ตลาดหุ้นหั่นเป้าหุ้นไอพีโอเหลือ37ราย


ASTV ผู้จัดการรายวัน(12 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนแผนการดำเนินงานใหม่ หลังประกาศใช้โครงสร้างมาตั้งแต่ต้นปี 52 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาบุคลากรตลาดทุนด้วยการปรับกลยุทธ์หลัก 4 ด้าน หวังขยายฐานลูกค้าและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมปรับลดเป้าบริษัทจดทะเบียนใหม่จาก 46 บริษัท เหลือแค่ 37 บริษัท

นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (11 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งการติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบแนวทางการปรับแผนกลยุทธ์ทั้งในส่วนของกลุ่มงานธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ฯ (Exchange Function) และสถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2552 โดยให้ความสำคัญกับแผนกลยุทธ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และองค์กรในตลาดทุน สามารถผลักดันให้เกิดผลสำเร็จได้ แม้ปัจจัยภายนอกจะไม่เอื้ออำนวย

ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังเน้นสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที โดยเน้นปรับกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้ลงทุน ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านบริษัทจดทะเบียน และการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร

สำหรับกลยุทธ์สำคัญด้านการขยายฐานผู้ลงทุน นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อขยายเคาน์เตอร์ให้บริการด้านหลักทรัพย์ผ่านสาขาของธนาคาร เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ฝากเงินธนาคารเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุนได้สะดวกขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้ผู้ลงทุนประเภท High Net Worth Individual (HNWI) ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้เข้าถึงรูปแบบการลงทุนประเภทใหม่ๆ และมีการกระจายความเสี่ยงผ่านตราสารที่ช่วยบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีการลงทุนในลักษณะทยอยลงทุน เช่นในโครงการ Wealth Builder เพื่อสร้างฐานผู้ลงทุนรายบุคคลให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจะส่งเสริมให้มีผู้ลงทุนสถาบันโดยเฉพาะกองทุนรวมให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

กลยุทธ์ด้านที่ 2 กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ จะมีการเพิ่มตราสารประเภทใหม่ๆ ที่มีการคุ้มครองเงินต้น เพื่อให้ผู้ที่มีเงินฝากในธนาคารนำเงินมาลงทุนในตลาดทุนได้อย่างมั่นใจ ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีหลังจากพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เริ่มทยอยลดความคุ้มครองเงินต้นของผู้ฝากเงินในธนาคารลงจนเหลือ 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 11 ส.ค.2555 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ จะเร่งศึกษาการออก Interest rate futures ในช่วงครึ่งหลังของปี 52 นี้จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 53 เพื่อเพิ่มตราสารอนุพันธ์สำหรับตลาดเงิน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือใหม่ในการบริหารความเสี่ยงของผู้ลงทุนในตราสารทางการเงินที่อ้างอิงดอกเบี้ยในขณะเดียวกัน จะเร่งออกตราสารอนุพันธ์ และเครื่องมือบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Equity futures ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนเรื่องทางเลือกการออมการลงทุน และการกระจายความเสี่ยงด้วยตราสารที่หลากหลาย

กลยุทธ์ด้านที่ 3 ด้านบริษัทจดทะเบียน ได้มีการปรับลดเป้าหมายจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่จาก 46 เป็น 37 บริษัท ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมทั้งสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนที่มีแผนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เช่น การควบรวม หรือการปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) โดยปรับแนวทางปฏิบัติให้ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการร่วมลงทุนของผู้ลงทุน Venture Capital โดยเฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

กลยุทธ์ด้านที่ 4 การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากร และการปรับกระบวนการทำงานที่สำคัญจะเน้นตอบสนองการปรับกลยุทธ์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

“การปรับกลยุทธ์การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับองค์กรในตลาดทุนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตลาดทุน โดยได้ติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและปรับแนวทางการดำเนินงานให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที" นายสุทธิชัยกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.