไปพร้อมกับการจัดการต้นทุนทางการเงินได้ ก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
BAYผิดคาด กนง.คงดอกเบี้ย
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารจะมีการหารือเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ส่วนแนวโน้มนั้นมองว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้นจะเป็นไปตามธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนการที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยก็ยอมรับว่าค่อนข้างผิดคาด แต่เชื่อว่าทุกอย่างก็เป็นดุลพินิจของ ธปท. โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมานั้นใช้ไม่ค่อยได้ผลที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เรื่องการปรับลดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์พร้อมให้ความร่วมมือ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยการลดดอกเบี้ยจะเป็นไปตามต้นทุนการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่าธนาคารแต่ละแห่งมีต้นทุนไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สามารถออกมาเป็นมติสมาคมได้เพราะหากออกมาเป็นมติก็เท่ากับธนาคารมีการฮั้วกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ส่วนกรณี กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25 % ก็มีผลต่อการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|