|
เคทีซีผุดกลยุทธ์อี-เทลคอนเซ็ปต์ดันรูดปรี๊ดท่องเที่ยวผ่านบัตรโต30%
ASTVผู้จัดการรายวัน(15 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เคทีซีผุดกลยุทธ์อี-เทล คอนเซ็ป จับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาท่องโลกไซเบอร์เพื่อหาข้อมูลด้านท่องเที่ยวและใช้จ่ายแบบอีคอมเมิร์ซโตก้าวกระโดดในระยะ 4 ปี หวังดันยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 30% สวนกระแสเศรษฐกิจโลก คุยยอดคนไทยยังรูดปรื้ดเพื่อใช้จ่ายสำหรับเรื่องท่องเที่ยว
นายสถาพร สิริสิงห รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายการตลาดเพื่อการสันทนาการ บริษัท บัตรกรุงไทยจำกัด (มหาชน) จำกัด หรือ เคทีซี เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดตัว “etail concept”(อี-เทล คอนเซ็ป)ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแนวใหม่เพื่อเจาะกลุ่มสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตของเคทีซีในกลุ่มที่ใช้จ่ายในเรื่องของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต
เพราะจากการสำรวจข้อมูลของเคทีซี พบว่า สมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตเคทีซี มีการซื้อสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
โดยจ่ายด้วยบัตรเครดิตมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2548 มียอดการจับจ่ายในช่องทางนี้เป็นวงเงินรวม 8 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 390 ล้านบาทในปีต่อมา ล่าสุดในปี 2551 มียอดการใช้จ่ายเฉพาะช่องทางนี้ถึง 1,065 ล้านบาท
โดยบริษัทได้ประเมินว่า จากภาวะเศรษฐกิจทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป หันมาใช้ระบบค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเพื่อประหยัดเวลาและการเดินทาง นอกจากนั้นยังนิยมที่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ทโดยวิธีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต เพราะจะทำให้เงินที่จ่ายเกิดมูลค่าเพิ่มจากการสะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัลได้อีก
สำหรับวิธีการของอี-เทล คอนเซ็ป จะพัฒนามาจากกลยุทธ์เวิร์ดออฟเม้าท์ หรือการบอกแบบปากต่อปาก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภคเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง แต่ปรับมาเป็นการเปิดช่องทางให้เข้าไปโพสต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเคทีซีมีชุมชนออนไลน์ “KTC World Community” โดยเคทีซีจะเปิดรับพันธมิตร ที่เป็นผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเข้ามาให้สิทธิประโยชน์แก่สมาชิกผู้ถือบัตรเคทีซี ได้ไปทดลองใช้บริการแล้วนำประสบการณ์ ความรู้สึกที่ได้รับมาถ่ายทอดโดยโพสต์ผ่านเว็บบอร์ด ซึ่งถือเป็นคอมมูนิตีที่มีอิทธิพลสูงกับการตัดสินใจของโลกนักท่องเที่ยวอินเทอร์เน็ต วิธีนี้ใช้งบการตลาดไม่มาก แต่ผลที่ได้รับจะดีกว่า เป็นวิธีทำตลาดที่ประสบผลสำเร็จในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งจะมีคนตกงานมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้จะเลือกรับข้อมูลสินค้าและบริการจากบุคคลอื่นผ่านอินเทอร์เน็ต แทนการชมโฆษณาทางโทรทัศน์
“จากกลยุทธ์ดังกล่าว เคทีซีตั้งเป้าว่าจะทำให้ยอดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวผ่านบัตรเคทีซีในปีนี้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท เติบโต 20-30% จากปีก่อนที่มียอด 7,100 ล้านบาท โดยเติบโตจากปี 2550 ถึง 39.2%”
อย่างไรก็ตามกลยุทธ์นี้ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเรื่องของการทำตลาดแบบเข้าตรงถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพด้านการจับจ่าย โดยไม่ต้องรอรับการช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เป็นแห่งเดียว เพราะเคทีซี เปิดเว็บไซน์ ให้เป็นเหมือนหน้าร้านของผู้ประกอบการ แล้วคัดเลือกสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตของเคทีซี ซึ่งจะใช้ชื่อว่า เคทีซี เรียล ทีม ไปทดลองใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการที่เป็นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเคทีซี โดยคนกลุ่มนี้จะได้นำประสบการณ์มาโพสต์ผ่านเน็ต หรือเล่าจากปาก ขณะที่ตัวเองก็อาจไปใช้บริการซ้ำได้ด้วย
โดยผู้ถือบัตรของเคทีซีขณะนี้จะถูกคัดกรองเป็นอย่างดี เพราะระยะหลังบริษัทมีนโยบายจับลูกค้าตลาดบนเป็นหลัก เพื่อป้องกันหนี้เสีย และเลิกใช้กลยุทธ์เร่งการจับจ่าย มาเป็นบริหารจัดการสมาชิกที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพ ส่วนสินค้าใหม่ที่เปิดตัวจะเน้นจับตลาดบน เช่น บัตรเครดิต เคทีซี-รอยัล ออร์คิด พลัส วีซ่าอินฟินิท และ เวิลด์ มาสเตอร์การ์ดที่จับมือกับการบินไทย เป็นต้น ปัจจุบัน เคทีซีมีบัตรเครดิตในกลุ่มท่องเที่ยว 5 ประเภท รวม 2.5แสนใบ คิดเป็น 16% ของบัตรเคทีซีทั้งหมดที่มี 1.6 ล้านใบ โดยบัตรเครดิตกลุ่มท่องเที่ยวนี้ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 13,000-15,000 บาทต่อคนต่อบัตร สูงกว่าการใช้จ่ายในประเภทอื่นๆกว่าเท่าตัว หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 4 พันบาท ค่อคนต่อบัตร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|