|
โบรกฯเห็นพ้องเป้าดัชนีใหม่535จุด
ASTVผู้จัดการรายวัน(13 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมนักวิเคราะห์ เผย ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ล่าสุดปรับเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้เป็น 535 จุด จากเดิม495 จุด ถือเป็นการปรับขึ้นในรอบกว่า 1ปี พร้อมคาดจีดีพีติดลบมากขึ้น 3.6% จากการบริโภค ส่งออก ท่องเที่ยว จากความวุ่นวายทางการเมืองช่วงเทศกาลสงกรานต์ “สมบัติ” ชี้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าเร็ว หนุนค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป จี้แบงก์ชาติเข้ามาดูแล ด้านดัชนีหุ้นวานนี้ปิดบวกเพิ่ม9.36 จุด มูลค่าซื้อขาย 2.4 หมื่นล้าน จากแรงซื้อกลุ่มพลังงาน-แบงก์ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มฟื้นตัว
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ครั้งที่2/2552 ได้มีการปรับเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้เฉลี่ยเป็น 535 จุด จาก 495 จุด เนื่องจาก นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งของไทยที่สร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดดัชนีสูงสุดปีนี้จะอยู่ที่ 582 จุด จากเดิม527 จุด โดยไตรมาสที่ดัชนีจะแตะจุดสูงสุดของปีนี้ นักวิเคราะห์สัดส่วน 53% คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงไตรมาส4/52 รองมา 33%คาดว่าจะอยู่ในไตรมาส2 ส่วนอีก 7% มองว่าจะเป็นไตรมาสที่3 และดัชนีต่ำสุดของปีนี้จะอยู่ที่ 391 จุด จากสำรวจครั้งก่อนที่ 348 จุด โดยคาดว่าแตะจุดต่ำสุดในไตรมาส1/52 ขณะที่นักวิเคราะห์อีก 27% เชื่อว่าจะอยู่ในไตรมาส3/52
“ผลสำรวจนักวิเคราะห์ ครั้งนี้ ได้มีการปรับเพิ่มดัชนีตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกกว่า 1 ปี จากปีที่ผ่านมานักวิเคราะห์มีการปรับลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยมาตลาด” นายสมบัติ กล่าว
ขณะเดียวกัน เลขาสมาคมนักวิเคราะห์มองว่าค่าเงินบาทขณะนี้มีการแข็งค่าเร็วเกินไป จากที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ หลังจากที่สถานการณ์ในต่างประเทศเริ่มดีขึ้น เพราะประเทศต่างๆมีการออกมาตรการหลากหลายมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นขานรับ โดยเห็นได้ชัดว่าเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้มียอดซื้อสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติกลับมาเป็นยอดซื้อสุทธิแล้ว 2 พันล้านบาท แต่นักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนที่ปรับตัวขึ้นเร็วในครั้งนี้ ซึ่งต้องรอประเมินอีกครั้งว่าเม็ดเงินที่เข้ามาจะเป็นเม็ดเงินลงทุนระยะยาวหรือไม่ และจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรที่จะมีการดูแลที่ไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าเร็วมากนัก
สำหรับการสำรวจการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) นักวิเคราะห์คาดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากการประเมินครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบ 1.8% เพราะ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการทองเที่ยว การส่งออก การบริโภคในประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์ คาดจีดีพีสูงสุดปีนี้จะติดลบเพียง1.5% และมีผู้ที่คาดการณ์จีดีพีปี 2552 ไว้ต่ำสุดที่ ลบ 5.7%
โดยนักวิเคราะห์ 45% คาดว่าจีดีพีรายไตรมาสของปี 52 จะติดลบ 3 ไตรมาส นักวิเคราะห์ 25% มองว่าจะติดลบ 4 ไตรมาส ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีก 20% มองว่าจะติดลบ 2 ไตรมาส และอีก 5 %เชื่อว่าจะติดลบ 1 ไตรมาส ขณะที่ไตรมาสที่คาดว่าจะติดลบมากที่สุด คือไตรมาสแรกของปีนี้คิดเป็น 60% โดยประเมินว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย ลบ 6.0% และนักวิเคราะห์ 40 %เชื่อว่าจะหดตัวมากสุดในไตรมาสที่2 ที่เฉลี่ยลบ 6.3%
ส่วนนักวิเคราะห์48% คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดภายในครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่อีก 35% มองว่าครึ่งหลังของปี 2552 จึงจะถึงจุดต่ำสุด โดยมี 4% คาดว่าจะต่ำสุดในระหว่างไตรมาส2 และไตรมาส 3 และอีก13 %คาดว่าจะต่ำสุดในปี 2553 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวได้ ในครึ่งหลังของปี 2552 คิดเป็น 30% นักวิเคราะห์ร้อยละ 9 เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นในระหว่างไตรมาสสี่ปีนี้ และไตรมาสแรกปี2553 ในขณะที่มีนักวิเคราะห์ 26% ที่มองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในครึ่งแรกของปี 2553 โดยมีนักวิเคราะห์ 4% คาดว่าฟื้นตัวได้ในช่วงกลางปี 2553 ส่วนอีก 13% คาดฟื้นตัวในปี 2553 โดยไม่ระบุช่วงเดือน และอีก 4% มองว่าฟื้นตัวในปี 2554 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ที่เหลือไม่คาดการณ์ช่วงเวลาฟื้นตัว
อย่างไรก็ตามสมมติฐานหลักที่นักวิเคราะห์ใช้ประกอบการทำบทวิเคราะห์ในปี 2552 โดยปัจจจัยบวกคือ สถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงภาวะตลาดหุ้น และปัญหาระบบสถาบันการเงินของสหรัฐ และยุโรป มีผู้ตอบ 74 %แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย มีผู้ตอบ 70% อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ มีผู้ตอบ 61% ผู้ตอบเท่ากันสองปัจจัยที่30% คือ กระแสเงินทุนไหลเข้าไทย และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีกว่าที่คาดมีผู้ตอบ 26%
สำหรับปัจจัยลบ คือ ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพรัฐบาลและปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มีผู้ตอบ 78 % สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและอาจไม่ยั่งยืน รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป มีผู้ตอบ 57%ปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบ 26 % ประกอบด้วยเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่หดตัวลง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในบางกลุ่มน้อยกว่าที่คาดการณ์ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น มีผู้ตอบ 22 % การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ มีผู้ตอบร้อยละ 17
นายสมบัติ กล่าวว่า ระดับความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ต่อความมั่นคงทางการเมืองนั้น นักวิเคราะห์ตอบว่ามั่นใจปานกลางคิดเป็น 39% โดยเห็นว่าสถานการณ์ตึงเครียดได้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ มีนักวิเคราะห์ตอบ52% ยังเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อย เพราะมีความขัดแย้งและแตกแยกอยู่ รวมถึงการชุมนุมต่าง ๆ และแรงกดดันจากนอกรัฐสภา ในขณะที่ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และมีผู้ตอบไม่มั่นใจ 9% โดยเห็นว่ายังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการเจรจาประสานข้อเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับข้อแนะนำสำหรับรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจ สังคม และตลาดทุนไทยคือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ให้สิทธิพิเศษทางภาษีและโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ จัดการกับปัญหาการว่างงาน มีผู้ตอบ30% การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง และสร้างความสมานฉันท์ มีผู้ตอบ 26% และเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ มีผู้ตอบ 17%
หุ้นพลังงาน-แบงก์ดันดัชนีบวก
ส่วนตลาดหุ้นไทยวานนี้ ปิดที่ระดับ 544.54 จุด เพิ่มขึ้น 9.36 จุด หรือ 1.75% มูลค่าการซื้อขาย 24,235.70 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ฯมองว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยมีการเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ และสุดท้ายก็สามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ เนื่องจากยังมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน-ธนาคาร ทำให้สามารถต้านแรงขายทำกำไรที่มีเข้ามาในระหว่างเทรดได้ ขณะเดียวกันสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่จะมีการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผลที่ออกมาก็จะสนองตอบไปที่หุ้นเป็นรายตัว โดยมีเพียงนักลงทุนทั่วไปที่ซื้อสุทธิ 1,092.56 ล้านบาท
นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) หรือ DBS กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงเช้ามีการแก่วงตัวลง 4 จุด และดีดตัวกลับมาเป็นบวกในช่วงท้าย มาจากแรงซื้อที่มีเข้ามาของหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ จากปัจจัยเดิมๆ ที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์ตลาดจะเริ่มดีขึ้นจากสัญญาณความมั่นใจของนักลงทุนที่ทยอยกลับเข้ามา รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน อีกทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกได้ผู้ที่รับผิดชอบช่วยกันออกมาตรการแก้ไขมาอย่างชัดเจน ส่งผลให้วิกฤตที่เกิดขึ้นลดความรุนแรงลงไปได้เยอะ ประกอบกับมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศขณะนี้เริ่มเห็นผลที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งถือเป็นการสร้างควาเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง โดยประเมินแนวรับที่ 535-540 จุด แนวต้านที่ 550 จุด เป็นการประเมินในระยะสั้นๆ เนื่องจากดัชนีมีแนวโน้มแก่วงตัวผันผวนในช่วงสั้นๆ แนะนักลงทุนซื้อขายตามภาวะตลาด
ด้าน นายเตชธร ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด กล่าวว่า ดัชนีมีการปรับตัวตามเดินหน้าต่อตามหุ้นกลุ่มพลังงาน รับเหมาก่อสร้าง และเหล็ก ซึ่งการขายของนักลงทุนช่วงนี้จะเป็นรูปแบบของการย้ายไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเล็ก ประเมินสถานการณ์ช่วงนี้ที่ดีขึ้น จากข่าวดีต่างๆที่ออกมาของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับช่วงนี้ตลาดจึงเข้าสู่ภาวการณ์เก็งกำไร โดยการประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันนี้ แนวรับที่ 540 จุด แนวต้านที่ 480 จุด ตลาดมีการแกว่งตัวในกรอบที่อาจปรับตัวเป็นบวกได้ แนะนำนักลงทุนหันมาลงทุนในหุ้นกลุ่มเล็ก ประเภทหุ้นรับเหมา และวัสดุก่อสร้าง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|