|
บล.บักโกรกQ1กำไรหดพันล.เซ่นวิกฤตสถาบันการเงิน
ASTV ผู้จัดการรายวัน(18 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัทหลักทรัพย์อ่วม ไตรมาส 1/52 ขาดทุนกันถ้วนหน้า หลังจากวิกฤตสถาบันการเงินฉุดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ตลาดหุ้นซบเซา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดเหลือแค่วันละ 8.8 พันล้านบาท ระบุกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนกว่า 1,050 ล้านบาท คิดเป็น 130% โดยมีบล.ซีมิโก้-คันทรี่ กรุ๊ป ขาดทุนสุทธิสูงสุดกว่า 71 ล้านบาท ด้านนักวิเคราะห์ประเมิน ไตรมาส 2/52 ยังไร้ทิศทาง เหตุตลาดหุ้นยังผันผวน แม้นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาลงทุนผลักดันให้ตลาดหุ้นคึกคักบ้าง
นับแต่ต้นปี 2552 ตลาดหุ้นไทยยังตกอยู่ในบรรยากาศที่ซบเซา จากวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่มีเข้ามาเบาบาง คือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นล้านบาท จนส่งผลให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจจะต้องพิจารณาปรับลดเป้าหมายมูลค่าการซื้อขายแฉลี่ยต่อวันใหม่
จากประเด็นดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) เป็นหลัก ทำให้บล.หลายแห่งต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้อื่นๆ การปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงบางแห่งถึงขั้นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง
บล.กำไรลดกว่าพันล้านบาท
ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งสิ้น 13 แห่ง สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ปรากฏว่า บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งมีผลประกอบการลดลง คือ ขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 248.54 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 802.35 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 1,050.89 ล้านบาท หรือคิดเป็น 130.98% (ตารางประกอบข่าว)
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายบริษัทพบว่า บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งมีผลประกอบการที่ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน และส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุนถึง 10 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ยังมีผลกำไรสุทธิ แต่กำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
กิมเอ็งฯกำไรลดฮวบเหลือ 46 ล้านบ.
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่งที่มีผลกำไรสุทธิได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กำไรสุทธิ 46.01 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.08 บาท เพียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 166.90 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 72.43%
บล. ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กำไรสุทธิ 35.66 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.17 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 129.99 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.61 บาท หรือลดลง 72.57% และบล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS กำไรสุทธิ 0.65 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.004 บาท ลดลงจาก 53.95 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท หรือลดลง 98.80%
ซีมิโก้ ขาดทุนหนักสุดเกือบ 72 ล้านบ.
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ที่ขาดทุนสุทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บล. ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO ขาดทุนสุทธิสูงถึง 71.85 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.087 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 32.18 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.039 บาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 323.28%
อันดับสองบล. แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บล. คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS ขาดทุนสุทธิ 71.60 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.02 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 136.61 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท หรือกำไรสุทธิลดลงกว่า 152.41%
อันดับสามบล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ขาดทุนสุทธิ 59.94 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 82.09 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.04 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 173.02%
กิมเอ็งฯ คอมมิชชันลดกว่า 47%
นายภูษิต แก้วมงคลศรี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยถึง สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงกว่า 70% ว่า บริษัทรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 216.17 ล้านบาท เหลือ 241.83 ล้านบาท หรือลดลง 47.20% เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของบริษัทลดลงจาก 3,129 ล้านบาท เหลือ 1,718 ล้านบาท สืบเนื่องจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง จาก 19,248 ล้านบาท เหลือ 8,851 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนระยะยาวในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 14.66 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทลดลง 90.73 ล้านบาท เป็น 247.05 ล้านบาท หรือลดลง 26.86% ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักที่ลดลงได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานลดลง 69.89 ล้านบาท และผลตอบแทนกรรมการลดลง 7.58 ล้านบาท รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง 32.30 ล้านบาท เป็น 21.72 ล้านบาท หรือลดลง 59.79%
คันทรี่ฯ รายได้หด 203 ล้านบาท
นายสดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บล. คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS (เดิมบล. แอ๊ดคินซัน : ASL) กล่าวว่า ไตรมาส 1/52 บริษัทได้รับผลกระทบจากรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ ตามภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก โดยมีรายได้รวม 104.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 307.92 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 203.84 ล้านบาท คิดเป็น 66.20%
ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัทประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 67.35 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 8.28 ล้านบาท กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 0.10 ล้านบาท รายได้จากดอกเบี้ยรับและเงินปันผล 21.62 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 0.40 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 6.33 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 175.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.38 ล้านบาท หรือ 2.56% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 171.31 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 35.34 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 72.89 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 34.82 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคาเครื่องใช้สำนักงานลดลง 4.40 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขา 4.10 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น 11.73 ล้านบาท
เคจีไอฯ รายได้คอมมิชชันลดวูบ
นางสาว บี เล็ง ออย กรรมการผู้จัดการ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า ไตรมาส 1/52 บริษัทมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ 64 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 147 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 44 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 59 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ 24 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ 112 ล้านบาท และมีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 9 ล้านบาท ลดจาก 19 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน
โบรกเกอร์ไม่ฟันธงหุ้นบล.Q2/52
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/52 ของกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน จากวิกฤตสถาบันการเงินและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือแค่ระดับกว่า 8 พันล้านบาท ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อาทิ การควบรวมกิจการ การปิดสาขา รวมถึงการเพิ่มช่องทางหารายได้อื่นๆ
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/52 ของกลุ่มหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายเริ่มหนาแน่น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา
“แม้ไตรมาสนี้มูลค่าการซื้อขายจะเริ่มคึกคัก บางวันวอลุ่มทะลุ 3 หมื่นล้านบาท แต่เรายังไม่สามารถให้ความมั่นใจว่าไนไตรมาส 2/52 นี้ กำไรของกลุ่มหลักทรัพย์จะเพิ่มขึ้น เพราะตลาดหุ้นไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะผันผวนอีกครั้งเร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยไตรมาส 2/52 นี้ อยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน จะทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิในระดับที่ทรงตัว เพราะบล.จะมีจุดคุ้มทุนเฉลี่ยอยู่ที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท แต่ถ้ามูลค่าขยับเพิ่มถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อวันจะส่งผลดีต่อบริษัทหลักทรัพย์”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|