เผยแนวโน้มไอทีวีขอลดค่าสัมปทานจากรัฐบาลส่อเค้าจริง อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาให้ลดค่าสัมปทานได้
ชี้เหตุเพราะการต่อสัญญาของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มีความไม่เป็นธรรมทำให้การแข่งขัน
ไอทีวีมีปัญหา คาดเดือนตุลาคมนี้รู้ผล ขณะที่ไอทีวีปรับทัพใหม่ หลังผู้บริหารข่าว
"วสันต์ ภัยหลีกลี้" โบกมือลา ไอทีวี พร้อมทีมงานดัน "อนันต์ อัศวนนท์" รักษาการกองบรรณาธิการไอทีวี
แหล่งข่าวจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงความคืบหน้าในการพิจารณาการขอลดสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
ซึ่งได้ทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการพิจารณาเพื่อขอลดสัมปทานค่าเช่าสถานีโทรทัศน์
ไอทีวีจากสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เหตุผลที่นำมาอ้างในการขอลดสัมปทานค่าเช่าสถานี
ไอทีวีเนื่องจากในสัญญาระบุว่าการแข่งขันจะต้องมีความเป็นธรรม แต่ปรากฏได้มีสถานีโทรทัศน์ช่อง
7 ได้มีการทำสัญญาเช่าสถานีจากกองทัพบกล่วงหน้าก่อนที่จะหมดสัญญา แถมยังได้รับค่าสัมปทานที่ถูก
หากจะนำสัญญาของช่อง 7 สีมาเปรียบเทียบกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีแล้วจะเห็นว่าค่าเช่าสัมปทานต่างกันมาก
"การอ้างข้อสัญญาของช่อง 7 หากนำมาเปรียบเทียบกับไอทีวีก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันจริง
ทำให้การแข่งขันของไอทีวีไม่สามารถทำรายได้ให้มีกำไรเหมือนช่อง 7 ได้เพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐสูงมาก
เมื่อ เทียบกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่ง ผลให้ไอทีวีมีภาระต้นทุนที่สูงกว่ารายอื่น"
แหล่งข่าว คนเดียวกัน กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสถานีคู่แข่งขันรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากอีก เช่น สถานีโทรทัศน์ที่ทดลอง
ออกอากาศของช่อง 11 ซึ่งมีรายการต่างๆ แถมมีการโฆษณาแฝงเข้ามาในรูปของผู้สนับสนุนรายการ
นอกจากนี้ยังมีเคเบิลทีวีทางยูบีซีที่มีการแฝงโฆษณาเข้ามาในรูปแบบผู้สนับสนุนรายการ
ตรงนี้ทางไอทีวียกมาเป็นข้ออ้างในการขอให้มีการพิจารณาลดค่าสัมปทานเพราะไปกระทบต่อรายได้ในการหาโฆษณาเช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เหตุผลที่ไอทีวีเสนอมานั้นจะนำมาพิจารณาในคณะอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาการลดสัมปทานให้กับไอทีวี
ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในเดือนตุลาคมนี้
เป็นที่น่าสังเกตราคาหุ้นของสถานีโทรทัศน์ ไอทีวีมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนับ
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้น มาระดับราคาหุ้นของไอทีวีอยู่ที่ราคา 8.45 บาท
และปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องขยับมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 11.26 บาท ณ วันที่ 8 /9 /2526
ราคาปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.81 บาท และ มีปริมาณการซื้อขายหนาแน่น และมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเพราะมีกระแสข่าวการขอปรับลดค่าสัมปทาน
ผู้บริหารฝ่ายข่าวโบกมือลาไอทีวี
แหล่งข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่าขณะนี้ผู้บริหารของไอทีวีในระดับบรรณาธิการอำนวยการข่าว
คือนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ได้ทำหนังสือขอลาออกอย่างเป็นทางการ จากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
ซึ่งจะมีผลให้ลาออกแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีทีมงานอื่นๆ อีก 2-3 คน คือ เช่น นายสำราญ รอดเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว
และผู้ดำเนินรายการฟันธง , นายประกาศิต คำพิทักษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการฝ่ายข่าวได้ขอลาออกในครั้งนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ มีการคาดว่ามีความขัดแย้งในเรื่องการ นำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
เช่น การทำข่าวบางชิ้นไปกระทบกับภาพพจน์รัฐบาล ในกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องการตั้งเสาร์อากาศของเอไอเอสในพื้นที่ของ
ส.ป.ก. ทำให้ผู้บริหารของสถานีไอทีวีไม่พอใจ และเกิดความขัดแย้งกัน
ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันในวงการทำข่าวว่าผู้บริหาร ทั้ง 2 คนที่ลาออกจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้นเป็น
ผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการทำงาน และเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพในการทำข่าว แต่ก็มาเกิดปัญหาการทำงานขึ้นซึ่งไปขัดแย้งกันทางการเมือง
จนกระทั่งต้องลาออกจากไอทีวี
"ก่อนหน้านี้ผู้บริหารไอทีวีได้แต่งตั้งนาย อนันต์ อัศวนนท์ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายข่าวเข้ามาบริหาร
และดูแลงานข่าวแทนนายวสันต์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการ อำนวยการข่าวแล้วมอบหมายงานให้นายวสันต์ไปดูแลงานด้านบริหารแทน
ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไอทีวีนั้นเกิดมาอย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวในไอทีวี
เล่าให้ฟัง
แหล่งข่าวจากผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวีมีเลตติ้งผู้ชมค่อนข้างต่ำ
จากผลสำรวจของ เอซีนีลเส็น ซึ่งเดิมสถานีมีความโดดเด่นกว่าหลายๆ สถานีและใช้เรื่องของสถานีข่าวเป็นจุดขายโฆษณามาโดยตลอด
จึงนำเหตุผลเรื่องผลสำรวจจำนวน ผู้ชมลดน้อยลงมาเป็นข้ออ้างในการปรับเปลี่ยน ผู้บริหารฝ่ายข่าวและสร้างความอึดอัดใจให้กับ
ผู้บริหารข่าวหลายคนจึงมีการตบเท้าลาออก ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารไอทีวีมักจะออกมาคัดค้านการสำรวจของบริษัทเอซีนีลเส็นว่ามีความไม่เที่ยงตรง
ในการสำรวจ แต่ก็กลับนำเหตุผลดังกล่าวมาลดบทบาทของผู้บริหารฝ่ายข่าวในไอทีวี ซึ่งสร้างความสับสนให้กับกองบรรณาธิการของไอทีวี
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไอทีวีกล่าวว่าการลาออกครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของฝ่ายข่าว
ซึ่งสามารถหาคนมาทดแทนและดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งการปรับเป้าหมายให้ไอทีวีมีจุดเด่นในเรื่องของสถานีข่าวต่อไป
และล่าสุดมีการปรับกลยุทธ์ด้วยการนำเฮลิคอปเตอร์เข้ามาใช้ในการทำข่าว และรายงานข่าวในกรณีที่มีเหตุการณ์เร่งด่วน
และเริ่มนำมาใช้แล้ว