|
ราชบุรีฯเล็งลงทุนในออสเตรเลีย Q2ปิดซ่อมโรงไฟฟ้าฉุดกำไรหด
ASTVผู้จัดการรายวัน(15 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯเผยกำไรไตรมาส 2/52 จะต่ำกว่าในไตรมาส แรกปีนี้ เนื่องจากปิดซ่อมโรงไฟฟ้าและมีภาระจ่ายภาษี สรุปแผนรีไฟแนนซ์หนี้ 2หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 นี้ แย้มเดินหน้าขยายลงทุนธุรกิจถ่านหินและโรงไฟฟ้าในออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2552ของบริษัทฯ คาดว่ามีกำไรต่ำกว่าไตรมาสแรกปีนี้ที่มีกำไรสุทธิ 1.84 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯได้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชุดที่ 1 รวมทั้งบริษัทฯมีภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีเฉลี่ยเดือนละ 70 ล้านบาท และมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่ผลประกอบการทั้งปีนี้เชื่อว่า ยังเป็นไปตามเป้าหมาย หากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้านอกแผนงานที่วางไว้ เพราะบริษัทจะหาช่องทางลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงลดสต็อกอุปกรณ์ต่างๆและต้นทุนทางการเงิน
ในปีนี้บริษัทฯมีภาระการจ่ายภาษีกว่า 700 ล้านบาท หลังจากหมดสิทธิประโยชน์ทางบีโอไอเป็นปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ประเมินล่วงหน้าไว้แล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผล ขณะเดียวกัน บริษัทฯอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการทำรีไฟแนนซ์หนี้เดิมที่มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลง โดยยังไม่สรุปว่าจะรีไฟแนนซ์หนี้ทั้งจำนวนหรือไม่
นายนพพล กล่าวถึงแผนการลงทุนในต่างประเทศว่า บริษัทฯได้มองลู่ทางการลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการเจรจากับเจ้าของโรงไฟฟ้าหลายราย อาทิ บริษัท ทรูบา ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์หรือซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพราะต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นนี้ ขณะที่ออสเตรเลีย บริษัทฯก็สนใจทั้งโรงไฟฟ้า ถ่านหิน น้ำมันและแก๊ส คงต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้บริษัทฯก็สนใจธุรกิจโรงไฟฟ้าเอสพีพีทั้งในและต่างประเทศ
“ ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้หารือกับปตท.อย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากปตท.มีการลงทุนถ่านหินในอินโดฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนไทยด้วยกัน หากมีโอกาสที่จะร่วมมือกัน”
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ปี 2558 บริษัทฯได้ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงสร้างค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้ว โดยเบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นสัดส่วน 40% ทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 751 เมกะวัตต์ แต่หากมีการขายหุ้นโครงการดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นจีนตามแผนการเดิม ก็จะลดสัดส่วนลงมาเหลือ 30% แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน และยังคงแผนการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2558
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม จ.เพชรบูรณ์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ ต.ค. 52 ขณะที่โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ที่สปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2556
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|