ค่าบาทแข็งซ้ำเติมรอยช้ำภาคส่งออก"ธาริษา"ย้ำคุมเกมไม่ให้ผันผวนมาก


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(18 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"ธาริษา" ย้ำจุดยืน"แบงก์ชาติ"ชัดเจน ด้วยการคุมเกมค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคส่งออก ส่วนค่าเงินที่แข็งขึ้นในช่วงนี้เพราะมีปัจจัยหลายด้านหนุนตั้งแต่การเทขายดอลลาร์ทำกำไร ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกถึงตกลงจุดต่ำสุด แถมการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นตัวหนุน แต่จะเฝ้าระวังไม่ให้แข็งมากเกินคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันการเคลื่อนไหวของค่าบาทยังเกาะกลุ่มภูมิภาคไม่ทะยานไปไกล

ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจนกระทบภาคส่งออกนั้น แบงก์ชาติได้เข้าไปดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา โดยบทบาทหน้าที่หลักคือดูแลค่าเงินบาทให้เกาะกลุ่มประเทศคู่ค้า และให้เป็นไปตามกลไกตลาด อีกกรณีคือไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไปซึ่งกรณีนี้จะกระทบผู้ประกอบการที่ส่งออกมากกว่า

'หน้าที่ของแบงก์ชาติไม่ใช่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออก แต่คือการดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก และให้ค่าเงินแข็งขึ้นตามคู้ค้าหรือภูมิภาค ซึ่งคิดว่าข้อเท็จจริงแล้วผู้ประกอบการต้องการแบบนี้มากกว่า เพราะตราบที่ค่าเงินแข็งขึ้นตามภูมิภาค การส่งออกก็คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก เพราะประเทศคู่ค้าก็ค่าเงินแข็งเช่นเดียวกัน'

สำหรับแบงก์ชาติ ได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เครื่องมือหลักของธปท.ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจุดยืนหลักของธปท.อยู่ที่การเข้าดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมๆ กับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาด มากกว่าที่จะเข้าไปกำหนดระดับเป้าหมายของค่าเงินบาทเพื่อหนุนการส่งออก

ธาริษาบอกว่า สำหรับค่าเงินบาทนับว่าเกาะกลุ่มอยู่ตรงกลางของภูมิภาค ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป แม้จะมีผู้ประกอบการมองว่าอยากให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 37-40 บาท แต่การจะชี้ตัวเลขให้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้คงเป็นไปไม่ได้ สำคัญคือการไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากนัก เนื่องจากเวลาผู้ประกอบการโค้ดราคาลูกค้า จะมีการเผื่อไว้กรณีที่ค่าเงินอาจผันผวนได้ในอนาคต โดยจะโค้ดเผื่อไว้ประมาณ 5% ดังนั้นถ้าไม่ดูแลให้ดีการที่ค่าเงินผันผวนมากอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้ ตรงจุดนี้สำคัญมากกว่า

มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อค่าเงินบาทในระยะถัดไป คาดว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจถูกผลักดันจากหลายๆ ปัจจัยในระยะถัดไป ทั้งนี้ แรงหนุนอย่างต่อเนื่องของเงินบาทอาจทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะสั้น โดยปัจจัยกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาทที่จะต้องจับตาอย่างระมัดระวังประกอบด้วย

เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นนับจากต้นเดือนมีนาคม 2552 แต่ถูกเทขายเป็นระยะๆ จากปัญหาการเมืองในประเทศซึ่งกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตประเทศโดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ ทั้งนี้ เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกซึ่งกลับมาเป็นปัจจัยหนุนของค่าเงินบาทอีกครั้ง หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์ฯ จากฝั่งผู้นำเข้าเริ่มชะลอตัวลง เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยโดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ (นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยประมาณ 8.4 พันล้านบาทนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากที่มีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิประมาณ 7.7 พันล้านบาท ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552)

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังได้รับอานิสงส์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไร หลังจากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 ท่ามกลางความหวังว่า สภาวะที่เลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นไปแล้ว (หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมามีสัญญาณเชิงบวกและหลายเครื่องชี้ปรับตัวดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์) ขณะที่ นักลงทุนเริ่มมีความกังวลต่อปัญหาในภาคการเงินน้อยลงเมื่อเทียบกับระดับความกังวลที่เข้มข้นในช่วงต้นปี 2552 หลังจากผลประกอบการของสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ บางแห่งพลิกกลับมารายงานผลกำไรในช่วงไตรมาส 1/2552 และผลของการทดสอบภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินชั้นนำ 19 แห่งออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ธาริษา ยังกล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยรวมว่าเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายทางแล้ว เพราะความกลัวเรื่องความเสี่ยงเริ่มหายไปเห็นชัดจากการลงทุนในตลาดหุ้นเงินเริ่มไหลเข้ามา เพราะหลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ ต่างก็อัดทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังใส่เข้าไปเพื่อยื้อลมหายใจของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆไว้ ส่วนทางเอเชีย โดยมากจะใช้มาตรการทางการคลังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดังนั้นในทิศทางต่อจากนี้ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ และรัฐบาลนำร่องด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนตาม แสงสว่างปลายทางที่วาดหวังไว้ก็คงใกล้เข้ามาเต็มที ซึ้งทั้งหมดทั้งมวลก็หวังว่าคงไม่มีอะไรที่เซอร์ไพรส์เหมือนเดือนเมษายน 'สงกรานต์เลือด'


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.