|

ล่ำสูงแตกไลน์น้ำมันพืชพรีเมียมโละทิ้งน้ำมันทานตะวัน-ข้าวโพด
ASTVผู้จัดการรายวัน(15 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
น้ำมันพืชหยก อัด 270 ล้านบาท ลงทุนปรับปรุงโรงงานขานรับการทำซีเอสอาร์ ชูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมรับโครงการนำร่องภาครัฐ ลั่นช่วยลดต้นทุน แถมนำคาร์บอนฯ จำหน่าย 4.5 หมื่นตัน ลุยแตกไลน์น้ำมันพืชพรีเมียมยี่ห้อเนเชอเรล 2 ตัว โละน้ำมันทานตะวัน ข้าวโพด เดินเกมปั้นน้ำมันปาล์มต่อหวังกินตลาดใหญ่ สิ้นปีกวาดแชร์เพิ่มเป็น 17%
นายอำพล สิมะโรจนา กรรมการบริหารฝ่ายโรงงาน บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนตราหยก เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้งบ 270 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้การทำซีเอสอาร์หรือการทำตลาดอย่างรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทได้ร่วมภายใต้โครงการนำร่องของภาครัฐ
เพื่อลดภาวะโลกร้อนทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของโลกร้อน และเริ่มจัดทำทะเบียนฉลากคาร์บอนสำหรับสินค้าและบริการ โดยได้นำร่อง 6 บริษัท ได้แก่ ดับเบิ้ลเอ อาหารสากล เชฟโรเลต และบริษัทล่ำสูง เป็นต้น
บริษัทได้ปรับปรุงโรงงาน 2 แห่ง คือ โดยเป็นการลงทุน 220 ล้านบาท ที่โรงงานบางปู และอีก 50 ล้านบาท ที่ โรงงานจ.ตรัง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมีส่วนร่วมในการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมกันนี้ยังเป็นการรองรับกับมาตรฐาน ISO26000 ที่จะเริ่มมีขึ้นในปีหน้านี้ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
ขณะเดียวกันแนวทางดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนในด้านประหยัดพลังงาน ซึ่งบริษัทสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ 4.5หมื่นตันต่อปี หรือยอดขาย 2.5 ล้านบาทต่อเดือน และยังสามารถนำก๊าซดังกล่าวไปจำหน่ายประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ซึ่งมีได้ทำสัญญาซื้อขาย 10 ปี โดยโรงงานจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้
นางสาวเปี่ยมทรัพย์ นาคพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการดำเนินในเชิงรุกทำให้น้ำมันปาล์มหยก ได้รับฉลากคาร์บอน หรือการเป็นผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมีส่วนร่วมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สินค้าได้รับฉลากดังกล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทยังได้ขยายกำลังผลิตเพิ่มจาก 700 ตันต่อวัน เพิ่มเป็น 1,000 ตันต่อวัน เพื่อขยายตลาด 5 ปี โดยเฉพาะการขยายตลาดน้ำมันอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลัก 60% ส่วนอีก 40% เป็นน้ำมันเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
สำหรับแผนการตลาด บริษัทได้แตกโปรดักส์ไลน์น้ำมันพืชภายใต้ยี่ห้อเนเชออเรล 2 ตัว ได้แก่ น้ำมันพืชเมล็ดชา และน้ำมันคาโนล่าผสมทานตะวัน ลงเซกเมนต์พรีเมียยมที่มีมูลค่า 1,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของตลาดรวม เนื่องจากเป็นตลาดเติบโตมากกว่า 5% สูงกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชกลุ่มอื่นๆ อาทิ ถั่วเหลือง สัดส่วนตลาด 30% และน้ำมันปาล์ม 60% ส่วนน้ำมันทานตะวัน ข้าวโพด
ได้เลิกทำตลาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ เหลือเพียงน้ำมันปาล์มที่ทำตลาดอย่างเดียว เพราะน้ำมันกลุ่มดังกล่าวฟังก์ชันนัลไม่แตกต่างกับน้ำมันปาล์มมากนัก
ตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดมูลค่า 1.1หมื่นล้านบาท ปีนี้เติบโตไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโต 20% จากราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาน้ำมันนพืชมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีส่วนแบ่งเพิ่มจาก 12% เป็น 17% จากมูลค่าตลาดรวมน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยมาจากการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น
ซึ่งผลักดันให้น้ำมันพืชหยกขึ้นเป็นอันดับ 2-3 จากปัจจุบันผู้นำตลาดมรกต ครองส่วนแบ่ง 40%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|